CEO ARTICLE
ไอโอเพื่ออะไร ?
ตอกลิ่มความขัดแย้ง พท. ฉะยับ ไอโอชิงมวลชน
ยุแอปอื่นปิดบัญชีเอาตาม ‘ทวิตเตอร์’
หัวข้อข่าวใหญ่ข้างต้นอยู่บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันอาทิตย์ที่ 11 ต.ค. 63 และขยายความต่อเพียง “เชื่อมโยงกับปฏิบัติการข่าวสารของรัฐ” ท่ามกลางการเมืองที่แตกแยกของไทย
ไม่รู้ว่า ผู้บริหารในต่างประเทศของทวิตเตอร์จะรู้เรื่องความแตกแยกนี้หรือไม่ เข้าข้างฝ่ายใด และการเปิดเผยครั้งนี้ทำเพื่ออะไร ??? แต่ที่ชัดเจนคือ มันเข้าทางการเมือง
ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และอื่น ๆ เป็น Platform เป็นโซเซียล เป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว ทันสมัย และเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ที่เสพติดมากที่สุดในปัจจุบัน
ทุก ๆ Platform เป็นธุรกิจเอกชนต่างชาติประเภทหนึ่งที่ต้องการกำไร ถามว่า ใครใช้ Platform เหล่านี้มากกว่ากัน ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ?
คำตอบคือ คนรุ่นใหม่
ถามต่อว่า ใครเป็นผู้ซื้อสินค้า ใครเป็นผู้ส่งกำไรให้กับ Platform เหล่านี้มากกว่ากัน ?
คำตอบคือ ก็คนรุ่นใหม่อีก
ถามอีกว่า ระบอบประชาธิปไตยกับระบบเผด็จการ ระบอบไหนที่ Platform เข้าถึงประชาชน ให้เกิดการเสพติดได้ง่าย กระจายได้เร็วกว่า และส่งกำไรได้มากกว่ากัน
คำตอบก็คือ ระบอบประชาธิปไตย และเป็นสิ่งตอกย้ำว่า จีนที่ปกครองโดยระบบคอมมิวนิสต์ ทำไมไม่ต้อนรับ Platform เหล่านี้ แต่กลับสร้างและพัฒนา Platform ของจีนเอง เช่น WeChat และอื่น ๆ เพื่อให้คนของตนเองใช้สื่อสาร และเพื่อควบคุมการบูลลี่ข่าวเท็จในโซเซียล
การเอาใจลูกค้าเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ การเปิดเผยข้อมูล 926 บัญชีผู้ใช้ฯ หากข่าวนี้เป็นจริง เรื่องจะไม่จบลงง่าย ๆ เพราะการเมืองจะนำไปเล่นต่อไม่รู้จบ
แต่จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา หากข้อมูลคลุมเครือ ขาดหลักการ ขาดเหตุผลที่เพียงพอ ข่าวจะเกิดไม่นานก็จะค่อย ๆ สงบลงเหมือนหลายข่าวที่ผ่านมา
Information Operation หรือ IO คือ “หน่วยปฏิบัติงานด้านข่าวสาร” ในอดีตเป็นของรัฐบาลแต่ละประเทศใช้เพื่อการรบในสงครามในการเผยแพร่ความคิด ความเชื่อ และการข่าว
ปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวล้ำกว่าอดีตมาก Platform ของเอกชนเกิดขึ้นมาก เข้าถึงง่าย จึงไม่ได้จำกัดให้เป็นของรัฐฝ่ายเดียว ประชาชน นักการเมือง นักธุรกิจ หรือใครก็ได้ที่มีทักษะ มีศักยภาพมากพอก็สามารถสร้าง IO ขึ้นมาใช้ใน Platform และจะใช้ IO เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าสงคราม
IO วันนี้จึงมีทั้งการจ่ายเงินจ้าง มีทั้งอวตาร เพื่อสร้างข่าว เพื่อบูลลี่ มีการแชร์ให้ข่าวกระจายในทุก Platform เพื่อสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจมากที่สุด
ตรงกันข้าม ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องการผลงานดี ความสงบ และเสถียรภาพก็อาจใช้ Platform ต่างชาติเหล่านี้เพื่อการประชาสัมพันธ์ ป้องกันการถูกโจมตี และแน่นอนย่อมไม่เป็นความลับ
ในเมื่อ Platform เป็นของเอกชนต่างชาติ รัฐบาลและทหารจึงเป็นฝ่ายตั้งรับมากกว่าฝ่ายรุกที่ต้องคอยแก้ข่าว เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ICT เคยขอให้ Platform ลบข่าวที่ผิดกฎหมายไทยและข่าวหมิ่นสถาบันออก
ข่าวเสียหาย ข่าวลับ มักเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ยิ่งวิจารณ์มากก็ยิ่งใช้ Platform มาก ได้ทั้งความนิยม ได้ทั้งธุรกิจ ความร่วมมือจากทุก ๆ Platform จึงมีน้อย
สุดท้าย ICT ต้องนำคำสั่งศาลมาสั่ง Platform ให้ลบออก
926 บัญชีผู้ใช้ที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการข่าวสารของรัฐ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีรายละเอียดให้ตรวจสอบแต่ก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองทันทีจนเป็นข่าว
การเมืองอีกฝ่ายจึงใช้ข้อมูล 7,928,492 บัญชีผู้ใช้ที่ต่อต้านรัฐบาล หมิ่นสถาบัน เป็นบัญชีผู้ใช้จากต่างประเทศ เป็นอวตารไม่มีตัวตน แต่ทำไมทุก Platform จึงไม่เปิดเผยบ้างขึ้นมาตอบโต้ทันทีโดยไม่มีรายละเอียดให้ตรวจสอบเช่นกัน
Platform ให้ข้อมูล 926 บัญชีผู้ใช้ “เชื่อมโยงกับปฏิบัติการข่าวสารของรัฐ” คำที่ใช้คือ “เชื่อมโยงรัฐ” แต่ไม่ใช้คำว่า “เป็นของรัฐ” ให้ชัดเจน
Platform ทำให้ดูคลุมเครือ ไม่มีรายละเอียดให้ตรวจสอบ ไม่รู้ว่าเป็นการเอาคืนจากการที่เคยถูกคำสั่งศาลบังคับโดย ICT หรือไม่ และต่างฝ่ายต่างก็ใช้วิธีเดียวกันสาดเข้าหากัน
แต่ทุก Platform รู้ดีว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่กล้าสั่งปิด Platfrom แบบจีนได้เพราะคนรุ่นใหม่แม้ไม่ใส่ใจการเมืองเลยแต่เสพติดแล้ว จะไม่พอใจ ไม่ยินยอม จนรัฐบาลอาจพัง
การเมืองที่แตกแยกต่างรู้ดีว่า หาก Platform เอกชนต่างชาติจะเลือกด้านถูกหรือด้านผิด เอาแค่นี้ก็พิสูจน์ถูกผิดยากแล้ว แต่ไม่ว่าถูกหรือผิด ธุรกิจก็คือธุรกิจที่มักเลือก “กำไร” มากกว่า
ต่างคนต่างมีมุมมองที่ต่างกัน การเปิดเผย 926 บัญชีผู้ใช้จนเป็นข่าวครั้งนี้เข้าข้างฝ่ายใดและทำไปเพื่ออะไรจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือ ธุรกิจ ความนิยม และผลกำไรอยู่ตรงหน้า
การเมือง 2 ฝ่ายนำไปสู่ความแตกแยกในปี 2563 จึงถูก ‘ตอกลิ่ม’ ตามหัวข้อข่าวของไทยรัฐ และสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจอีกหลายประเภทไม่ว่าจะอยู่ในหรือต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้จึงอยู่ที่ประชาชนที่เป็นผู้เสพ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน และผู้จ่ายให้กับธุรกิจและการเมือง 2 ฝ่ายให้มีกำไรและให้อยู่ดีมีสุขจนเป็นปรากฎการณ์อย่างที่เห็นในวันนี้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Logistics
จีนเผยภาคโลจิสติกส์ฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ
สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า ความต้องการด้านโลจิสติกส์ในประเทศยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องด้วยการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ
มูลค่ารวมของกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค. ปรับตัวขึ้น 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 174.6 ล้านล้านหยวน (25.7 ล้านล้านดอลลาร์) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในช่วง 7 เดือนแรกของปีที่ขยายตัว 0.5%
ขณะที่รายได้ด้านโลจิสติกส์ในช่วง 8 เดือนแรก แตะ 6.5 ล้านล้านหยวน ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ด้านดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์อยู่ที่ 52.2% ในเดือนส.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวได้จากการติดตามปริมาณของธุรกิจ คำสั่งซื้อใหม่ การจ้างงาน อัตราการหมุนเวียนของสินค้า สินค้าคงคลัง และอัตราการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ในภาคโลจิสติกส์ของจีน
อนึ่ง ตัวเลขที่เหนือระดับ 50% บ่งชี้ถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรม ขณะตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 50% บ่งชี้ถึงการหดตัวของอุตสาหกรรม
https://www.ryt9.com/s/iq29/3165628
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!