CEO ARTICLE
กีฬาเชิงรุก
“โปรเม” ควักเนื้อแข่งโอลิมปิก 1.8 แสน กกท. เล็งปรับหลักเกณฑ์ช่วย
แม่ “กัปตัน” แฉยับ !!! เผยขายบ้าน-รถ หมดไป 10 ล้าน ส่งลูกแข่งยิงปืนโอลิมปิก
ไม่น่าเชื่อ 2 หัวข่าวข้างต้นได้เกิดขึ้นในช่วงกีฬาโอลิมปิก 2020 ในเวลาห่างกันเพียง 2 วันเท่านั้น (MGR Online 4 และ 6 ส.ค. 64) จนวันนี้โอลิมปิกปิดฉากลงแล้ว
ไม่มีใครตอบได้ว่าการที่ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล จ่าย 180,000 บาท ด้วยเงินตัวเองเป็นค่าเดินทางเพื่อเข้าร่วมแข่งกอล์ฟ หรือการที่แม่ของ “กัปตัน” ขายทรัพย์สินส่วนตัว 10 ล้านบาท ในการฝึกซ้อมยิงปืนเพื่อร่วมแข่งโอลิมปิกครั้งนี้เป็นการถูกต้องหรือไม่ ?
หากถูก !!! ตัวนักกีฬาก็ควรทราบตั้งแต่ต้น และผู้บริหารก็ควรออกมายืนยัน
แต่หากไม่ถูก !!! การแก้ไขก็ควรเร็วและมีให้เห็นมากกว่านี้
ข่าวมีเพียงว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. โดยผู้ว่าฯ ทราบข่าว “โปรเม” รู้สึกไม่สบายใจและรับว่าจะนำไปหารือเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนข่าวแม่ของ “กัปตัน” มีเท่านั้น
ระบบราชการไทยดูเหมือนจะอยู่ในเชิงรับมานาน โอลิมปิกครั้งนี้จึงอยู่ในเชิงรับไปด้วย
ใคร ๆ ก็รู้ กีฬาทำให้คนแข็งแรง ลดค่ายาและค่ารักษาของชาติ การแข่งขันทำให้เห็นความมีน้ำใจ ลดความขัดแย้ง เพิ่มความสามัคคี เอาไปใช้ในสังคมและชีวิตจริงได้
การอยู่ในเชิงรับจนมีข่าวทางลบดังกล่าวจึงไม่ใช่การกระตุ้นคนให้อยากเล่นกีฬา
ยิ่งเป็นกีฬาระดับโลกก็ยิ่งทำให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทย หากทำได้ดี ความมีชื่อเสียงที่ดี ความภาคภูมิใจก็เกิด และมลเสน่ห์ของกีฬาต่าง ๆ ก็ตามมา
หากจะแก้ไขเรื่องแบบนี้ก็ต้องการบริหารกีฬาในเชิงรุก แม้จะยากมาก แต่ก็ควรเริ่มทำ !!!
องค์กรใดไม่เลือกการบริหารในเชิงรุก (Proactive) ทุกอย่างจะผลักตัวเองให้อยู่ในเชิงรับ (Reactive) แทนที่และไม่รู้ตัว ยิ่งนานก็ยิ่งแก้ไขยาก อย่างน้อย ตัวนายกสมาคมและคณะกรรมการของกีฬาต้องเริ่มก่อน ตัวอย่างที่ควรใช้เพื่อในการบริหารกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ เช่น
(1) มีปัจจัยแห่งความสำเร็จ
หากต้องการความสำเร็จ ผู้บริหารสมาคมต้องรู้ให้ได้ว่า “อะไรคือปัจจัยแห่งสำเร็จ ?”
กีฬาบางประเภท เช่น กอล์ฟ ยิงปืน เตควันโด ชกมวย เป็นต้น ความสามารถเฉพาะตัวคือปัจจัยสำคัญ กีฬาบางประเภทอาจเป็นระบบทีม สภาพแวดล้อม เป็นต้น
ส่วนการฝึกซ้อมและกำลังใจถือเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่ทุกคนจะขาดไม่ได้
ตัวอย่างครั้งนี้ ทุกคนรู้ว่าโปรเมเพิ่งจบการแข่งขันระดับโลกที่ฝรั่งเศสจึงมีการเดินทาง และกำลังใจเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้บริหารก็ควรรู้ ยึดและมุ่งไปที่ปัจจัยนั้นให้เป็นศูนย์กลาง เป็นต้น
(2) คาดการณ์ล่วงหน้า
เมื่อทราบปัจจัยแห่งความสำเร็จแล้วก็ต้องนำมาคาดการณ์ล่วงหน้า
“อะไรจะเกิดขึ้นกับปัจจัยเหล่านั้นบ้าง ?” ปัญหา และอุปสรรคที่จะนำไปสู่ความล้มเหลว เสียขวัญ เสียกำลังใจ การคาดการณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี “ความถูกต้องและแม่นยำ”
ผู้บริหารจึงต้องมีประสบการณ์ มีความรู้ เข้าใจสภาพแวดล้อม สภาพบุคคล ข่าวสาร สติถิ การรายงาน การประสานงาน และอื่น ๆ เพื่อ “ความถูกต้องและแม่นยำ”
(3) มีแผนงาน (Planning)
เมื่อมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้ว แผนงานที่ดีก็สร้างได้ง่าย
“เรื่องแบบนี้จะให้ใคร ไปทำอย่างไร ทำเมื่อไร หากจะเพิ่มเงินต้องทำอย่างไร ใช้วิธีการไหน” ต่าง ๆ นานาเหล่านี้คือตัวอย่างแผนงานที่ต้องมี และผู้บริหารต้องควบคุมให้ปฏิบัติ
ตัวอย่าง 3 ข้อข้างต้นคือ การบริหารเชิงรุกแบบง่าย ๆ ที่เอกชนใช้ และได้ความสำเร็จ
ครั้งนี้ ผู้บริหารแต่ละสมาคมอาจทำดีแล้ว แต่ความรอบครอบอาจมีไม่พอ อาจไม่ละเอียดเท่าที่ควร ภาพและผลจึงออกมาแบบนั้น
อย่าปล่อยให้ “โปรเม” แม่ของ “กัปตัน” และผลที่ได้จากโอลิมปิกครั้งนี้สิ้นสุดแค่นี้ แต่ควรใช้เป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนการบริหารกีฬาให้อยู่ในเชิงรุกซึ่งแม้จะยาก แต่ก็มีเอกชนหนุนมาก
เปลี่ยนกีฬาได้ก็อาจเปลี่ยนระบบราชการไทยให้อยู่เชิงรุกได้ง่ายไปด้วย
แนวคิดนี้จะทำให้โอลิมปิก 2020 ที่จบไปแล้วมีความหมายกับประเทศไทยมากขึ้น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
CEO – SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : August 10, 2021
Logistics
“เซินเจิ้น” โฉมใหม่ ว่าที่ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย
“เซินเจิ้น” ในความคิดของคนไทย คือเมืองช้อปปิ้งยอดฮิตที่คนไทยนิยมไปซื้อของก๊อปปี้ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา กระเป๋า สินค้าแฟชั่นต่างๆ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า
แต่นั่นเป็นเพียงเซินเจิ้นในอดีตที่เรารู้จักกันเพียงด้านเดียว ปัจจุบันนี้เซินเจิ้นถูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก จนกลายมาเป็นเมืองเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญของจีน และกลายเป็น (ว่าที่) ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย (ซิลิคอนวัลเลย์ อยู่ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังมากมาย เช่น Microsoft, Apple, Google เป็นต้น)
“เซินเจิ้น” (Shenzhen) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลกวางตุ้ง เป็นเมืองชายแดนทะเลทางใต้ของจีน อยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง แรกเริ่มเดิมที่นั้น เซินเจิ้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงที่ยากจน มีประชากรราว 300,000 คน แต่เมื่อมาถึงยุคของประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง มีความคิดที่จะพัฒนาหมู่บ้านชาวประมงแห่งนี้ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีการวางรากฐานในการพัฒนาเมืองที่รายล้อมไปด้วย โดยเริ่มจากการจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen Special Economic Zone) เมื่อปี ค.ศ.1980 ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษกลุ่มแรกของจีนพร้อมกับเมืองจูไห่ เมืองซ่านโถว (มณฑลกวางตุ้ง) และเมืองเซี่ยเหมิน (มณฑลฝูเจี้ยน)
ผ่านไปราว 40 ปี เซินเจิ้นกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีน มีค่า GDP เป็นอันดับ 3 ของประเทศ (รองจากปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้) นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังผลักดันเซินเจิ้นให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” โดยจะมีอุตสาหกรรมหลักๆ 4 ด้าน คือ เทคโนโลยีขั้นสูง การเงิน โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม
ปัจจุบัน เซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทข้ามชาติจีนที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก อาทิ Tencent. DJI, China Merchants Bank, Huawei เป็นต้น และในอนาคต รัฐบาลจีนยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเมืองเซินเจิ้นให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ที่มีอิทธิพลในระดับโลก
ตอนนี้ภาพจำของ “เซินเจิ้น” ถูกเปลี่ยนไปเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจไปแล้ว ส่วนการท่องเที่ยวในเซินเจิ้น ถือว่าเป็นอีกเมืองที่มีความน่าสนใจไม่น้อย แหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ที่นักท่องเที่ยวมักจะไปกัน อย่างเช่น
“Window of the World” เมืองจำลองที่รวบรวมเอาแลนด์มาร์ก หรือสถานที่สำคัญของประเทศต่างๆ จากทั่วโลก ย่อส่วนแล้วนำมารวมไว้ในที่เดียวกัน เช่น หอไอเฟล (ฝรั่งเศส) หอเอนปิซ่า (อิตาลี) วิหารอาบูซิมเบล (อียิปต์) ฮาเบอร์บริดจ์ (ออสเตรเลีย) ทัชมาฮาล (อินเดีย) วัดพระแก้ว (ไทย) เป็นต้น
“Splendid of China & China Folk Culture Villages” จำลองสถานที่สำคัญๆ ของจีนมาไว้ที่นี่ เช่น กำแพงเมืองจีน กองทัพทหารดินเผาในสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ พระราชวังฤดูร้อน รวมถึงสุสานและหลุมฝังศพของบุคคลสำคัญของจีน นอกจากนี้ยังมีการแสดงทางวัฒนธรรม สินค้าของที่ระลึก และอาหารอร่อยจากมณฑลต่างๆ ของจีน
“ตลาดตงเหมิน” แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ มีทั้งห้างสรรพสินค้า พลาซ่า ร้านค้าริมถนน มีทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า สินค้าแฟชั่น
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว ที่เซินเจิ้นก็ยังวางแผนที่จะสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติแห่งเมืองเซินเจิ้นประกาศว่า จะดำเนินการก่อสร้าง “สวนสนุกเลโก้แลนด์” (Legoland) ในพื้นที่เขตใหม่ต้าเผิง อำเภอหนานอ้าว เมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตงของจีน โดยมีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 530,000 ตารางเมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็น “สวนสนุกเลโก้แลนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
โดยเลโก้แลนด์ที่เซินเจิ้นนี้ จะถูกออกแบบให้มีความกลมกลืนกับท้องถิ่นมากขึ้น ผสมผสานเลโก้กับความเป็นจีนเข้าด้วยกัน ด้านในเลโก้แลนด์จะประกอบด้วย สวนสนุกเลโก้ เลโก้แลนด์ดิสคัฟเวอรีเซ็นเตอร์ สวนน้ำเลโก้ จุดชมวิวและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีโรงแรมในธีมเลโก้ทั้งหมด 3 แห่ง
เลโก้แลนด์ในประเทศจีนแห่งแรกอยู่ที่ มณฑลเสฉวน คาดว่าจะเปิดตัวภายในปี 2023 แห่งที่สองอยู่ที่ นครเซี่ยงไฮ้ มีกำหนดเปิดให้บริการต้นปี 2024 ส่วนเลโก้แลนด์ที่เซินเจิ้น ยังไม่มีกำหนดการเริ่มก่อสร้างและกำหนดการเปิดตัวอย่างแน่ชัด
ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9640000076855
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!