CEO ARTICLE
ขายชาติ ?
25 ต.ค. 2565 ครม. มีมติรับหลักการแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยเดิมเกี่ยวกับการให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจาก Covid-19 ถือเป็นการขายแผ่นดิน ขายชาติหรือไม่ ?
กฎกระทรวงฯ ที่ว่านี้มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ เฉพาะในเขต กทม. เมืองพัทยา เทศบาล หรือภายในบริเวณที่กำหนด และต้องนำเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทไม่น้อยกว่า 5 ปี
มติ ครม. ครั้งนี้แก้ไขระยะเวลาจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี กำหนดต่างชาติที่จะถือครองได้ 4 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้มีความมั่งคั่ง (2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ และคงเงินทุน 40 ล้านบาทไว้เท่าเดิม
ในข่าวบอกว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ต่างชาติที่มายื่นขอถือครองที่ดินตามกฎกระทรวงนี้มีเพียง 8 รายเท่านั้น (Nation TV 29 ต.ค. 2565)
แต่ในความเป็นจริง ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วยวิธีการอื่นทั้งถูกและผิดกฎหมายมีมากมหาศาลทั้งเพื่อธุรกิจ อยู่อาศัย และเก็งกำไร แต่มาลดลงในช่วง Covid-19 ที่ทุกประเทศเหมือนกัน วิธีการอื่นที่ใช้ถือครองมีหลายวิธี เช่น
วิธีที่ 1 ถือครองภายใต้กิจการร่วมทุนกับคนไทย 51% ต่างชาติ 49%
วิธีที่ 2 ถือครองโดยการสมรสกับคนไทยและใช้ชื่อคู่สมรสหรือบุตรถือครอง
วิธีที่ 3 ถือครองอาคารชุด (Condominium) ที่ให้โควต้าต่างชาติซื้อได้ 49%
วิธีที่ 4 ถือครองผ่านนอมินี (Nomini) โดยใช้ชื่อคนไทย ปิดบัง ไม่มีใครรู้
การถือครองของต่างชาติด้วยวิธีการอื่นข้างต้นกระตุ้นราคาที่ดินให้สูงขึ้นจริง เศรษฐกิจเติบโตจริง ส่วนการถือครองตามกฎกระทรวงฯ ที่มีเพียง 8 รายไม่ส่งผลอะไรมาก
คนที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจพอควรจึงมองออกว่า ต่างชาติถือครองที่ดินมีมากอยู่แล้ว มติ ครม. รับหลักการครั้งนี้ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด
แม้จะรู้ว่าไม่ได้ผลจริงจัง แต่หากใครมาเป็นรัฐบาลในยามนี้ก็อาจทำอย่างนี้ ทำมากกว่านี้ หรือทำอย่างอื่นเพื่อให้ได้ผลทางใดทางหนึ่ง หรือให้เกิดผลทางจิตวิทยาไม่มากก็น้อย
ผลทางจิตวิทยามีจริง มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่การรับรู้ของผู้รับสาร ตัวอย่างเช่น
ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายนำมตินี้มากระตุ้นความต้องการ อาจสร้างราคาให้สูงขึ้น ผู้ประกอบการอาคารชุดก็ผสมโรงเสนอให้ขยายโควต้าต่างชาติให้ถือครองได้ถึง 75% หากทำได้ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอควร
แต่จิตวิทยานี้ก็ส่งความกังวลให้ประชาชนที่หวงแหนแผ่นดิน มองว่า หากมติ ครม. ครั้งนี้ได้ผลดีเกินกว่าปี 2545 จริง ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินมากขึ้นจริง ที่ดิน บ้าน อาคารชุดขายได้มากจริง ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สูงอยู่แล้วจะยิ่งสูงมากขึ้น
แบบนี้คนยากจนทั่วประเทศที่มีมาก ยังไม่มีที่ดิน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองจะยิ่งขาดโอกาสถือครองที่ดิน ต้องเช่า กลายเป็นคนไทยแต่ไร้แผ่นดินถือครอง ส่วนแผ่นดินก็ตกเป็นของต่างชาติมากขึ้น มติ ครม. ครั้งนี้จึงดูไม่ต่างไปจากการขายแผ่นดิน และเลยเถิดไปเป็นขายชาติทันที
โซเซียลยังส่งข้อมูลบางประเทศที่มีขนาดเล็ก ให้ต่างชาติถือครอง สุดท้าย ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสูงขึ้นมาก คนท้องถิ่นไม่มีปัญญาซื้อ ต้องเช่า แผ่นดินส่วนใหญ่จึงดูคล้ายเป็นของต่างชาติ ข้อมูลนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลให้คนไทยที่รักแผ่นดินมากขึ้น
ทุกมาตราการทางเศรษฐกิจย่อมมีประโยชน์ มีโทษ และมีวิธีการป้องกันกันทั้งนั้น
กฎกระทรวงฯ นี้ก็เช่นกัน การห้ามพื้นที่เกษตรกรรมไม่ให้ต่างชาติถือครอง การกำหนดวิธีการลงทุน และส่วนสำคัญอื่นก็เป็นการป้องกันที่ดี แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังไม่คลายกังวลอยู่ดี
ข้อมูลที่ครบ 2 ด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากรู้ครบถ้วนแล้วไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย อยากคัดค้าน ประชาชนก็ควรค้านด้วยหลักการ ด้วยเหตุผล และไม่อิงการเมืองที่มุ่งการบูลลี่ด้วยคำหยาบ นำเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับมติ ครม. ครั้งนี้มาผสมให้เป็นเรื่องใหม่ ไร้หลักการ ไร้เหตุผลจนทำให้เสียงค้านไม่น่ารับฟัง และกลายเป็นเครื่องมือการเมืองมากกว่า
การถือครองที่ดินโดยต่างชาติเป็นสิ่งที่หลายประเทศทำ ประเทศไทยก็ทำ ส่วนต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินในไทยก็มีนานแล้ว และเศรษฐกิจของไทยก็ถูกกระตุ้นขึ้นมาแล้วหลายช่วงเวลา
มติ ครม. ครั้งนี้เป็นเพียงรับหลักการ มีกำหนดเวลา ยังเปลี่ยนได้ และดูเป็นการขายชาติได้
ความกังวลของประชาชนเป็นสิ่งดี การออกมาร่วมค้าน ร่วมแสดงความคิดเห็นที่บริสุทธิ์ใจ ไม่เป็นเครื่องมือการเมืองก็ยิ่งดี ยิ่งน่ารับฟัง และยังป้องกันการขายชาติที่อาจมีจริงไปในตัว.
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
SNP Group
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : November 1, 2022
Logistics
เกาะติดสถานการณ์ล่าสุดของตลาดลำไยในจีน
สถานการณ์การผลิตลำไยของจีนในเดือนกันยายน 2022 พบว่าการเก็บเกี่ยวลำไยในมณฑลที่สำคัญอย่างกวางตุ้งและมณฑลกว่างซีใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ขณะที่เมืองเกาโจวคาดว่าน่าจะเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือน ส่วนมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลเสฉวนผลผลิตยังทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาด้านราคาในเดือนกันยายน 2022 นี้พบว่าลำไยแต่ละพันธุ์มีราคาแตกต่างกัน โดยลำไยพันธุ์ฉู่เหลียงมีราคาต่ำสุดที่ 3.8 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 20.14 บาทต่อกิโลกรัม และมีราคาสูงสุดอยู่ที่ 10 หยวนต่อกิโลกรัมหรือประมาณ 53 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4.73 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 25.07 บาทต่อกิโลกรัม ด้านลำไยพันธุ์สุ่ยหนาน 1 มีราคาต่ำสุดที่ 3 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 15.9 บาทต่อกิโลกรัม และมีราคาสูงสุดที่ 13 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 68.9 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6.80 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 36.04 บาทต่อกิโลกรัม (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท)
เว็บไซต์ www.21food.com เปิดเผยว่า เดือนกันยายน 2022 ในตลาดขายส่งลำไยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15.71 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 83.21 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนตลาดอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์ค้าส่งผลไม้นานหยาง มณฑลเหอหนาน ราคาลำไยอยู่ที่ 12 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 63.6 บาทต่อกิโลกรัม ตลาดค้าส่งผลไม้ตีโค่ว เมืองจี่หนาน มีราคาอยู่ที่ 20 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 106 บาทต่อกิโลกรัม ตลาดจิ่วฉวนชุนกวง มณฑลกานซู่ ราคาอยู่ที่ 15 หยวนต่อกิโลกรัมหรือประมาณ 79.5 บาทต่อกิโลกรัม ตลาดค้าส่งอาหารและผลไม้เจียงเหมินซินหุ้ย มณฑลกวางตุ้งมีราคาอยู่ที่ 11.6 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 61.48 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับราคาลำไยในตลาดค้าปลีกทั่วไปพบว่า ในเดือนกันยายน 2022 ลำไยไทยในตลาดค้าปลีก เมืองเสิ่นหยางมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 39.84 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 211.15 บาทต่อกิโลกรัม
ตลาดค้าปลีกในกรุงปักกิ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 28.67 หยวนต่อกิโลกรัมหรือประมาณ 151.95 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับตลาดค้าปลีกในเมืองเฉิงตูมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 39.56 หยวนต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 209.66 บาทต่อกิโลกรัม แสดงให้เห็นว่าระดับราคาลำไยจีนกับลำไยไทยค่อนข้างแตกต่าง เนื่องจากการคัดเกรดของลำไยไทยหลังเก็บเกี่ยวมีประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้ผลผลิตมีขนาดใหญ่ จึงสามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่า ได้รับการยอมรับจากตลาดและผู้บริโภคมากกว่า และมีทิศทางที่สามารถขายในระดับไฮเอนด์ ขณะที่ลำไยจีนที่จำหน่ายในตลาดจะขายพร้อมกิ่งและใบ ทำให้ราคาต่ำกว่าลำไยของไทย
เมื่อพิจารณาสถานการณ์การนำเข้า – ส่งออกลำไยของจีนจากกรมศุลกากรจีน พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2022 จีนมีการนำเข้าและส่งออกลำไย รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากลำไยคิดเป็นมูลค่า 396.38 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15,062.44 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำเข้ามูลค่า 389.20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,789.60 ล้านบาท และการส่งออกมูลค่า 7.18 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 272.84 ล้านบาท โดยด้านการนำเข้า พบว่าจีนนำเข้าลำไยสดจำนวน 196,404.10 ตัน ลดลงร้อยละ 20.4 หรือคิดเป็นมูลค่า 291.16 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 11,064.08 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.9 โดยประเทศที่นำเข้าหลัก ได้แก่ ไทย จำนวน 196,332.20 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 291.12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 11,062.56 ล้านบาท เวียดนาม จำนวน 71.9 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 36,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.37 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าลำไยอบแห้งมีจำนวน 72,567.10 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 98.01 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,724.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 โดยนำเข้าจากประเทศไทยเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.7 และมีการนำเข้าลำไยกระป๋องจำนวน 35.2 ตัน ลดลงร้อยละ 53.4 หรือคิดเป็นมูลค่า 37,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.41 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 61.8 โดยนำเข้าลำไยกระป๋องจากไทยร้อยละ 100 (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ เท่ากับ 38 บาท)
ส่วนด้านการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกพบว่า จีนส่งออกลำไยสดจำนวน 1,406.60 ตัน ลดลงร้อยละ 65.9 หรือคิดเป็นมูลค่า 33.33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 266,1.54 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 68.7 โดยส่งออกไปยังฮ่องกงในสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60.0 รองลงมา ได้แก่ มาเก๊าคิดเป็นร้อยละ 19.4 สหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 12.4 และแคนาดาคิดเป็นร้อยละ 7.5 ตามลำดับ และมีการส่งออกลำไยแห้งจำนวน 644.30 ตัน ลดลงร้อยละ 2.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 3.49 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 128.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยส่งออกไปยังฮ่องกงมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.7 สิงคโปร์คิดเป็นร้อยละ 14.2 มาเลเซียคิดเป็นร้อยละ 8.0 แคนาดาคิดเป็นร้อยละ 6.4 มาเก๊าคิดเป็นร้อยละ 5.8 และญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 4.4 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกลำไยกระป่องมีจำนวน 228.80 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 คิดเป็นมูลค่า 368,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 โดยส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36 บรูไนคิดเป็นร้อยละ 33.6 อินโดนีเซียคิดเป็นร้อยละ 10.4 และออสเตรเลียคิดเป็นร้อยละ 6.4 ตามลำดับ
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
จีนถือเป็นประเทศที่ปลูกลำไยในเชิงเศรษฐกิจที่เก่าแก่ที่สุดและยังเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกลำไยกว้างขวางที่สุดและมีผลผลิตมากที่สุดในโลกด้วย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกลำไยคิดเป็นร้อยละ 59 ของโลก รองลงมาได้แก่ ไทย และเวียดนาม โดยจีนมีแหล่งเพาะปลูกหลัก ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง กว่างซี ฝูเจี้ยน ไห่หนาน เสฉวน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตลำไยมากที่สุดของโลกแต่ปริมาณการผลิตก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยพบว่าในปี ค.ศ. 2021 มณฑล/เมืองที่มีการนำเข้าลำไยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มหานครฉงชิ่ง มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศคู่ค้าลำไยอันดับหนึ่งของจีน ทำให้ตลาดลำไยในจีนจึงยังคงเป็นตลาดที่น่าจับตามองของผู้ประกอบการลำไยไทย ถึงแม้ว่าจีนจะนิยมบริโภคลำไยสด แต่ในด้านการแปรรูปแล้วพบว่าลำไยจีนมีการใช้ในด้านการแปรรูปคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 – 25 และมีการใช้ลำไยไทยในการแปรรูปมากถึงร้อยละ 60 – 70 ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าลำไยอบแห้งที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.3 ในขณะที่สถานการณ์การนำเข้าลำไยสดมีแนวโน้มลดลง อาจมีสาเหตุมาจากความเข้มงวดในการนำเข้าของสดของจีนที่ยังคงตรึงมาตรการการตรวจโควิดอย่างเข้มงวด จึงทำให้มีอุปสรรคในการผ่านด่านขั้นตอนพิธีทางศุลกากร เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้า และต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับการระบาดของโรคฯ ทำให้การเดินทางไปทำการค้าในไทยมีความไม่สะดวกเช่นเดิม จึงต้องซื้อผ่านคนกลาง ซึ่งอาจเกิดความไม่ไว้วางใจ มีราคาสูง และคุณภาพที่ไม่ตรงตามความต้องการ แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สคต. ในภูมิภาคจีนทั้ง 7 แห่ง ต่างให้การสนับสนุนในการให้ข้อมูลแก่ ผู้นำเข้า รวมทั้ง สร้างความเชื่อมั่นว่า ผู้ส่งออกที่ร่วมกิจกรรมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็น ผู้ส่งออกที่ได้รับการคัดเลือก มีความน่าเชื่อถือ และมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพสูงมายังประเทศจีน นอกจากนี้ ยังแสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐของจีนระดับมณฑล/ เมือง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้าไทยได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้นทั้งในเมืองหลักและเมืองรองทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร พฤติกรรม และแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนแต่ละมณฑล/ เมือง เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้ทั้งในเว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และแอปพลิเคชัน DITP ONE ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งใน App Store และ Google Play
ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/822598/822598.pdf&title=822598&cate=413&d=0
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!