CEO ARTICLE
ชิปปิ้งต้องรับผิดชอบ
สินค้าขนส่งทางทะเลสูญหาย เสียหาย หรือล่าช้า ชิปปิ้งต้องรับผิดชอบหรือไม่ ?
คนทำอาชีพชิปปิ้งได้ยินคำข้างต้นก็ต้องตกใจ แต่หากได้รู้ที่มาของคำ ความหมาย และข้อกฎหมายก็น่าจะเข้าใจมากขึ้น ชิปปิ้งเป็นคำภาษาอังกฤษมาจากคำว่า “Ship” ซึ่งหมายถึง “เรือ”
Shipping จึงหมายถึง การเดินเรือ แต่ในการค้าระหว่างประเทศ คำว่า Shipping หมายถึง การขนส่งทางเรือ การขนส่งทางทะเล หรือการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
เมื่อเรือสินค้าเทียบท่า ณ ประเทศใด เรือต้องผ่านพิธีการศุลกากร สินค้านำเข้าและส่งออกก็ต้องผ่านศุลกากร “การขนส่งทางทะเล” และ “พิธีการศุลกากร” จึงเป็นของคู่กัน คนจีนที่ทำการค้าในอดีตจึงเรียก “ผู้ขนส่งทางทะเล” และ “ผู้ผ่านพิธีการศุลกากร” แบบเหมารวมว่า “ชิปปิ้ง”
อาชีพชิปปิ้งจึงเกิดขึ้น ปี 2490 คนจีนก็ได้ก่อตั้งเป็นสมาคมในชื่อ “สมาคมชิปปิ้งเฮียบอัง” โดยมีเจตนารมณ์เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีสินค้าสูญหาย เสียหาย ล่าช้าให้แก่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก และช่วยเหลือด้านพิธีการศุลกากร (https://www.ctat.or.th/70th-ctat.aspx)
ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย”
คนต่างชาติเข้าใจตามศัพท์ว่า ชิปปิ้งคือผู้ขนส่งทางทะเล ส่วนคนไทยในเวลาต่อมาเข้าใจว่า ชิปปิ้งคือผู้ผ่านพิธีการศุลกากร เมื่อสินค้าขนส่งทางทะเลสูญหาย เสียหาย หรือล่าช้า ต่างชาติจะบอกว่า “ชิปปิ้งต้องรับผิดชอบ” คนไทยที่ทำอาชีพชิปปิ้งได้ยินก็ต้องตกใจเป็นธรรมดา
ปี 2540 เงินบาทลอยตัวก็เกิดแนวคิดการเรียกผู้ผ่านพิธีการศุลกากรให้ถูกต้องตามศัพท์
ปี 2541 ก็เกิด “สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย” หรือ TACBA (Thai Authorized Customs Broker Association) ขึ้นมา และทำหน้าที่แบบเดียวกับสมาคมชิปปิ้ง
ทั้ง 2 สมาคมมีฐานะเท่าเทียมกัน เหมือนกัน แข่งกัน ไม่มีใครรู้ว่า กรมศุลกากรคิดอย่างไร จะเอาอย่างไร และปวดหัวหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ อธิบดีเปลี่ยนไปคนแล้วคนเล่า
ส่วนคำว่า “ชิปปิ้ง” ในทางการก็ไม่ค่อยกล่าวถึง เช่น ประกาศของกรมศุลกากรที่ 61/2561 เรื่องระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับตัวแทนออกของ หรือผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกของ เป็นต้น
ประกาศทางการเรียกผู้ผ่านพิธีการศุลกากรว่า “ตัวแทนออกของ” (Customs Broker)
แต่คำว่า “ชิปปิ้ง” ก็ไม่หายไปไหน ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้งานใหม่ ๆ จากการเรียนพักลักจำ ไม่ได้ผ่านการอบรมจากศุลกากร ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจจริง ๆ และอาจไม่ชอบคำว่า “ตัวแทนออกของ” ก็ได้จึงยังเรียกตัวเองตามคนรุ่นเก่าว่า “ชิปปิ้ง”
“ชิปปิ้งต้องรับผิดชอบ” เป็นคำที่กล่าวตามประเพณีการขนส่งทางทะเล
แต่ใน พรบ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กำหนดผู้รับผิดชอบไว้ชัดเจน ในมาตรา 3 ได้แบ่งผู้ขนส่งทางทะเลที่ต้องรับผิดชอบออกเป็น 2 กลุ่มคือ “ผู้ขนส่ง” และ “ผู้ขนส่งอื่น”
1. “ผู้ขนส่ง” หมายถึง (โดยย่อ) “บุคคลผู้รับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จปกติทางการค้าโดยทำสัญญารับขนของทางทะเล”
บำเหน็จในที่นี้ก็คือ ค่าระวางขนส่ง (Freight) ส่วนสัญญารับขนของก็คือ ใบตราส่งสินค้า หรือ B/L (Bill of Lading) ที่ผู้ขนส่งออกให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเพื่อเป็นหลักฐาน
ในทางกฎหมาย “ผู้ขนส่ง” จึงมิใช่สายการเดินเรือ (Shipping) หรือตัวแทนสายการเดินเรือ (Shipping Agent) เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง Freight Forwarder หรือ Logistics Service Provider หรือบุคคลใดก็ตามที่รับค่าระวางขนส่ง (Freight) และออกใบตราส่งสินค้า (B/L) อีกด้วย
2. “ผู้ขนส่งอื่น” หมายถึง (โดยย่อ) “บุคคลที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของ แต่ได้รับมอบจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญานั้น แม้เพียงช่วงระยะทางช่วงหนึ่ง แต่ไม่รวมถึง บุคคลผู้ทำหน้าที่ผ่านพิธีการเข้าเมือง พิธีการศุลกากร การเข้าท่า การออกท่า ฯลฯ”
ผู้ขนส่งอื่นคือ “ผู้ที่ได้รับงานช่วง” (Sub Contract) จากผู้ขนส่ง แม้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจะไม่รู้เห็นการรับงานช่วง แต่หากสินค้าขนส่งทางทะเลสูญหาย เสียหาย หรือล่าช้า ผู้ขนส่งอื่นก็ต้องรับผิดชอบร่วมกับผู้ขนส่ง ส่วนผู้ผ่านพิธีการศุลกากรไม่ว่าจะเรียก “ชิปปิ้ง” หรือ “ตัวแทนออกของ” ในทางกฎหมายไม่ใช่ผู้ขนส่งอื่น กฎหมายให้ยกเว้น ไม่ต้องรับผิดชอบ
กฎหมายเรื่องความรับผิดชอบชัดเจน แต่กฎหมายเรื่องชื่อไม่รู้ว่าชัดเจนหรือไม่ คำว่า “ชิปปิ้ง” และ “ตัวแทนออกของ” จึงยังอยู่ ทำให้มี 2 สมาคม และมี 2 ชื่อให้ต่างชาติงง
ด้วยเหตุนี้ ชิปปิ้งที่ขาดความรู้ ความเข้าใจก็ต้องตกใจเป็นธรรมดาเมื่อสินค้าสูญหาย เสียหาย หรือล่าช้าจากการขนส่งทางทะเล และได้ยินคำว่า “ชิปปิ้งต้องรับผิดชอบ”
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life
อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/
Date Published : September 12, 2023
Logistics
3 ประเทศสมาชิก RCEP ครองตลาดนำเข้าของกัมพูชามากกว่าร้อยละ 70
จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา หรือ GDCE ระบุว่า จีน เวียดนาม และไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มาตลาดกัมพูชา โดยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2566 มีมูลค่ารวมกว่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ คิดเป็นร้อยละ มากกว่า 70 ของการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา
ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ปี 2566 กัมพูชานำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวม มูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกัมพูชานำเข้าจาก จีน เวียดนาม และไทย มีมูลค่ากว่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 71.20 ของการนำเข้าทั้งหมด
ทั้งนี้ กัมพูชานำเข้าสินค้าจากจีน มูลค่ามากกว่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 44.30 เวียดนาม มูลค่ามากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 15 และไทย มูลค่ามากกว่า 1.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 11.90 นอกจากนี้ กัมพูชายังนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไทเป เกาหลีใต้ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ด้วย เป็นต้น
นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า จีน เวียดนาม และไทย เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่มาตลาดกัมพูชา และมีความสำคัญสำหรับกัมพูชามาก สินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากทั้ง 3 ประเทศ ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการภายในประเทศ แต่ยังนำมาเสริมกระบวนการการผลิต การแปรรูป หรือการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย
คาดว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การนำเข้าของกัมพูชาจากทั้ง 3 ประเทศก็จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออก และด้วยความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชนตลอดจนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทำให้การค้าของกัมพูชากับประเทศทั้ง 3 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกัมพูชามีข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับจีน กัมพูชาเป็นสมาชิก ASEAN รวมทั้ง กัมพูชายังเป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อีกด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจของกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา
1) ในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2566 จีน เวียดนาม ไทย นำเข้าสินค้าจากกัมพูชามีมูลค่าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมากกว่า 13.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2) ในปี 2565 กัมพูชานำเข้าสินค้ามูลค่ากว่า 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก จีน เวียดนาม และไทย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.93 ของการนำเข้าทั้งหมดของประเทศ โดยมีมูลค่ารวมเกือบ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ความเห็นของสำนักงานฯ
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนักในขณะนี้ การทำการค้าระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคเดียวกันมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชามีอัตราการเติบโตของกำลังการผลิตภายในประเทศ ทำให้กัมพูชาต้องนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนเพื่อรองรับการแปรรูปของสินค้าและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีกับหลายประเทศ เช่น FTA กับ เกาหลีใต้ และจีน GSP กับสหราชอาณาจักร และ EBA กับสหภาพยุโรป พร้อมทั้งยังมีกรอบ RCEP และปัจจุบันการค้าระหว่างกัมพูชากับจีน เวียดนาม และไทย ยังดำเนินไปได้ดีมาก โดยไทยเป็นประเทศอันดับที่ 3 รองจากเวียดนาม และจีน ที่ส่งออกสินค้ามายังกัมพูชามากที่สุด บ่งบอกถึงศักยภาพทางด้านการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยที่มีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ เวียดนามและไทยมีพรมแดนติดกับกัมพูชา และจีนเป็นประเทศแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งทำให้ได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ และการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง รวมทั้งปัจจุบันกัมพูชามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้ากับประเทศที่ติดชายแดน เช่น ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ พนมเปญ-บาเวต การเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างกัมพูชาและไทย และการก่อสร้างและขยายท่าเรือต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจ สามารถพิจารณาศึกษาเพื่อมาลงทุนหรือค้าขายกับกัมพูชาได้ โดยสินค้าไทยยังเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชา เนื่องจากมีคุณภาพและราคาที่สามารถจับต้องได้ เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ญีปุ่น และสภาพยุโรป ที่มีราคาค่อนข้างสูง
แหล่งข่าว: Phnom Penh Post
กันยายน 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา
ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/144776
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!