CEO ARTICLE

ใบตราส่งหาย

Published on October 10, 2023


Follow Us :

    

ใบตราส่งสินค้าหาย ผู้นำเข้าจะขอรับสินค้าได้หรือไม่ และหากมีผู้อื่นนำใบตราส่งมาแสดงตนเพื่อขอรับสินค้าพร้อมกับผู้นำเข้า ใครมีสิทธิ์ได้รับสินค้ามากกว่ากัน ???

ใบตราส่งสินค้า หรือ B/L (Bill of Lading) ตาม พรบ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรค 10 และประกอบมาตราอื่นมีความหมายมากมาย ดังนี้
1. เป็นหลักฐาน (Evidence) ที่แสดงว่า ผู้ขนส่ง (Carrier) ได้รับสินค้าไว้แล้ว
2. เป็นสิ่งยืนยันว่า ผู้ขนส่งได้รับสินค้าไว้ในสภาพถูกต้องและเรียบร้อย
3. เป็นสัญญาว่า ผู้ขนส่งจะขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางถึงท่าเรือปลายทาง
4. เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ (Document of Title) ที่ผู้นำเข้าต้องถือมารับสินค้า
5. เป็นเอกสารเพื่อเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในการโอนสินค้าไปยังผู้อื่น
6. เป็นใบเสร็จ (Receipt) ที่ผู้ขนส่งออกให้กับผู้ว่าจ้าง หรือผู้ส่งออก
ใบตราส่งสินค้า หรือ B/L จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญของการขนส่งทางทะเล
มาตรา 29 (สรุปโดยย่อ) ตัวแทนสายการเดินเรือ (Shipping Agent) หรือผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) หรือผู้ขนส่งอื่นจะออกใบตราส่งต้นฉบับให้ผู้ส่งของกี่ชุดก็ได้ และมาตรา 29 (1) ผู้นำเข้าจะนำใบตราส่งต้นฉบับชุดใดมาขอรับสินค้าก็ได้ เมื่อรับสินค้าไปแล้วก็ให้ถือว่าใบตราส่งชุดที่เหลือฉบับอื่นเป็นอันสิ้นผลไป
จากมาตรา 29 และมาตรา 29 (1) ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ใบตราส่งต้นฉบับที่กฎหมายให้ออกได้หลายชุดก็เพื่อป้องกันชุดใดสูญหายก็ยังมีชุดอื่นใช้แทนได้
แต่ในประเพณีการขนส่งทางทะเล ใบตราส่งต้นฉบับ (Original) จะมี 3 ชุด มีชื่อเรียกตามลำดับแต่ละชุดคือ First Original B/L, Second Original B/L, และ Third Original B/L
ใบตราส่งต้นฉบับทั้ง 3 ชุดจึงมีศักดิ์ศรีเท่ากันทั้งในทางกฎหมายและประเพณี และตอกย้ำความสำคัญด้วยมาตรา 28 ว่า “เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือให้ประกันตามควร”
ความหมายของมาตรา 28 คือ ผู้นำเข้าจะนำใบตราส่งต้นฉบับชุดใดมารับสินค้าก็ได้ แต่หากไม่มีใบตราส่งต้นฉบับชุดใดเลย ผู้นำเข้าต้องวางประกันตามที่ผู้ขนส่ง (Carrier) กำหนด
ใบตราส่งต้นฉบับมีถึง 3 ชุด และมีกฎหมายกำหนดความรับผิดชอบ เมื่อสูญหายทั้ง 3 ชุดจึงเป็นเรื่องใหญ่ การออกใบตราส่งต้นฉบับใหม่โดยผู้ขนส่งต่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ส่วนการวางประกันนั้น ผู้นำเข้าต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของก่อน และมีภาระต้องสืบหาใบตราส่งต้นฉบับมาคืนผู้ขนส่งเพื่อขอรับเงินประกันคืน

แต่เรื่องจะยุ่งยากและวุ่นวายมากขึ้น เมื่ออยู่ ๆ มีผู้อื่นถือใบตราส่งต้นฉบับ 1 ชุดมาขอรับสินค้าพร้อมกับผู้นำเข้าที่มีใบตราส่งต้นฉบับเช่นกัน
ผู้อื่นถือใบตราส่งต้นฉบับมาขอรับของ ผู้นำเข้าอาจรู้หรืออาจไม่รู้ ไม่ว่าจะโดยสุจริตหรือไม่ก็ตามมา เกิดขึ้นได้หลายกรณี ตัวอย่างเช่น ผู้อื่นได้รับมอบจากผู้ขายสินค้าต้นทางให้มารับของคืน เกิดปัญหาการชำระเงินค่าสินค้า เกิดการช่วงชิงสินค้าระหว่างผู้นำเข้ากับผู้อื่น เกิดการทุจริต หรือการหักเลี่ยมทางการค้า เป็นต้น
ผู้นำเข้าและผู้อื่นต่างฝ่ายต่างมีใบตราส่งต้นฉบับคนละชุด แต่ละชุดมีศักดิ์ศรีเท่ากัน กรณีเช่นนี้ ใครจะมีสิทธิ์ได้รับสินค้ามากกว่ากัน ?
มาตรา 29 (2) (สรุปโดยย่อ) ห้ามมิให้ผู้ขนส่งมอบของหรือสินค้าให้แก่ผู้ใด แต่ให้ผู้ขนส่งนำของหรือสินค้าไปฝากไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ และให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 333
ความหมายคือ ผู้นำเข้าและผู้อื่นที่มาแสดงสิทธิ์เป็นเจ้าของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่มีสิทธิ์รับสินค้าทันที แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ในทางศาลแพ่งก่อน ผู้ขนส่งไม่มีอำนาจในการพิสูจน์และไม่มีอำนาจส่งมอบของให้แก่ผู้ใด
ใบตราส่งสินค้าต้นฉบับออกโดยประเพณีมีถึง 3 ชุดจึงมีทั้งข้อดี และข้อเสีย เมื่อหายเพียง 1 ชุดใดจึงเป็นเรื่องใหญ่
ในอดีตการจัดส่งใบตราส่งต้นฉบับจากต่างประเทศโดยผู้ขายหรือโดยธนาคารจึงนิยมแยกเป็น 3 ซองเพื่อป้องกันการสูญหาย แต่ปัจจุบันอาจมีการรวมเป็นซองเดียวแล้ว
ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้นำเข้าได้รับใบตราส่งต้นฉบับจึงควรตรวจสอบให้ครบทั้ง 3 ชุด เก็บรักษาอย่างเป็นระบบให้สอดคล้องกับความสำคัญมาก ๆ ต่อการค้าและการขนส่งสินค้าทางทะเล.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
👉 Home and Health … https://www.inno-home.com
👉 Art and Design …… https://www.cose.life

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : October 10, 2023

Dr. Sitthichai Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของประเทศในกลุ่ม BRICS ในแอฟริกาตะวันออกผ่านการแข่งขันทางอาวุธ

การแข่งขันด้านการค้าอาวุธของประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS (กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอันประกอบด้วย Brazil Russia India China และ South Africa) ได้ขยายออกมายังกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออกแล้ว ตามข้อมูลการถ่ายโอนอาวุธของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ที่บ่งชี้ว่า ในปี พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2556 ประเทศยูกันดา และประเทศรวันดา เป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่จากรัสเซีย ในขณะที่ประเทศเอธิโอเปียและประเทศแทนซาเนียสั่งซื้ออาวุธสำหรับใช้ทางการทหารจากประเทศจีน ซึ่งทั้งรัสเซียและจีนเป็นสองประเทศที่จำหน่ายอาวุธรายใหญ่ ในขณะที่ประเทศอินเดียเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก

จากข้อมูลข้างต้นยังได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญและการค้าระหว่างประเทศสมาชิกกำลังเติบโตขึ้น ประเทศรัสเซียยังคงคงเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ที่สุดให้กับอินเดียในช่วง 14 ปี ที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียยังเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งสำหรับการส่งออกอาวุธของประเทศรัสเซีย แต่ทว่าในภาพรวมส่วนแบ่งทางการตลาดของรัสเซียจะลดลงจากร้อยละ 78 ในปี 2551 – 2555 เหลือเพียงร้อยละ 45 ในปี 2561 – 2565 ในขณะที่ฝรั่งเศส อิสราเอล และสหรัฐอเมริกาต่างได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น

สำหรับยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างประเทศจีนที่เคยพึ่งพาการนำเข้าอาวุธส่วนใหญ่จากประเทศรัสเซีย แต่ระหว่างปี 2551 – 2565 จีนก็ได้ลดการนำเข้าจากรัสเซีย เปลี่ยนเป็นผู้ผลิตและส่งออกเอง โดยอุตสาหกรรมอาวุธของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในแง่ของการส่งออกอาวุธ รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่จีนอยู่ในอันดับที่ 5 โดยอินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้มีอุตสาหกรรมอาวุธภายในประเทศที่ค่อนข้างเล็กแต่มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มการส่งออก

ทางด้านประเทศในแถบแอฟริกาตะวันออก ยูกันดาถือเป็นตลาดส่งออกอาวุธใหญ่ตลาดหนึ่งของรัสเซียในปี พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่นำเข้าอาวุธด้วยเช่นกัน
มีเพียงสองประเทศในแอฟริกาตะวันออก อย่าง เคนยาและซูดานใต้ที่ยังไม่มีการจัดหาอาวุธเพื่อใช้ทางการทหารจากกลุ่มประเทศสมาชิก BRICS ในช่วงเวลานี้

ในปี พ.ศ. 2552 ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม BRICS ขึ้นมาเพื่อต่อต้านการครอบงำทางภูมิรัฐศาสตร์ของชาติตะวันตก และเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง การพัฒนา และความร่วมมือด้านต่างๆ และแนวโน้มการรวมสมาชิกใหม่อย่างอาร์เจนตินา อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ นั้นมีเป้าหมายเพื่อขยายวัตถุประสงค์ดังกล่าวให้เกิดขึ้นในวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังมีมุมมองของนักวิชาการหลายฝ่ายมองว่า การเกิดขึ้นของกลุ่ม BRICS มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างระเบียบโลกใหม่ เพื่อลดช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างบทบาทที่แท้จริงของตลาดเกิดใหม่ในระบบการค้าโลก และความสามารถของประเทศเหล่านี้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสถาบันระดับโลกต่างๆ อีกด้วย

ความเห็นของ สคต.
จากข่าวดังกล่าวนี้ จะเห็นว่าการที่หลายประเทศในแอฟริกาได้เริ่มมีการนำเข้าอาวุธจากรัสเชียและจีนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนนั้น แสดงให้เห็นถึง ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการที่ประเทศในแอฟริกาหันมาพึ่งประเทศจีนและรัสเชียมากขึ้น

ในส่วนของไทยนั้น ไทยเองก็มีความสามารถในการผลิตรถยนต์หรือรถโดยสารขนาดกลางและเล็กที่ใช้งานได้ในกองทัพในหลายผู้ผลิต ไทยควรอาศัยการที่เราไม่มีนโยบายฝักใฝ่กับฝ่ายใดเป็นพิเศษนั้น เข้ามาทำตลาดกับประเทศในแอฟริกาในอุตสาหรกรรมดังกล่าวในอนาคต เพราะยิ่งสถานการณ์ความมั่นคงที่ประเทศในแอฟริกาต้องการจัดหาอาวุธหรือยานพาหนะที่เข้ามาทำภารกิจในการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศมากขึ้น ไทยก็ย่อมมีโอกาสจะเข้าสูตลาดดังกล่าวมากขึ้น เพราะราคาสินค้าของไทยและคุณภาพสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ไม่ต้องการจะมีนโยบายพึ่งพาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จึงถือเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มดังกล่าวหันมามองตลาดแอฟริกาในอนาคตต่อไป

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

ที่มา: https://www.ditp.go.th/post/148439

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.