CEO ARTICLE

ลาภที่ไม่ควรได้

Published on April 30, 2024


Follow Us :

    

ลาภที่ไม่ควรได้จะก่อความเสียหายต่อประชาชนอย่างไร ?

“ลาภ” คือสิ่งที่ได้มาโดยไม่คาดคิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ลาภที่ควรได้ และลาภที่ไม่ควรได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นลาภประเภทไหน คนทุกคนก็อยากได้ทั้งนั้น
ตัวอย่างลาภที่ควรได้ เช่น การถูกรางวัล ได้มรดก ได้เงินเดือนขึ้น ได้โบนัส รัฐบาลแจกเงินคนไร้ความสามารถ คนชรา คนพิการ และอื่น ๆ ที่มีเหตุอันควรได้ หรือเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม
ตัวอย่างลาภที่ไม่ควรได้ เช่น การหลอกลวงคนจำนวนมากให้หลงบูชา ให้หลงเชื่อจ่ายเงิน คอลเซนเตอร์หลอกให้โอนเงิน การหนีภาษี การแจกเงินคนที่ไม่ควรแจก การทำนโยบายของรัฐที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การทุจริตของข้าราชการ นักการเมือง หรือการทุจริตเชิงนโยบาย และอื่น ๆ ที่ไม่มีเหตุอันควรได้ หรือไม่ถูกต้องชอบธรรม
หากลาภมีจำนวนไม่มาก และผู้รับก็มีไม่มาก เมื่อผู้รับนำไปใช้จ่าย เงินนี้จะกระจายไปในระบบ หมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจให้ค่อย ๆ เติบโต เกิดการผลิต การจ้างงาน การนำสินค้าเข้ามาตอบสนอง เงินเฟ้อจะค่อย ๆ เกิดขึ้น และค่าเงินจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานของรัฐ ความเสียหายจึงอยู่ในการควบคุม
แต่หากลาภมีจำนวนมาก เงินมหาศาล เป็นลาภที่ควรได้ ผู้รับเป็นล้าน ๆ คน และอยู่ภายใต้การควบคุม เศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นอย่างก้าวกระโดดซึ่งหลาย ๆ ประเทศจะทำในยามเศรษฐกิจมีปัญหา ตกต่ำ และมีเหตุอันควร แต่ต้องสร้างแผนการควบคุมล่วงหน้า
ตรงกันข้าม หากเงินมีมากมหาศาล ผู้รับมีเป็นล้าน แต่เป็นลาภที่ไม่ควรได้ และควบคุมไม่ได้ การใช้จ่ายจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างผิดธรรมชาติจนเกิดความเสียหายที่ควบคุมไม่อยู่
ประเทศไทยเคยควบคุมเศรษฐกิจไม่อยู่มาแล้วในปี พ.ศ. 2540
ครั้งนั้น ราคาที่ดินถูกปั่นให้สูงขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ เกิดการซื้อ การขาย และการสร้างงานอย่างผิดธรรมชาติ เกิดความต้องการเทียม (False Demand) และการจัดหาเทียม (False Supply) เพื่อตอบสนอง เกิดการกู้เงินจากต่างประเทศ และการนำเข้ามากขึ้นเพื่อสนองความต้องการเทียม
ในที่สุดก็เกิดเป็นเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อนตัว และคุมไม่อยู่อย่างรุนแรง
ค่าเงินบาทจากอัตราแลกเปลี่ยน US$ 1 ราว 25 บาทก็ถูกปล่อยให้ลอยตัวไปอยู่ที่ US$ 1 ราว 55 บาทในเวลาอันรวดเร็ว ผลที่ตามมาคือ สินค้านำเข้าแพงขึ้นเป็นเท่าตัว ธุรกิจที่เป็นหนี้ต่างประเทศเกิดหนี้สูงขึ้นเป็นเท่าตัว ต้องปิดตัวจำนวนมาก คนฆ่าตัวตาย และตกงานนับล้าน ๆ คน
ประเทศขาดเงินคงคลังต้องกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ถูก IMF บังคับให้ขึ้น VAT เป็น 10% และต้องใช้หนี้เงินกู้ยาวนานด้วยเงินภาษี
IMF เข้ามาคุมประเทศ เมื่อตรวจสอบก็พบว่า สาเหตุของวิกฤติเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ประชาชนขาดความรู้ ขาดวินัยทางการเงิน และการทุจริตในระบบราชการและการเมืองที่มีมาก
การทุจริตมหาศาลทำให้ได้เงินจำนวนมาก เป็นลาภที่ไม่ควรได้ ทำให้เกิดการใช้จ่ายอย่างผิดธรรมชาติ เป็นความต้องการเทียม และการจัดหาเทียมจนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ
วิกฤติเกิดจากประเทศไทยและลุกลามไปค่อนโลกจึงถูกเรียกว่า “ต้มยำกุ้ง”

คนทุกคนอยากได้ลาภทั้งนั้น ไม่มีใครสนใจว่าเป็นลาภที่ควรได้หรือไม่ควรได้
ยิ่งหากได้รับตามนโยบายประชานิยมของรัฐก็ยิ่งชอบ ยิ่งแจกมากยิ่งชอบมาก หากมีผู้รับเพียงคนเดียว หรือไม่กี่คน ความเสียหายที่อาจมีบ้าง แต่ก็น้อยจนมองไม่เห็น
พอมีคำว่าประชานิยม ผู้รับจึงไม่ใช่คนเดียว แต่ผู้รับต้องมีหลายสิบล้านคนที่ได้รับลาภทั้งที่ควรได้และไม่ควรได้ เงินที่ได้ต้องมากมหาศาลแน่
ยิ่งหากรัฐทำประชานิยมโดยใช้เงินประชาชนมาแจกประชาชนเพื่อหวังได้คะแนนนิยม เอาเงินยายมาแจกยาย เอาบุญคุณจากยาย ไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ถูกต้องชอบธรรมย่อมกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ลาภที่ให้แก่คนหลายสิบล้านคนจึงกลายเป็นลาภที่ไม่ควรได้ แต่ผู้รับที่ไหนจะสนใจไม่ว่าจะมีนักวิชาการทักท้วงมากเพียงใด
ประชานิยมที่ไม่มีเหตุอันควรจึงก่อให้เกิดลาภที่ไม่ควรได้ สร้างความต้องการเทียมที่ตามมาด้วยการจัดหาเทียม กระทบต่อเงินเฟ้อ ค่าเงิน และความเสียหาย ผู้รับที่อยากได้ก็ส่งเสียงเชียร์ ส่วนผู้รับที่รู้ ไม่อยากได้ก็ส่งเสียงคัดค้านจนกลายเป็นความแตกแยกให้การเมืองเข้ามาปกครอง
ประชานิยมจึงเป็นดาบ 2 คม เป็นนโยบายน่ากลัว แต่มีตา มียายกี่คนที่รู้
หากประชาชนยังขาดความรู้ ยังขาดวินัยการเงินตามที่ IMF เคยตรวสอบก็ยิ่งทำให้ประชานิยมมีมากขึ้น ประชาชนที่ไม่รู้ก็ยิ่งอยากรับมากขึ้น และลาภที่ไม่ควรได้จะยิ่งมีมากขึ้น
ประเทศเคยเสียหายมาแล้ว มันจึงอยู่ที่ประชาชนจะเลือกทางไหน ประเทศก็ไปทางนั้น.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : April 30, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

คลังเล็งเก็บ VAT 7% สินค้านำเข้าทุกรายการมีผล พ.ค.นี้

“คลัง” เตรียมบังคับใช้ฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าทุกรายการ มีผลเดือนพ.ค. นี้สร้างความเป็นธรรมผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศุลกากร และกรมสรรพากรกำลังร่วมกันดำเนินการปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีภูมิค่าเพิ่ม (VAT) โดยไม่มีข้อยกเว้นสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อยในประเทศ ให้มีผลบังคับใช้ภายในต้นเดือนพ.ค.นี้

โดยจะมีการดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ

1.ออกประกาศกรมศุลกากร เป็นกฎกระทรวงเพื่อเป็นกฎหมายระยะสั้น ให้มีผลบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าทันที ในเดือนพ.ค.

2.การแก้ไขกฎหมายเป็นการถาวร โดยกรมสรรพากรแก้ไขประมวลรัษฎากรในการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าตามกฎหมายศุลกากร เพื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บแวตนำเข้าในทุกรายการสินค้า และให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นการเก็บ VAT 7% เนื่องจากประมวลรัษฎากรได้เขียนผูกไว้กับกฎหมายศุลกากร ที่ให้ยกเว้นการเก็บแวตในสินค้านำเข้าที่กรมศุลกากรยกเว้นอากรให้ ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากร คือ สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งลดภาระงานและใช้วิธีบริหารความเสี่ยงในการตรวจสอบสินค้าที่มีปริมาณมาก

โดยการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เป็นไปตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ดี การกำหนดราคาขั้นต่ำดังกล่าว ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเวทีโลกว่า ระดับราคาแท้จริงควรอยู่ที่เท่าไหร่ จึงจะได้ผลดีต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์สเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ซึ่งการกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำดังกล่าว จะช่วยลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดความคล่องตัวได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การกำหนดราคาสินค้านำเข้าขั้นต่ำที่ได้รับยกเว้นอากรกลับเป็นช่องโหว่ในการนำเข้าสินค้าให้มีราคาต่ำ ปัจจุบันสินค้านำเข้าจากประเทศจีนได้ทะลักเข้าไทยจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมทางด้านภาษี

สำหรับราคาศุลกากรขั้นต่ำที่ไทยกำหนดให้ยกเว้นอากร 1,500 บาท เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2530 ที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท ทั้งนี้ เมื่อมีการยกเว้นราคาขั้นต่ำสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรดังกล่าว ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่นำเข้าตามมูลค่าดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ด้วย เนื่องจาก อัตราอากรได้รับการยกเว้น จึงไม่มีฐานที่จะนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ มีข้อเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษีจากผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรกสำหรับราคาสินค้าที่ผลิตและขาย

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำว่า 1,500 บาท ประเมินโดยเฉลี่ยคาดว่ามีการนำเข้าราวปีละ 18,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ราว 100 ล้านบาท และที่สำคัญจะเป็นการสร้างความยุติธรรมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศ

ทั้งนี้ กฎหมายที่จะบังคับใช้จะอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงระหว่างประเทศ สอดคล้องกับกลไกการเก็บภาษีขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ (OECD) โดยการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านแพลตฟอร์ม (Vendor Collection Model) ให้แพลตฟอร์มเป็นผู้จัดส่งภาษีให้รัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่ทั่วโลกเริ่มบังคับใช้เพื่อรองรับการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1124306

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.