SNP NEWS

ฉบับที่ 393

CEO Article

“บรรหาร-เนวิน”

1285071037_21_0

“ตอนนี้บุรีรัมย์กำลังเจริญก้าวหน้าเทียบเท่าสุพรรณบุรีแล้ว”
“ไม่แน่นะ มีคนพูดว่าเผลอ ๆ จะเจริญก้าวหน้ากว่าสุพรรณบุรีซะอีก”

ใครไม่ได้เป็นคนสุพรรณบุรีและใครไม่ได้เป็นคนบุรีรัมย์ เมื่อได้ฟังคำสนทนาข้างต้นคงนึกอิจฉาคนสุพรรณบุรีและคนบุรีรัมย์น่าดู
พอพูดถึงจังหวัดสุพรรณบุรี ในอดีตคนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงคุณบรรหาร ศิลปอาชา จนคนที่รู้จักมักคุ้นกันดีจะเรียกจังหวัดนี้ว่า “บรรหารบุรี”
เหตุผลก็คือ ตลอดเวลาหลายสิบปีที่เป็นนักการเมือง คุณบรรหารได้ทุ่มเทสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับจังหวัดสุพรรณบุรีไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางหรือสถานที่ท่องเที่ยว
การพัฒนาเป็นไปเร็วมากจนเรียกว่าใครไปสุพรรณบุรีในเวลานั้นต้องตกใจและนึกอิจฉา
บางคนถึงกลับกล่าวในเชิงอุปมาว่า ไม่ว่าคุณบรรหารจะกินเหล้าเมายามากมายอย่างไร พอถึงเวลาจะอ๊วกคุณบรรหารก็จะกลับมาอ๊วกที่สุพรรณบุรี
อย่างน้อยเศษอาหารที่อ๊วกออกมาก็ยังใช้ประโยชน์เป็นอาหารให้แก่สัตว์ต่าง ๆ ได้ เรียกง่าย ๆ ว่า คุณบรรหารไม่เคยลืมสุพรรณบุรี

วันนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ก็กำลังมีความเจริญก้าวหน้าตามแบบอย่างสุพรรณบุรีด้วยฝีมือของคุณเนวิน ชิดชอบ ผู้หลบมาจากบทบาททางการเมือง
จังหวัดบุรีรัมย์มีอะไรในวันนี้ !!!
ไม่ว่าจะเป็นสโมสรฟุตบอล สนามแข่งรถที่ใหญ่โต ศูนย์การค้า และโครงการอื่น ๆ แม้จะไม่ใช่คุณเนวินทั้งหมด แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนึกว่าเป็นคุณเนวิน และกลุ่มเพื่อน ๆ อยู่เบื้องหลังจนทำให้บุรีรัมย์เดินตามรอยสุพรรณบุรีขึ้นมา
ใคร ๆ ก็อยากเป็นเยี่ยมชม
แล้วคนทุกคนก็อยากให้จังหวัดของตนมีคนอย่างคุณบรรหาร หรือคุณเนวิน เพราะทั้ง 2 คน ทำให้จังหวัดเจริญก้าวหน้า
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกจังหวัดไม่จำเป็นต้องนักการเมืองแบบคุณบรรหารหรือคุณเนวินก็สามารถเจริญก้าวหน้าได้
เงื่อนไขง่าย ๆ คือ รัฐบาลต้องสร้างแนวทางสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกจังหวัดมีแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ ๆ หรือกีฬาที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติ
แล้วรัฐบาลจะสนับสนุนและส่งเสริมอย่างไร ???

หากจะลองสมมุติวิธีการเล่น ๆ
สิ่งแรกเลย รัฐบาลต้องผลักดันรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนที่ใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า B.O.I มาใช้ในด้านการท่องเที่ยวและกีฬาในจังหวัดที่ยังไม่เจริญ
ในความเป็นจริง B.O.I. สำหรับการสร้างแหล่งท่องเที่ยวและกีฬาก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานต่าง ๆ จนทำให้ดูไม่เร้าใจ
ลองสมมติดูวิธีการคือ
รัฐบาลประกาศส่งเสริมให้มีการลงทุนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและกีฬาโดยมีเงื่อนไขพื้น ๆ แค่ 3 ข้อคือ
1. ให้เฉพาะจังหวัดที่กำหนด ไม่ใช่จังหวัดที่มีเศรษฐกิจดี และให้เพียงจังหวัดละ 5 โครงการเท่านั้น
2. โครงการต้องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและกีฬาเท่านั้น และต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
3. โครงการจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากรัฐบาลภาษีทุกด้านและการตลาด
รายละเอียดการสนับสนุนและส่งเสริมเริ่มจาก
รัฐบาลจักให้มีคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ ไม่เอาแบบ B.O.I ที่ทำให้ดูแคบเกินไป
การพิจารณาก็ให้มีแนวทางกว้างมาก ๆ ไม่ว่าจะทำสวนสนุก ทำสวนสัตว์ ทำโรงหนัง โรงละคร ทำสนามแข่งรถ ทำสนามกอล์ฟ หรือทำโครงการอื่น ๆ ที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม
โครงการใดผ่าน ก็ให้ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ และอื่น ๆ ที่ต้องใช้ในโครงการแบบยกเว้นโดยไม่มีเงื่อนไข
ปัจจุบันการยกเว้นอากรขาเข้า B.O.I. ยังมีเงื่อนไขหยุมหยิมอยู่มาก
ใครที่อยู่ใน B.O.I จะเข้าใจ อุปกรณ์แบบนี้ยกเว้นภาษีไม่ได้ เครื่องจักรแบบนั้นมีผลิตในประเทศไทยก็ยกเว้นไม่ได้ จนทำให้นักลงทุนรายหลายบ่น
อย่างนี้จะมาขอ B.O.I. ไปทำไม
เอามันให้ง่าย ๆ เลย อะไรก็ตามพิสูจน์ได้ว่าใช้ในโครงการจริงก็ยกเว้นอากรขาเข้าไปเลย เอาให้ง่าย ๆ นี่ละ
พอโครงการเปิดดำเนินการก็ให้ยกเว้นภาษีกำไรให้เขาไปเลย 5 ปี และสามารถต่อได้อีก 5 ปี โดยการพิจารณาของคณะกรรมการ
จริง ๆ ก็อยากให้ไปเลย 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เขาเป็นโครงการปลอดภาษีจริง ๆ แต่การที่ให้ 5 ปีก่อน แล้วมาขยายต่ออีก 5 ปี เพราะไม่มีใครจะไปรู้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร
จากนั้น รัฐบาลต้องทำการตลาดให้โครงการเหล่านี้เป็นเวลา 5 ปี โดยสถานทูตทุกประเทศเป็นผู้ดำเนินการในแต่ละประเทศ
การโหมโฆษณา การประชาสัมพันธ์ จังหวัดไหนมีอะไร ให้ทำอย่างต่อเนื่องทุกเดือนเพื่อให้ชาวต่างชาติได้รับรู้

สมมติมีเงิน 5,000 ล้านบาทต่อโครงการ ตกไปในจังหวัดหนึ่ง อะไรจะเกิดขึ้น ???
ตอนเริ่มโครงการย่อมมีการจ้างงาน การซื้อ การขาย การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศตามมามหาศาลเพื่อสนองคนทำงาน
จากนั้นก็จะมีการรวบรวม การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกระจายสินค้าตามมา แล้วสิ่งบันเทิงอีกมากก็จะตามมาเช่นกัน
แค่เริ่มโครงการเศรษฐกิจในจังหวัดนั้นจะดีขึ้นทันตา โครงการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นทุกประเภท แต่ร้านค้าอื่น ๆ ทั่วทั้งตัวจังหวัด หรือแม้แต่จังหวัดใกล้เคียงที่ค้าขายได้คล่องขึ้นก็จะเสียภาษีมากขึ้นแทน
โครงการเป็นเขตปลอดภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีทุกประเภทเหมือนเขตปลอดภาษีมันก็สื่อว่า สินค้าและการบริการย่อมถูกลง นักท่องเที่ยวก็อยากมาเที่ยวมากขึ้น
แล้วถ้ามี 5 โครงการในแต่ละจังหวัดละ แล้วถ้ามีเกือบทุก ๆ จังหวัดละ
มันก็จะมีเงินตกเข้ามาจังหวัดละ 25,000 ล้านบาท อะไรจะเกิดขึ้น ???
เมื่อโครงการเสร็จเปิดดำเนินการก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว คนไทย คนต่างชาติจะมีที่ท่องเที่ยวมากขึ้น มีสถานที่พักผ่อนมากขึ้นเกือบทุกจังหวัด
ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม จังหวัดเหล่านี้จะเกิดการพัฒนาตามมาไม่ว่าจากด้านเอกชนหรือรัฐบาลที่ต้องสร้างถนนหนทางเพื่อการคมนาคม
อย่างนี้มันก็จะดูไม่แตกต่างไปจากสุพรรณบุรีและบุรีรัมย์สักเท่าไร
มันจึงดูเหมือนว่า ทุก ๆ จังหวัดมีทั้งคุณบรรหารและคุณเนวิน ได้ทั้ง 2 คน ครบทุกจังหวัด
ทั้งหมดเป็นแค่แนวคิดเล่น ๆ ไม่จริงจัง แต่ถ้ารัฐบาลไหนคิดอยากเอาไปทำ ประเทศไทยก็อาจเสียหายด้านภาษีไปสัก 5 ปี หรือ 10 ปี แต่อาจจะก้าวหน้าเร็วขึ้นกว่า 20 ปีก็ได้

สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

12681140831268119917l

จีนปล่อยน้ำน้อย เกาะทรายโผล่น้ำโขง กระทบเรือบรรทุกสินค้าและท่าเรือเชียงแสน

ระดับน้ำในแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ลดต่ำลงอย่างหนัก ทำให้เกิดเนินทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขง หน้าท่าเรือเชียงแสน 1 หลังจีนปล่อยน้ำน้อย ทำให้เรือบรรทุกสินค้าได้น้อยลงเพื่อที่จะผ่านไปได้ วอนผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา…

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่จุดวัดสามแยกหน้าสถานีตำรวจภูธรเชียงแสน ของศูนย์สำรวจอุทกวิทยาที่ 12 อ.เชียงแสน วัดได้ 2.04 เมตร ทำให้เกิดเนินทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขง หน้าท่าเรือเชียงแสน 1 หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน และเกิดเป็นเกาะขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขงใกล้กับประเทศลาว กระทบกับการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขงอย่างมาก ซึ่งถ้าหากระดับน้ำลดจนอยู่ที่ 1.80 เมตร เรือบรรทุกสินค้าจะไม่สามารถเดินเรือได้เลย

นายวรัญญู หล่ายเจริญ ผู้จัดการท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ระดับน้ำได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบข้อมูลถึงสาเหตุ และระดับน้ำที่ปล่อยลงมาจากประเทศจีน อย่างใกล้ชิด วันนี้ที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ระดับน้ำโขงอยู่ที่ 1.80–2.00 เมตร และการไหลของแม่น้ำโขงมีกำลังแรง จึงเกิดการสะสมของตะกอนและทราย ปัญหาน้ำโขงแห้งเกิดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม ทางท่าเรือได้แก้ไขในเรื่องร่องน้ำ ปากร่องน้ำทางเข้าท่าเรือ โดยได้นำเรือขุดรอกหน้าท่าจนถึงบริเวณแอ่งที่จอดเรือ เพื่อให้เรือสินค้าเข้าจอดและขนส่งสินค้าสะดวก ซึ่งในปีนี้ทางท่าเรือได้งบ 3 ล้านบาท ใช้ในการขุดรอกในบริเวณหน้าท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน 2 ในร่องแม่น้ำโขง และปากร่องน้ำทางเข้าท่าเรือให้กว้างและลึก เพื่อให้เรือสามารถแล่นผ่านได้สะดวก

ด้าน นายทอง ผาจอง ผู้ดูแลเรือบรรทุกสินค้าจีนในแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน ซึ่งมีเรือในการดูแลกว่า 20 ลำ กล่าวว่า วันนี้ทางการจีนได้ระบายน้ำลงมาเพียง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กระทบกับการเดินเรือสินค้าบ้าง ทำให้เรือต้องบรรทุกสินค้าในปริมาณที่น้อยลง จากที่ขนาดบรรทุก 400 ตันต่อลำ ก็ต้องบรรทุกเหลือเพียง 200-250 ตันต่อลำ เรือถึงจะผ่านไปได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือค่าบรรทุกทางเรือเพิ่มขึ้นจากระดับน้ำที่ลดลง เรือสินค้าบรรทุกของในปริมาณน้ำหนักเท่าเดิม โดยขณะนี้เรือสินค้าจีนได้ต่อเรือช่วงยาวขึ้นเพื่อจะทำให้บรรทุกสินค้าได้มากขึ้น
“ระยะนี้น้ำโขงแห้ง เรือบรรทุกสินค้าจีนไม่สามารถแล่นไปขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนได้เลย และน้ำโขงบริเวณขึ้นไปยังสามเหลี่ยมทองคำ ห่างจากตัวอำเภอเชียงแสนไปประมาณ 5 กิโลเมตร ใกล้กับเกาะดอนซาวของประเทศลาว เกิดเกาะทรายขนาดใหญ่ขึ้นกลางแม่น้ำโขง ทำให้ร่องน้ำแคบลง เรือบรรทุกสินค้าต้องใช้ความระมัดระวังมาก เพราะหากเข้าร่องน้ำผิดเรือจะติดทราย แล้วจะทำให้เรือลำอื่นผ่านไม่ได้”

ขณะที่ ผู้ประกอบการค้าชายแดนรายหนึ่ง ที่ทำการค้ากับผู้ประกอบการจีน เปิดเผยว่า ปัญหาระดับน้ำโขงลดลงมาก ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมของทุกปี ถือว่าเป็นปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นทุกปี ที่ทางผู้ประกอบการขนส่งสินค้าต้องรับผลกระทบกับการปล่อยน้ำลงมาจากประเทศจีน อยากจะเรียกร้องให้หน่วยงาน หรือระดับรัฐบาลทั้ง 4 ประเทศ ที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน นำเรื่องแม่น้ำโขงแห้งเข้ามาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างจริงจังและยั่งยืน ไม่เช่นนั้น ระดับน้ำโขงจะเกิดแบบนี้ทุกปี เพราะเป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว

ที่มา : http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=7563.0

AEC Info

asean

ไทย-เมียนมา-มอญ-กะเหรี่ยง ทำ MOU ส่งเสริมการค้าชายแดนรับเออีซี

4 องค์กรไทย-เมียนมา จับมือร่วมทำ MOU สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชื่อมต่อพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนรับ AEC ทั้งไทย เมียนมา มอญ กะเหรี่ยง จับคู่เป็นพันธมิตร สร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ…

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.59 ที่ จ.ตาก นายสุทธา สายวาณิชย์ รอง ผวจ.ตาก เป็นประธานการประชุมและสักขีพยานการทำบันทึกข้อตกลงร่วม MOU ด้านความร่วมมือส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน 4 องค์กรสมาคมการค้าเครือข่ายธุรกิจเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) และเมียนมา

สำหรับ 4 องค์กร ประกอบด้วยฝ่ายไทยคือ 1. สมาคมการค้าเครือข่ายธุรกิจเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หรือ BizClub Sez Tak โดยนายอำนาจ นันทหาร นายกสมาคม BizClub Sez Tak 2. หอการค้าเมืองเมียวดี โดย Mrs.Thin Thin Myat (นางมะติ่นติ่น) ประธานหอการค้าเมียวดี 3. สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองผาอัน โดย Mr.Saw HanAye ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองผาอันรัฐกะเหรี่ยง 4. สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองเมาะละแหม่ง โดย Mr.Hla Shein ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ

ทั้งนี้ ทั้ง 4 ฝ่ายมีบันทึกข้อตกลงร่วม MOU ว่าด้วยความประสงค์กำหนดแนวทางร่วมมือในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน ระหว่างกัน เช่น
1. ระยะเวลาที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีผลบังคับใช้นับแต่ลงนามโดยมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี และจะต่ออายุ MOU ภายใน 30 วันก่อนหมดระยะเวลาทำข้อตกลง โดยทุกฝ่ายต้องมีความยินยอมร่วมกัน
2. ขอบเขตความร่วมมือของทั้ง 4 ฝ่าย จะร่วมส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ SMEs ของทุกฝ่ายให้มีความเข้มแข็งเชื่อมโยงข่าวสารข้อมูลทางด้านการค้า การลงทุน ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและประกอบธุรกิจ เชื่อมโยงสินค้า การบริการ การตลาดและทรัพยากรทางธุรกิจระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจในระดับสากล ร่วมสนับสนุนความร่วมมือในการจับคู่พันธมิตรเพื่อความแข็งแกร่งทางธุรกิจ

ส่วนการจะยกเลิก MOU นั้น หากฝ่ายใดจะขอยกเลิก ให้แจ้งให้ฝ่ายที่เหลือทราบภายใน 30 วันก่อนบอกยกเลิก โดยบันทึกข้อตกลงนี้ ทำขึ้นเป็น 4 ฉบับ มีข้อความตรงกัน ผู้นำทั้ง 4 ฝ่ายได้อ่านบันทึกและเข้าใจตรงกัน จึงลงชื่อและประทับลายประทับตราของแต่ละองค์กรไว้เป็นหลักฐานร่วมกัน

นายอำนาจ นันทหาร นายกสมาคมการค้าเครือข่ายธุรกิจเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด-พบพระ-แม่ระมาด) Biz Club Sez Tak กล่าวว่า การทำบันทึกร่วม MOU ระหว่างกันของ 4 องค์กร ไทย-เมียนมา จะพัฒนาธุรกิจได้อย่างมากและต่อเนื่องในทุกเส้นทางธุรกิจรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน Asean Economics Communit-AEC ทางด้านไทย-เมียนมา ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก East-West EconomicCorridor : EWEC ที่สามารถเดินทางไป-มาหาสู่กันได้

ที่มา www.thairath.co.th

คุยข่าวเศรษฐกิจ

6_china-city-NEW2

เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 25 ปี

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เผย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนปี 58 อยู่ที่ 6.9% ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ( เอ็นบีเอส ) เผยรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 หรือระหว่างเดือนต.ค.-ธ.ค. ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) เติบโตเพียงร้อยละ 6.8 ชณะที่จีดีพีตลอดทั้งปีที่แล้วขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.9 แม้ยังอยู่ในช่วงของเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ที่ “ประมาณร้อยละ 7.0” แต่ต่ำกว่าสถิติของปี 2557 อย่างมาก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.3 และถือเป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษกิจโลกเมื่อปี 2533 ซึ่งจีดีพีของจีนในปีนั้นขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8

ขณะที่ธุรกิจการบริการของจีนมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 50.5 ของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปีที่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ผลผลิตของภาคบริการเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่ง ด้านผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 แต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 6.0 และลดลงจากสถิติของเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.2

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขอย่างเป็นทางการของเอ็นบีเอสเป็นไปตามความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์ ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจของจีน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ และอันดับ 1 ของเอเชีย จะเติบโตระหว่างร้อยละ 6.5-6.9 ในปี 2558 และจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลปักกิ่งต้องเร่งเครื่องนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ “จริงจัง” มากขึ้นกว่านี้ แต่เอ็นบีเอสเตือนด้วยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้มีแนวโน้มไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/