SNP NEWS
ฉบับที่ 394
CEO Article
“ครูไหว้ศิษย์”
วันนั้น หากพระเจ้าเสือไม่ทรงประหารพันท้ายนรสิงห์
วันนี้ พงศาวดารจะเป็นอย่างไร ???
พันท้ายนรสิงห์เป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ การรักษาวินัย กฎระเบียบ และกฎมณเฑียรบาลยิ่งกว่าชีวิตตนที่มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่าสืบต่อกันมา
ในโลกปัจจุบันจะมีประเทศไหน ครอบครัวไหน หรือองค์กรใดที่มีประชาชน หรือมีสมาชิกที่มีความซื่อสัตย์มาก ๆ แบบนี้บ้าง
เกร็ดประวัติศาสตร์เล่าว่า เมื่อพันท้ายนรสิงห์ทราบว่าจะมีพวกกบฏมาดักทำร้ายพระเจ้าเสือ จึงจำเป็นต้องทำให้หัวเรือหักเพื่อมิให้ไปถึงจุดที่กบฏวางแผนเอาไว้
กฎมณเฑียรบาลกำหนดว่า ผู้ใดทำหัวเรือพระที่นั่งหักจะต้องถูกประหาร
ในบทละครที่แต่งเติมต่อกันมาเล่าว่า พระเจ้าเสือไม่ยอมประหารแต่ให้ปั้นรูปปั้นแล้วทำการตัดหัวรูปปั้นแทน
ทว่าพันท้ายนรสิงห์ไม่ยอมเพราะเป็นการขัดกฎมณเฑียรบาลจึงขอให้ประหาร
พันท้ายนรสิงห์ยอมตายเพื่อมิให้ผู้อื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
พระเจ้าเสือจึงยอมประหารพันท้ายนรสิงห์ และทรงให้บันทึกไว้ในพงศาวดารพร้อมให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อระลึกถึงพันท้ายนรสิงห์จนถึงทุกวันนี้
หากวันนั้น พระเจ้าเสือทรงทำในทางตรงข้าม
หากพระเจ้าเสือไม่ยอมประหารพันท้ายนรสิงห์ พงศาวดารก็อาจจะไม่ใช่อย่างที่เป็นทุกวันนี้ก็ได้
ความสำคัญจะกลับมาอยู่พระเจ้าเสือทันทีเมื่อพระองค์ทรงยอมเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลเพื่อรักษาความถูกต้อง เนื่องจากทรงทราบว่าพันท้ายนรสิงห์มีเจตนาให้พระองค์รอดพ้นจากแผนการกบฏ
หากพระเจ้าเสือไม่ทรงประหารจริง พงศาวดารก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการมองความถูกต้องมากกว่าการยึดกฎเกณฑ์ก็ได้
แล้ววันนี้ ประเทศไทยก็มีกรณีการทำในทางตรงข้ามเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ
ครูไหว้ศิษย์
ในข่าวกล่าวว่า ผอ. โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้ทำตรงข้ามด้วยการไหว้ลูกศิษย์ของตัวเองต่อหน้านักเรียนหลายร้อยคนเพื่อขอโทษเด็ก ม. 6 คนหนึ่งที่ไม่พอใจ เนื่องจาก ผอ. ใช้เวลาพูดมากเกินไป
แม้ต่อมาภายหลังลูกศิษย์คนดังกล่าวจะรู้สำนึกและมาขมาต่อ ผอ. แล้วก็ตาม แต่กระแสการวิจารณ์ในสังคมก็เกิดขึ้นเป็น 2 ด้าน
ด้านหนึ่งเห็นว่า เด็กนักเรียนก้าวร้าวเกินไปที่กล้าตำหนิ ผอ. ต่อหน้าเพื่อน ๆ หลายร้อยคนจนกลัวว่าจะกลายเป็นการเอาแบบอย่าง
อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่า ผอ. ไม่ควรไหว้นักเรียนเพราะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่ ผอ. เองก็ยอมรับว่าตนเองไหว้ศิษย์จริงด้วยเหตุผลในข่าวเพียงว่า ผอ. ไม่ต้องการให้เป็นปัญหาบานปลายทั้ง ๆ ที่ศิษย์ควรไหว้ครู แต่ ผอ. กลับทำในทางตรงข้าม
ผอ. ได้ทำในทางตรงข้ามไปแล้วจริง ๆ แล้วอะไรกำลังจะเกิดขึ้นตามมา ???
ไม่มีใครรู้ว่า ผลของเรื่องนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในรูปใด
ในอนาคต บุคคลระดับผู้นำต่าง ๆ อาจต้องตกเป็นจำเลยมากขึ้นเมื่อเกิดข้อผิดพลาดหรือสร้างความไม่พึงพอใจให้แก่สมาชิกของตนอย่างไม่ตั้งใจ
ผู้นำครอบครัวหนึ่ง ผู้บริหารองค์กรหนึ่ง หรือแม้แต่ผู้นำประเทศหนึ่งอาจได้รับการตำหนิติเตียนมากขึ้น อาจต้องแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น หรืออาจต้องตกเป็นจำเลยมากขึ้นโดยการกล่าวหาของผู้ที่ต่ำกว่าก็ได้เช่นกัน
มันอาจเป็นสถานการณ์ที่เลียนแบบกัน
ยิ่งสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตระหนก ประเทศไทยนอกจากจะมีคนซื่อสัตย์ และคนรักษาระเบียบวินัยอย่างพันท้ายนรสิงห์น้อยลงไปเรื่อย ๆ แล้ว
ประเทศไทยกลับมีคนก้าวร้าวมากขึ้น คนอยากรวยมากขึ้น อยากมีชีวิตสุขสบายเกินกว่าความพอเพียงของตนมากขึ้น คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น และคนมองแต่ผลประโยชน์ของตัวเองมากขึ้นโดยไม่คำนึงว่าครอบครัวตนเอง องค์กรตนเอง และประเทศตนเองจะเป็นอย่างไร
คนเหล่านี้ นอกจากจะไม่คิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุแล้ว คนเหล่านี้ยังเอาแต่โทษบุคคลอื่นโดยเฉพาะผู้นำให้เป็นฝ่ายผิดตลอดเวลา
แล้วผู้นำก็อาจต้องมาทำในทางตรงกันข้ามโดยการกล่าวขอโทษ หรือกราบขอโทษตามแบบอย่าง ผอ. มากขึ้นก็ได้
ไม่มีใครรู้ว่า ลัทธิเอาอย่างแบบนี้จะยิ่งหนักมากขึ้นเพียงใด แต่ลูกตำหนิพ่อแม่ ภรรยาให้ร้ายสามี สามีนินทาภรรยา และลูกน้องนินทาเจ้านายเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็กำลังมีมากยิ่งขึ้นทุกวัน
พันท้ายนรสิงห์เป็นแบบอย่างแห่งความซื่อสัตย์แต่คนเอาแบบอย่างน้อย แล้วการที่ศิษย์ตำหนิครู หรือการที่ครูไหว้ศิษย์ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสม จึงไม่มีใครรู้ว่าจะกลายเป็นลัทธิเอาอย่างมากขึ้นเพียงใด
ประเทศไทยยังติดหล่มอยู่ในวังวนการเมืองจนแก้ไม่ออก
ขณะที่สังคมเริ่มทำในทางตรงข้ามมากขึ้น หรือสังคมกำลังวิปริตมากขึ้น ???
วันนี้เราจึงได้เห็นพฤติกรรมแปลก ๆ ในทางตรงข้ามไม่ว่าการแตกแยกในสังคม การแตกแยกในครอบครัว และการแตกแยกในองค์กรเพื่อความเชื่อและความร่ำรวยของตนอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าจะยิ่งมากขึ้นทุกวัน
วันนี้ สังคมไทยอาจกำลังก้าวเข้าสู่ในทางตรงข้ามที่กลายเป็นสังคมวิปริตมากกว่าในอดีต
ความวิปริตในทางตรงข้ามเหล่านี้ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของพงศาวดารที่แตกต่างไปจากพันท้ายนรสิงห์อย่างสิ้นเชิงก็ได้
สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
ปูม “โลจิสติกส์”อุษาคเนย์ สู่โครงข่าย “ASEAN CONNECTIVITY”
คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง นาย Anthony Reid เคยอธิบายภาพความรุ่งโรจน์ของโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่ร้อยรัดเชื่อมโยงเมืองการค้าอุษาคเนย์ในอดีต ว่าทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคัก จากคำอธิบายดังกล่าว ประเด็นที่น่าสนใจในบริบทของเออีซี จึงอยู่ตรงที่ ภูมิศาสตร์โลจิสติกส์เอเชียอาคเนย์มีลักษณะเด่นทางประวัติศาสตร์อย่างไร และสามารถให้ประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ศักยภาพการขนส่งของภูมิภาคอาเซียนปัจจุบันในแง่มุมใดได้บ้าง
นาย Reid เคยตั้งสมมุติฐานว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นจุดตัดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการค้าโลก โดยเฉพาะจุดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะเดียวกัน ความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นระหว่างการปรากฏตัวของโครงข่ายคมนาคมขนาดใหญ่ อาทิ อ่าวน้ำลึก แม่น้ำ กับนครการค้า อย่าง ทวาย เมาะตะมะ มะนิลา มะละกา ได้ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นแหล่งดึงดูดสินค้านานาชาติสารพัดชนิด
สำหรับอาเซียนพื้นทวีปเส้นทางเดินเรือตอนในที่ยาวที่สุดได้แก่ แม่น้ำเอยาวดี (อิระวดี) ของเมียนมา ที่เรือสินค้าสามารถเดินทางได้ไกลถึงประมาณ 1,400 กิโลเมตร จากอ่าวเมาะตะมะถึงเมืองพะโม (ไม่ไกลจากชายแดนจีน) ส่วนแม่น้ำโขง สามารถเดินเรือโดยสะดวกได้ประมาณ 960 กิโลเมตร โดยเส้นทางลำเลียงสินค้าราว 500 กิโลเมตร จะอยู่ในเขตลาว/ไทย และอีกราว 460 กิโลเมตร อยู่ในเขตกัมพูชา/เวียดนาม ขณะที่รอยต่อระหว่างสองดินแดนกลับถูกสกัดด้วยแก่งน้ำตกหลี่ผีและคอนพะเพ็ง จึงทำให้แม่น้ำโขงขาดสายโลจิสติกส์เมื่อเทียบกับแม่น้ำเอยาวดี
ส่วนการขนส่งสินค้าผ่านช่องเขาจากเขตป่าลึก พบเห็น กลุ่มพ่อค้าชนเผ่า อาทิ พวกไทใหญ่ทางแถบที่ราบสูงฉานที่สามารถแบกสินค้าน้ำหนักราว ๆ 36 กิโลกรัม ด้วยอัตราความเร็วในการเคลื่อนที่ราว 24 กิโลเมตรต่อวัน นอกจากนั้น เมืองการค้าขนาดใหญ่ อย่าง นครธม พุกาม อยุธยา หงสาวดี ยังมีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกทางโลจิสติกส์ เช่น สะพาน ถนน ทางเกวียน และท่าเรือ ซึ่งมีผลต่อการเติบโตของกิจกรรมการค้าที่คึกคัก
ในเขตอาเซียนพื้นสมุทร พบเห็น การเนรมิตอู่จอดเรือเพื่อรองรับเรือสินค้าระหว่างประเทศ อาทิ ท่าเรือในสิงคโปร์ มะละกา มะนิลาและปัตตาเวีย (จาการ์ตา) ในอีกทางหนึ่ง ตามหมู่เกาะสำคัญ เช่น สุมาตรา ชวา และบอร์เนียว ยังปรากฏปฏิสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างชุมชนริมทะเลและชุมชนภูเขาตอนใน โดยทั้งสองชุมชนต่างเคลื่อนย้ายแลกเปลี่ยนสินค้าผ่านเครือข่ายแม่น้ำหรือลำแควสายสั้น
ขณะเดียวกัน นครการค้าขนาดใหญ่มักมีฐานเศรษฐกิจที่เกิดจากการควบคุมช่องแคบยุทธศาสตร์ เช่น มะละกาที่มีสถานีการค้าขนาดใหญ่ตรงเขตช่องแคบมะละกา และบันเต็นที่คุมเส้นทางเข้าออกระหว่างเกาะชวากับเกาะสุมาตรา นอกจากนั้น ได้ปรากฏหลักฐานการเติบโตของเมืองการค้าแถบคาบสมุทรมลายู ที่คุมเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย อาทิ เส้นทางของพ่อค้ามุสลิมจากเมืองเคดาห์เข้าสู่ปัตตานี และเส้นทางของพ่อค้าชาวพุทธระหว่างตรังกับนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันได้พอพบเห็นแนวโน้มเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข่ายคมนาคมที่เคยฟู่ฟ่าคึกคักในอดีตตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ นโยบายรุกลงใต้ของจีนที่พยายามใช้แม่น้ำเอยาวดี (จากพะโมถึงย่างกุ้ง-เมาะตะมะ) เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ทะเลอันดามัน ขณะเดียวกัน ยังพบเห็นโครงการเส้นทางขนส่งสินค้าและเดินเรือท่องเที่ยวตามแนวแม่น้ำโขงที่เริ่มจะคึกคักมากขึ้น อาทิ การใช้แม่น้ำโขงเพื่อระบายสินค้าจากจีนเข้าเขตอาเซียนตอนบน หรือ การขยายตัวของเรือบริการจากโฮจิมินห์ เข้าพนมเปญแล้วไปออกเสียมเรียบ (ผ่านแม่น้ำโขงและทะเลสาบเขมร)
อนึ่ง บรรดาระเบียงเศรษฐกิจเออีซี ก็กลับชี้ให้เห็นถึงการสร้างถนนยุคใหม่ที่ตัดพาดซ้อนทับกับเส้นทางการค้าในอดีต เช่น เครือข่ายโลจิสติกส์จากทวายเข้ากาญจนบุรี เมาะตะมะเข้าแม่สอด ตรังเข้านครศรีธรรมราช หรือแม้กระทั่ง เส้นทางเดินเรือต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเมืองการค้าตามเขตหมู่เกาะพื้นสมุทร อาทิ สายเรือจากมะนิลาไปเซบู มะนิลาไปบรูไน ปะหังไปปาเล็มบัง และปาเล็มบังไปจาการ์ตา
ฉะนั้น จึงพอกล่าวได้ว่า ปูมโลจิสติกส์อาเซียนในอดีต ล้วนมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งทำให้ “ASEAN CONNECTIVITY” กลายเป็นสิ่งที่สามารถเนรมิตให้เป็นจริงขึ้นได้ในทางกายภาพ
ที่มา : http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=7609.0
AEC Info
7 เหตุผล ทำไมต้องมองเวียดนามมุมใหม่ จาก ‘คู่แข่ง’ สู่ ‘พันธมิตร’ ทางเศรษฐกิจ
เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเข้มแข็งและพลวัตที่เป็นไปทางบวกโดยต่อเนื่องทำให้เวียดนามเนื้อหอมในหมู่นักลงทุนต่างชาติ จนหลายครั้ง ไทยรู้สึกเกร็ง ๆ กับแนวโน้มที่เวียดนามกลายเป็นขึ้นแท่นลูกรักของต่างชาติในการเป็นฐานการผลิตและฐานการลงทุนในภูมิภาคนี้ แม้การแข่งขันกับไทยในบางสาขาธุรกิจอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แค่เปลี่ยนมุมคิด ก็อาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้
ธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนมุม มองเวียดนามใหม่ จาก “คู่แข่ง” เป็น “พันธมิตร” ทางธุรกิจในระยะยาว ในเมื่อประเทศไทยตั้งใจแล้วที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและยกระดับประเทศไปให้สูงขึ้นในห่วงโซ่การผลิต อีกทั้งในวันนี้ ไทยและเวียดนามกับอีก 8 ประเทศอาเซียน ได้รวมตัวกันกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้ว
ต่อไปนี้คือ 7 ข้อ ที่เป็นความพร้อมและจุดแข็งของเวียดนามที่สามารถช่วยเสริมทัพจับมือกันกับธุรกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า
1. แรงงานพร้อม ครึ่งหนึ่งของประชากรเวียดนาม 90 ล้านคน อายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นช่วงอายุที่อยู่ในวัยแรงงาน มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ แรงงานเวียดนามนอกจากจะสู้งานแล้ว ยังค่าแรงถูกเมื่อเทียบประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ขณะเดียวกัน Boston Consulting Group ยังจัดว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางที่เติบโตมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
2. ทรัพยากรธรรมชาติพร้อม เวียดนามมีพร้อมทั้งแร่ธาตุ น้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง และยังเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก
3. ตลาดเข้าถึงง่าย องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่า เอกชนเข้าสู่ตลาดเวียดนามได้ง่ายพอ ๆ กับสิงคโปร์ มีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดต่ำ (low limitation of market access) ขณะที่ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว ยังมีข้อจำกัดในระดับปานกลาง
4. กฎหมายลงทุนฉบับใหม่เอื้อต่างชาติมากขึ้น กฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของเวียดนามที่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ WTO เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในเวียดนามได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม มีอิสระในการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจมากกว่ากฎหมายเดิม กฎระเบียบเหล่านี้ช่วยเอกชนต่างชาติลดความเสี่ยงของการไปลงทุนในเวียดนาม
5. รัฐเปิดโอกาสให้ต่างชาติจัดทำความตกลงจัดซื้อกับภาครัฐ (Government Procurement Agreement) ผ่านการเปิดประมูลเมกะโปรเจ็กต์ที่มีมูลค่าสูง ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงการจัดซื้อของภาครัฐทั้งในระดับกระทรวง รัฐวิสาหกิจ ภูมิภาค ไปจนถึงจังหวัด
6. รัฐเร่งเครื่องเจรจาความตกลงทางการค้าเสรีกับต่างประเทศ ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 เวียดนามได้บรรลุ EU-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) กับกลุ่มประเทศสมาชิกอียู ความตกลงดังกล่าวครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า ด้านการบริการ รวมถึงการลงทุน คาดการณ์ว่า การได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอียูที่เกือบจะเป็นศูนย์จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปกลุ่มประเทศอียูเติบโตอย่างก้าวกระโดด
7. เวียดนามตกลงเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจทางการค้าภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ต่างชาติและเวียดนามเองต่างฟันธงว่า เวียดนามจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม TPP ธนาคารโลกทำนายว่า TPP จะช่วยให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 8-10% และการส่งออกขยายตัวสูงถึง 28 % โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะเวียดนามส่งออกสิ่งทอไปยังประเทศสมาชิก TPP คิดเป็น 70% ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด
ในปี 2559 นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งชาวเวียดนามและชาวต่างชาติเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าว่าจะโตได้ถึง 6% เงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จะยังคงหลั่งไหลเข้าเวียดนาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามดูมีอนาคตสดใส ขณะที่ธนาคารแห่งชาติเวียดนามมีความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเฝ้าระวังอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลก็ได้เร่งแก้กฎหมายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ให้สอดคล้องกับข้อกำหนด TPP ที่ต้องเอื้อประโยชน์ต่อภาคลงทุนและภาคอุตสาหกรรม
ไทยในฐานะที่ติด 1 ใน 10 ประเทศที่ลงทุนเป็นลำดับต้นในเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี ควรรุกจับมือเป็น “พันธมิตร” กับเวียดนาม เพื่อบุกตลาดเวียดนาม ตลาดอาเซียนและตลาดโลกอย่างต่อเนื่องในปี 2559
พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ bic.mfa@gmail.com
ที่มา // หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 – 23 มกราคม พ.ศ. 2559
คุยข่าวเศรษฐกิจ
ข่าวดี! พณ. เผย ผู้ผลิตสินค้า 9 รายการ ปรับลดราคาขายตามต้นทุนน้ำมัน
พาณิชย์ แจ้งข่าวดี สินค้า 9 รายการ ลดราคาขายทันที 2-25% รับอานิสงส์ราคาน้ำมันดีเซลลด ทำต้นทุนขนส่งลดตาม เตรียมส่งร้านหนูณิชย์บุกโรงงาน ห้างค้าปลีก ตลาดสด เพิ่มทางเลือกผู้บริโภค พร้อมจัดงานธงฟ้าซับน้ำตาชาวสวนยางอาทิตย์หน้า…
วันที่ 22 ม.ค. 59 นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แจ้งมายังกรมฯ ว่า จะปรับลดราคาขายลง เพราะต้นทุนค่าขนส่งลดลงจากราคาน้ำมันดีเซล ที่ตั้งแต่ต้นปี 58 จนถึงขณะนี้ได้ลดลงถึงลิตรละ 10.65 บาท หรือลดลง 35% โดยการปรับลดราคาขายสินค้าครั้งนี้ จะลดลงได้ 9 รายการ ลดราคาเฉลี่ย 2-25% โดยมีผลทันที นับเป็นการลดราคาขายลงเป็นครั้งที่ 2 จากครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ย. 58
สำหรับสินค้า 9 รายการที่ปรับราคาลดลง เช่น นมผงคาร์เนชั่น ลดลง 12-14% นมผงตราหมี ลดลง 10-13% ปลากระป๋อง ลดลง 25% ข้าวหอมมะลิ ตราข้าวแสนดี ลดลง 16% ตราฉัตร ลดลง 8-17% ตรามาบุญครอง ลดลง 21% สินค้าในกลุ่มก่อสร้าง เช่น ปูนซิเมนต์ ลดลง 5% สายไฟฟ้า ลดลง 1-2% เหล็ก ลดลง 20-21% เป็นต้น ส่วนน้ำปลาตราปลาหมึก จะแจ้งการลดราคามายังกรมสัปดาห์หน้า
ขณะที่ กลุ่มสินค้าอื่นๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยังไม่ได้ลดราคา จะแจ้งการลดราคามายังกรมฯ ภายในเดือน ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมฯ จะหารือกับผู้ประกอบการถึงแนวโน้มการลดราคาสินค้าลงอีกครั้ง ตามต้นทุนที่ลดลงโดยเฉพาะค่าขนส่ง
นางสาววิบูลย์ลักษณ์ กล่าวต่อถึง การแก้ปัญหาราคาอาหารสำเร็จรูปแพงว่า ได้หารือกับผู้ประกอบการตลาดสด ห้างค้าปลีก หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถึงการขยายร้านอาหารหนูณิชย์ไปยังโรงงาน ตลาดสด ห้างค้าปลีก โดยศูนย์อาหารพร้อมใจกำหนดราคาขายอาหารจานด่วนไม่เกินจานละ 35 บาท และไม่เกินถุงละ 30 บาท คาดเริ่มดำเนินการได้ต้นเดือน ก.พ.นี้ โดยจะนำร่องที่ตลาดยิ่งเจริญก่อน จากนั้นจะหารือความร่วมมือดังกล่าวกับมหาวิทยาลัย และสถานที่ราชการ คาดว่าเป้าหมายการเปิดร้านหนูณิชย์ให้ได้ 10,000 แห่งภายในเดือน ก.ย.นี้ เป็นไปได้แน่นอน
ส่วนการจัดงานธงฟ้าลดค่าครองชีพนั้น จะจัดงานธงฟ้าระดับจังหวัด 159 จุดใน 15 จังหวัด เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง โดยจะเริ่มที่แรกสัปดาห์หน้าที่จังหวัดสงขลา สตูล นครศรีธรรมราช ส่วนจะจัดในพื้นที่ใดบ้างนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป ส่วนสินค้าที่จะนำไปวางจำหน่ายนั้น เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ข้าวสาร เป็นต้น และการจัดงานมหกรรมธงฟ้า วันที่ 27-31 ม.ค.นี้ ที่เมืองทองธานี นำสินค้าไปจำหน่ายราคาถูกกว่าปกติ 20-30% คาดมีประชาชนเข้างานกว่า 150,000 คน และช่วยลดค่าครองชีพได้ราว 40-50 ล้านบาท.
ที่มา // หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ