SNP NEWS
ฉบับที่ 408
มองอย่างหงส์
“คนต้นแบบ”
“เมย์เดย์ ….. เมย์เดย์ ….. เมย์เดย์ ….. “
กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวัน “เมย์เดย์”
ข้อความข้างต้น เป็นคำพูดล้อเลียนในโซเชียลมีเดียที่ส่งต่อกันในเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นเดือนที่มีวันโกหกโลกอยู่ด้วย “ April Fool Day”
ผู้ล้อเลียนต้องการใช้คำว่า “เมย์เดย์” เพื่อชื่นชมต่อน้องเมย์ที่สามารถก้าวขึ้นอันดับ 1 ของโลกประเภทแบดมินตันหญิงเดี่ยว
คำว่า “เมย์เดย์” ยังหมายถึง วันแรงงานทั่วโลก และยังเป็นคำสากลที่ใช้พูดทางวิทยุเพื่อเป็นสัญญาณแจ้งเหตุอันตราย หรือขอความช่วยเหลือฉุกเฉินทางอากาศ หรือทางทะเลอีกด้วย (An international radiotelephone signal word used by aircraft and ships in distress)
“เมย์เดย์” ความหมายสุดท้ายนี้มีที่มาจากคำภาษาฝรั่งเศสว่า m’aider แปลว่า come to help me และออกเสียงว่า “เมย์เดย์” (http://www.kanzuksa.com/chitchat.asp?data=18)
ทั้งหมดนี้คือ ความหมายและความสำคัญของคำว่า “เมย์เดย์”
สำหรับประเทศไทย “น้องเมย์” ฟีเวอร์เกิดขึ้นจริงจังในเมษายน 2559 แล้วก็น่าจางลง
คนจำนวนหนึ่งต้องการให้น้องเมย์เป็นสัญลักษณ์นำร่องให้เยาวชนเอาแบบอย่าง แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สุดท้ายก็ทำเพียงนำมาล้อเลียนกับคำ “เมย์เดย์” ข้างต้น แล้วก็น่าจางลง
“น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ ค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นมาจนมีชื่อเสียง ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ได้รับเงินรางวัลมากมาย และสุดท้ายก็ได้รับคำเตือนจากหลาย ๆ ฝ่ายให้ระวังในการป้องกันตำแหน่งอันดับ 1 ของโลก
มันมีตัวอย่างให้เห็นกันมามากต่อมาก
คนที่ก้าวถึงจุดสูงสุดด้านกีฬาแล้วจะเหนื่อยล้า จะแผ่วแรง และจะถูกแรงเชียร์จากคนรอบทิศกดดันจนอาจพ่ายแพ้
ไม่เว้นแม้แต่น้องเมย์
แล้ววันที่ 28 เมษายน 2559 คำเตือนก็เป็นจริง เมื่อน้องเมย์ต้องพ่ายแพ้ ตกรอบ 2 ในศึกแบดมินตันเอเชีย 2016 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ชวดการสร้างสถิติการคว้าแชมป์ 4 รายการติด และส่อแววเสียตำแหน่งมือ 1 แบดมินตันหญิงโลกอีกด้วย
ไม่ว่าน้องเมย์จะแพ้หรือชนะต่อไปในอนาคต วันนี้น้องเมย์ได้มีชื่อจารึกการเป็นมือ 1 ของโลกแล้ว และเหนืออื่นใดน้องเมย์ได้เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยและเป็นนักกีฬาที่สามารถก้าวขึ้นเป็น สัญลักษณ์นำร่อง หรือ “คนต้นแบบ” ให้แก่เยาวชนไทยได้จริง ๆ
แต่น้องเมย์จะเป็น “คนต้นแบบ” ได้อย่างไร ???
หากรัฐบาลไม่เริ่มทำอะไรให้เป็นรูปธรรม ทั้ง ๆ ที่เห็นว่า กีฬาเป็นต้นแบบที่ดี กีฬาสร้างเป้าหมาย กีฬาสร้างคน และกีฬาก็สร้างชาติให้แข็งแกร่งได้
ไม่ว่าอย่างไร มันก็ต้องเริ่มที่รัฐบาล
แล้วการเป็นคนต้นแบบในโลกทุนนิยมวันนี้ ปัจจัยสูงสุดและได้ผลดีที่สุด มันจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “เงิน”
สิ่งที่พบเห็นในอดีต ทุกครั้งที่มีนักกีฬาชนะขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลก นักกีฬาจะได้รับรางวัลมากมายพร้อมเงินก้อนใหญ่
หลังจากได้เงินก้อนใหญ่ไปแล้ว นักกีฬาจะนำเงินไปทำอะไร จะทำตัวดีหรือเหลวไหลอย่างไร และไม่ว่าจะตกเป็นข่าวในภายหลังขึ้นมาหรือไม่อย่างไร กลับไม่มีหน่วยงานใดดูแล หรือกำหนดแนวทางปฏิบัติตนให้เป็น “คนต้นแบบ” อย่างชัดเจน
ความประพฤติที่จะมี ส่วนใหญ่จึงเป็นแบบตามบุญตามกรรมแบบคิดเองกันเกือบทั้งสิ้น
อีกประการหนึ่ง เราเคยเห็นนักกีฬากี่คนที่สามารถรักษาเงินก้อนใหญ่หรือใช้ประโยชน์จากเงินก้อนใหญ่ได้อย่างคุ้มค่าของเงิน ???
หลายกรณี นักกีฬาได้เงินก้อนใหญ่แล้วก็เสียเงินก้อนใหญ่ออกไปอย่างรวดเร็ว จนความเป็นคนต้นแบบไม่มีเหลือ และไม่มีอะไรให้ลอกเรียนแบบได้
กระแส “คนต้นแบบ” จึงเกิดขึ้นเมื่อมีฮีโร่ขึ้นมาสักคน จากนั้นก็กลายเป็นไฟลามทุ่งพอกระพือแป๊บเดียวก็หายไป อย่างนี้แล้วเมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีคนต้นแบบจริง ๆ ซักที
หากเปลี่ยนแนวคิดจากการมอบเงินรางวัลก้อนใหญ่ มาเป็นการมอบให้รายเดือน สมมติเดือนละ 50,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี แล้วกำหนดเงื่อนไขความประพฤติ Do and Don’t ให้ชัดเจน
อะไรจะเกิดขึ้นกับนักกีฬาผู้นั้น
ประการที่ 1 นักกีฬาจะมีความมั่นคงในชีวิตถึง 20 ปี เขาสามารถนำเงินนี้ไปผ่อนรถยนต์กี่คันก็ได้ เลี้ยงดูพ่อแม่หรือครอบครัวก็ได้ ผ่อนบ้านก็ได้ หรือจะใช้ดำรงชีวิตอย่างไม่เดือดร้อนก็ได้
คนไม่เดือดร้อนในการดำรงชีวิตถึง 20 ปี ก็ย่อมทำตัวเป็นคนต้นแบบได้ง่ายกว่า
ประการที่ 2 นักกีฬาจะทราบว่า พฤติกรรมอะไรที่ไม่ควรทำตลอดเวลา 20 ปี เช่น ไม่ดื่มของมึนเมา ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เข้าในสถานบันเทิง และไม่มีพฤติกรรมใด ๆ ที่ส่อไปในทางเสื่อมเสีย และอะไรที่ควรทำ เช่น การไหว้ การฝึกซ้อม การเป็นทูตวัฒนธรรม เป็นต้น
แบบนี้ คนต้นแบบที่รู้อะไรควร อะไรไม่ควรที่ชัดเจนก็ย่อมประพฤติได้ดีกว่าการคิดเอง
ประการที่ 3 นักกีฬาจะมีคณะกรรมการเป็นผู้ดูแล และรับรองความประพฤติทุกเดือนเพื่อนำการรับรองนั้นเป็นการหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีที่กำหนดไว้
ส่วนเอกชนรายใดอยากให้รางวัลด้วยเงินก้อนใหญ่ทันทีก็เชิญตามสบาย ง่าย ๆ เพียงเท่านี้ คนต้นแบบของไทยก็น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ส่วนแหล่งที่มาของเงินและการบริหารให้เป็นรูปธรรมนั้น มันต้องเริ่มจากรัฐบาลก่อน
รัฐบาลอาจจัดทำเป็น พ.ร.บ. หรือเป็นกองทุนกำหนดให้ชัดเจนว่า หรือเป็นรูปแบบใดก็ได้ มีการกำหนดให้ชัดเจนว่า แหล่งที่มาของเงิน และกีฬาใดบ้างเมื่อได้อันดับ 1 โลก แล้วจะได้เงินรายเดือนเป็นเวลา 20 ปี
ด้านคณะกรรมการ หากเป็น พ.ร.บ. มันก็คือกฎหมายที่ผูกพันทุก ๆ รัฐบาลให้ปฏิบัติและจัดสรรงบประมาณ คณะกรรมการก็ควรมี 11 คน มาจากข้าราชการโดยตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือข้าราชการที่เกี่ยวข้องระดับต่าง ๆ
หากเป็นกองทุนก็เปิดโอกาสให้เอกชน หรือสมาคมกีฬาต่าง ๆ บริจาคเข้ากองทุนนี้ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์เอกชน หรือสมาคมไปในตัว
กรณีกองทุนจะทำให้รัฐบาลไม่ต้องอุดหนุนเงินมากนักเพราะมีเอกชนร่วม คณะกรรมการ 11 คน ก็ควรมาจากเอกชนมากว่า เช่น เอกชน 6 คน และข้าราชการโดยตำแหน่ง 5 คน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างอิสระตามแบบเอกชน
หากเป็นรูปแบบอื่นก็ตามแต่รัฐบาลจะกำหนดขึ้นมา เงินงบประมาณก็อาจมาจากการจัดสรรงบประมาณทุกปีส่วนหนึ่ง จากการสนับสนุนของเอกชนและสมาคมอีกส่วนหนึ่งก็ได้
คณะกรรมการไม่มีเงินเดือน ไม่มีเบี้ยประชุม ซึ่งวิธีนี้เอกชนจะไม่รังเกียจเนื่องจากตนเองจะได้ประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์
คณะกรรมการมีหน้าที่ติดตามความประพฤติ และรับรองทุกเดือนก่อนรับเงินเดือน
การขอรับเงินก็ทำง่าย ๆ โดยให้มีแบบฟอร์มที่นักกีฬาต้องกรอกทุกเดือนเพื่อรับรองความประพฤติตนเองโดยมีข้อความก่อนลงนามว่า
“ข้าพเจ้าฯ ขอรับรองว่าได้ประพฤติตามที่กำหนด และให้ถือว่าสิทธิการรับเงินรายเดือนสิ้นสุดลงในวันที่พิสูจน์ได้ว่าข้าพเจ้าฯ มีความประพฤติไม่เป็นตามคำรับรองนี้ ”
แล้วให้คณะกรรมการรับรอง
ส่วนเงินงบประมาณที่ต้องใช้นั้น เงิน 50,000 บาท ต่อเดือน เวลา 1 ปี ก็เป็นเงิน 600,000 บาทต่อปี หากต้องจ่าย 20 ปี ก็เป็นเงิน 12 ล้านบาท ต่อคน หากประเทศไทยมีคนต้นแบบ 100 คน ตลอดเวลา 20 ปี งบประมาณที่จะใช้ก็เพียง 1,200 ล้านบาท
คนต้นแบบ 100 คน เวลา 20 ปี ใช้เงิน 1,200 ล้านบาท เฉลี่ย 60 ล้านบาทต่อปี นับว่าน้อยจริง ๆ
หากรัฐบาลมองว่า เงิน 50,000 ต่อเดือนมันน้อยไป มันไม่เร้าใจ แล้วจะเพิ่มเป็น 100,000 บาทต่อเดือน มันก็จะทำให้คนต้นแบบน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น และทำให้เยาวชนมีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้วยแนวทางแบบนี้ ไม่ว่ารัฐบาลและเอกชนก็มีโอการ่วมกันสร้างคนต้นแบบขึ้นมาเรื่อย ๆ แทนการใช้ “เมย์เดย์” ที่คนอาจคิดว่าเป็นวันแรงงานหรือสัญญาณขอความช่วยเหลือ แล้วก็เงียบหายไป
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางที่พอจะเป็นรูปธรรมเท่านั้น มันก็ดีกว่าการปล่อยให้กระแสน้องเมย์เป็นเพียงนามธรรมแล้วก็จางหายไป
สิทธิชัย ชวรางกูร
ขอขอบคุณรูปภาพ http://xn--12ca2dqi2c2a8b4alcpus.blogspot.com/2013/09/blog-post_30.html
The Logistics
“บรูไน” ผนึก พญามังกร ดันอุตฯฮาลาล-ท่าเรือน้ำลึกมูอารา
แม้บรูไนเป็นประเทศที่มี GDP สูงเฉลี่ยต่อคนเป็นอันดับ 3
ในภูมิภาคเอเชียรองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์
แต่ทรัพยากรน้ำมันที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศเริ่มร่อยหรอลง
ประกอบกับราคาพลังงานเป็นขาลง กดดันให้บรูไนต้องหารายได้จากแหล่งอื่นมาเสริม
“อาหารฮาลาล” เป็นอุตสาหกรรมที่บรูไนต้องการเข้ามาเป็นผู้เล่นรายสำคัญ
โดยประกาศความมุ่งมั่นเมื่อ 2 ปีก่อน
ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
สร้างโรงงานผลิตและจัดจำหน่ายอาหารฮาลาล ในมณฑลตอนใต้ของจีน
และเมื่อปีก่อนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และสุลต่านบรูไน ฮัสซานัล
โบลเกียห์
ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการเพิ่มความร่วมมือทางทะเลระหว่างการประชุมเอเปกที่กรุงปักกิ่ง
โดยต้องการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์
พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจีนไปลงทุนในบรูไนมากขึ้น
รวมถึงเพิ่มความร่วมมือในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้วย
บรูไน ไทมส์ รายงานว่า นายหวัง ยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน
กล่าวขณะเยือนบรูไนว่า โครงการพัฒนาภายใต้ “ระเบียงเศรษฐกิจบรูไน-กว่างซี”
ซึ่งได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2557
ขณะนี้อยู่ในกระบวนการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
เพื่อมุ่งส่งเสริมสร้างการค้าทวิภาคี และการกระจายการลงทุน
โปรเจ็กต์ที่วางแผนจะพัฒนาร่วมกัน มีอยู่หลากหลายโครงการ อาทิ
การพัฒนาท่าเรือมูอารา (Muara) ท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวของบรูไน มีความลึก 10
เมตร กว้าง 611 เมตร ทั้งยังมีดินแดนติดกับทะเลจีนใต้,
อุตสาหกรรมการเกษตรหนานหนิง-บรูไน, การแปรรูปอาหารฮาลาล,
อุตสาหกรรมการแพทย์ยวี่หลิน-บรูไน
ซึ่งเมืองยวี่หลินได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหลวงแห่งสมุนไพรจีนแดนใต้
รวมถึงการปลูกข้าวและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น
“กิจกรรมเสริมสร้างการค้าและการลงทุนดังกล่าว สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประจำปี
2573 ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
จะเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมจากโครงการเหล่านี้โดยเร็ว” นายหวัง ยี
กล่าวขณะเยือนรัฐสุลต่านฯ ตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าบรูไน
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรพื้นฐานบรูไนย้ำว่า
“ความร่วมมือทวิภาคีจะมุ่งเน้นการเติบโตในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของบรูไน
ซึ่งหลายประเทศสนใจที่จะส่งออกอาหารฮาลาลผ่านบรูไนไปยังตลาดจีน
ด้วยข้อได้เปรียบทางภาษี 0%”
แผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจบรูไน-กว่างซี มูลค่าการลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์
ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงซัพพลายเชนเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน
ด้วยข้อได้เปรียบในเรื่องจุดยุทธศาสตร์ของมณฑลกว่างซีจ้วง
สามารถเชื่อมผ่านไปถึงทะเลจีนใต้ได้
ยิ่งกว่านั้นยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
และมีแรงงานฝีมือจำนวนมาก
เชื่อว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของบรูไนได้อย่างดีเยี่ยม
นายเผิง ชิง หัว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระบุว่า
โครงการแรกในความร่วมมือภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจฯ
จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่างโดยเร็ว
โดยเฉพาะการพัฒนาท่าเรือมูอาราที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลบรูไน
และบริษัทกว่างซี-เป่ยปู้ กัลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป
ที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการท่าเรือและระบบขนส่งสินค้าเชื่อว่าการร่วมลงทุนพัฒนาดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพให้กับท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวของบรูไน
จากที่สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าจากเดิมคือ 220,000 ตู้คอนเทนเนอร์
(TEUs) ให้เพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 ตู้คอนเทนเนอร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งคาดหวังว่าจะให้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคนี้
เห็นได้ชัดว่า แม้ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสมาชิกอาเซียน (ฟิลิปปินส์
เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน)
จะสั่นคลอนอยู่ไม่น้อยจากปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้
แต่สำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีน-บรูไน กลับกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ยิ่งกว่านั้นสุลต่าน ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน ยังเคยกล่าวชื่นชมว่า
“จีนเป็นเพื่อนที่เชื่อใจได้ของบรูไน”
พร้อมชื่นชมแผนการสร้างแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม
และเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21
ที่มา : http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=8076.0
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://prachachat.net/news_detail.php?newsid=1461908493
AEC Info
ส่งออกซีแอลเอ็มวีร่วง
ผู้ส่งออกห่วงตลาดส่งออกซีแอลเอ็มวีเดี้ยงชี้ไตรมาสแรกติดลบ 3.99% หวั่นโดนสินค้าจีนตีตลาด
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีความน่าเป็นห่วงมาก โดยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2559) พบว่าการส่งออกของไทยในตลาดดังกล่าวติดลบ 3.99% ต่างจากปีที่ผ่านมาขยายตัวถึง 7% โดยไทยหวังที่จะใช้ตลาดนี้มาทดแทนตลาดหลักที่ชะลอตัวลง
สำหรับคู่แข่งที่สำคัญของสินค้าไทยในตลาดซีแอลเอ็มวี คือ จีน มาเลเซีย และเวียดนาม โดยเฉพาะจีนที่เริ่มเข้ามารุกในตลาดดังกล่าวมากขึ้น และเป็นการเข้ามาในทุกธุรกิจ ตั้งแต่การค้า บริการ ท่องเที่ยว ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่จีนมีปัญหาเรื่องมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (แอนตี้ ดัมพ์ปิ้ง) ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะนิ่งนอนใจว่าสินค้าไทยเป็นที่นิยมและยอมรับของเพื่อนบ้านแล้วอยู่เฉยๆ ต่อไปไม่ได้แล้ว
“จากนี้ไปผู้ประกอบการธุรกิจจะคิดแค่ขายสินค้าตามแนวตะเข็บชายแดนคงไม่ได้แล้ว แต่จะต้องบุกเจาะเข้าไปยังหัวเมืองหลัก และหัวเมืองรองของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ให้มากขึ้น ส่วนภาครัฐก็ต้องเร่งหามาตรการใหม่ และเร่งมาตรการต่างๆ ที่เคยคิดไว้ให้เดินหน้าได้เร็วขึ้นเพื่อให้ตลาดซีแอลเอ็มวีพลิกกลับขึ้นมาเป็นบวกอีกครั้ง” นายวัลลภ กล่าว
สำหรับตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ปีนี้ไทยตั้งเป้าการขยายตัวไว้ที่ 6% โดยในเดือน ม.ค.อยู่ที่ 1.2% เดือน ก.พ.ติดลบ 5.8% และ เดือน มี.ค.ติดลบ 6.9% ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่เหลือ จะต้องหากลยุทธ์ต่างๆ เพื่อทำให้การส่งออกตลาดซีแอลเอ็มวีปีนี้ยังเป็นบวก
“ในเรื่องส่วนแบ่งการตลาดในซีแอลเอ็มวีของสินค้าไทยเวลานี้ ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าโดนสินค้าจีนแย่งตลาดไปมากน้อยเพียงใด แต่ถ้าตอนนี้ไม่ทำอะไรเลยบอกได้เลยว่าอนาคตน่าเป็น ห่วงแน่ เพราะปัจจุบันจีนได้รุกเข้ามาในทุกประเทศ และการเข้ามาของจีนก็มาพร้อมกับสัมปทานการค้าใน ประเทศนั้นๆ ด้วย” นายวัลลภ กล่าว
นายนพพร เทพสิทธา ประธาน สรท. กล่าวว่า ตลาดซีแอลเอ็มวีเป็นตลาดที่ไทยจะต้องรักษาไว้ให้ได้ เพราะจะสูญเสียตลาดนี้ไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ก่อนหน้านี้รัฐบาลชุดนี้เข้ามามีการพูดถึงและจะผลักดันเรื่องการค้าชายแดน การให้ความสำคัญกับตลาดเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวีมาตลอด แต่ล่าสุดตอนนี้กลับติดลบ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ถดถอยลง
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยในตลาดซีแอลเอ็มวีติดลบ มองว่าน่าจะมาจาก 4 ปัจจัยนี้ คือ 1.เศรษฐกิจโลกมีปัญหาและเศรษฐกิจของซีแอลเอ็มวีก็อิงกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เศรษฐกิจของซีแอลเอ็มวีก็มีปัญหาเช่นกัน 2.สินค้าที่ไทยส่งออกไป ซีแอลเอ็มวี ส่วนหนึ่งเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมันตกจึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง
ขณะที่ปัจจัยที่ 3.การเข้ามาแข่งขันของเพื่อนบ้านอย่างจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ในตลาดเดียวกันจากโอกาส เออีซี และ 4.ประเทศซีแอลเอ็มวีกำลังพัฒนา ทำให้เริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตสินค้าเองเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าบางส่วนจากไทย
อย่างไรก็ตาม การเข้ามารุกตลาดของจีน มาเลเซีย และเวียดนาม เพื่อแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดซีแอลเอ็มวี แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เด่นชัดจนทำให้การส่งออกของไทยเริ่มมีปัญหา แต่ก็พบว่าการส่งออกสินค้าอุปโภค-บริโภคของไทยเริ่มได้รับผลกระทบ โดยมีบางรายต้องเปลี่ยนจากผู้ผลิตเป็นผู้นำเข้าสินค้าจีนส่งออกแทน เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนได้
“การแข่งขันของจีนเข้ามาหมดทุกทาง จนทำให้เอสเอ็มอีแข่งไม่ได้ และที่น่าห่วงมากที่สุดคือ การที่จีนเข้ามาเที่ยวในไทย แต่ใช้จ่ายผ่านระบบ We Chat Pay ของจีน ทำให้มาเที่ยวเมืองไทยแต่เงินที่ใช้จ่ายกลับยังอยู่ที่จีน ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องระวัง” นายนพพร กล่าว
ที่มา : http://www.posttoday.com/aec/news/429991
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://www.posttoday.com/aec/news/429991
คุยข่าวเศรษฐกิจ
IMFเสนอปรับ VAT เป็น10% มองเศรษฐกิจไทยปี59 เริ่มผงกหัว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสรุปผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 โดยคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (2016 Article IV Consultation) โดยนางแอนนา กอร์บาโชหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่กองทุนการเงิน กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัว 3% และ 3.2% ในปี 2560 มาจากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งการลงทุนภาครัฐยังจะเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะกลับเป็นบวกได้ในปีนี้
ขณะที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จะมาจากปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศคู่ค้า และความผันผวนของตลาดการเงินโลกอาจก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและทำให้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ได้แก่ การเบิกจ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งหากล่าช้ากว่าคาดจะกระทบอุปสงค์ในประเทศได้ และหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องนานกว่าที่คาด อัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้ที่แท้จริงจะปรับสูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ใน ระดับสูงอาจส่งผลต่อการบริโภค และในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงอาจส่งผลต่อฐานะของสถาบันการเงินได้
อย่างไรก็ดี พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งของไทยจะเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเสนอให้ทางการไทยดำเนินการใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผ่อนคลายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเจริญเติบโตทั้งระยะสั้นและระยะยาว 2.รักษาเสถียรภาพการเงิน และ 3.เพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการดำเนินโยบายการคลังแบบผ่อนปรนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยมองว่าแผนการลงทุนของภาครัฐมีความจำเป็นต่อการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เสนอให้ทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 10% เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนแล้ว
สำหรับนโยบายการเงิน อาจผ่อนคลายได้เพิ่มเติม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและช่องว่างการผลิต (output gap) ยังติดลบ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นจะเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ดี ทางการสามารถพิจารณาเข้าดูแลได้ตามความเหมาะสม
ที่มา : http://www.thansettakij.com/2016/04/04/41298
ขอขอบคุณรูปภาพ : https://cleeng.com/blog/new-vat-2015-regulation-in-europe-need-to-know/