มองอย่างหงส์
“เกิดเป็นปลา”
“คุณแม่… ทำไมหนูให้อาหารปลาเท่าไหร่ก็ไม่พอ”
เด็กน้อยผู้หนึ่งถามแม่ระหว่างให้อาหารปลาที่หน้าวัด
“ทุกครั้งที่หนูโยนอาหารลงไปปลาก็ขึ้นมากินจนหมด พอโยนลงไปอีกมันก็กินหมดอีก ปลามันกินเท่าไหร่ก็ไม่พอค่ะแม่”
“ปลามันเป็นเพียงสัตว์นะลูก มันกินแค่อิ่มแล้วก็ดำน้ำลงไป แต่ปลาในบริเวณนี้มีมากเหลือเกิน ตัวที่ยังไม่อิ่มก็จะโผล่ขึ้นมากินอาหารแทนเท่านั้น” คุณแม่อธิบายให้หนูน้อยเข้าใจ
“แล้วทำไมปลามันจึงมีมากเหลือเกินล่ะคะ ???” หนูน้อยทิ้งคำถาม
“ …… “ คนเป็นแม่นิ่งเงียบพยายามนึกหาคำตอบอย่างรอบครอบให้กับลูก
ทำไมคำตอบที่แม่จะให้ลูกจึงต้องคิดอย่างรอบครอบด้วย ???
ปลาเป็นเพียงสัตว์ที่กินอิ่มแล้วรู้จักพอ นั่นน่ะใช่ แต่มนุษย์ที่มีความเจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจมากกว่าปลา มนุษย์ที่เดินไปมาตามท้องถนน มนุษย์ที่ทำงานในสำนักงาน อยู่อาศัยในบ้านเรือน หรือไม่ก็ถือศีลในสถานปฏิบัติธรรม
ทำไมยังมีมนุษย์ประเภทหนึ่งเมื่อได้แล้วกลับไม่รู้จักพอ
ทำไมมนุษย์ประเภทนี้ เมื่อได้แล้วยังอยากได้อีก จนเกิดการดิ้นรนไขว่คว้าแล้วทำให้ตัวเองตกเป็น “ทาสเงิน” อย่างไม่รู้ตัว
คนเป็นทาสเงินส่วนใหญ่มักมีชีวิตที่เป็นสุขพอควรแก่ฐานะอยู่แล้ว อยากจะกินอะไรก็ได้กิน อยากจะซื้ออะไรก็ได้ซื้อ อยากจะเที่ยวที่ไหนก็ได้เที่ยว แต่ทำไมยังไม่พอ
แต่ทาสเงินกลับมองว่า “ได้กินน้อยไป ได้ซื้อน้อยไป ได้เที่ยวน้อยไป”
ทาสเงินมักมีเงินเก็บ แต่เก็บเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มันต่างจากปลาที่หนูน้อยให้อาหารอย่างสิ้นเชิง ปลาอิ่มแล้วก็พอ แล้วปล่อยปลาตัวอื่นขึ้นมากินอาหารแทน
แต่ทาสเงินจะยกข้ออ้างสารพัดขึ้นมาเป็นเหตุผล แล้วทาสเงินก็มุ่งหน้าหาเงินให้ได้มากยิ่งขึ้นที่อาจตามมาด้วยการทุจริต การหักหลัง หรือการเนรคุณโดยไม่รู้สึกตัว
ทาสเงินจะมีความสุขเมื่อได้เงินมามาก ๆ แต่เวลาใช้เงินออกไปจะใช้ไม่เท่าไรเพราะอยากเก็บเงินมากกว่า
หากเป็นการทำบุญ ทาสเงินก็หวังต้องได้บุญ หากไม่ได้ชาตินี้ก็ขอให้ได้ชาติหน้า ทั้ง ๆ ที่ทาสเงินก็ยังไม่แน่ใจว่า ชาติหน้าตนเองจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์หรือปลากันแน่
คนเป็นทาสเงินจึงถูกหลอกให้ซื้อบุญได้ง่าย ถูกหลอกให้ซื้อบุญครั้งละมาก ๆ เพื่อจะได้บุญในชาตินี้และชาติหน้ามากตามไปด้วย
หากทำงานในองค์กร ทาสเงินจะมองแต่ตัวเองว่าถูกเอาเปรียบ ต้องทำงานเหนื่อยโดยไม่มองทีมงานที่องค์กรสร้างขึ้น ไม่มองภาระความเสี่ยงที่องค์กรแบกรับ จะมองเพียงคนอื่นสบายกว่าแต่ได้รับเงินเดือนเท่ากัน
หากเป็นการลงทุน ทาสเงินต้องมองกำไรหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับมาก่อน ทาสเงินจะไม่ค่อยรู้จักคำว่า “เสียสละ” ไม่ว่าต่อครอบครัว สังคม หรือประเทศชาติ
ตนเองต้องได้ก่อน แล้วผู้อื่นค่อยได้
ทาสเงินจึงมักมีชีวิตประจำวันอย่างไม่เป็นสุข หรือไม่ก็เสแสร้างว่ามีความสุขจากสิ่งของที่ได้มา
ทาสเงินจึงมักเป็นผู้นิยมในวัตถุ หลงไหลวัตถุมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ แล้วก็ปั้นหน้าโพสท์ลงในโซเชี่ยล
หากอยู่อาศัยในที่หาเงินหรือผลประโยชน์ไม่ได้ ทาสเงินมองว่า ที่นี่คือนรกโดยไม่พิจารณาผู้อื่นที่อยู่ในสถานที่เดียวกันกลับมีความสุขและความอบอุ่นเพียงใด
ทาสเงินมีเงินไว้เก็บเป็นส่วนมาก แต่หากจะใช้ก็ต้องใช้แต่ส่วนน้อยและเป็นการใช้เพื่อตนเองมากกว่า
แล้วหากทาสเงินมีอำนาจในทางการเมืองละ
อะไรจะเกิดขึ้น ???
ทาสเงินจะอยู่ในสถานะที่เข้าถึงทรัพยากรได้ง่าย มีข้อมูลทางสาธารณะมากกว่าผู้อื่น การเอาเปรียบผู้อื่น เอาเปรียบสังคม และเอาเปรียบประเทศชาติจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
นักการเมืองที่เป็นทาสเงินจึงเป็นคนทำอะไรเพื่อเงินและมีโอกาสทุจริตได้ง่าย
หากเป็นเงินส่วนตัว ทาสเงินจะนั่งเครื่องบินชั้นประหยัด และหากเป็นนักการเมืองที่ไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองในการเดินทางแล้ว ทาสเงินก็จะเลือกนั่งชั้น First Class หรือเช่าเหมาลำกันเลยทีเดียวเพื่อเอาประโยชน์เข้าตัวให้มากที่สุด
ปัจจุบันจะเห็นว่า ข้อกล่าวหานักการเมืองร่ำรวยผิดปกติถูกตรวจพบมากขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นแสดงว่าในอดีต การฉกฉวยผลประโยชน์จากนักการเมืองที่เป็นทาสเงินมีมากจริง ๆ
แล้วคนธรรมดาทั่วไปที่เห็นแก่เงินจะไม่มากตามไปด้วยได้อย่างไร
มันมากจนเกิดการหลบหนี การยึดทรัพย์ และการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องในวันนี้
แล้วสิ่งนี้ ก็เป็นเหตุผลที่บอกต่อ ๆ กันว่า ทำไมนักการเมืองจึงพยายามไม่ยอมรับกฎหมายที่กำหนดโทษประหารชีวิต การจำคุกตลอดชีวิต การยึดทรัพย์ การไม่รอลงอาญา หรือการขาดอายุความของคดีการทุจริต
คนเป็นทาสเงินย่อมเป็นทาสเงินอยู่วันยันค่ำ เมื่อทาสเงินมากมายในชาตินี้ตายไป เขาจะเกิดเป็นอะไรในชาติหน้า ???
แล้วคุณแม่ก็ได้คำตอบมาให้แก่เด็กน้อย
“ปลาในบริเวณนี้ที่มีมากก็เพราะคนที่เป็นทาสเงินในชาติที่แล้วนะลูก”
“ทำไมคะแม่”
“คนที่ชาติที่แล้วทำอะไรเพื่อเงิน พอตายไปแล้วมาเกิดในชาตินี้ก็คงเป็นได้แต่ปลาเท่านั้น ปลาจึงมีมากมายแหวกว่ายกินอาหารที่คนมาแจกเพื่อให้รู้ว่า กินแค่อิ่มแล้วให้พอ”
“คะแม่ งั้นทาสเงินในชาตินี้ก็คงเกิดเป็นปลาในชาติหน้า ถ้าอย่างนั้นปลาในชาติหน้าก็จะมีมากกว่านี้อีกหลายเท่าซิแม่”
“เอาอย่างนั้นเลยหรือลูก”
สิทธิชัย ชวรางกูร
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://9nar.com/beautiful-or-strong-fish/
The Logistics
“เรือล่มในหนอง”
เรือล่มในหนอง ทองจะไปไหน เป็นสำนวนไทยโบราณที่เปรียบเทียบสถานการณ์การแต่งงานระหว่างครอบครัวผู้ร่ำรวยมั่งมีด้วยกันทั้งสองฝ่าย ผลประโยชน์หรือทรัพย์สมบัติของทั้งสองครอบครัวก็จะไม่ไปไหนหรือตกเป็นของใครอื่น กลายเป็นสมบัติผลัดกันชมของทั้งสองวงศ์ตระกูล เปรียบดั่งทองที่จมลงอยู่ในหนองนั่นแล
กลับมาที่สถานการณ์ในโลกปัจจุบัน เรือเดินสมุทรเป็นยานพาหนะสำคัญที่ใช้บรรทุกสินค้า/ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นการข้ามน้ำข้ามทะเล ข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล จึงมีความเสี่ยงสูงมากต่อความสูญเสียที่สินค้าอาจจะเสียหายจากภัยอันตรายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดจากมนุษย์หรือภัยธรรมชาติก็ตาม หากเรือสินค้าล่มกลางมหาสมุทร ตู้สินค้าก็จะจมลงสู่ใต้ทะเล นอกจากสินค้าจะได้รับความเสียหายแล้ว ท้องทะเลก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสินค้าเป็นสารเคมี ก็จะทำให้น้ำทะเลปนเปื้อน สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลก็เดือดร้อน ระบบนิเวศถูกทำลาย ปะการังแตกหักเสียหาย ฯลฯ
หน่วยงานระดับสากลทางด้านทะเลแห่งสหประชาชาติ : องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (The International Maritime Organization – IMO) เห็นถึงความสำคัญของปัญหาและผลกระทบดังกล่าวนี้ จึงออกอนุสัญญา SOLAS – International Convention on the Safety of Life at Sea : อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยในชีวิตทางทะเล โดยกำกับดูแลความปลอดภัยของชีวิตในทะเล ซึ่งรวมถึงยานพาหนะที่เดินทางบนท้องทะเลด้วย
มาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้า คือ มาตรการสำคัญอันหนึ่งภายใต้อนุสัญญา SOLAS ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 นี้ ระบุว่าผู้ส่งออกสินค้า ต้องแจ้งน้ำหนักตู้สินค้าที่ผ่านการพิสูจน์หรือรับรองแล้ว (VGM : Verified Gross Mass) ให้แก่สายเรือทราบ โดยตู้สินค้าต้องผ่านการชั่งน้ำหนักที่เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่เคร่งครัดก่อนที่จะยกตู้สินค้าขึ้นเรือ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของเรือบรรทุกสินค้า ไม่ให้รับบรรทุกน้ำหนักมากเกินกำหนด เพราะหากไม่มีการระบุน้ำหนักตู้สินค้าอย่างถูกต้องตรงตามมาตรฐาน เรือบรรทุกสินค้าก็อาจประสบสภาวะเรือกระจายน้ำหนักไม่สมดุล และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากความประมาทนี้ได้
ความปลอดภัยเป็นเป้าหมายสูงสุดของการขนส่งสินค้า และคงจะเกิดขึ้นไม่ได้จากฝ่ายใดเพียงฝ่ายเดียว มาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้านี้คงจะไม่สัมฤทธิ์ผล หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากผู้ส่งออกสินค้าและสายเรือ ทั้งนี้วิธีการชั่งน้ำหนักตู้สินค้าที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ส่งออกกันมานาน ก็คือ ส่งตู้สินค้าขึ้นรถบรรทุกเพื่อไปชั่งน้ำหนักที่ด่านชั่ง ซึ่งเป็นวิธีที่อาจจะใช้เวลานาน หรือใช้วิธีชั่งน้ำหนักสินค้าแยกต่างหาก โดยนำมาบวกกับน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์และตู้คอนเทนเนอร์อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การชั่งน้ำหนักนี้จะต้องใช้เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐาน/ได้รับการรับรองจากภาครัฐด้วย
ใครหลายคนอาจกำลังคิดบ่นในใจ ว่าเป็นมาตรการที่เพิ่มภาระและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้ส่งออกมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นผู้ส่งออกก็ไม่ควรละเลยต่อหน้าที่อันพึงปฏิบัติ เพราะต้องรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วยเช่นกัน และการแจ้งน้ำหนักสินค้าก็เป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ปรากฏอยู่ในเอกสารต่างๆ เช่น ใบขนสินค้า, Invoice & packing list, Bill of Lading (B/L) เป็นต้น เพียงแต่ที่ผ่านมาน้ำหนักที่ผู้ส่งออกแจ้ง อาจไม่ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ได้ถูกชั่งโดยเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน จึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายหลายอย่างตามมาโดยไม่คาดคิด นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่มาตรการ VGM จะเข้ามาช่วยกำกับดูแลความปลอดภัยของสินค้า, เรือเดินสมุทร และสิ่งแวดล้อมทางทะเลในอีกทางหนึ่ง
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://bit.ly/28JbXV6