มองอย่างหงส์
“กระแสพาไป”
“Brexit would be bad mistake for UK”
ก่อนการลงประชามติในประเทศอังกฤษ 2 วัน เพื่อนนักธุรกิจชาวอังกฤษของผมได้ส่งข้อความสั้น ๆ มาให้ ท่านบอกว่า
“Brexit would be bad mistake for UK and will have less opportunities in future and more risky to do business.” (Prafs Shah 21/06/16)
“การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษน่าจะเป็นความผิดพลาดที่เลวร้ายและจะทำให้โอกาสการทำธุรกิจในอนาคตน้อยลงและมีความเสี่ยงมากขึ้น” (ผู้เขียน)
ในเวลานั้น นักธุรกิจชาวอังกฤษคนหนึ่งมองแบบนี้ แต่นักธุรกิจอื่นและคนอังกฤษส่วนใหญ่อาจมองตรงข้ามก็ได้ ไม่มีใครรู้จนกว่าผลประชามติจะออกมา
แล้ววันที่ 23/6/59 หลังจากที่ผมได้ข้อความสั้น 2 วัน ผลประชามติก็ออกมาช๊อคโลก
คนอังกฤษ 51.9% ต้องการออกจาก EU และ 48.1% ต้องการอยู่กับ EU
ก่อนการลงประชามติ นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างก็ชี้ให้เห็นว่า หากอังกฤษยังอยู่กับ EU จะได้รับผลดีผลเสียอะไร และหากออกจาก EU จะได้รับผลดีผลเสียอะไร
แม้ผลดีผลเสียจากการออกจาก EU จะเปิดออกสู่สาธารณะชนเรื่อย ๆ ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปิดเผยออกมาให้ชัดเจนก็คือ
ผลเสียที่จะเกิดจากผลเสียอย่างเป็นลูกโซ่จะมีอะไรบ้าง ???
แล้วภายหลังผลประชามติ ผลเสียที่จะเกิดจากผลเสียก็ค่อย ๆ เผยโฉมออกมาเรื่อย ๆ จนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนำไปเขียนเป็นบทความ
อังกฤษตกอยู่ในสภาพแตกแล้วแตกอีก (Lose-Lose Result)
จริง ๆ แล้ว อังกฤษไม่จำเป็นต้องมาทำประชามติแต่อย่างใดก็ในเมื่อเป็นสมาชิก EU มานานแล้ว
มันเป็นเพราะตอนหาเสียงเลือกตั้งรัฐบาลเมื่อ 2-3 ปี ก่อน คนอังกฤษวิจารณ์กันมากว่าการอยู่ร่วมเป็นสมาชิก EU ทำให้คนอังกฤษเดือดร้อนหลายอย่างทั้งปัญหาคนเข้ามาแย่งงาน ปัญหาความปลอดภัยในชีวิต ปัญหาการก่อการร้าย และปัญหาอื่น ๆ ที่เสียเปรียบอีกนับไม่ถ้วน
คนอังกฤษที่อยากออกมองแต่ผลเสีย แต่ไม่ได้มองผลเสียของผลเสีย ส่วนจะเป็นการมองตัวเองหรือส่วนรวมมาก่อน ไม่มีใครรู้
ตอนหาเสียงเวลานั้น นายเดวิด คาเมรอน เห็นว่าอังกฤษอยู่กับ EU น่าจะดีกว่าและมั่นใจว่า คนอังกฤษส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ก็เลยพูดว่า หากได้เป็นรัฐบาลอีกจะทำประชามติเรื่องนี้ให้ชัดเจน
พอตัวเองได้เป็นรัฐบาล ได้เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 แล้วผลก็เป็นอย่างที่เห็น ๆ กัน
สุดท้ายตัวเองก็ต้องลาออก แล้วอังกฤษก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นผู้หญิง เทเลซ่า เมย์ซึ่งจะเป็นแม่ทัพนำอังกฤษให้ออกจาก EU ให้สง่างามที่สุดทั้ง ๆ ที่โดยส่วนตัว เธอเองก็ไม่อยากออกจาก EU เหมือนกัน
หากจะถามว่า ก่อนการลงประชามตินั้น คนอังกฤษมีความรู้และเข้าใจผลเสียของการออกจาก EU มากน้อยเพียงใด ???
คำตอบก็น่าจะเป็นแบบหลาย ๆ ประเทศนั่นละ
คนที่รู้จริง ๆ มีไม่มาก แต่คนที่รู้จริง ๆ นี่ละจะเป็นผู้ออกมาอธิบาย ออกมาชี้แจงคนอื่นที่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ ให้รู้และเข้าใจตามไปด้วย
คนที่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ ส่วนหนึ่งก็รู้มากขึ้นจากคนรู้ที่มาอธิบาย แต่คนอธิบายก็ย่อมมีความเอนเอียงไปด้านหนึ่ง
การชี้นำก็อาจเกิดขึ้น
คนที่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ อีกส่วนหนึ่งไม่สนใจจะรู้ แต่ตัดสินใจตามกลุ่มของตน หรือตามการชี้นำของคนที่รู้ไปเลย
บังเอิญคนที่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ เป็นกลุ่มใหญ่ของทุกประเทศ
บางประเทศเป็นชนชั้นกลาง บางประเทศเป็นชนชั้นล่างแต่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของทุกประเทศที่มีอิทธิพล เป็นผู้รับกระแสที่ถูกจุดติดขึ้นมาให้กระจายกว้างออกไปและกว้างออกไป
สำนักข่าวหลายแห่งวิเคราะห์ว่า ประชามติของอังกฤษแสดงให้เห็นว่า คนกลุ่มใหญ่ของอังกฤษมองตัวเองก่อนจนเป็นกระแสแล้วเกิดการวิ่งตามกระแสนั้น
การมองตัวเองก่อนจนเป็นกระแสแล้วจะถูกหรือจะผิด มันต้องรอเวลาให้ผลดีของผลดี หรือผลเสียของผลเสียกระจายออกไปให้ชัดเจน
หันมาดูประเทศไทย
เราจะมีการลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ จะ “รับ” หรือจะ “ไม่รับ” พร้อมคำถามพ่วง
มันก็เหมือน ๆ กับอังกฤษนั่นละ
คนที่รู้เรื่องรัฐธรรมนูญจริง ๆ จะมีสักกี่คน แล้วคนกลุ่มนี้ก็อาจมีส่วนได้ส่วนเสียและฝังตัวอยู่ในกลุ่มที่ต้องการให้ “รับ” หรือ “ไม่รับ” เหมือน ๆ กัน
ต่างคนต่างก็ลุกขึ้นสร้างกระแส ขณะที่บางกลุ่มก็ใช้วิชามารชี้นำคนที่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ ให้ลงคะแนนตามที่ตนเองต้องการไม่ต่างกัน
ส่วนผลดีของผลดี หรือผลเสียของผลเสียจะมีอะไรก็ต้องรอให้เกิดขึ้นจริงก่อนเช่นกัน
แล้วก็ไม่ต่างอะไรกัน เมื่อคนระดับกลางหรือระดับล่างที่รู้แบบงู ๆ ปลา ๆ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะกลายเป็นคนแบกกระแสให้กระจายออกไป
การลงประชามติเรื่องวิชาการ เรื่องความรู้ หรือเรื่องซับซ้อนที่เข้าใจยากจึงเกี่ยวข้องกับกระแสพาไปมากกว่า
มันเป็นเรื่องของคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง
ในความเป็นจริงรัฐบาลทั้งอังกฤษ ไทย และทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องนำพาประเทศให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลับต้องมองกระแส กลับต้องนำพาประเทศให้ไปตามกระแส
แล้ววันนี้อะไรจะเกิดขึ้น ???
น่าเสียดายที่ทุกประเทศต่างก็มีรัฐบาลที่มาจากกลุ่มคนที่เก่งที่สุดเพื่อนำพาประเทศ แต่วันนี้การนำพาประเทศกลับกลายเป็นเรื่องของกระแสที่มีผลประโยชน์เบื้องหลัง
วันนี้ หากใครปลุกกระแสเก่ง หากใครจับประเด็นของคนกลุ่มใหญ่ได้ คนกลุ่มนี้ก็จะได้ทั้งกระแส ได้ทั้งคะแนนเสียง และได้ทั้งผลประโยชน์ จากนั้นก็ต้องนำพาประเทศไปตามเส้นทางนั้น
แล้ววันนี้กระแสกำลังจะพาประเทศไทยไปทางไหน ???
ไม่ต้องดูอื่นไกล อังกฤษแม้จะเป็นประเทศทั้งใหญ่ ทั้งรวย ทั้งเก่ง และทั้งพัฒนาก้าวหน้าก็ยังหนีฤทธิ์เดชของกระแสไปไม่พ้น
หากการลงประชามติ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คนส่วนใหญ่ไม่รู้เนื้อหา หรือรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ แล้วก็เดินเข้าคูหาไปใช้สิทธิ์
อย่างนี้แล้ว อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ???
สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
ถ้าคิดจะนำเข้า ไม่รู้จัก D/O ไม่ได้แล้วนะ
Delivery Order คือชื่อเต็มของ D/O (ใครๆมักเรียกกันคุ้นปากว่า “ดีโอ”) เป็นเอกสารสำคัญที่ผู้นำเข้าจะต้องมี เพื่อนำไปใช้สำหรับการเดินพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านศุลกากร/ท่าเรือ
D/O ก็กลายร่างมาจาก B/L นั่นแหละคะ ภาษาไทยบางคนก็แปลกันว่า ใบสั่งปล่อย (ปล่อยในที่นี้ก็คือปล่อยสินค้าให้ได้ไปอยู่กับเจ้าของที่แท้จริง หรือก็คือผู้สั่งซื้อสินค้า/ผู้นำเข้านั่นเอง)
D/O มาจากไหน คำตอบคือ มาจากสายเรือ/ผู้รับบรรทุกสินค้าค่ะ การที่สายเรือรับบรรทุกสินค้าขึ้นเรือแล้ว สายเรือจะออกเอกสาร Bill of Lading (B/L) ให้กับผู้ส่งออกเพื่อยืนยันว่าสินค้าได้ถูกขนส่งไปกับเรือลำนั้นจริง และ B/L ก็เป็นเอกสารที่แสดงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในสินค้านั้น เมื่อ B/L อยู่ในมือใครผู้นั้นก็ย่อมมีสิทธิ์ในตัวสินค้า หลังจากที่ผู้ซื้อได้ชำระเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขายครบเรียบร้อยแล้ว ผู้ขายจะส่ง B/L ให้กับผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้านำ B/L นั้นไปแลกเอกสารอย่างหนึ่งที่สายเรือ นั่นก็คือ D/O หรือใบสั่งปล่อยนี่เอง จากนั้นผู้ซื้อจะใช้เอกสาร D/O นี้ในการไปเดินเรื่องนำสินค้าของตนออกมาจากท่าเรือ/ด่านศุลกากร
ได้รู้จัก D/O กันพอสมควร คราวหน้าจะพาไปรู้จักกับเอกสารชนิดไหนอีก อย่าลืมติดตามกันนะคะ
สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์