มองอย่างหงส์
“รถยนต์หรู”
“อยากมีชีวิตสงบสุขก็อย่าพยายามทำผิดกฎหมาย”
บางคนก็เห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้น ขณะที่บางคนก็เห็นตรงข้าม
การทำผิดกฎหมายแล้วได้ประโยชน์ บางคนมองว่าเป็นเรื่องท้าทาย มันทำให้ชีวิตมีรสชาติโดยแท้ บางคนก็มองเป็นเรื่องปกติทั้งในทางการค้าและการดำรงชีวิตประจำวัน
“ใคร ๆ เขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น”
คนที่ชอบทำผิดกฎหมายมักพูดแบบนี้ ขณะที่บางคนทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัวว่ากำลังทำผิด หรือบางกรณีก็มีคนจัดการให้แบบเบ็ดเสร็จโดยตนเองไม่รู้ตัว แล้วทุกอย่างก็สำเร็จด้วยดี
ทำไมมันง่ายจัง ???
มันง่ายเหมือนผู้ใหญ่เล่นขายของ มีคนขาย มีคนซื้อ ราคาถูก ๆ เสียภาษีต่ำ ๆ อย่างกรณีการนำเข้ารถยนต์หรูที่กำลังเป็นข่าวขึ้นมาอีก
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีการร้องเรียน DSI ให้ตรวจสอบการนำเข้ารถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รถโบราณจากัวร์ แพนเธอร์ และรถอื่น ๆ อีกมาก
ในข่าวระบุว่า รถต้องสงสัยที่ถูกตรวจสอบขณะนี้มีมากถึง 7,123 คัน นี่เฉพาะที่พบว่าต้องสงสัยและเป็นข่าว หากนับรวมที่ยังไม่พบอีกหรือยังไม่เป็นข่าว มันอาจมีมากนับหมื่นนับแสนคันก็ได้
อะไร ๆ มันก็ดูง่ายจริง ๆ
เนื้อหาข่าวบอกว่า รถโบราณคันหนึ่ง ปรากฏในพยานหลักฐานว่าซื้อมาจริง 4 ล้านบาท แต่แจ้งเสียภาษีสรรพสามิตเพียง 570,000 บาท ทำให้ราคาหายไป 3 ล้านกว่าบาท
ความผิดก็เลยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแปลงเอกสารทั้งขณะนำเข้า ขณะยื่นขอชำระภาษีอากร และขณะแจ้งกับกรมขนส่งทางบก
ภาษีอากรขาดก็เรื่องหนึ่ง ค่าปรับก็เรื่องหนึ่ง แล้วยังมีค่าปรับดอกเบี้ยที่กฎหมายเขาคิดร้อยละ 1 หรือ 1.5 ต่อเดือนตามแต่ประเภทของภาษีนับตั้งแต่วันนำเข้าก็อีกเรื่องหนึ่ง
นับ ๆ แล้ว พอโดนตรวจสอบที รถยนต์หรูที่กอดไว้อย่างภูมิใจว่าคุ้ม มันกลับไม่คุ้มซะแล้ว
แต่ที่น่าคิดมาก ๆ คือ ทำไมตอนซื้อราคาถูก ๆ ไม่มีใครบอกหรืออย่างไรว่าจะ หากมันผิดขึ้นมาจะโดนอะไรบ้าง
ก็คนขายอยากจะขายท่าเดียวนะซิ แล้วเผอิญคนซื้อจะอยากซื้อท่าเดียวกันด้วย
ต่างคนต่างคิดด้านเดียว
แล้วในด้านราชการละ ทำไมต้องรอให้มีผู้ร้องเรียนก่อนทั้ง ๆ ที่ความผิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันทั้งกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต กฎหมายอาญาหลากหลายมาตรา
ทำไม ???
ในทางกฎหมาย ใครเป็นผู้รับประโยชน์ ใครเป็นผู้ว่าจ้าง ใครเป็นผู้รับจ้าง และใครเป็นผู้ทำผิดไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม
มันสืบสาวได้ไม่ยาก
ความผิดต่างกรรมต่างวาระล้วนกำหนดบทลงโทษทั้งสิ้น แล้วตอนซื้อรถยนต์หรูราคาถูก ๆ ผู้ซื้อไม่รู้เลยหรือว่า “ราคาตลาด” มันอยู่ที่เท่าไหร่ ???
ถ้าไม่รู้ แล้วซื้อทำไม ???
ถ้ารู้ แล้วจะรู้ต่อไปอีกหน่อยไม่ได้หรือว่า ราคาที่ถูกนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ???
พ.ศ. นี้ ใครจะตรวจสอบอะไร มันไม่ได้ยากเย็นปานนั้น ราคาหน้าโรงงานเท่าไหร่ ปีที่ผลิต พ.ศ. ไหน ค่าเสื่อมตามกฎหมายกำหนดเท่าไหร่ อัตราภาษีอากรที่เกี่ยวข้องอีกเท่าไหร่
หากรวม ๆ แล้วเปรียบเทียบกับราคาตลาด แค่นี้มันก็พอจะรู้ว่า ราคาที่ได้มาพอรับได้หรือไม่
ไอ้ที่น่าสงสารที่สุดก็คือ คนมีเงิน คนมีชื่อเสียงในสังคม หรือคนมีฐานะที่พอจะซื้อรถหรูในสภาพและราคาที่ถูกกฎหมายได้
ทำไมยังวิ่งหารถยนต์หรูในราคาต่ำกว่าตลาดอย่างน่าตกใจ
ในทางกฎหมายแล้ว ไม่ว่าผู้ซื้อจะสำแดงราคาซื้อเข้ามาอย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องธุรกิจ มันเป็นเรื่องความสามารถของผู้ซื้อ กฎหมายไม่ยุ่งด้วย
แต่ในทางกฎหมาย คนโง่ คนฉลาดก็ต้องชำระภาษีเหมือน ๆ กัน
คนโง่ซื้อรถยนต์หรูมือสองมาในราคา 4 ล้านบาท คนฉลาดซื้อรถยนต์หรูยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน และมีสภาพเดียวกันในราคา 570,000 บาท
ในทางกฎหมาย คนโง่กับคนฉลาดต้องเสียภาษีเท่ากัน ทุกคนต้องมีความเสมอภาคในทางกฎหมาย
กฎหมายจะมีวิธีการคิด การถอดราคาย้อนกลับไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังและหาราคาที่ต้องเสียภาษีอากรจนได้
นี่เป็นวิธีคิดทางกฎหมาย
ในทางการตลาดก็เหมือนกัน รถยนต์สภาพแบบนี้ ปีผลิตเท่านี้ เขาซื้อ เขาขายกันเท่าไหร่ ราคาตลาดมันก็ฟ้องอยู่
หากเป็นรถยนต์หรูนำเข้าทั้งคัน ราคาตลาดอยู่ที่เท่านี้ แต่หากเป็นรถยนต์จดประกอบที่นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในไทย ราคาตลาดจะอยู่ที่เท่านั้น
ทุกอย่างมันมีราคาตลาดฟ้องหมด ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับคนซื้อที่จะค้นหา
แต่จนแล้วจนรอด ทุกวันนี้ก็ยังมีคนซื้อรถยนต์หรูในราคาถูก ๆ อย่างไม่มีเหตุผลและกำลังถูกตรวจสอบนับจำนวนไม่ถ้วน
คนขายก็ว่าถูกกฎหมาย คนซื้ออยากได้ของถูกก็เชื่อว่าถูกกฎหมายตามไปด้วย
วันนี้ ทุกประเทศรวมทั้งไทยด้วยก็ไม่ได้วุ่นวายแต่เรื่องสังคมและเศรษฐกิจอย่างเดียว มันก็ยังโยงไปถึงการเมือง
คนซื้อรถยนต์หรูไม่ได้อยากยุ่งกับการเมือง
แต่ทุกครั้งที่คนในวงการเมืองถูกตรวจสอบเรื่องการครอบครองรถยนต์หรูราคาถูก คิดหรือว่าผู้ซื้ออื่นจะไม่โดนเล่นงานตามไปด้วย
ใครไม่เชื่อก็ลองครอบครองรถยนต์หรูอย่างคนดังที่กำลังถูกตรวจสอบดูซิ หากคนไม่เชื่อไปครอบครองแล้วไม่ถูกตรวจสอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังตรวจสอบก็จะโดนข้อหาเลือกปฏิบัติทันที
เขาต้องเข้ามาตรวจเพื่อให้เห็นว่า เขาตรวจสอบทั่วไป ใคร ๆ ก็โดน ไม่ได้เลือกปฏิบัติ
หากผู้ซื้อครอบครองรถยนต์หรูราคาถูกแบบเดียวกันกับคนดัง ความผิดก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน คนซื้อก็ไม่น่าจะหนีความเป็นเหยื่อไปได้
คิดว่าจะรอดหรือ ???
คนดังยังพอมีภูมิคุ้มกันทางการเมือง คนดังยังพอมีพรรคพวกคอยต่อต้าน เผลอ ๆ คนดังก็ยังมีพรรคการเมืองกระโดดออกมาให้เห็น
แล้วคนซื้อทั่วไปมีอะไร ???
หากเลือกจะเป็นคนสามัญแล้วมีเงินพอซื้อรถยนต์แค่ 1 ล้าน ก็น่าจะซื้อ 1 ล้าน มันก็น่าจะหรูพอแล้ว อย่าไปอาจหาญซื้อถึง 5 ล้าน แต่จ่ายแค่ 1 ล้านเลย
ราคาตลาดมันฟ้อง กฎหมายก็อ้าปากรอ
มันรอแค่วันหนึ่ง หวยจะออกมาที่คนดังหรือคนโตทางการเมืองเข้า แล้ววันนั้นหางเลขก็จะมาลงที่คนซื้อทั่วไป การเมืองไม่มีวันนิ่งหรอก
คำพูดที่ว่า “อยากมีชีวิตสงบสุขก็อย่าพยายามทำผิดกฎหมาย” นี่น่าจะจริงเสมอ
ไม่มีใครรู้ว่าหวยรถยนต์หรูจะออกวันใดด้วยซ้ำไป
สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
Rent charge – ค่าภาระการท่าเรือ
สำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หลังจากเรือมาเทียบท่าที่ท่าเรือและตู้คอนเทนเนอร์ถูกยกลงจากเรือวางลงบนพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ผู้นำเข้ามีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยสินค้า เพื่อนำสินค้าออกจากท่าเรือ ทั้งนี้การท่าเรือฯให้ระยะเวลาในการดำเนินการโดยปราศจากค่า rent เป็นเวลา 3 วัน นับจากวันที่ตู้คอนเทนเนอร์แตะพื้น แต่หากผู้นำเข้าไม่สามารถเคลียร์สินค้าภายในระยะเวลา Free time 3 วันนี้ได้ ทางการท่าเรือฯ จะเรียกเก็บค่า rent / storage charge เพิ่มขึ้นตามจำนวนวันที่เกินออกไป ตัวอย่างอัตราค่า rent สำหรับตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าทั่วไป ดังนี้ค่ะ
ตู้ 20’GP
1-7 วันแรก วันละ 160 บาท/วัน/ตู้
8-14 วันถัดไป วันละ 275 บาท/วัน/ตู้
15 วันถัดไป วันละ 390 บาท/วัน/ตู้
ตู้ 40’GP
1-7 วันแรก วันละ 320 บาท/วัน/ตู้
8-14 วันถัดไป วันละ 550 บาท/วัน/ตู้
15 วันถัดไป วันละ 780 บาท/วัน/ตู้
นอกจากค่า rent ข้างต้นแล้ว ทางการท่าเรือฯ ก็เรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกด้วย เช่น Lift on/ Lift off charge (ค่ายกตู้ขึ้น-ลง), Admission Fee ฯลฯ
ซึ่งทางผู้นำเข้าสามารถเข้าไปตรวจสอบค่าใช้จ่าย(ประมาณการ)ได้ บนเว็บไซต์ของการท่าเรือฯ http://www.bkp.port.co.th/bkp/service/thai/cal21.asp
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่า rent โดยการท่าเรือฯ หรือค่าเสียเวลาตู้ โดยสายเรือ อันมีเหตุมาจากการที่ไม่สามารถตรวจปล่อยสินค้าได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ผู้นำเข้าและตัวแทนออกของควรร่วมมือกันวางแผนงาน, เตรียมการและตรวจสอบเอกสารการนำเข้าให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อนล่วงหน้า โดยเฉพาะ shipment ที่ใช้เวลาเดินเรือไม่นาน หากสินค้ามาถึงท่าเรือก่อน แต่เอกสารยังไม่ถูกต้อง/เรียบร้อย ก็อาจทำให้ต้องเสียเวลารอเอกสารในการเดินพิธีการเป็นเวลานาน ซึ่งจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย
สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์