SNP NEWS

ฉบับที่ 426

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO Article

“รถยนต์แพง”

18102012_162704_EcoCar

“ทำไมรถยนต์ในประเทศไทยมีราคาแพง ???”

คำถามข้างเกิดขึ้นเกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่ว่าผู้ถามจะรู้เรื่องราคารถยนต์ในต่างประเทศหรือไม่ก็ตาม

ราคารถยนต์แต่ละประเทศจะถูกหรือแพง มันมีองค์ประกอบหลายด้าน

ส่วนที่เป็นด้านหลักก็น่าจะเป็นภาษีภาษีอากรที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

ประเทศใดมีทรัพยากรในการทำโครงเหล็ก เครื่องยนต์ และอุปกรณ์จำเป็นสำหรับรถยนต์พร้อมโดยไม่ต้องนำเข้า ประเทศนั้นก็จะผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ขายภายในได้

ภาษีอากรเกี่ยวกับการนำเข้าอุปกรณ์จำเป็นก็ไม่มี ราคาขายก็ต่ำกว่า

ตรงกันข้าม ประเทศใดไม่มีทรัพยากรพร้อม ประเทศนั้นก็ต้องนำเข้าไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ทั้งคันหรืออุปกรณ์สำคัญในการผลิตรถยนต์

การนำเข้าก็ต้องมีภาษีอากรเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในกรณีประเทศไทย หากนำข้ารถยนต์ 4 ล้อ แบบสมบูรณ์ทั้งคัน ปริมาณกระบอกไม่เกิน 2,400 ซีซี ภาษีอากรซึ่งรวมภาษีสรรพสามิตแล้วก็ตกประมาณ 242.40% ของราคาประเมิน

นี่คือนโยบายภาษีสำหรับรถยนต์ในปัจจุบัน

แต่หากจะทำให้ราคาถูกลง การนำชิ้นส่วนสำคัญ ๆ เข้ามาที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ามาก แล้วนำชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยประกอบขึ้นเป็นรถยนต์

แบบนี้ราคารถยนต์ก็จะถูกลง

ข้อมูลแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ภาษีอากรเฉพาะชิ้นส่วนที่นำเข้าก็ตกประมาณ 12 – 49.8% ไม่รวมภาษีสรรพสามิต 37.5% ที่ต้องชำระตามมูลค่ารถยนต์ทั้งคันที่ประกอบพร้อมจำหน่าย

นี่ขนาดอัตราภาษีต่ำกว่าการนำเข้าทั้งคัน แต่ราคารถยนต์ของไทยก็ยังสูงกว่าอยู่ดี แล้วผู้สังเกตการณ์หลายท่านก็เกิดข้อสงสัย

ทำไมรัฐบาลต้องต้องเรียกเก็บภาษีรถยนต์แพง ๆ ???

ก่อนปี พ.ศ. 2536 อัตราภาษีอากรสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ นำข้าแบบสมบูรณ์ทั้งคันไม่ใช่อัตรา 242.40% แบบที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่อยู่ที่ 600 กว่าเปอร์เซ็นต์

ภาษีอากรสูงกว่าปัจจุบันราว 3 เท่า

วันนี้ ใครว่ารถยนต์ประเทศไทยแพง แต่วันนั้น เฉพาะภาษีอากรสูงกว่า 3 เท่า ขณะที่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่จะนำเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ก็มีอัตราภาษีอากรสูงตามไปด้วย

วันนั้น มันราคารถยนต์ไม่ยิ่งแพงไปกว่านี้หรือ

อนุมานได้ว่า ในตอนนั้น ราคารถยนต์สูงกว่าตอนนี้ 3 เท่า วันนั้น ปัญหาการจราจรก็เริ่มมีให้เห็นแล้ว

วันนั้น พอรถเริ่มติด ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมก็ค่อย ๆ ทยอยตามมา

หากประเทศไทยนำเข้ารถยนต์ หรืออุปกรณ์สำคัญในการผลิตรถยนต์มาก การนำเข้าแต่ละครั้งก็ต้องใช้เงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อนำชำระค่าสินค้า

การนำเข้ามาก ๆ หากไม่มีการส่งออกและท่องเที่ยวมาถ่วงอีกข้างหนึ่ง เงินบาทก็จะอ่อนค่าลงที่ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ยารักษาโรคและสิ่งจำเป็นที่เรายังผลิตเองไม่ได้ก็จะมีราคาสูงตามไปด้วย

เมื่อมีการใช้รถยนต์มาก การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องมากตามไปด้วย

ประเทศไทยไม่ได้ผลิตน้ำมันเองทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ การนำเข้ายิ่งมากก็จะยิ่งกลายเป็นปัญหาสังคมและเศรษฐกิจให้มากตามมา

รถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าราคาจะต่ำอย่างไรก็มีราคาสูงกว่าสินค้าอื่นอยู่ดี หากปล่อยให้มีการนำเข้ามาก ๆ มันก็กลายเป็นปัญหาไม่รู้จบ

การตั้งกำแพงภาษีจึงเป็นการป้องกันปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้านหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น หากปล่อยให้รถยนต์วิ่งในท้องถนนมาก ๆ รัฐบาลก็ต้องสร้างถนนขึ้นมารองรับ สร้างกฎเกณฑ์ในการควบคุมการใช้รถยนต์มาก

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการตอบโจทย์ที่ว่า ทำไมรถยนต์ในประเทศไทยมีราคาแพง ???

ส่วนรัฐบาลไหนต้องการทำให้ราคารถยนต์ถูกลงโดยไม่มีมาตรการป้องกันความเสียหายที่จะตามมา มันก็คือการปล่อยให้ระบบสังคมและเศรษฐกิจของไทยวิ่งไปตามยถากรรมนั่นเอง

สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

เวนิสตะวันออก ชาว Bangkok ลงเรือเลาะคลอง “ผดุงกรุงเกษม”
 
สมัยก่อนมีคำเปรียบเปรยว่า กรุงเทพฯคือเวนิสตะวันออก เพราะเป็นเมืองที่มีคูคลองมากมายหลายสาย ในอดีตผู้คนสัญจรไปมาทำการค้าขายในแม่น้ำลำคลองกันเป็นหลัก ภาพของชุมชนริมคลอง ตลาดน้ำ และการเดินทางด้วยเรือจึงเป็นวิถีชีวิตของคนไทยสมัยโบราณ
ต่อมาเมื่อประเทศมีการพัฒนาระบบขนส่งทางบกตามแบบฝรั่ง “ถนน” และ รถยนต์จำนวนมาก ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ และปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะในเมืองหลวง ก็คือ ปัญหาการจราจรติดขัด ที่คนเมืองแสนจะเบื่อหน่าย
ถ้าจะมีวิธีไหนช่วยให้เดินทางได้ไวขึ้น หนีจากปัญหารถติด มลภาวะเป็นพิษ ประหยัดเวลาในการเดินทาง เชื่อว่าชาวกรุงเทพฯ ก็คงอยากจะลองปรับเปลี่ยนวิธีการเดินทางด้วยวิธีใหม่ๆ ดูบ้าง เหมือนอย่างที่เราได้ลองเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS, รถไฟใต้ดิน MRT, รถไฟฟ้า Airportlink ฯลฯ
ล่าสุดรัฐบาลลุงตู่มีนโยบายแก้ไขปัญหาการจราจร ด้วยการรื้อฟื้นและสนับสนุนการสัญจรทางน้ำขึ้นมาใหม่ เพื่อลดปัญหาการจราจรคับคั่งในเส้นทางหัวลำโพง-เทเวศร์ โครงการนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มเส้นทางการเดินทางให้กับประชาชนแล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำในเมืองกรุงอีกด้วย
โดย กทม. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เส้นทางเดินเรือ จะเริ่มตั้งแต่ท่าเรือหัวลำโพงถึงท่าเรือเทเวศร์ ผ่าน 9 ท่าเรือ ประกอบด้วย 1.ท่าเรือหัวลำโพง 2.ท่าเรือนพวงศ์ 3.ท่าเรือยศเส 4.ท่าเรือกระทรวงพลังงาน 5.ท่าเรือแยกหลานหลวง 6.ท่าเรือนครสวรรค์ 7.ท่าเรือราชดำเนินนอก 8.ท่าเรือประชาธิปไตย และ 9.ท่าเรือเทเวศน์
ในระยะแรก กทม.ได้ปรับปรุงเรือของสำนักการระบายน้ำ จำนวน 4 ลำ ใส่หลังคาคลุมกันแดด-ฝน จัดที่นั่งจำนวน 12 ที่นั่ง และอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ และกทม.จะทดลองเดินเรือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. เป็นต้นไป
ส่วนระยะที่ 2 จะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองผดุงกรุงเกษม ขุดลอก ดูดเลนในคลองและซ่อมแซมผนังเขื่อนตามแนวคลอง พร้อมทั้งจัดหาเรือโดยสารเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพาณิชย์ โดยคาดว่าจะเริ่มเดินเรือในคลองได้ราว เดือน มี.ค.60
สำหรับใครที่สนใจอยากลงเรือชมคลองผดุงกรุงเกษมในช่วงการทดลองเดินเรือนี้ ก็สามารถแวะเวียนไปลองโดยสารเรือได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งวันธรรมดาเรือจะให้บริการ 2 ช่วงเวลา คือรอบ 06.00-09.00 น. และ 16.00-20.00 น. (ระยะห่างลำละ 20 นาที) ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เรือจะให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. (ระยะห่างลำละ 30 นาที) เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษมและบริเวณโดยรอบ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนอย่างท่วมท้น บรรยากาศของเวนิสตะวันออก คงจะหวนคืนมาอีกครั้ง
​สุวิตรี ศรีมงคลวิศิษฎ์​