CEO ARTICLE
“ประกันรวมกลุ่ม”
“เข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ ฉันโดนค่ารักษาอ่วมเลย”
“อ้าว เธอซื้อประกันสุขภาพไว้แล้วนี่ ทำไมต้องจ่ายอีกล่ะ ?”
“ใช่ ซื้อแล้ว แต่ตัวแทนประกันที่ดูแลฉันนะซิ บอกเบิกไม่ได้”
“ตัวแทนไม่ต่อสู้ให้หรือเปล่า หากเบิกไม่ได้จริง อย่างน้อยก็ต้องมีคำอธิบายที่น่าเชื่อถือให้เข้าใจ แล้วบริษัทประกันชื่ออะไรล่ะ”
“บริษัทต่างชาติชื่อดังนั่นล่ะ คิดว่าตัวแทนเอาแต่ขาย แต่ไม่เอาใจใส่ดูแล เวลาลูกค้าเรียกร้องค่าสินไหมเลยไม่มีคำแนะนำให้เลย”
“ใช่ เธอพูดถูกแล้ว หลายเรื่องที่เป็นเหลี่ยมคมของกฎระเบียบ หรือกฎหมาย หากให้คำแนะนำกัน อะไร ๆ มันก็ง่ายนั่นละ”
“อย่างน่า เรามันแค่ลูกค้าตัวเล็ก ๆ หากเป็นคนรวยประกันมาก ๆ คิดว่าเขาคงดูแลดีกว่านี้แน่”
มันอาจจะใช่หรืออาจไม่ใช่ก็ได้ที่ลูกค้าประกันรายใหญ่ ๆ จะได้รับการดูแลอย่างดี
ในโลกแห่งความเป็นจริง คนซื้อไม่ว่ารายใหญ่หรือรายเล็กที่ซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ คงไม่มีใครที่เขาซื้อแล้วอยากนอนโรงพยาบาลโดยไม่เป็นอะไร อยากประสบอุบัติเหตุ อยากตาย หรืออยากใช้สิทธิ์เรียกร้องสินไหมเหมือน ๆ กัน
เมื่อไม่อยากใช้สิทธิ์เรียกร้องสินไหมแล้วคนส่วนใหญ่ซื้อประกันไปทำไม ???
อาจเพราะอยากอยู่ดีมีความสุข คนส่วนใหญ่จึงไม่อยากเรียกร้องและซื้อประกันที่มีเบี้ยถูก ๆ ไว้ก่อนโดยไม่ใส่ใจว่า ในวันหนึ่งเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นจนต้องเรียกร้องค่าสินไหม
ตัวแทนประกันภัยจะดูแลให้ดีหรือไม่
แม้จะไม่อยากเรียกร้อง แต่คนซื้อประกันก็ต้องซื้อไว้เผื่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง
ดังนั้น คำตอบที่พอจะรับฟังได้ก็คือ คนซื้อประกันไว้เผื่อความเสียหายเกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง หากมันเกิดขึ้นจึงก็จะได้มีผู้ชดเชยความเสียหายให้
มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากการค้าระหว่างประเทศ
สินค้าที่มีการเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องมีการประกันความเสียหาย (Marine Insurance) ที่อาจเกิดขึ้นไม่ต่างกัน
ในทำนองเดียวกัน คนซื้อประกันการเคลื่อนย้ายสินค้าก็ไม่อยากให้สินค้าเสียหาย และไม่อยากใช้สิทธิ์เรียกร้องค่าสินไหมเหมือนกัน
คนซื้อประกันการค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่ จึงมองหากรมธรรม์ที่จ่ายเบี้ยประกันถูก ๆ ไว้ก่อนเช่นกัน
หากเป็นการนำเข้า ผู้นำเข้าบางท่านก็อยากให้ผู้ขายสินค้าต่างประเทศเหมาจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้ด้วย
มันดูสะดวก มันดูง่าย และไม่วุ่นวายดี
แต่สิ่งที่ผู้นำเข้าลืมไปก็คือ
ประการที่ 1 ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ขายจ่ายให้ถูกรวมไว้ในค่าสินค้าเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะคิดในด้านใด ผู้นำเข้าก็ต้องเป็นผู้จ่ายทางอ้อมอยู่ดี
ประการที่ 2 เมื่อผู้ขายสินค้าต่างประเทศเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย ผู้ขายก็มองหาบริษัทประกันที่เรียกเก็บค่าเบี้ยประกันถูกไว้ก่อน การคุ้มครองและการเรียกร้องในภายหลังย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
มันเป็นเรื่องธรรมดาจริง ๆ ที่ผู้จ่ายต้องเลือกราคาต่ำ
ประการที่ 3 หากสินค้าไม่มีความเสียหาย การเรียกร้องค่าสินไหมก็ไม่เกิดขึ้น ผู้นำเข้าย่อมไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ตัวแทนบริษัทประกันภัยที่อยู่ในประเทศไทยผู้รับคุ้มครองสินค้าจะทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่ ?
ต่อเมื่อวันหนึ่ง สินค้าพบกับอุบัติเหตุหรือได้รับความเสียหาย วันนั้นผู้นำเข้าจึงค่อยรู้ระบบงานของประกันภัย
คำว่า “หลักฐานไม่สมบูรณ์ เคลมไม่ได้ ต้องส่งเรียกไปให้บริษัทประกันที่อยู่ต่างประเทศอนุมัติก่อน หรือต้องส่งฟ้องศาลให้พิจารณาก่อน” ก็อาจเกิดขึ้นก็ได้
มันก็ไม่ต่างอะไรกับการประกันสุขภาพตามตัวอย่างข้างต้น
สิ่งที่ผู้นำเข้า หรือผู้ทำการค้าระหว่างประเทศควรตระหนักก็คือ การมีผู้ดูแลด้านประกันภัยให้แก่สินค้าอย่างถูกต้อง
เมื่อสินค้าพบอุบัติเหตุ คำแนะนำต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นตามมาอย่างเป็นกระบวนการ
ผู้นำเข้า หรือผู้ทำการค้าระหว่างประเทศสามารถติดต่อตัวแทนประกันภัยไม่ว่าจะเป็นของไทย หรือของต่างชาติที่มีสาขาอยู่ในประเทศไทยได้ล่วงหน้า
การซื้อประกันภัยให้สินค้าล่วงหน้า หรือการซื้อแบบกรมธรรม์เปิดให้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภทจะทำให้อัตราค่าเบี้ยประกันต่ำลง ได้รับการคุ้มครองมากกว่า
การดูแลสินค้าเมื่อพบอุบัติเหตุหรือเสียหายแม้หลักฐานไม่สมบูรณ์ก็จะง่ายกว่า
ในกรณีที่ผู้ทำการค้าฯ มองตนเองเป็นรายเล็ก หรือปริมาณสินค้าที่จะเคลื่อนย้ายมีไม่มาก หรือไม่มีเวลามากพอที่จะเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องนี้
การรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เพื่อการดูแลจากตัวแทนประกันภัยก็เป็นอีกทางหนึ่ง
หากผู้ทำการค้าฯ ไม่สามารถรวมกลุ่มได้ด้วยตนเอง การมอบหมายให้ตัวแทนออกของ หรือผู้ให้บริการโลจิสติกส์เป็นผู้รวมกลุ่มก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่ง
วิธีการเหล่านี้ เป็นเพียงหนึ่งในการบริหารจัดการหลาย ๆ แบบเพื่อให้การประกันภัยสินค้าระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
เศรษฐกิจชะลอตัว ยอดขนส่งสินค้าทางเรือลด สายเรือกำไรหด
อีกแค่เดือนกว่าก็จะสิ้นปีแล้ว ข่าวสะท้านวงการสายการเดินเรือ, นำเข้า-ส่งออก ยังคงทะยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง คราวก่อนเราพูดถึงสายเรือสัญชาติญี่ปุ่น 3 บริษัทที่ผนึกกำลังกันหาแนวทางต้านอุปสรรคและรับมือกับธุรกิจขาลงที่มีแนวโน้มว่าจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุด บริษัท โมลเลอร์-เมอร์สก์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทได้ทรุดตัวลงในไตรมาส 3 โดยถูกกระทบจากอัตราค่าระวางที่ดิ่งลงถึง 16% เมื่อเทียบรายปีและบริษัทมีกำไรสุทธิดิ่งลง 43% สู่ระดับ 429 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 โดยลดลงจากระดับ 755 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 490 ล้านดอลลาร์*
นอกจากนี้ ข้อมูลภายในประเทศที่ถูกเปิดเผยจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)ก็แจ้งว่า กทท.มีรายได้ จากการให้บริการเรือสินค้า ตู้สินค้า ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจในปี 2559 ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีแรกขยายตัวติดลบจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามที่คาด
สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ กทท. มีผลการดำเนินงานที่ลดลง ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะผันผวนและเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและจีน ขณะที่ท่าเรือเอกชนมีความยืดหยุ่นในด้านราคาหรือการบริการ เรื่องความสะดวกด้านเอกสารที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมทั้ง การปิดท่าเพื่อซ่อมเครนของท่าเรือกรุงเทพ 45 วัน จึงอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สายเรือบางสายไปใช้บริการที่ท่าเรือเอกชนเป็นการชั่วคราว**
ในฐานะที่ได้ทำงานร่วมกับสายการเดินเรือ และอยู่ในแวดวงนำเข้า-ส่งออกมาเป็นเวลาหนึ่ง นี่เป็นสัญญาณที่ทำให้อดรู้สึกหวั่นใจไม่ได้ และก็คงจริงอย่างที่ใครๆพูดกันว่า เป็นช่วงขาลงของธุรกิจนี้ แต่ถึงอย่างนั้นหากทุกคนรู้จักเตรียมตัวให้พร้อมที่จะลงอย่างไม่บอบช้ำ ถ้าทุกคนเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หาวิธีทางรับมือและแก้ปัญหาร่วมกัน ก็คงจะไม่เจ็บตัวกันมากนัก และการก้าวขึ้นไปใหม่อย่างมั่นคงก็จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ที่มา