SNP eJournal

ฉบับที่ 439

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ผู้ว่า CEO”

210

“นายอำเภอทำเพื่อชาวบ้านจริง ๆ ท่านผู้ว่ามณฑลอย่าประหารท่านนายอำเภอนะครับ” เสียงชาวบ้านร้องขอชีวิตกันระงม

“ไม่ได้ ในเมื่อนายอำเภอขัดพระราชโองการฮ่องเต้เปิดยุ้งข้าวก็ถือว่ามีความผิดและต้องรับโทษประหารสถานเดียว” ผู้ว่ามณฑลยืนยันการประหาร

คำสนทนาข้างต้นเป็นเรื่องราวที่คัดย่อมาจากภาพยนตร์เรื่องเปาบุ้นจิ้น

เขื่อนกักน้ำแตก ชาวบ้านต่างต้องอพยพ เกิดความอดยาก ขาดแคลนอาหาร นายอำเภอตัดสินใจเปิดยุ้งข้าวแจกจ่ายชาวบ้าน

ผู้ว่ามณฑลรู้เข้าก็อ้างพระราชโองการที่ต้องการให้เก็บข้าวไว้ให้ทหารในยามศึกษาสงคราม ก็จะประหารนายอำเภอ

นายอำเภอแย้งว่า ขณะนี้ไม่มีศึกสงคราม แต่ชาวบ้านอดยากจากน้ำท่วมก็มีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากศึกสงครามจึงตัดสินใจเปิดยุ้งข้าวแจก

ผู้ว่ามณฑลไม่รับฟัง ยืนกรานประหารท่าเดียว

เปาบุ้นจิ้นรับทราบ จึงเข้ามาแก้ไขเปลี่ยนเป็นชมเชยนายอำเภอที่เข้าใจเจตนารมณ์ ไม่ยึดเอาแต่ตัวบทกฎหมายที่อาจสร้างความเสื่อมเสียต่อฮ่องเต้

นายอำเภอยึดเจตนารมณ์ ขณะที่ผู้ว่ามณฑลยึดตัวบทกฎหมาย

มันเป็นบทภาพยนตร์ที่จะเขียนอย่างไรก็ได้

ลองเหลียวดูการบริหารราชการของไทยที่มีมาในอดีต

เมื่อแต่ละจังหวัดมีปัญหาเช่นป่าไม้ ราคาสินค้า เกษตรกรรม ความเป็นอยู่ของประชาชน หรือภัยธรรมชาติ อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีจำกัดมาก ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าไปกว่ารายงานเข้ามาที่ส่วนกลาง

จากนั้นก็รอการตัดสินใจและความช่วยเหลือจากส่วนกลาง

ข้อดีก็คือ ส่วนกลางรับทราบ การแก้ไขปัญหาหลายจังหวัดที่คล้าย ๆ กันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการถ่วงดุล มีการตรวจสอบ

แต่ข้อเสียก็ตามมา ความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัด หรือปัญหาที่ต้องแก้เร่งด่วนก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ประชาชนที่ทนไม่ไหวก็อาจเลือกอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ ๆ ที่มั่นคงกว่า มีเศรษฐกิจดีกว่า มีงานมากกว่า กลายเป็นปัญหาการย้ายถิ่นฐานและปัญหาสังคมตามมา

อำนาจการบริหารที่รวมศูนย์อยู่ส่วนกลางก็มีข้อดีแต่มันก็มีข้อเสียคนละด้านแบบนี้

ตอนยุคคุณทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็เห็นปัญหาแบบนี้ก็เลยจัดทำแนวทางการทำงานแบบผู้ว่า CEO  ให้มีอำนาจมากขึ้นมา แนวคิดดี คนส่วนใหญ่ขานรับ แต่หากคนทำหน้าที่ผู้ว่า CEO ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ละ

อะไรจะเกิดขึ้น ???

มันก็ย้อนกลับไปที่บทภาพยนตร์เปาบุ้นจิ้นข้างต้นอีกจนได้

ผู้ว่าที่ยึดตัวบทกฎหมายก็ไม่ยอมเปิดยุ้งข้าวแจกชาวบ้านที่เดือดร้อน หรือหากนายอำเภอเปิดยุ้งข้าวแจกชาวบ้าน ผู้ว่าก็สั่งประหารสถานเดียว

ปัญหาก็วนเวียนกลับมาเป็นปัญหาไม่รู้จบแบบนี้

ดังนั้น หากจะใช้ระบบผู้ว่า CEO คนเป็นผู้ว่าฯ นอกจากต้องรู้ตัวบทกฎหมาย ระเบียบราชการแล้ว คนเป็นผู้ว่าฯ ยังต้องมีความเข้าใจเจตนารมณ์ของแต่ละกฎหมาย บทบาทของตัวเอง และเป็น CEO เพื่อส่วนรวมจริง ๆ

แล้วคุณลม เปลี่ยนทิศ จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็เขียนลงในคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้นำผู้ว่า CEO มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

ในข่าวกล่าวว่า ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะให้ 76 จังหวัด ในภูมิภาคเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนที่จีนทำ โดยให้ผู้ว่าแต่ละจังหวัดไปหารือกับภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยว่า

แต่ละจังหวัดจะทำอะไรบ้าง !!!

ท่านมองว่า ด้วยวิธีนี้จะทำให้ประเทศไทยมีเครื่องยนต์ปั๊มเศรษฐกิจถึง 76 ตัว และเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่า 3%

คอลัมน์ยังให้ข้อมูลว่า วิธีนี้ก็คล้ายกับโยบาย American First ของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เลยจะเรียกว่า Thailand First

มันก็คือแนวทางการมุ่งเน้นภายในประเทศจากภูมิภาคให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นการช่วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไปในตัว

แล้วคอลัมน์ก็ชี้ว่า วิธีการนี้ทำให้นึกถึง “ผู้ว่า CEO” ที่หายไปเพื่อนำมาทดแทนระบบผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันที่มีอำนาจจำกัด

ใครได้อ่านและรับทราบเรื่องดังกล่าวคงต้องยินดี

แต่ปัญหาเพียงหนึ่งเดียวก็คือ บทภาพยนตร์เปาบุ้นจิ้นข้างต้นนั่นละ มันเป็นบทภาพยนตร์ก็จริงแต่มันก็สะท้อนความจริงได้ดีที่สุด

วันนี้ หากประเทศไทยจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภูมิภาค หรือจะเรียกว่า Thailand First ตามคุณลม เปลี่ยนทิศก็ได้ เพื่อมุ่งเน้นภายในมาก่อน

มันก็ต้องเริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวคิดของ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่กล่าวถึงข้างต้น แล้ววันนี้ มีใครบอกได้ไหมว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไหนบ้างที่มีลักษณะ CEO

แนวคิด ทฤษฏี และหลักการดูดี ขาดก็แต่เพียงตัวบุคคลเท่านั้น

ดังนั้น หากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภูมิภาค หรือหากจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานแบบ CEO

ทันทีที่เริ่มแนวคิดนี้ รัฐบาลก็ต้องสร้างแนวทางปั้นตัวบุคคลไปพร้อม ๆ กัน

เมื่อไหร่ที่แนวคิดพร้อมและตัวบุคคลพร้อม เมื่อนั้นระบบสังคมและเศรษฐกิจของไทยก็จะขับเคลื่อนจากภูมิภาคได้ดี และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามแนวคิดของ ดร. สมคิด และคุณลม เปลี่ยนทิศได้

แต่หากตัวบุคคลไม่พร้อม ไม่เข้าใจ แล้วเอาอำนาจผู้ว่า CEO ไปใส่ในมือบุคคลที่ไม่พร้อม ไม่เข้าใจ

อะไรจะเกิดขึ้น ???

สุดท้ายบทภาพยนตร์เปาบุ้นจิ้นข้างต้นก็จะกลายเป็นจริงขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

จัดระเบียบตู้คอนเทนเนอร์ท่าเรือแหลมฉบัง

 

เขยิบเข้าใกล้สิ้นปีมาทีละนิดๆ พอเผลอแป๊บเดียวก็จะขึ้นปีใหม่กันอีกแล้ว อากาศก็เริ่มเปลี่ยนอย่ามัวยุ่งกับงานจนลืมดูแลสุขภาพกันนะคะ ยิ่งในช่วงปลายปีอย่างนี้ ผู้ประกอบการที่เร่งส่งออก/นำเข้าสินค้าหลายท่านคงกำลังปวดเศียรเวียนเกล้ากับสถานการณ์เรือ delay เพราะที่ท่าเรือกรุงเทพ(ท่าเรือคลองเตย) ประสบภาวะท่า​เรือหนาแน่น ประกอบกับท่าเรือหลักอื่นๆในบางประเทศก็หนาแน่น จนทำให้ schedule ของหลายสายเรือล่าช้าออกไปเช่นกันวิธีแก้ไขสถานการณ์ขั้นต้นที่จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลารอเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ก็คือหันไปใช้ท่าเรืออื่นๆ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง หรือ ท่าเรือเอกชนต่างๆ อย่าง ท่าเรือสหไทย, ท่าเรือยูนิไทย ก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้ท่าเรือเหล่านี้ต่างก็เร่งพัฒนาคุณภาพ, การให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายไม่แพ้กัน

พอพูดถึงท่าเรือแหลมฉบัง วันก่อนได้อ่านข่าวเจอว่า ประชาชนในชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบังได้รับความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการลานวางตู้คอนเทนเนอร์ และลานจอดรถหัวลาก จนต้องส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำให้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนนี้ขึ้น สำหรับสถานประกอบการลานวางตู้คอนเทนเนอร์สินค้า และลานจอดรถหัวลาก ในเขตพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบังมีจำนวนทั้งสิ้น 233 แห่ง ในเขตพื้นที่เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์มีจำนวนทั้งสิ้น 39 แห่ง และในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 แห่ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเขตพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง มีผู้ประกอบการเช่าพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จึงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในชุมชน เช่น ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาเสียงดัง และการสั่นสะเทือนจากเครื่องยนต์ เครน ปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาการจราจร จากปัญหาข้างต้นทำให้ประชาชนในชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบังได้รับความเดือดร้อน เพราะที่ผ่านมาไม่มีการวางแผนหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 1 เฟสที่ 2 โดยในปี 2559 นี้มีตู้ที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง กว่า 10 ล้านตู้ อีกทั้งอนาคตกำลังจะขยายท่าเทียบเรือเฟส 3 ซึ่งจะมีตู้เข้า-ออก ท่าเรือแหลมฉบังอีกเท่าตัว

จาก​รายงานข่าวแจ้งว่านายเชาวลิตร แสงอุทัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ โดยขอดำเนินการไปทีละขั้นตอนเพราะถือว่าเป็นปัญหาใหญ่และยืดเยื้อ มานานโดยให้เทศบาลแต่ละที่ไปดำเนินการให้ผู้ประกอบการ เทพื้นลานวางตู้ และลานจอดรถ เพื่อปัญหาฝุ่นละอองในเบื้องต้น หาวิธีผลักดันให้ผู้ประกอบการลานตู้และจอดรถหัวลาก รายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และรายที่ไม่มีใบอนุญาต ไปดำเนินเช่าพื้นที่ของเอกชน 900 ไร่ เพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งยังเป็น

​การ​แก้ไขปัญหา และรองรับการเกิดขึ้นของ​ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อีกด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ให้ พ.ต.อ.ศักดิ์รพี เพียวพนิช รอง ผบก.ภ.จว.ชลบุรี อดีตเคยเป็นผู้กำกับการ สภ.แหลมฉบัง ซึ่งรู้ปัญหาของพื้นที่แหลมฉบังเป็นอย่างดี เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขทั้งหมด

ขอบคุณที่มา

http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=9225.0