SNP eJournal

ฉบับที่ 444

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“รถตู้โดยสาร”

‘รถตู้โดยสารสาธารณะชนกับรถปิคอัพ’
‘ผู้เสียชีวิตในคราวเดียวรวม 25 ราย’

หัวข้อข้างต้น เป็นข่าวครึกโครมในประเทศไทยช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ 2560 ที่ผ่านมา หากพิจารณาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในในช่วง 7 วันอันตราย 29 ธ.ค. 59 – 4 ม.ค. 60 จะได้จำนวนต่าง ๆ ดังนี้ (ข้อมูลจาก http://www.thairath.co.th/content/828485)

อุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง
ผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 4,128 ราย
ผู้เสียชีวิตรวม   478 ราย

ข่าวหลายสำนักต่างชี้ว่า รถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ-จันทบุรีเป็นเหตุการณ์หนักที่สุดที่มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 25 ราย ในคราเดียว
ต้นเหตุเกิดจากคนขับรถตู้หลับใน  จากนั้นรถก็เสียหลักพุ่งข้ามเลนไปอีกฝั่งประสานงากับรถกระบะที่วิ่งสวนมาอย่างจัง เกิดระเบิดตูม ไฟลุกท่วมย่างสดผู้โดยสารที่มากับรถตู้ 14 ราย และผู้โดยสารที่มากับรถกระบะอีก 11 รายจนเสียชีวิตอย่างน่าอนารถ

ภายหลังตรวจพบว่ารถตู้สาธารณะได้ติดตั้งถังแก๊สจำนวน 3 ถัง ภายในรถตู้ซึ่งกลายเป็นระเบิดที่คร่าชีวิตคน

หลังเหตุการณ์รถตู้ระเบิด วงการโลจิสติกส์ก็เกิดการตื่นตัว  มีการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมความปลอดภัย จากนั้นก็มีข่าวว่า ในปี 2562 จะมีการผลักดันให้ใช้รถตู้โดยสารขนส่งข้ามจังหวัดลดลง

รถตู้โดยสารเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่ง และการขนส่งก็เป็นส่วนหนึ่งของโลจิสติกส์

ข่าวจาก http://news.thaipbs.or.th/content/259250 รายงานว่า ปี 2562 ผู้ขับรถโดยสารต้องเข้ารับการอบรมทุก ๆ 6 เดือนจากกรมการขนส่งทางบกเพื่อเตือนความจำเรื่องกฎหมายจราจรและสร้างจิตสำนึก

ข่าวนี้ทำให้รู้ว่า รถโดยสารสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์

หลายปีที่ผ่านมา “โลจิสติกส์” เป็นหลักสูตรที่ผู้ปกครองและนักศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจ ผู้ปกครองส่วนหนึ่งถึงกับพยายามส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนหลักสูตรนี้
ผู้ปกครองบางคนส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนโดยที่ไม่รู้ว่า โลจิสติกส์คืออะไรด้วยซ้ำไป
คนในแวดวงการศึกษาเท่านั้นที่จะรู้ว่า “โลจิสติกส์” มี 2 แบบคือ วิศวกรรมโลจิสติกส์ กับการจัดการโลจิสติกส์
วิศวกรรมโลจิสติกส์จะศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้าง ทำเลที่ตั้ง การคำนวณ และอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นไปที่โครงสร้าง ขณะที่การจัดการโลจิสติกส์จะศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ต้นทุน การวางแผน การจัดการความสำเร็จ เป็นต้น

หากพิจารณาว่า โลจิสติกส์มี 2 แบบ รถตู้สาธารณะหรือรถโดยสารสาธารณะก็ควรต้องมีข้อกำหนด 2 รูปแบบที่ไม่ต่างกัน

ด้านวิศวกรรมก็ควรกำหนดข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้าง สภาพรถที่ดี และความชัดเจนในเรื่อง สภาพยางรถยนต์ เบรค เข็มขัดนิรภัย อุปกรณ์ดับเพลิง และอื่น ๆ อีกมากมาย

ด้านการจัดการ ก็ควรกำหนดข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ สภาพคนขับ การอบรม แผนงานเดินทาง และการจัดการ

น่าเสียดายที่โลจิสติกส์มี 2 แบบและน้อยคนรู้ !!!

การควบคุมดูแลรถโดยสารให้มีโครงสร้าง รูปแบบ สภาพตัวรถ และอุปกรณ์ที่จำเป็นแบบวิศวกรรม และมีประสิทธิภาพ การวางแผน และความสำเร็จแบบการจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบคนจึงดูเหมือนกับมี และเหมือนกับไม่มีโดยไม่มีใครชี้ชัด

แล้วทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ความเสียหายจึงเกิดมากมายอย่างเช่นในครั้งนี้

หากจะปรับปรุงแก้ไข และควรต้องทำอย่างไรบ้าง ก็เพียงนำหลักสูตรโลจิสติกส์ที่มี 2 แบบมาปรับใช้เท่านั้น ทุกอย่างก็น่าจะเข้าที่เข้าทางตามหลักการได้ไม่อยาก

ผู้สั่งการจะเป็นใคร แล้วจะใช้คำสั่งกรมการขนส่งทางบก หรือจะใช้กฎกระทรวง หรือจะใช้อำนาจตาม ม. 44 ก็เร่งใช้ได้เลย

แต่หากไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอะไรบ้าง ก็เอาง่าย ๆ แค่เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมโลจิสติกส์ 3 คน และคณะการจัดการโลจิสติกส์อีก 3 คนมาให้ข้อมูล เพียงเท่านี้ การปรับปรุงก็น่าจะทำได้ทันที

อย่าให้รอถึงปี 2562 เลย มันนานไป วัวหายแล้วยังไม่ล้อมคอก หรือจะรอให้วัวล้มหายตายจากไปมากกว่านี้ก่อน มันน่าจะสายเกินไป
อย่างน้อย เทศกาลสงกรานต์ 2560 ก็กำลังจะใกล้เข้ามาแล้ว
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics0

Hello London! ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าเส้นทางใหม่จากจีนไปอังกฤษ

ปู๊ด ปู๊ด พร้อมแล้ว ขบวนรถไฟประวัติศาสตร์บรรทุกสินค้าจากจีนไปอังกฤษ ถือฤกษ์ดีปีใหม่เปิดให้บริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในขบวนรถไฟที่วิ่งระยะทางไกลที่สุดขบวนหนึ่งของโลก

สำนักข่าวซินหวา (3 ม.ค.) รายงานว่า รถไฟบรรทุกสินค้าจากจีน – อังกฤษ ได้เคลื่อนออกจากสถานีรถไฟอี้อูตะวันตก ในมณฑลเจ้อเจียง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รถไฟขบวนนี้ได้บรรทุกสินค้าประเภทเครื่องใช้ในบ้าน กระเป๋า เสื้อผ้า และสิ่งทอต่างๆ  เพื่อมุ่งสู่เมืองหลวงของอังกฤษ ระยะทาง 12,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 18 วัน วิ่งผ่านหลายประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงลอนดอน ซึ่งนับว่าเป็นเมืองลำดับที่ 15 ในยุโรปที่จีนเพิ่มเส้นทางให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปโดยรถไฟ

(ส่วนสหราชอาณาจักรจัดเป็นประเทศลำดับที่ 8 ในทวีบยุโรปที่จีนให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ)

ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟ เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งเปรียบเสมือนยุคใหม่ของเส้นทางสายไหม อันก่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยผู้นำจีนหวังให้เป็นการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับยุโรป และตะวันออกกลาง

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว จีนได้เริ่มเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมไปยังประเทศเยอรมนี จากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ใช้เวลา 10 วัน ในการเดินทางจากเมืองอุรุมชี ซินเจียง ไปถึงเมืองดุ๊ยส์บวร์ก เยอรมนี รวมระยะทาง 8,000 กิโลเมตร ผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย และ โปแลนด์ ส่วนสินค้าที่ขนส่งทางรถไฟออกจากซินเจียงนั้น อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์เคมี ซอสมะเขือเทศ และสิ่งทอ ขณะที่สินค้านำเข้าจากเยอรมนีนั้น ได้แก่ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ
ที่มา  http://www.manager.co.th