CEO ARTICLE
“ครูแพะ”
พยานคดีครูแพะเผยให้การชัดเจน ‘คนชนเป็นชาย’
สุดงงขึ้นศาลกลับพบจับ ‘ผู้หญิง’
วันนี้ ข่าวครูแพะเป็นที่วิจารณ์ในสังคมกันมาก
สมมุติว่าข่าวที่ออกมาเป็นความจริง คุณครูผู้หญิงไม่ได้ขับรถชนคนเสียชีวิตแต่ถูกตำรวจเจ้าของคดีกล่าวหา ถูกดำเนินคดีในชั้นศาลแล้วสุดท้ายก็ถูกศาลตัดสินจำคุกทั้ง ๆ ที่พยานที่เห็นเหตุการณ์ให้การว่าคนชนเป็นผู้ชาย ตามหัวข้อข่าวข้างต้น (อ้างอิง http://hilight.kapook.com/view/147711)
การจับแพะและการตัดสินแพะให้ติดคุกครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แล้วก็เชื่อว่า ครั้งนี้ก็ไม่น่าจะใช่ครั้งสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือที่ไหนในโลก
หากจะมีการยกเว้นบ้างก็น่าจะเป็นศาลไคฟงของท่านเปาบุ้นจิ้นเท่านั้น ศาลไคฟงใช้ระบบอะไรในการตัดสินคดีจนไม่เกิดแพะแบบนี้
อะไรคือต้นเหตุ แล้วประเทศไทยจะแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ ???
ก่อนอื่นก็ต้องดูว่าศาลยุติธรรมของไทยใช้ระบบอะไรในการพิจารณาตัดสินความ
คนเรียนกฎหมายทั่ว ๆ ไปคงรู้ การพิจารณาคดีความของศาลยุติธรรม ศาลท่านใช้ระบบ ‘กล่าวหา’ ในการพิจารณา
ระบบ ‘กล่าวหา’ คือ โจทก์มีหน้าที่หาพยานหลักฐานเพื่อกล่าวหาจำเลย ขณะที่จำเลยก็มีหน้าที่หาพยานหลักฐานเพื่อหักล้างโจทก์
ศาลมีหน้าที่เพียงรับฟังและพิจารณาพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยยื่นขึ้นมา ฝ่ายใดน่าเชื่อถือมากกว่ากัน ศาลก็ตัดสินไปตามพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากกว่านั้น
ระบบ ‘กล่าวหา’ ทำให้ศาลไม่มีหน้าที่ลงไปแสวงหาพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
มันต่างจากภาพยนต์เปาบุ้นจิ้นอย่างสิ้นเชิง ในบทภาพยนตร์น่าจะไม่ได้บอกว่าศาลไคฟงใช้ระบบ ‘กล่าวหา’ หรือระบบ ‘ไต่สวน’ ในการพิจารณาตัดสินความ
แต่ที่เห็นชัด ๆ คือ ทุกครั้งที่มีพยานหลักฐานไม่ชัดเจน คลุมเครือ หรือไม่เพียงพอ ท่านเปาจะสั่งให้จั่นเจาลงไปสืบหาพยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงเพิ่มทุกครั้ง
แล้วก็ทุกครั้งที่จั่นเจาลงไป พยานหลักฐานใหม่ ๆ ก็ได้มาจนทำให้ท่านเปาพลิกคดีได้ แม้ว่าคดีจะเกี่ยวกับอำมาตย์ใหญ่ขนาดไหนก็ตาม
แบบนี้ก็พออนุมานว่า ศาลไคฟงไม่ได้พิจารณาความด้วยระบบ ‘กล่าวหา’ อย่างเดียว แต่ศาลไคฟงใช้ระบบ ‘ไต่ส่วน’ ร่วมด้วย หรืออาจใช้ระบบ ‘ไต่ส่วน’ อย่างเดียวก็ได้ซึ่งผู้ที่เรียนกฎหมายน่าจะตอบได้ดีกว่า
ผลของการที่ใช้ระบบ ‘กล่าวหา’ อย่างเดียวทำให้เกิดอะไรขึ้น ???
ประการที่ 1 ทนายความกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในคดี ทนายเก่ง ๆ ที่สามารถจัดเรียงพยานหลักฐานให้ดูน่าเชื่อถือได้สูงกว่าก็สามารถพลิกคดีจากผิดให้เป็นถูกได้
ตรงกันข้าม ทนายความที่ไม่เก่งหรือขาดประสบการณ์ก็อาจจัดเรียงพยานหลักฐานที่ดูน่าเชื่อถือให้กลายเป็นไม่น่าเชื่อถือขึ้นมาจนความถูกอาจกลายเป็นความผิดก็ได้เช่นกัน
ประการที่ 2 ในหลายกรณี ศาลผู้มีประสบการณ์สูงท่านอาจเห็นอยู่แล้วว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด แต่เมื่อพยานหลักฐานที่ทั้ง 2 ฝ่ายยื่นมาเป็นแบบนี้ มีเพียงเท่านี้ ศาลท่านก็ต้องตัดสินไปตามนั้น
แล้วประชาชนก็ได้เห็นภาพบางครั้ง ศาลท่านตัดสินค้านกับสายตาประชาชน
ศาลท่านจะทำอย่างไรได้เล่า ระบบกล่าวหาไม่เอื้ออำนวยให้ท่านลงไปแสวงหาข้อเท็จจริง
หากศาลท่านสั่งคนลงมาช่วยหาพยานหลักฐานแบบจั่นเจา ศาลท่านก็อาจถูกกล่าวหาว่า ‘ลำเอียง’ ไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทันที
จั่นเจาเป็นเพียงบทหนังบทละครที่ไม่อาจใช้กับชีวิตจริงได้ทั้งหมด
ระบบกล่าวหาจึงเป็นระบบที่ศาลท่านต้องยืนความยุติธรรมบนพยานหลักฐานที่มีเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องกำหนดให้ใช้ระบบ ‘กล่าวหา’ กับศาลท่าน
มันก็เพื่อความยุติธรรมนั่นละ !!!
หากตัดสินแล้วยังไม่ยอมรับ ยังเห็นว่าไม่ยุติธรรมก็ไปอุทธรณ์และฎีกาต่อ
หากคดีนี้เป็นความจริง ครูแพะก็น่าจะมีลักษณะเช่นนี้ ตำรวจผู้ทำหน้าที่เป็นโจทย์รวบรวมพยานหลักฐานพุ่งเป้าไปที่ครูผู้หญิงให้เป็นจำเลยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ส่วนทนายจำเลยก็อาจหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างที่มีน้ำหนักน้อยกว่าจนศาลฎีกาไปเชื่อตำรวจที่เป็นโจทย์
ครูผู้หญิงที่เป็นจำเลยจึงแพ้ในศาลชั้นต้น ชนะในศาลอุธรณ์ แล้วสุดท้ายแพ้ในศาลฎีกาตามข่าว
หากถามว่า ประเทศไทยจะมีการพิจารณาคดีด้วยระบบ ‘ไต่สวน’ แบบศาลไคฟงบ้างจะได้หรือไม่ ???
คำตอบก็คือ ‘ได้’ ซึ่งปัจจุบันก็ใช้กับการพิจารณาของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่ศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเป็นการพิจารณาคดีระหว่างหน่วยงานของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชน
ศาลปกครองจะพิจารณาเพื่อตัดสินว่า การกระทำของหน่วยงานของรัฐนั้นชอบ หรือมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
สั้น ๆ แค่นี้เอง ศาลปกครองจะไม่ตัดสินว่าใครถูกหรือใครผิด
ตัวอย่าง การไฟฟ้ามาปลักเสาไฟฟ้าบนถนนสาธารณะแต่บดบังบ้านประชาชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อน อย่างนี้ประชาชนก็ไปฟ้องศาลปกครอง
หากตัดสินว่าการปักเสาไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่มีเหตุอันควร การไฟฟ้าก็ต้องมารื้อถอนไป หากประชาชนได้รับความเสียหายจากการปักเสาไฟฟ้าในช่วงที่มีการปักไปแล้ว ก็ไปฟ้องเรียกค่าเสียหายกับศาลยุติธรรมอีกต่อหนึ่ง
กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลปกครองพิจารณาความด้วยระบบ ‘ไต่สวน’ คือให้ศาลส่งคนลงมาดูมาไต่สวนสืบหาข้อเท็จจริงได้
พอมาถึงตรงนี้ บางท่านก็อาจจะมองต่อว่า การพิจาณาความของศาลยุติธรรมก็น่าจะใช้ระบบ ‘ไต่สวน’ แบบเปาบุ้นจิ้น หรือแบบศาลปกครองบ้าง จะได้หรือไม่ ???
คำถามแบบนี้ก็คงต้องให้นักกฎหมายมหาชนระดับใหญ่ ๆ ของประเทศเขาตอบจะดีกว่าก็ มันเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม และระบบอีกมากมาย
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่า หากคดีครูแพะเป็นความจริง ทำไมจึงเกิดขึ้นได้
ครูแพะจึงเป็นผลเสียส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดขึ้นภายใต้ความยุติธรรมในระบบ ‘กล่าวหา’ แม้จะดูน่าสงสารเพียงใด แต่มันก็คือระบบการตัดสินของศาลยุติธรรม
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า กลุ่มเพื่อน ๆ ครูแพะได้ช่วยกันวิ่งหาหลักฐานด้วยการค้นหาทะเบียนรถที่ขนส่ง และติดตามจนเจอคนขับรถผู้ชายที่ชนตัวจริง จากนั้นก็แกล้งทำเป็นขอซื้อรถ สอบถามประวัติการชนจนในที่สุด คุณผู้ชายที่ชนตัวจริงก็ยอมรับนั้น มันเป็นความน่าอัศจรรย์ที่ไม่เคยพบมาก่อน
หากจะมองว่า นี่ก็เป็นลักษณะการไต่ส่วนอย่างหนึ่งก็น่าจะพอรับได้ แต่เผอิญว่ามันไม่ได้อยู่ในระบบของศาลเท่านั้น
หรือหากพิสูจน์ได้ว่า ตำรวจที่เป็นโจทก์ใช้พยานหลักฐานอันเป็นเท็จ อันนี้ก็จะกลายเป็นอีกคดีหนึ่งขึ้นมา ทั้งนี้รวมถึงการพลิกคดีให้ครูแพะกลับมาเป็นผู้บริสุทธิ์เช่นกัน ส่วนศาลท่านจะตัดสินอย่างไร ???
มันก็วนกลับมาอยู่ที่พยานหลักฐานอีกนั่นละ
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
ปัดฝุ่น Enayam อินเดียเตรียมเปิดท่าเรือใหม่ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงโลจิสติกส์โลก
รัฐบาลอินเดียทุ่มงบประมาณกว่า 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.47 แสนล้านบาท ปัดฝุ่นโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อขนถ่ายสินค้าแห่งใหม่ที่เมือง Enayam รัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้สุดของประเทศอินเดีย หลังจากที่โครงการนี้เคยถูกเสนอขึ้นเมื่อราว 25 ปีก่อน โดยรัฐบาลอินเดียหวังจะใช้ท่าเรือ Enayam นี้เป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่สำหรับขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำ (Trans-shipment) รองรับการขนส่งสินค้าไปยังปลายทางในประเทศที่ 3 รวมถึงใช้เป็นศูนย์กลางในการจัดการด้านการขนส่งสินค้าทางทะเลในเส้นทาง East-West Shipping Route เชื่อมโยงการค้าและการเดินเรือระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก
โครงการก่อสร้างท่าเรือ Enayam คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้งานระยะแรกได้ภายในปี 2561 ด้วยศักยภาพรองรับการขนส่งสินค้าได้ถึง 10 ล้านตู้ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบโลจิสติกส์และเพิ่มการขนส่งสินค้าทางทะเลของอินเดียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากปัจจุบันศูนย์กลางหลักการขนส่งทางฝั่งทะเลตะวันออกของอินเดียมีเพียงแห่งเดียว คือท่าเรือเมืองเจนไน ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลของอินเดียที่เพิ่มสูงถึง 8.6% ในแต่ละปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 10% ในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้ ความได้เปรียบด้านที่ตั้งของท่าเรือ Enayam ยังจะช่วยรองรับสินค้าระหว่างเมืองท่าสำคัญในแต่ละรัฐ ไม่ว่าจะเป็น มุมไบ โกจี เจนไน และกัลกัตตา ที่จะถูกส่งไปยังประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ด้วย
เมื่อท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ดังกล่าวของอินเดียพร้อมบริการ นั่นหมายถึงโอกาสและลู่ทางการลงทุนของประเทศคู่ค้าหลักอย่างไทย โดยอินเดียครองอันดับ 1 ในฐานะคู่ค้าของไทยในเอเชียใต้ มูลค่าการค้าหลักมาจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล และชิ้นส่วนยานยนต์ ปัจจุบันการขนส่งทางทะเลระหว่างไทยและอินเดียจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือหลักของอินเดียนั้น มีต้นทุนสูงและใช้เวลายาวนานถึง 18-20 วัน คาดว่าท่าเรือ Enayam จะกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยและอินเดีย พร้อมเชื่อมเศรษฐกิจต่อไปยังประเทศที่ 3ได้ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐทมิฬนาฑู ที่ตั้งของท่าเรือ Enayam ยังเป็นศูนย์รวมเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่าง เมืองเจนไน เมืองโคอิมบาตูร์ และเมืองมาดูไร ที่รู้จักกันในฐานะศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ สามารถต่อยอดเป็นจุดกระจายสินค้าคุณภาพให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 – 14 มกราคม 2560