SNP eJournal

ฉบับที่ 458

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“โชกุน”

เครื่องบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight)

เดินทางทัวร์ญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต จริงหรือ ???

ก่อนเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ 2560 คงไม่มีข่าวไหนจะเป็นที่กล่าวขวัญกันมากเท่าข่าว ‘โชกุน’

เรื่องเกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิในค่ำวันอังคารที่ 11 เม.ย. 2560 ในข่าวบอกว่า อยู่ ๆ รถเข็นกระเป๋าในสนามบินขาดหายไปจำนวนมากทั้ง ๆ ที่จัดเตรียมไว้มากแล้วแต่กลับไม่พอ

ร้อนถึง รปภ. สนามบินต้องเที่ยวเดินหาจนพบคนกลุ่มใหญ่ที่กล่าวกันว่าหลายร้อย หรือ เกือบพันคน ทุกคนเฝ้ารอพร้อม ๆ กระเป๋าเสื้อผ้าจำนวนมากที่อยู่บนรถเข็นจนผิดสังเกต

เมื่อเข้าไปถาม รปภ. จึงทราบว่าทุกคนรอขึ้นเครื่องที่ไม่รู้เที่ยวบิน ไม่มีการทำบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) และไม่มีหัวหน้าทัวร์ที่รู้เรื่องดูแล

รปภ. สนามบินจะทำอย่างไรได้นอกจากรายงาน แล้วเรื่องก็ปรากฏอย่างที่ทุกท่านทราบ

เมื่อสอบถามก็พบว่า ผู้โดยสารบางท่านมารอตั้งแต่เช้าจนค่ำแม้แต่พาสปอร์ตก็ไม่มี สิ่งที่บอกเล่าออกมาคือ

ทัวร์นี้ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำ มันไม่ต่างอะไรไปจากเครื่องบินส่วนตัวนั่นละ ไม่จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตแต่อย่างใด

ไม่อยากเชื่อว่า ทำไมคนไทยถูกหลอกง่ายจัง

ขนาดคนเป็นรัฐมนตรีเดินทางด้วยเครื่องบินพิเศษในนามรัฐบาลยังต้องมีพาสปอร์ต แล้วช่วงที่ผ่านมาก็มีการออกพาสปอร์ตแดงที่ใช้ทางการทูตอย่างผิด ๆ จนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศถูกลงมติถอดถอนเป็นข่าวใหญ่มาแล้ว

บางกระแสก็วิจารณ์ว่า คนไทยถูกหลอกเพราะความโลภเพราะอยากได้ของถูก จริงหรือไม่จริงก็ยังไม่มีหน่วยงานใดวิจัยออกมา

เรื่องโชกุนนี้ หาก รปภ. สนามบินไม่เที่ยวหารถเข็นก็ไม่รู้ว่าผู้โดยสารหลายร้อยหรือเกือบพันชีวิตจะต้องรอที่สนามบินไปอีกกี่นาน ???

การหลอกลวงประชาชนในฐานะผู้บริโภคครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เกือบทุกครั้งที่เกิดเรื่องหรือมีผู้ร้องเรียน สคบ. จะออกมาจัดการ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน สคบ. ออกแถลงการณ์ในภายหลัง ดังนี้

“กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงขอชี้แจงว่า จากการตรวจสอบทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง ไม่พบว่าบริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ. แต่อย่างใด อีกทั้งการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยวต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 ซึ่งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ไม่สามารถรับจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจขายตรงได้”

จากนั้น สคบ. ก็จะเข้ามาร่วมจัดการคืนความเป็นธรรมในผู้เสียหาย

แล้วก็อย่างที่เป็นข่าว ความเสียหายต้องชดใช้ด้วยเงิน แต่เงินและทรัพย์สินของผู้ทำผิดเท่าที่เป็นข่าวออกมาก็ไม่น่าจะมีมูลค่ามากพอที่จะเยียวยาได้เต็มจำนวน

สุดท้าย ประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็ได้เงินไปไม่เท่าไหร่ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาเกี่ยวข้อง มีระบบคุ้มครองผู้บริโภค และมี สคบ.

กฎหมายมากมายมุ่งทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ด้อยไปกว่ากัน แต่พอทุกครั้งที่เกิดเรื่องขึ้นจริง ประชาชนก็จะเห็นว่า การป้องกันกลับไม่มากพอ

พอเรื่องเกิดนี้ขึ้น แก้ไขเสร็จ ปล่อยเรื่องให้เงียบหาย จากนั้นฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาก็จะออกมาให้ข่าวก็เคยเช่าเหมาลำได้ ก็เคยพาทัวร์ได้ มันเคยได้กับได้ ครั้งนี้มีปัญหาเพราะทางการเข้ามาวุ่นวาย แล้วก็รอเวลา เรื่องก็เกิดขึ้นใหม่ อาจเป็นโชกุนคนใหม่ อาจเป็นโชกุนคนเดิม แล้วทางการก็เข้ามาแก้ไขใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้โดยไม่มุ่งใช้การบริหารจัดการเพื่อป้องกันอย่างถาวร

จุดอ่อนของประเทศไทยก็คือ การบริหารจัดการนี่เอง

บุคคลใดหรือองค์กรใดอ่อนด้อยด้านการบริหารจัดการ การป้องกันปัญหาก็จะอ่อนด้อยไปด้วย เมื่อการป้องกันอ่อน ปัญหาก็เกิดง่าย การแก้ไขปัญหาก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การบริหารจัดการที่ดีที่สุดก็คือ การคาดการปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ววางระบบป้องกัน มันดูง่าย ๆ เท่านี้แต่เวลาทำนี่กลับยาก

การป้องกันปัญหาการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยวิธีง่าย ๆ ก็แค่เอากฎหมายมากมายที่มีมาดูคุณภาพตัวสินค้าหรือบริการ (Product) ดูของแจกของแถมที่ใช้ส่งเสริมการขาย (Promotion) และดูต้นทุนที่เกี่ยวข้องไปจนถึงราคาขาย (Price) สัมพันธ์กันหรือไม่ ???

เอาแค่หาความสัมพันธ์ของ 3 อย่างนี้ตามที่มีกฎหมายรองรับ

หากหาแล้วพบว่า มันไม่สัมพันธ์กัน ไม่มีหลักการ ไม่มีเหตุผล มันก็เข้าข่ายการหลอกลวง

แม้จะดูง่าย ๆ เพียง 3 อย่าง แต่ประชาชนผู้บริโภคส่วนน้อยจริง ๆ ที่พอจะดูออกดูเข้าใจ ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับดูไม่ออกและไม่เข้าใจ

ดังนั้น สคบ. ก็ควรเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้

สคบ. แค่เอากฎหมายอ้างอิง แล้วก็หมายประกาศให้ผู้จำหน่ายสินค้าที่มีการลดแลกแจกแถมให้มายื่นขออนุมัติก่อนทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของตน

การแข่งขันทางธุรกิจต้องเร็ว สคบ. จึงต้องได้รับข้อมูลด้านต้นทุนและราคาขายของสินค้าและของแจกของแถมครบถ้วนโดยมีเวลาสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

อนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ให้สรุปออกมา

หากได้อนุมัติ ผู้จำหน่ายก็จะได้เลขที่อนุมัติ สคบ. แล้วก็เอาเลขที่นี้ไปใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์

ขณะเดียวกัน สคบ. ก็ต้องพัฒนา website ของตนให้ประชาชนพิมพ์เลขที่ สคบ. ลงไปเพื่อดูว่าได้รับอนุมัติจริงหรือไม่ วันเริ่ม วันหมดอายุ และข้อมูลอื่น

กรณีผู้ประกอบการยื่นข้อมูลเป็นเท็จเพื่อให้ได้อนุมัติ แบบนี้ก็ดีใหญ่ พอเกิดเรื่อง โทษของการยื่นเอกสารและข้อมูลเท็จก็จะยิ่งหนักไปอีก

อันที่จริง สคบ. ก็มีหน่วยงานรับเรื่องเพื่อขออนุญาติโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว แต่ผู้บริโภคน้อยคนที่ทราบ ดังนั้น เลขที่อนุมัติ สคบ. จึงมีส่วนช่วยอย่างมาก

ระหว่างที่สินค้าและบริการกำลังทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ สคบ. ก็ยังติดตามดูได้

การป้องกันแบบนี้ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ผู้บริโภคถูกหลอกให้เสียเงิน แล้วจินตนาการว่าจะได้นั่งเครื่องบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เดินทางทัวร์ญี่ปุ่นทั้ง ๆ ที่ไม่มีใช้พาสปอร์ต จากนั้นก็มาตามเรียกร้องเงินภายหลัง

การขออนุมัติเพื่อได้เลขที่ สคบ. ใช้ตรวจสอบเบื้องต้น แม้จะไม่สามารถป้องกันการหลอกลวงได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้ผู้บริโภคมีหนทางตรวจสอบทางหนึ่ง

ในแค่ของการบริหารจัดการ การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเป็นร้อยเป็นพันทวี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

สคบ. ย่อมาจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค 5 ประการ คือ

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพสินค้าที่ถูกต้องและเพียงพอ
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

The Logistics

มารู้จักท่าเรือที่เมืองวลาดิวอสต๊อก สหพันธ์รัฐรัสเซีย กันเถอะ​

​วลาดิวอสต๊อกเป็นเมืองหลวงของดินแดนปรีมอร์สกี (Primosky) สหพันธรัฐรัสเซีย ตั้งอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ มีพรมแดนติดกับประเทศจีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสามารถเชื่อมต่อการขนส่งทางเรือไปยังท่าเรืออื่นๆ ในเอเชียได้อีกด้วย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงค์โปร์

​​นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของดินแดนแล้ว วลาดิวอสต๊อกยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางฝั่งเอเชียของประเทศรัสเซียมาอย่างยาวนาน ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี จึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมในด้านการขนส่งอย่างครบวงจร มีการขนส่งทางเรือเชื่อมต่อการขนส่งทางบกภายในประเทศไปสู่กรุงมอสโก โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินได้ลงนามกฎหมายการจัดตั้ง Free Port ในเมืองวลาดิวอสต๊อก เมื่อปีค.ศ.2015 ทำให้เมืองนี้มีสถานะเป็นเมือง Free Port เป็นเวลา 70 ปี (จนถึงปี 2085) เพื่อมุ่งพัฒนาวลาดิวอสต๊อกให้เป็นท่าเรือนานาชาติเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรัฐบาลได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และสร้างเครือข่ายศูนย์โลจิสติกส์ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนอีกด้วย

ในปัจจุบันมีบริษัทขนส่งหลักในสหพันธรัฐรัสเซีย คือ FESCO Transportation Group เป็นบริษัทขนส่งเอกชนที่ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย สามารถอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าด้วยบริการขนส่งหลากหลายรูปแบบ เชื่อมต่อท่าเรือกับระบบรางและการขนส่งทางบก โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ก็ยังมีสายเรืออื่นๆ อีกหลายสาย เช่น CMA & CGM, Maersk Line และ Cosco group เป็นต้น

การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย มีเส้นทางหลักคือ ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือวลาดิวอสต๊อก ระยะทางประมาณสามพันกว่าไมล์ หรือ 5,581.25 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินเรือประมาณ 9-10 วัน แต่สำหรับเรือที่มีการถ่ายลำที่ ปูซาน/เซี่ยงไฮ้/ฮ่องกง จะใช้เวลาเดินเรือเพิ่มมากขึ้นอีก (แต่ไม่เกิน 20 วัน)

ทั้งนี้การขนส่งสินค้าจากเมืองวลาดิวอสต๊อกไปยังกรุงมอสโกทางรถไฟจะใช้ระยะเวลาเดินทางอีกประมาณ 11 วัน

ที่มา : http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/150642/150642.pdf&title=150642