CEO ARTICLE
“คนตลาด”
พ่อแย่งฝาแฝด
ใบบัว-ใบตองจากอกป้าและยาย
คลิปที่แสดงภาพเด็กฝาแฝดเอาแต่ร้องไห้ มันเป็นเสียงที่ทรมานผู้ชมยิ่งนัก มันเหมือนการพรากจากอกป้าและยายตามหัวข้อข่าวจนกลายเป็นเรื่องโด่งดังในช่วงที่ผ่านมา แล้วภาพลักษณ์ของพ่อก็ถูกมองด้านลบแม้แต่หัวข้อข่าวที่ปรากฏ
“พ่อแย่งฝาแฝด” (http://workpointtv.com/news/30072)
จากนั้นข้อมูลก็ค่อย ๆ ปรากฏออกมาอีกด้านหนึ่งว่า พ่อพยายามขอเด็กมา 7 ปี แต่ยายไม่ยอม พ่ออดทนจนถึงวันนี้ วันที่ได้ทนายดีแนะนำตามกฎหมาย พ่อจึงมานำลูกกลับไปโดยยึดหลักกฎหมาย
ลูกใคร ๆ ก็รัก ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่คนไหนหรอกที่อยากทิ้งลูก
พ่อได้สิทธิ์ตามกฎหมายในการนำลูกไป แต่น่าเสียดายที่กฎหมายจำนวนไม่มากที่สามารถแสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างชัดเจน
กฎหมายย่อมมีเจตนารมณ์ของกฎหมายเพียงแต่ว่าคนเข้าใจเจตนารมณ์นั้นไม่มาก
ในกรณีพ่อแย่งฝาแฝด หากเจตนารมณ์ของกฎหมายยึดพ่อเป็นหลัก การนำลูกไปก็น่าจะเป็นไปตามกฎหมายที่อาจมองว่าถูก
ตรงกันข้าม หากกฎหมายยึดลูกเป็นหลัก การเจรจาประนีประนอมยอมกันเพื่อความสุขของฝาแฝดก็น่าจะดีกว่า
หากเรื่องนี้ไม่มีคลิปภาพและเสียงออกมา โลกกว้างก็คงไม่ได้รับรู้
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกกว้างปิดกั้นกันลำบาก เรื่องราวส่วนใหญ่จะถูกสื่อออกมาอย่างรวดเร็ว เหตุผลง่าย ๆ เพราะทุกหนทุกแห่งมีกล้องคอยจับภาพจนทำให้คนในสังคมกับการตลาดแยกกันไม่ออก
วันนี้ คนที่อยู่ในสังคมกับการตลาดแยกกันไม่ออกจริง ๆ ส่วนคนที่อยู่นอกสังคมอาจมองว่าไม่จริงและไม่เห็นด้วย
แล้วคำถามง่าย ๆ ก็เกิดขึ้น การตลาดคืออะไร ?
คนที่เรียนการตลาดมาแล้วเจอคำถามแบบนี้ก็ตอบได้สบาย ส่วนคนไม่ได้เรียนก็ไม่ได้แปลว่าไม่รู้ ไม่ได้แปลว่าจะตอบไม่ได้ มันง่าย ๆ แค่เข้าไปดูใน Google ทุกอย่างก็กองอยู่ตรงหน้า
ใน Google ให้ความหมายการตลาดไว้ ดังนี้
กระบวนการของการสื่อสารคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการไปยังลูกค้า มันสั้น มันง่ายแค่นี้เอง แต่นั่นใช้กับผลิตภัณฑ์ บริการ หรือสินค้า
ส่วนภาษาอังกฤษ The American Marketing Association has defined marketing as “the activity, set of institutions, as process for creating, communicating, delivering, and exchanging offering that have value for customers, clients, partners, and society at large”
ในภาษาอังกฤษบอกถึงการสื่อสารคุณค่าไปสู่สังคมในวงกว้างอีกด้วย ดังนั้น การตลาดในมุมที่จะใช้กับคน มันก็น่าจะหมายถึงการสื่อสารคุณค่าหรือภาพลักษณ์ของคน ๆ หนึ่งออกสู่สังคมในวงกว้าง
หากคนผู้หนึ่งอยู่ในป่าเขาเพียงลำพัง วัน ๆ หาผลไม้ป่า ปลูกพืช ล่าสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ คนผู้นี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าหรือภาพลักษณ์ใด ๆ
ตรงกันข้าม อีกคนหนึ่งรวมกลุ่มกับคนอื่นเป็นชุมชนเมือง มีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กัน มีการสร้างงาน มีการต่อสู้แย่งชิง หรือการพิจารณาร่วมกัน อย่างนั้นคนผู้นี้กลับจำเป็นต้องมีคุณค่าหรือภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของตัวเอง
การตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องกับคนจนกลายเป็น “คนตลาด” ในที่สุด
เรื่องราวของคุณพ่อและเด็กฝาแฝดเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด คุณค่าหรือภาพลักษณ์ถูกกระทบเพียงใด สังคมในวงกว้างย่อมรับรู้ไปแล้ว
แล้วก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะแก้ไขคุณค่าหรือภาพลักษณ์ได้
คุณพ่อได้กลายเป็นคนตลาดผู้หนึ่งที่สะท้อนว่า คนทุกคนในสังคมก็คือคนตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โลกปัจจุบันมีกล้องคอยจับภาพและเสียงเกือบทุกการเคลื่อนไหว การเตือนตนเองและวางพฤติกรรมแห่งตนให้เป็นคนตลาดที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ขอขอบคุณรูปภาพ : http://www.tnews.co.th/contents/313514
The Logistics
ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ประตูการค้าทางทะเลฝั่งอันดามัน
ปัจจุบันกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดเป็นท่าเรือน้ำลึกในภาคใต้บริเวณปากบารา จังหวัดสตูล จัดเป็นประตูการค้าทางทะเล ฝั่งอันดามันเชื่อมโยงศูนย์กลางการขนส่ง การขนถ่ายสินค้าทางทะเลไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและทวีปยุโรป
นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลอันดามัน อ่าวไทย และชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกให้สามารถรองรับเรือขนาดประมาณ 5 หมื่น-7 หมื่นเดทเวทตันได้ รวมทั้งพัฒนาระบบคมนาคมครบวงจรเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากตามผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ปากบารามีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่มีระดับน้ำลึกเพียงพอสำหรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และอยู่ใกล้เส้นทางเดินเรือหลักที่ผ่านมาจากช่องแคบมะละกา ประการสำคัญเรือสินค้าสามารถแวะเข้ามารับสินค้าได้โดยใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงจากเส้นทางเดินเรือหลักของโลก สามารถขนส่งสินค้าไปยังยุโรปและตะวันออกกลางได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายเรือ ทำให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนการขนส่งประเด็นหลักยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คือการพัฒนาเส้นทางยุทธศาสตร์ New Trade Lanes สู่ตะวันออกกลางและยุโรป ผ่านทางฝั่งทะเลอันดามันเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน โดยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่มีศักยภาพฝั่งตะวันตกด้วยการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือกับเส้นทางการขนส่งหลักของประเทศและภูมิภาคด้วย โดยการพัฒนาระยะที่ 1 เป้าหมายรองรับตู้สินค้าได้ 8.25แสน TEU/ปีโดยเป็นท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ ตัวท่าเรือกว้าง 430 เมตร ยาว 1,086 เมตร เนื้อที่ประมาณ 292 ไร่อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 4 กิโลเมตร ส่วนระยะที่ 2 รองรับสินค้าได้ 1.37 ล้าน TEU/ปี ระยะที่ 3 รองรับได้ 2.4 ล้าน TEU/ปี และระยะที่ 4 รองรับได้ 8.7 ล้าน TEU/ปี โดยคาดการณ์รายได้ตลอดอายุการใช้งานระยะ 30 ปี 1.34 แสนล้านบาท
ดังนั้นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราจึงจะช่วยให้เกิดความเจริญทั้งในส่วนชุมชนชนบทและชุมชนเมือง เกิดศูนย์กลางอุตสาหกรรมและศูนย์กลางทางการค้า และการเงินในจังหวัดภาคใต้ตอนล่างอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนได้ตามแผนหรือไม่ วันนี้ ท่าเรือปากบารายังไม่อาจเดินหน้า ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากชาวสตูลที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนภาคใต้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะใช้ท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นก้าวแรก และข้ออ้างกึ่งสำเร็จรูปในการเดินหน้าพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนกับเม็ดไม่น้อยกว่าหมื่นล้านบาท ประชาชนเป็นห่วงว่ารัฐลงทุนไปแล้วจะโดนปล่อยให้ทิ้งร้างไม่มีเรือมาใช้งานดังเช่นท่าเรืออื่นๆหรือไม่??? ปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนผลการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และเร่งดำเนินการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป คาดว่าปลายปีนี้คงจะได้คำตอบชัดเจนซะที
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,253 วันที่ 16 – 19 เมษายน พ.ศ. 2560