CEO ARTICLE
“เจรจา”
ขสมก. ยกเลิกสัญญาซื้อขายรถเมล์ NGV
ประชาชนเสียโอกาส
ช่วงปลายเดือนเมษายน 2560 ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวของไทย ข่าวรถเมล์ NGV ก็ปรากฏออกมาข้างต้นทำให้พอจะเห็นทิศทาง
สิ่งที่พอจะประเมินทิศทางได้คือ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ต้องได้รับความเสียหาย และประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต้องเสียโอกาสในการที่จะใช้บริการรถเมล์ NGV ใหม่ ออกไปอีก (http://www.ryt9.com/s/iq03/2635455)
ข่าวนี้ทำให้ได้ข้อยุติ
ข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับผู้นำเข้าในเรื่องการนำเข้ารถเมล์ NGV จำนวน 100 คันแรกที่ผู้นำเข้าสำแดงประเทศกำเนิดเป็นมาเลเซีย ขณะที่กรมศุลกากรตรวจพบข้อสงสัยในตอนต้นว่า รถเมล์ทั้ง 100 คันนั้นน่าจะมาจากประเทศจีนและน่าจะมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน
ข้อยุตินี้น่าจะเป็นว่ากรมศุลกากรเป็นต่อเกือบทั้งกระดาน ส่วนผู้นำเข้าก็น่าจะอยู่ในอาการเพลี่ยงพล้ำที่ต้องชำระภาษีอากรและค่าปรับตามตัวเลขตามข่าวตั้งแต่ต้น
ความผิด ค่าภาษี และค่าปรับก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม
ขณะที่รถเมล์ NGV ที่เหลืออีก 389 คัน ผู้นำเข้าก็ยอมชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนและรับรถไปแล้ว
ด้านข้อพิพาท ด้านคดีความน่าจะมีข้อยุติตามนี้ ขณะที่ด้าน ขสมก. ผู้เสียหายตัวจริงก็เดินหน้าด้วยการยกเลิกสัญญาตามข่าวข้างต้น
สัญญาระบุรถเมล์ NGV ประเทศกำเนิดมาเลเซีย แต่เพราะข้อพิพาทกับกรมศุลกากร มันก็เลยทำให้ประเทศกำเนิดน่าจะกลายเป็นจีนแทน
อย่างนี้แล้ว บอร์ด ขสมก. หรือใครก็ตามที่มีอำนาจจะกล้าลงนามรับมอบรถเมล์รวม 489 คันได้อย่างไร ใครขืนไปลงนามรับของที่ไม่ตรงกับสัญญาก็จะมีความผิดทันที
จากนั้น ทุกอย่างก็ไปตกอยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรม
ขสมก. จ่อเรียกค่าปรับ ค่าเสียหายจากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ฐานไม่สามารถส่งมอบรถเมล์ 489 คัน ตามสัญญา
ส่วนบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัดก็จ่อเตรียมฟ้อง ขสมก. ฐานทำให้เสียหายที่ยกเลิกสัญญาเพราะศาลปกครองมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว (http://www.ryt9.com/s/iq03/2635455)
ต่างฝ่ายต่างถือเรื่องกันคนละแง่มุม
ส่วนในด้านการบริการประชาชน ขสมก. ก็หาทางออกใหม่ด้วยการเตรียมจัดให้มีการเสนอราคาประมูลรถเมล์ NGV กันครั้งใหม่ที่น่าจะราวกลางปี 2560 นี้
ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ฟ้องกันไปฟ้องกันมาจนพอจะมองเห็นฝุ่นที่ฟุ้งกระจายโดยมีประชาชนตาดำ ๆ ยืนมองห่าง ๆ แบบไม่เกี่ยวแต่เดือดร้อนเพราะไม่ได้รถเมล์มาใช้ตามกำหนด
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย มันเคยเกิดขึ้นในกรณีอื่นมาแล้ว และต่อไปมันก็ยังจะเกิดขึ้นอีก
ธุรกิจก็คือธุรกิจ ธุรกิจมีการเจรจาเป็นตัวเชื่อม หากไม่มีการเจรจา ธุรกิจก็ไม่เกิด
ในทางธุรกิจ เมื่อตกลงกันได้แล้วก็ทำสัญญา วันหนึ่งเมื่อมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หากมีการเจรจากันใหม่ได้ลงตัว สัญญาก็แก้ไขได้ ยกเลิก หรือทำใหม่ก็ได้ตามไปด้วย
มันเป็นเรื่องของธุรกิจที่มีผลประโยชน์ของทุกฝ่ายเป็นตัวตั้ง
ส่วนราชการก็คือราชการ ราชการก็มีการเจรจาเป็นตัวเชื่อม มันต่างกันก็แค่ ราชการมีแผ่นดินเป็นเจ้าของ มีประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชนเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ ราชการจึงต้องมีคณะกรรมการเป็นผู้แทนเจรจา
ในกรณีรถเมล์ NGV ด้าน ขสมก. ก็น่าจะคณะกรรมการเป็นผู้แทน หากเลือกผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง การเจรจาก็น่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง
บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เสียหายหนัก นอกจากจะโดนกรมศุลกากรเรียกค่าปรับฐานสำแดงเท็จแล้ว ยังจะโดน ขสมก. เรียกค่าปรับฐานไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามกำหนดเวลา
ยิ่งกว่านั้น บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ก็ยังต้องเก็บรถเมล์ NGV คันใหญ่ไว้อีก 489 คัน ค่าเก็บรักษาไม่รู้จะเท่าไร แล้วยังเงินทุนที่ต้องจ่ายออกไปอีก
รถเมล์ก็เข้ามากองอยู่ในประเทศไทยแล้ว มันจะมาเลเซียหรือจีนก็ใช้รับส่งคนได้ ส่วนที่ว่าบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัดเป็นผู้ผิด ก็ควรดำเนินการปรับไปตามกฎหมาย
จากนั้นก็น่าจะมีการเจรจา
แบบนี้ประชาชนชาว กทม. ก็ยังมีหนทางได้รถเมล์ NGV มาใช้งาน ส่วนบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เสียเปรียบเต็มประตู หาก ขสมก. ชวนเจรจา ทำไมจะไม่เอา เผลอจากขาดทุนมากก็อาจกลายเป็นขาดทุนน้อยลงหรือไม่ขาดทุนก็ได้
หากเลือกทางเจรจา มันก็ต้องโปร่งใสในครั้งนี้ ประชาชนควรรับรู้และมีส่วนร่วมซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
ทำไมไม่เจรจา ???
แล้วก็มีข่าวซิบซุบบอกว่ากำลังเจรจาในทางลับกันอยู่บ้าง หรือเจรจากันไปหลายรอบแล้วบ้าง แต่ผลประโยชน์ไม่ลงตัวบ้างจนอาจต้องพึ่งอำนาจศาล
ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีใครรู้ แต่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน ผู้ที่ควรได้ประโยชน์ในเรื่องนี้กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากความผิดพลาด ค่าปรับ และการเปิดประมูลใหม่
เจรจาได้ก็น่าจะเจรจากัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
การท่าเรือไทยติดโผท่าเรืออันดับ 9 เอเชีย หวังขยับอันดับ Doing Business 2018
เรือเอก สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ตามที่ กทท. และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้มีการปรับปรุงการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง โดยมีเป้าหมายการจัดอับดับ Doing Business 2018 ให้ดีขึ้น และมีแผนการดำเนินการเชิงรุก ในการให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในการประกอบธุรกิจและเป็นประเทศเป้าหมายของนักลงทุนนั้น
ผลจากการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ในภาพรวม โดยธนาคารโลก ในปี 2017 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 46 และอยู่ในอันดับที่ 9 ของเอเชียใน ด้านการค้าระหว่างประเทศจากทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลกการจัดอับดับ Doing Business มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขั้นตอน ระยะเวลา ต้นทุน กฎระเบียบของรัฐว่ามีส่วนสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจในระดับใด
อย่างไรก็ตาม ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ถือเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการให้บริการด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trading across borders) ได้ดำเนินการพัฒนาด้านเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผู้นำเข้าและส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ในการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยยกเลิกการรายงานเรือเข้าและบัญชีสินค้าสำหรับเรือ พร้อมทั้งเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้า และแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านท่าเข้าเขตศุลกากร ทกท. (ทกท.308.2)รวมทั้งยกเลิกข้อมูลเอกสารขาเข้าที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ Inward Cargo Manifest และ Inward Container List และเอกสารแนบต่างๆ เช่น บัญชีสินค้าผ่านแดน บัญชีสินค้าอันตราย บัญชีสินค้าผ่านท่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 และ 1 มกราคม 2560 ตามลำดับ โดยการทำธุรกรรมต่างๆ ดังกล่าว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด อันเป็นการลดการใช้กระดาษได้ถึง 5.5 ล้านแผ่น/ปี ลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ช่วยลดขั้นตอนเพิ่มความรวดเร็วและความง่ายในการประกอบธุรกิจ ประหยัดเวลาให้แก่ผู้นำเข้า – ส่งออก ?การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว อำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ภาคธุรกิจ สนับสนุนในการดำเนินธุรกิจ การนำเข้า – ส่งออก การค้าระหว่างประเทศ อันเป็นการสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนของชาวต่างชาติให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผลการจัดอันดับ Doing Business (Trading across borders) ดีขึ้นด้วย
ที่มา: http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=9781.0