CEO ARTICLE
“4 R’s ผู้นำเข้า”
ผู้นำเข้าต้องการอะไร ???
ภายหลังการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
หากโลจิสติกส์ คือ กิจกรรมเพื่อการรวมรวม การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกระจายสินค้าและวัตถุดิบจากต้นทางแหล่งผลิต (Point of Origin) จนถึงปลายทางของการบริโภค (End of User)
ภายหลังการสั่งซื้อ ผู้นำเข้าก็ย่อมต้องการรับมอบสินค้าที่ถูกต้อง (Right Goods) เวลาที่ถูกต้อง (Right Time) จำนวนที่ถูกต้อง (Right Quantity) และสถานที่ที่ถูกต้อง (Right Place)
มันเป็นไปตามหลัก 4 R’s เราดี ๆ นี่เอง
แล้วก็เป็นความต้องการธรรมดา แต่ตลอดเวลานับร้อยปีที่ผ่านมาผู้นำเข้าส่วนใหญ่กลับสั่งสินค้าภายในเงื่อนไข F.O.B. หรือ C.I.F. ที่ได้รับการเสนอจากผู้ขายต่างประเทศโดยผู้ขายเป็นผู้จัดการให้
ผู้ขายต่างประเทศจัดการ แต่เกี่ยวพันธ์ถึงเรือสินค้า ถึงท่าเรือนำเข้า ถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างนี้แล้วผู้นำเข้าจะมั่นใจได้อย่างไรว่า
ตนเองจะได้ 4 R’s จริงตามที่ต้องการ
เงื่อนไข F.O.B. (Free On Board) หมายถึง สินค้าจะถูกส่งมายังท่าเรือตามที่ตกลงในประเทศไทย จากนั้นผู้นำเข้าก็จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสินค้า (Insurance Premium) และค่าระวางบรรทุก (Freight) เอง
F.O.B. ในทางทฤษฏีผู้นำเข้าเป็นผู้เลือกเรือบรรทุกสินค้าเอง แต่ในทางปฏิบัติจะมีผู้นำเข้าสักกี่รายที่มีความรู้ความเข้าใจระบบการจัดระวางเรือระหว่างประเทศ
สุดท้าย ผู้ขายต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกเรือให้ ผู้นำเข้าของไทยเพียงรอสินค้าทีท่าเรือและจ่ายค่าระวางเรือเท่านั้น
แล้วความต้องการถูกที่ถูกเวลาของ 4 R’s ละ จะมีใครรับประกัน ???
ก็มันเกี่ยวพันกับท่าเรือนำเข้าและกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ส่วนเงื่อนไข C.I.F (Cost – Insurance – Freight) ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับ F.O.B. เพียงแต่ราคาสินค้าได้รวมค่าเบี้ยประกันภัย (Insurance Premium) และค่าระวางเรือ (Freight) ไว้แล้ว ผู้นำเข้าไม่ต้องจ่าย
C.I.F. ก็ยิ่งทำให้ผู้ขายต่างประเทศต้องเลือกเรือที่มีค่าระวางถูกไว้ก่อน พอสินค้ามาเทียบท่านำเข้าในประเทศไทยแล้ว เครื่องมือขนถ่ายสินค้ามีเพียงพอหรือไม่ ระบบราชการราบรื่นดีหรือไม่ ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ ผู้ขายต่างประเทศไม่รับรู้
อย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงความต้องการถูกที่ถูกเวลาของ 4 R’s แต่อย่างใด ???
พอถึงยุคปัจจุบัน ผู้นำเข้ายิ่งได้รับความง่าย และความสะดวกสบายมากขึ้นเมื่อการค้าเข้าสู่ยุคการค้าเสรีที่วัฒนธรรมและระเบียบราชการถูกปรับเปลี่ยนจากยากให้เป็นง่าย
ยุคนี้ ผู้ขายสินค้าต่างประเทศสามารถเสนอราคาสินค้าส่งถึงมือผู้นำเข้าได้ง่าย ๆ
การส่งถึงมือผู้นำเข้าในประเทศไทยได้รวมค่าภาษีอากรเข้าไปด้วยซึ่งในอดีตจะเรียก Door to Door แต่ปัจจุบันเรียก DDP หรือ Delivery Duty Paid
ยุคสมัยเปลี่ยนไปแต่ผู้นำเข้าก็ยังต้องการสินค้าแบบถูกที่ถูกเวลาของ 4 R’s เหมือนเดิม
มันเป็นไปตามวิวัฒนาการ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยจึงมีการปรับตัวมากขึ้นโดยการร่วมมือกับผู้ให้บริการต่างประเทศ
แล้วการบริการแก่ผู้นำเข้าของไทยให้ได้รับความต้องการ 4 R’s เหมือนเดิมด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยผู้นำเข้าสั่งซื้อสินค้าในราคาที่รับมอบสินค้า ณ หน้าโรงงานผู้ขายในต่างประเทศ
จากนั้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยจะเสนอราคาและเป็นผู้รับภาระร่วมกับตัวแทนต่างประเทศในการรับมอบและเคลื่อนย้ายสินค้าถึงมือผู้นำเข้าเหมือนเดิม
ด้วยวิธีนี้ นอกจากความต้องการให้สินค้าส่งมอบแบบถูกที่ถูกเวลาครบตาม 4 R’s แล้ว ผู้นำเข้าก็ยังสามารถควบคุมประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายได้ตั้งแต่ต้นทางกระทั่งถึงปลายทางในอีกด้วย
การเลือกเรือบรรทุกสินค้า การเลือกท่าเรือนำเข้าที่มีเครื่องมือครบ และการเลือกพิธีการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับตัวสินค้าก็เป็นไปอย่างสะดวกขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ราคาค่าบริการเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าที่จะได้รับจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยก็ยังสามารถนำมาเปรียบเทียบกับราคาที่ได้รับจากผู้ขายต่างประเทศเช่นกัน
ราคาสินค้าเพื่อไปรับที่หน้าโรงงานต่างประเทศแบบนี้คือ ราคา EXW หรือ Ex-Works
ปัจจุบัน ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยไม่ได้ด้อยกว่าชาติอื่น วิวัฒนาการในหลายปีที่ผ่านมาได้กลั่นผู้ให้บริการให้มีความรู้ มีความเข้าใจ หรือมีความสามารถมากขึ้น
วันนี้ ผู้นำเข้าเข้าเพียงขอราคาสินค้าแบบ EXW แทน F.O.B. หรือ C.I.F. แล้วมอบหมายผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของไทยดำเนินการ
ผู้นำเข้าก็ยังจะได้ความต้องการ 4 R’s ในเชิงเปรียบเทียบที่ดีกว่าเดิมและตามมาด้วยประสิทธิภาพโลจิสติกส์ให้เกิดขึ้นโดยคนไทย
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
หนุนเจรจาลาวปลุกการค้าชายแดน เพิ่มเพดานสินค้านำเข้าจากไทย
แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2560 นอกจากจะมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุนระหว่าง 2 ประเทศแล้ว สภาหอการค้าฯได้เสนอให้มีการเจรจาเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าชายแดน การส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งหาทางแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสปป.ลาว เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น
เพิ่มเส้นทางการค้า-ท่องเที่ยว
ข้อเสนอของเอกชนไทยโดยสภาหอการค้าฯ มีทั้งเรื่องการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และการแก้ปัญหาการค้าชายแดนที่เป็นอุปสรรคทั้งของฝ่ายไทยและสปป.ลาว อาทิ เสนอรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงคมนาคม ขยายเส้นทางเศรษฐกิจเพิ่ม 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. เส้นทางคู้ขนาน Para North-South บ่อเต็น-อุดมชัย-หลวงพระบาง-ไชยบุรี-แก่นเท้า-ท่าลี่-เลย-เพชรบูรณ์-สระบุรี-กรุงเทพฯ เชื่อมเส้นทาง R3A ทางฝั่งไทย ที่ด่านผาแก้ว และด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ 2. เพิ่มเส้นทาง East West Economic Corridor จากกาฬสินธุ์-สกลนคร-นครพนม ผ่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ที่คำม่วนไปถนนหมายเลข 12 ผ่านด่านนาพาว ด่านจาลอ ในเวียดนาม ไปเชื่อมถนนหมายเลข 1 ที่ฮาติง เวียดนาม 3. คู่ขนาน Para East West Economic Corridor จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี ผ่านช่องเม็ก วันเตา สปป.ลาว-จำปาสัก-อัตตะปือ-คอนทุม ในเวียดนาม
ขอนำเข้าข้าวโพด-มันสำปะหลัง
ขอให้ทางการไทยอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ ได้แก่ ข้าวเหนียว ข้าวโพด มันสำปะหลัง จากสปป.ลาว โดยเปิดให้สามารถขายในประเทศไทยได้อย่างเป็นทางการ
เพิ่มเพดาน VAT เป็น 200 US
การแก้ปัญหากรณี สปป.ลาว จัดเก็บภาษีมูลค่า (VAT) 10% สำหรับการนำเข้าสินค้าจากฝั่งไทย ในส่วนของสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐขึ้นไป หรือประมาณ 1,500 บาท เอกชนไทยขอให้รัฐบาลไทยเจรจาขอผ่อนปรนกับรัฐบาล สปป.ลาว โดยขอให้ขยายเพดานการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยเพิ่มวงเงินจากเกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐขึ้นไป เป็นเกินกว่า 200 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่างเอกชนไทยกับเอกชนลาวได้ข้อสรุปว่า เอกชนลาวจะช่วยผลักดันเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง และให้เปิดจุดบริการคืน VAT สำหรับประชาชน และนักท่องเที่ยวและลาวบริเวณด่านชายแดน
ร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นอกจากนี้เพื่อความสะดวกทางการค้า ขอให้สถาบันการเงินไทยตามด่านชายแดนรับแลกเปลี่ยนเงินสกุลกีบ กับลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินระหว่างกัน ลาวขอให้ผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าไปขายสปป.ลาว ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์โดยให้ติดฉลากสินค้าเป็นภาษาลาว ให้ควบคุมไม่ให้นำสินค้าหมดอายุเข้าไปขายในสปป.ลาว, การร่วมกันศึกษาแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการค้า การเงินและอุตสาหกรรม หรือ Joint Border Special Economic Zones เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว, เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย-ท่านาแล้ง เวียงจันทน์, นครพนม-ท่าแขก, มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต และช่องเม็ก-วังเตา, การร่วมกันศึกษาและพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการค้าชายแดน การรณรงค์ให้นักธุรกิจชายแดนทั้งไทยและลาวนำเอกสาร Form D มาใช้เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้าและส่งออก การขยายเวลาปิดด่านหนองคาย มุกดาหารและนครพนม จากปัจจุบัน 22.00 น. เป็น 24.00 น. ฯลฯ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18-21 พฤษภาคม 2560