CEO ARTICLE
“ราคาซื้อขาย”
ขโมยรถหรูโผล่ไทย
จาก ‘อังกฤษ’ ซุกในโชว์รูมของไฮโซดัง
หัวข้อข่าวเล็ก ๆ ข้างต้นปรากฏหราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 27 พ.ค. 2560
เนื้อหาข่าวให้ข้อมูลว่า ดีเอสไอ-กรมศุลกากร ประสานความร่วมมือตรวจสอบขบวนการนำเข้ารถหรูเสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ทำรัฐเสียรายได้กว่า 2.9 พันล้านบาท
ส่วนรถหรูที่อายัดได้ประกอบด้วย มาเซอราติ โรลล์รอยซ์ แอสตัน มาร์ติน แมคคาเรน และเฟอร์รารี่รวม 160 คัน จนทำให้ผู้ครอบครองพลอยเดือดร้อนและส่งผลต่อวิธีการทำของ Logistics และ Shipping ไปด้วย
แล้วข่าวก็ยังเสนอต่อไปอีกว่า รถหรูที่อยู่ในขบวนการและขายให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีรถที่ถูกขโมยมาจากอังกฤษรวมอยู่ในนี้
ส่วนวิธีการในการหลบเลี่ยงภาษีครั้งนี้ ข่าวกล่าวว่าขบวนการใช้การสำแดง “ราคาซื้อขาย” ต่ำกว่าความเป็นจริงจนทำให้ความเสียหายเกิดขึ้นถึง 2.9 พันล้าน
อะไร ๆ ทำไมจึงดูง่ายอย่างนี้ ???
แล้ววิธีการทำงานเป็นอย่างไร ???
หากจะถามว่า ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรของไทยมีกี่ฉบับ เดา ๆ กันว่าคนที่อยู่ในแวดวงศุลกากร หรือ Logistics หรือ Shipping หลาย ๆ คนก็ยังตอบไม่ตรงกัน
มันมากมายก่ายกองจนคนจะใช้หยิบไม่ถูกฉบับ
คนที่เกี่ยวข้องอาจไม่รู้ แต่คนที่จ้องคอยหลบเลี่ยงภาษีอากรจะต้องรู้ไม่มากก็น้อย บางคนอาจรู้มากกว่าศุลกากร หรือคนในแวดวง Logistics หรือ Shipping ด้วยซ้ำไป คนรู้มาก รู้แล้วก็ไปเลือกใช้กฎหมาย หรือข้อที่ทำให้การหลบเลี่ยงง่ายขึ้นมาใช้ก็ได้
ขบวนการหลบเลี่ยงภาษีอากรขาเข้าจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา
แล้วอยู่ ๆ กระทรวงการคลังก็เป็นเจ้าภาพเอากฎหมายทั้งหมดยกเลิก แล้วออกเป็น พรบ. ศุลกากรฉบับเดียวให้ครอบคลุมเรียกว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2560 และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน
ในมาตรา 3 ของ พรบ. ฉบับนี้ ได้แจ้งยกเลิกกฎหมายศุลกากรเดิมถึง 24 ฉบับ ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมากฎหมายศุลกากรก็ต้องมีมากกว่า 24 ฉบับเข้าไปแล้ว
ส่วนเนื้อหาอื่น ๆ ก็พออนุมานว่า พรบ. ใหม่ ได้นำเนื้อหาสำคัญของกฎหมายเก่าแต่ละฉบับมาบรรจุกลับเข้าไป เนื้อหาใดซ้ำซ้อนก็ยกเลิก เนื้อหาใดไม่ทันสมัยก็ปรับปรุงรวมถึงการกำหนดโทษด้วย
กฎหมายศุลกากรใหม่มีการกำหนดโทษบางมาตราให้เป็นความผิดทางอาญา โทษจึงมีจำคุก ค่าปรับที่สูงขึ้น หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกฎหมายเก่าทุกฉบับมิได้กำหนดโทษจำคุกไว้เลย
ขอย้ำอีกครั้ง กฎหมายใหม่มีอัตราค่าปรับสูงขึ้นและมีโทษจำคุกด้วย
ส่วนมาตรการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้นำเข้าด้วยการกำหนดราคา (Customs Price) เพื่อคำนวณภาษีอากรก็ยังใช้ราคา GATT (General Agreement on Tariff and Trade) โดยกำหนดไว้ในมาตรา 16 (1) ที่มี (ก) – (ฉ) เหมือนเดิมซึ่งขอไม่ลงในรายละเอียด แต่ขอกล่าวถึงเฉพาะ (ก) ที่อาจเกี่ยวกับแนวคิดและวิธีการหลบเลี่ยงภาษีรถยนต์หรูข้างต้น ดังนี้
มาตรา 16 กล่าวว่า เพื่อประโยชน์ในการคำนวณอากรตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ “ราคาศุลกากร” (Customs Price) หมายถึง ราคาดังต่อไปนี้
(1) กรณีนำเข้า หมายถึง ราคาแห่งของเพื่อความมุ่งหมายในการจัดเก็บอากรตามราคอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ราคาซื้อขายของที่นำเข้า
กฎหมายเก่าก็เขียนอย่างนี้ เมื่อมาเป็น พรบ. ฉบับใหม่ก็ยังเขียนอย่างนี้ คนไม่รู้อ่านแล้วก็อาจไม่เข้าใจ ส่วนคนรู้ก็อาจนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้ประโยชน์ในการหลบเลี่ยงภาษีอากร
ทั้ง ๆ ที่มันเป็นหลักเกณฑ์ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้นำเข้าในการประเมินภาษีอากร
คำว่า “ราคาซื้อขายของที่นำเข้า” ใน (ก) ข้างต้น หมายถึง “ราคาซื้อขายที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริงหรือที่จะต้องชำระให้กับผู้ขายในต่างประเทศสำหรับของที่นำเข้าซึ่งได้มีการปรับราคาหรือได้นำมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไปรวมด้วย เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้า หรือค่าสิทธิ เป็นต้น”
มันหมายความว่า หากผู้นำเข้ามีหลักฐานการชำระเงินที่แท้จริงมาแสดง ไม่ว่าผู้นำเข้าจะซื้อมาเท่าไร หากเป็นราคาจริง มีการชำระเงินจริง กรมศุลกากรก็ต้องรับราคานั้นมาเป็น Customs Price เพื่อคำนวณภาษีอากรตามข้อตกลง GATT
มันเป็นหลักเกณฑ์คุ้มครองผู้นำเข้าที่มีความบริสุทธิ์ชัด ๆ
สมมติ ราคารถยนต์หรูในประเทศต้นทางคันละ 5 ล้านบาท แล้วผู้นำเข้าอาศัยความตกลงตาม GATT ทำหลักฐานที่มีการชำระเงินจริงเพียง 1 ล้านบาท อย่างนี้ก็อนุมานได้ว่า กรมศุลกากรก็ต้องนำราคา 1 ล้านบาทนี้ มาคำนวณภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
รถยนต์มีอัตราอากรขาเข้า ภาษีมหาดไทย ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมประมาณ 242% – 347% ตามแต่ขนาดลูกสูบโดยจะขออนุญาตในอัตราเฉลี่ยประมาณ 300% เพื่อคำนวณง่าย ๆ เป็นเกณฑ์
หากราคาจริง 5 ล้านบาท ภาษีอากรรวมเฉลี่ย 300% ก็น่าจะประมาณ 15 ล้านบาท แต่หากทำหลักฐานการซื้อขายในราคาที่ 1 ล้านบาท ภาษีอากรที่สำแดงก็จะประมาณ 3 ล้านบาท
ราคาจริง 5 ล้าน มีหลักฐานชำระเงินแค่ 1 ล้าน ประหยัดภาษีอากรไปประมาณ 12 ล้านบาท แล้วตามข่าวสามารถอายัดรถยนต์ไว้ถึง 160 คัน มันจึงเป็นเงินที่รัฐเสียไปกว่า 2 พันล้านบาท
ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขสมมติแบบคร่าว ๆ
ไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ ว่าผู้นำเข้าหลบเลี่ยงภาษีจริงหรือไม่ แล้วใช้แนวคิดราคา GATT ที่ว่านี่จริงหรือไม่ ???
แต่หากหลบเลี่ยงภาษีจริง มันก็ง่าย
กรมศุลกากรก็เพียงพิสูจน์ให้ได้ว่า ราคานำเข้าที่เคยรับมาคำนวณภาษีอากรขณะนำเข้าในเวลานั้น “ไม่ใช่ราคาซื้อขายจริง”
โลกปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องยากกับการหาข้อมูลและพิสูจน์เรื่องแบบนี้ ในข่าวก็กล่าวว่า ได้พิสูจน์แล้วจึงจัดการอายัด
เมื่อพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ราคาซื้อขายจริง หลักเกณฑ์ใน (ก) ที่จะใช้คำนวณภาษีจากราคานำเข้าตามข้อตกลง GATT ก็ใช้ไม่ได้
เมื่อใช้ข้อ (ก) ไม่ได้ GATT ก็ให้เลื่อนมาใช้หลักเกณฑ์ข้อ (ข) (ค) และข้ออื่นต่อ ๆ ไป คือ
(ข) ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน
(ค) ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน
วิธีการนี้จึงอาจเป็นวิธีการหลบเลี่ยงภาษีอากรโดยกรณีนี้โดยผู้บริโภคไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ไปซื้อรถหรูด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีหลักฐานการนำเข้า มีใบเสร็จค่าภาษีอากรถูกต้อง มีการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก วิ่งไปมาบนท้องถนนมานาน แล้วอยู่ ๆ ก็กลายเป็นรถมีปัญหาขึ้นมาโดยคนในวงการ Logistics หรือ Shipping ก็พลอยฟ้าพลอยฝนไปด้วย
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้ามันก็คือรถหรูที่ถูกต้อง แล้วหากวิธีการนี้เป็นเรื่องจริง การสังเกตุง่าย ๆ สำหรับผู้บริโภคที่จะซื้อรถยนต์หรูในบ้านเราก็คือ
ทำไมราคามันถูกจัง ????
คนซื้อ ซื้อด้วยความบริสุทธิ์ใจแต่ขบวนการนำเข้ามันผิด ความซวยก็เข้ามาเยือน
ราคายิ่งถูกก็ยิ่งเป็นพิรุธ ราคาถูกก็เพราะคนขายก็ต้องแข่งกันขาย แต่การทำให้ราคาถูกได้มันก็น่ามาจากการชำระภาษีอากรต่ำโดยนำ “ราคาซื้อขาย” ที่ไม่ใช่ราคาจริงมาใช้ตามที่กล่าวถึงข้างต้น
เพียง “ราคาซื้อขาย” ไม่ใช่ราคาจริงตามข้อตกลง GATT ก็กลายเป็นปัญหาถึงเพียงนี้
ส่วนประเด็นอื่น เช่น การลักลอบนำเข้า การขโมยแล้วนำเข้า การแยกชิ้นส่วนนำเข้า และวิธีการทำงานของ Logistics หรือ Shipping ก็ขออนุญาตไม่กล่าวถึงในบทความนี้เช่นกัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
อิสราเอลยกเลิกจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารองเท้า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งรัฐอิสราเอล (นาย Moshe Kahlon) ประกาศนโยบายการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้ารองเท้าในอัตราร้อยละ 12 ภายหลังจากที่ได้มีการหารือกับหน่วยงาน Israel Tax Authority เกี่ยวกับการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้ารองเท้า เสื้อผ้าเด็กและสินค้าอื่นเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะทำให้รัฐอิสราเอลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ประมาณ 188 ล้าน เชคเกล หรือประมาณ 1,805 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาการลดการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับภาษีครัวเรือน และการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้ารองเท้าจะทำให้ราคาของสินค้ารองเท้าในรัฐอิสราเอลลดลง ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคและครัวเรือนชาวอิสราเอล ที่ผ่านมารัฐบาลอิสราเอลได้เล็งเห็นส่วนต่างของราคาสินค้ารองเท้าในตลาดภายในรัฐอิสราเอลและราคาสินค้ารองเท้าในตลาดโลก นอกจากนี้ รัฐบาลอิสราเอลจะดำเนินนโยบายการลดภาษีศุลกากรนาเข้าสินค้าในทุกหมวดอุตสาหกรรมที่จะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคและครัวเรือนชาวอิสราเอลให้สามารถใช้ชีวิตในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริโภคและครัวเรือนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูว่าการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าดังกล่าวจะทำให้ห้างร้านค้าผลักภาระค่าใช้จ่ายอื่นให้ผู้บริโภคหรือไม่ ทั้งนี้ CEO ของห้างสรรพสินค้า New Hamashbir Lazarchan Ltd. (นาย Rami Shavit) ระบุว่าห้างสรรพสินค้าฯ จะเริ่มการลดราคาสินค้ารองเท้าที่มีการจาหน่ายในห้างในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2560 ถึงแม้ว่าห้างสรรพสินค้าได้เสียค่าใช้จ่ายภาษีศุลกากรนำเข้าในรอบชำระปัจจุบันไปแล้ว ทั้งนี้ จะดำเนินการจำหน่ายสินค้ารองเท้าซึ่งเป็นสินค้าใหม่ในอัตราการลดราคาที่มากขึ้นเนื่องจากมาตรการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้ารองเท้าร้อยละ 12 และห้างสรรพสินค้าได้สนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นการขจัดการบิดเบือนทางราคาของสินค้าแล้ว ยังทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านราคาสินค้าของห้างสรรพสินค้ากับราคาสินค้าที่มีการจำหน่าย online
ทั้งนี้ จากข้อมูลด้านสถิติระบุว่าครัวเรือนชาวอิสราเอลมีความต้องการซื้อสินค้ารองเท้าประมาณ 8-14 คู่ต่อปี ดังนั้น การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเรื่องการยกเลิกภาษีศุลกากรนำเข้าดังกล่าว จะเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคและครัวเรือนชาวอิสราเอลอย่างมีนัยสาคัญ
สำหรับประเทศไทยมีการส่งออกสินค้ารองเท้าไปยังรัฐอิสราเอล โดยมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สถิติข้อมูลการส่งออกสินค้ารองเท้าของไทยไปยังรัฐอิสราเอลในระหว่างปี 2557 – 2559 มีมูลค่า 6.28 4.69 และ 4.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลาดับ และสินค้ารองเท้าที่มีการส่งออกดังกล่าวสามารถจาแนกเป็น 6 รายการ ได้แก่ (1) รองเท้าและชิ้นส่วน (2) รองเท้าหนัง (3) รองเท้ากีฬา (4) รองเท้าแตะ (5) รองเท้าอื่นๆ และ (6) ส่วนประกอบของรองเท้า
จากนโยบายยกเลิกภาษีศุลกากรนาเข้าสินค้ารองเท้าในอัตราร้อยละ 12 ของรัฐบาลอิสราเอล จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยและประเทศคู่ค้าอื่นสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้ารองเท้าไปยังตลาดประเทศอิสราเอลได้มากขึ้น ซึ่งสินค้ารองเท้าของไทยมีมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าที่ดีได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม สินค้ารองเท้าที่มีราคาถูกจากประเทศจีนยังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอิสราเอล
ข่าวเด่นรายสัปดาห์ — สานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล
ที่มา: http://www.ditp.go.th