Logistics Corner

ฉบับที่ 465

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ราคาศุลกากร”

“ภาษีอากรต้องชำระด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างยุติธรรม”

แนวคิดข้างต้น คนทำอาชีพเกี่ยวกับศุลกากร ตัวแทนออกของ ชิปปิ้ง โลจิสติกส์ หรือการค้าระหว่างประเทศ (Customs, Customs Broker, Shipping, Logistics, or International Trade) ต่างต้องเข้าใจวิธีการทำงานที่เป็นแนวทางเดียวกัน

แม้แต่ของที่เป็นตัวอย่างสินค้า หรือของได้มาฟรี ๆ ก็ยังต้องชำระภาษีอากรเหมือน ๆ กัน  หากไม่ชำระ อย่างนี้ผู้นำเข้าก็จะสำแดงสินค้าที่นำเข้าเป็นของตัวอย่าง หรือของที่ได้มาฟรีกันหมด

มันมีคนคิดแบบนี้จริง ๆ คนคิดจะคิดว่า ของได้มาฟรีก็ต้องได้รับการยกเว้นภาษีไปด้วยซึ่งมันเป็นความคิดที่ขัดต่อหลักการ เหตุผล และกฎหมาย

ความคิดผิดชัด ๆ

ไม่ต้องดูอื่นไกล ตัวอย่างที่กล่าวกันบ่อย ๆ ก็คือการนำเข้ารองเท้าข้างเดียว มันมีลักษณะเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ในทางศุลกากรกลับมองว่า รองเท้านำเข้าข้างเดียวก็ใช่ แล้วถ้าอีกวันนำรองเท้าเข้ามาอีกข้างละ มันก็เป็นรองเท้าข้างเดียวเหมือนกัน มันก็ใช่อีก

หลังจากนั้น รองเท้า 2 ข้างก็มาประกบคู่กัน มันก็คือรองเท้าครบคู่ดี ๆ นี่เอง

ในเมื่อรองเท้ามีสภาพเป็นรองเท้าและมีโอกาสที่จะประกบเป็นคู่ครบคู่สมบูรณ์ นำมาขายในท้องตลาดก็ได้ มูลค่าทางการตลาดก็เกิด

กฎหมายจึงกำหนดให้รองเท้าข้างเดียวไม่มีสภาพเป็นตัวอย่างจึงต้องชำระภาษีตามสภาพ

ส่วนตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างสินค้า ไม่มีราคาในทางการค้า และเป็นไปตามประกาศของที่ได้รับยกเว้นอากรในภาค 4 ย่อมอยู่ในข่ายยกเว้นอากรขาเข้า

นี่คือหลักการ เหตุผล และกฎหมายเพื่อให้การชำระภาษีอากรเป็นไปอย่างยุติธรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

เมื่อต้องมีการชำระภาษีอากร และชำระด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างยุติธรรม กฎหมายเก่าจึงกำหนดให้ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกต้องสำแดงข้อมูลสินค้าให้ครบถ้วน

มาวันนี้ กฎหมายเก่ากำลังจะถูกยกเลิกราวเดือนพฤศจิกายน 2560 แต่กฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้ในเวลานั้นก็กำหนดเหมือนกัน

พรบ. ศุลกากร 2560 มาตรา 52 (1) ได้กำหนดให้ผู้นำเข้ายื่นใบขนสินค้าตามแบบที่อธิบดีกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูล ดังนี้

(1)          ชนิดแห่งของ (ชื่อสินค้าที่มีความชัดเจน : ผู้เขียน)

(2)          ปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพแห่งของ (รายละเอียดสินค้า : ผู้เขียน)

(3)          ราคาศุลกากร (อาจไม่ใช่ราคาที่สำแดงก็ได้ : ผู้เขียน)

(4)          ประเทศต้นทาง (สำหรับการนำเข้า : ผู้เขียน) หรือประเทศปลายทาง

ดังนั้น สินค้าทั่วไปที่ต้องชำระภาษีอากร หรือของที่ได้มาฟรี หรือตัวอย่างสินค้าที่ไม่ได้ใช้แต่เพียงเป็นตัวอย่างสินค้า หรือของที่มีราคาในทางการค้าก็ต้องสำแดงข้อมูล 4 ประการข้างต้น

บทความนี้จะกล่าวถึงข้อมูล (3) “ราคาศุลกากร” ซึ่งเป็นระบบราคา GATT (General Agreement on Tariff and Trade) ที่เคยกล่าวถึง

ศุลกากรมี “ราคาศุลกากร” ดังนั้นราคาที่ผู้นำเข้าสำแดง ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ซื้อขายกันจริง  ราคาที่มีหลักฐานการชำระเงินจริง หรือราคาที่คำนวณขึ้นเองก็อาจไม่ใช่ “ราคาศุลกากร” ก็ได้

หากแต่ “ราคาศุลกากร” ยังต้องเป็นราคาตามนัยแห่ง พรบ. ศุลกากร 2560 มาตรา 16 ที่กำหนดให้ใช้ราคาตามข้อ 1. ก่อน หากราคาข้อ 1. ยังไม่ใช่ “ราคาศุลกากร” จริง ก็ใช้วิธีการสืบหาราคาในลำดับต่อไป ดังนี้

  1.  ราคาซื้อขายของที่นำเข้า หมายถึง ราคาซื้อขายที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริง
  2.  ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน หมายถึง ราคาซื้อขายของที่เหมือนกันทุกอย่าง
  3.  ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน หมายถึง ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน
  4.  ราคาหักทอน หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นโดยใช้ราคาสินค้าที่กำลังประเมิน
  5.  ราคาคำนวณ หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นตามต้นทุนการผลิตของสินค้า
  6.  ราคาย้อนกลับ หมายถึง การกำหนดราคาโดยใช้วิธียืดหยุ่น

การเรียงลำดับวิธีการคำนวณให้เป็น “ราคาศุลกากร” ตามข้อ 1.- 6. ข้างต้น สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวง Customs – Shipping – Logistics ย่อมเข้าใจยากเป็นธรรมดา

กรณีรถยนต์หรูที่เป็นข่าวในเวลานี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI แถลงว่า การนำเข้าใช้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงมาประเมินเพื่อชำระภาษีอากร

การใช้ราคาซื้อขายก็ต้องมีหลักฐานการชำระเงินจริงมาแสดง แล้วหากพิสูจน์ได้ว่า ราคาที่มีหลักฐานการชำระเงินไม่ใช่ราคาจริงขึ้นมา การกำหนด “ราคาศุลกากร” ตามลำดับข้อที่ 1. ก็ต้องเลื่อนมาใช้ลำดับข้อที่ 2 ลงมาเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ “ราคาศุลกากร”

นี่คือหลักการ เหตุผล และแนวคิดทางกฎหมายด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างยุติธรรม

เมื่อใดผู้นำเข้าได้รับการเสนอราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาด หากผู้นำเข้าพิจาณานำหลักการ เหตุผล และแนวคิดทางกฎหมายมาร่วมพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อเช่นนั้น ความเสี่ยงของผู้นำเข้าก็น่าละลดลง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล. รายละเอียด “ราคาศุลกากร”

ข้อมูลจาก http:// customs.go.th:8090/GattValue/GattValue.jsp

  1. ราคาซื้อขายของที่นำเข้า (Translation Value)

หมายถึง ราคาซื้อขายที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริง หรือที่จะต้องชำระให้กับผู้ขายในต่างประเทศสำหรับของที่นำเข้าซึ่งได้มีการปรับราคา หรือได้นำมูลค่าหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไปรวมด้วย เช่น ค่าวัสดุเสริม ค่านายหน้า หรือค่าสิทธิ เป็นต้น

  1. ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน (Transaction Value of Identical Goods)

หมายถึง ราคาซื้อขายของที่เหมือนกันทุกอย่าง เช่น ลักษณะทางกายภาพ คุณภาพและชื่อเสียง ซึ่งผลิตในประเทศเดียวกัน และเป็นผู้ผลิตเดียวกันกับของที่กำลังประเมินราคา

  1. ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน (Transaction Value of Similar Goods)

หมายถึง ราคาซื้อขายของที่คล้ายกันกับของที่กำลังประเมินราคา เช่น วัสดุ ส่วนประกอบ และลักษณะ ทางกายภาพต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนกันและแลกเปลี่ยนระหว่างกันในทางการค้าได้กับของที่กำลังประเมินราคา นอกจากนี้ยัง ต้องผลิตในประเทศเดียวกันและเป็นผู้ผลิตเดียวกันกับของที่กำลังประเมินราคา

  1. ราคาหักทอน (Deduction Value)

หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นโดยใช้ราคาสินค้าที่กำลังประเมิน หรือสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกันที่จำหน่ายอยู่ในประเทศไทย โดยหักทอนค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป เช่น ค่านายหน้า ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าภาษีอากรในประเทศไทย มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการประกอบหรือผ่านกระบวนการเพิ่มเติม

  1. ราคาคำนวณ (Computed Value)

หมายถึง ราคาที่กำหนดขึ้นตามต้นทุนการผลิตของสินค้าที่กำลังประเมินราคาบวกกับกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปที่รวมอยู่ตามปกติในการขายจากประเทศส่งออกมายังประเทศไทย

  1. ราคาย้อนกลับ (Fall Back Value)

หมายถึง การกำหนดราคาโดยใช้วิธียืดหยุ่นของวิธีใด ๆ ก็ตามจากวิธีที่ 1-5 เพื่อให้สามารถกำหนดราคาสินค้าได้

The Logistics

อิหร่านยกเลิกระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าสับปะรดกระป๋อง

ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่ทางรัฐบาลอิหร่านยกเลิกระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าสับปะรดกระป๋อง

โดยที่ผ่านมา ทางรัฐบาลอิหร่านประกาศห้ามนำเข้าสินค้าผลไม้กระป๋องตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ซึ่งรวมผลไม้กระป๋องทุกประเภท

ไม่ว่าจะเป็นผลไม้กระป๋องที่หาวัตถุดิบในประเทศได้หรือไม่ก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงที่อิหร่านโดนคว่ำบาตรอย่างหนัก

ผลไม้กระป๋องนำเข้าจัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าหรูหรา (สินค้าที่ไม่มีความจำเป็นหลักในการบริโภค) ซึ่งรัฐบาลอิหร่านไม่ให้ความสำคัญ รวมทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ผลิตผลไม้กระป๋องภายในประเทศ

สับปะรด นับเป็นผลไม้ในกลุ่มประเภทผลไม้หรูหรา (LUX) และมิใช่ผลไม้ท้องถิ่นของอิหร่าน ชาวอิหร่านจึงนิยมรับประทานสับปะรดกระป๋อง เนื่องจากมีราคาไม่แพงเกินไป และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้า และห้างสรรพสินค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังใช้ในการบริโภคเป็นอาหารว่าง ใช้ทำขนม หรือใช้ตกแต่งหน้าขนมหวาน ขนมเค้กต่างๆ รวมทั้งในโอกาสเยี่ยมคนป่วย ซึ่งสับปะรดกระป๋อง หรือน้ำสับปะรด จะเป็นของเยี่ยมที่ขาดไม่ได้ ทั้งนี้ชาวอิหร่านมีความเชื่อว่าสับปะรดเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณสามารถรักษาบาดแผล ต้านการอักเสบหลังการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลประกาศห้ามนำเข้า แต่สับปะรดกระป๋องสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป เนื่องจากอุปทานตลาดที่สูงเป็นผลให้ผู้นำเข้าอิหร่านหาช่องทางต่างๆ เพื่อนำเข้าสินค้านี้ ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลอิหร่านเล่งเห็นว่า การห้ามนำเข้าสินค้าสับปะรดกระป๋องจะส่งผลกระทบในแง่ลบ เนื่องจากมีการลักลอบนำเข้าสินค้าเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาจเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ หรือไม่ได้มาตรฐานซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค สำนักข่าวท้องถิ่นตัสนีม (Tasnim News Agency) รายงานว่า รัฐบาลอิหร่านยกเลิกระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าสับปะรดกระป๋อง ภายใต้รหัสสินค้า HS Code 20082000 ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2560 เป็นต้นมา ซึ่งผู้นำเข้าสามารถนำเข้าสินค้านี้ได้อย่างถูกกฎหมายผ่านกรมศุลกากรอิหร่าน โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบนำเข้าและเกณฑ์สาธารณสุขที่กำหนดไว้

ที่มา: http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/169646/169646.pdf&title=169646