Logistics Corner

ฉบับที่ 466

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“รถหรูราคาถูก”

ผู้ครอบครองรถหรูรู้สึกหนาว

ไม่รู้จะโดนเช็คบิลอย่างไร ?

รถหรูราคาถูกวันนี้กำลังสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ครอบครอง เว็บไซต์ดัง pantip.com ถึงกับพาดหัวว่า “ใครจะรับผิดชอบเรื่องรถจดประกอบกว่า 7,000 คัน”

ตัวละครหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้น่าจะมีอยู่ 5 กลุ่มด้วยกัน คือ

  1.  ผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหรือการจดประกอบขึ้นมา
  2.  ผู้ขายต่างประเทศไม่ว่าจะขายเป็นคันสมบูรณ์ หรือแยกชิ้นส่วนขาย
  3.  เจ้าหน้าที่ศุลกากร (Customs Officer)
  4.  ตัวแทน Logistics หรือ Shipping หรือ Customs Broker ที่รับบริการเคลื่อนย้าย
  5.  ผู้ซื้อ ผู้ครอบครองรถเพื่อใช้งานในประเทศไทย

จากข่าวที่ออกมา DSI พยายามหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้ได้ว่า การชำระภาษีอากรขณะนำเข้าเป็นเจตนาทุจริต

ผู้ใดกระทำการโดยทุจริต ผู้นั้นก็มีความผิดทางกฎหมาย

เมื่อมีภาษีอากรขาด การชำระให้ถูกต้องก็ย่อมเกิดขึ้น หากพบภาษีอากรชำระขาดจริงแล้วเจ้าหน้าที่ศุลกากรนิ่งเฉยก็จะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

แต่มันไม่ใช่เพียงการชำระภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน

มันยังมีเงินเพิ่มหรือจะเรียกดอกเบี้ยค้างชำระก็ได้ โดยหลักการแล้วภาษีอากรต้องชำระให้ครบถ้วนตั้งแต่วันนำเข้า หากชำระไม่ครบไปกี่เดือน กระทรวงการคลังก็เสียประโยชน์เท่านั้นเดือนเพราะไม่สามารถนำเงินนั้นมาใช้ได้

เงินเพิ่มหรือดอกเบี้ยก็ย่อมเกิดขึ้น

กฎหมายศุลกากรกำหนดเงินเพิ่มสำหรับการชำระอากรขาดไว้เป็นตัวเลขกลม ๆ อัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนนับจากวันนำเข้าโดยไม่คิดทบต้น เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรก็ร้อยละ 1.50 ต่อเดือน ในหลักการเดียวกัน

หากนำเข้ามาแล้ว 5 ปี รวมแล้วก็ 60 เดือน เงินเพิ่มอากรอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ก็ปาเข้าไป 60% ของอากรที่ชำระขาด

ส่วนเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 60 เดือน รวมก็ 90% แล้วยังมีภาษีอื่นที่เกี่ยวข้องอีก

แต่เดี๋ยวก่อน ยังมีค่าปรับความผิดฐานหลบเลี่ยงภาษีอากรอีก

กฎหมายศุลกากรกำหนดค่าปรับไว้ 4 เท่าของราคาของบวกอากรที่ขาด แต่ในทางปฏิบัติเท่าที่เห็นก็มักสั่งปรับ 2 เท่าของอากรที่ขาด

ส่วนกฎหมายอื่น ๆ ที่มีภาษีเกี่ยวข้องก็มีอัตราค่าปรับฐานความผิดแตกต่างกันไป

ในภาพรวมที่ DSI แถลงออกมา มีตัวเลขภาษีอากรขาดหายไป 2 พันกว่าล้านบาท มันจึงอาจกลายเป็นเกมล้มละลายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับความผิดเลยทีเดียว

ใครไม่โดนกับตัวไม่รู้หรอก

ตัวละครหลัก ๆ 5 กลุ่มที่เกี่ยวข้องนั้น หากการหลบเลี่ยงภาษีอากรเป็นจริง การชำระภาษีอากรที่ขาดก็ต้องให้ครบถ้วน เงินเพิ่มและค่าปรับตามกฎหมายก็ต้องจ่าย

แล้วใครบ้างต้องรับผิดชอบกันอย่างไร ?

  1.  ผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผู้นำเข้าเป็นผู้รับเอกสารจากผู้ขายต่างประเทศเข้ามา  แล้วยื่นราคาต่ำกว่าการซื้อขายจริงเพื่อสำแดงต่อศุลกากร

ความผิดในทางศุลกากรชัดเจนที่สุด มีความผิดฐานตัวการที่น่าจะหนักสุด

  1.  ผู้ขายในต่างประเทศ ผู้ขายอยู่นอกราชอาณาจักรที่กฎหมายเอื้อมไม่ค่อยถึง แต่ไม่ว่า DSI หรือกรมศุลกากรอยากได้หลักฐานการซื้อขายและการรับเงินก็ต้องเกลื่อกล่อมจากคนกลุ่มนี้

หากมีการขอความร่วมมือจากรัฐบาลในประเทศผู้ขาย การขอข้อมูลจากโรงงานผู้ผลิต คนกลุ่มนี้ก็ย่อมร่วมมือด้วยง่าย ๆ แล้วทั้ง DSI หรือกรมศุลกากรก็น่าจะได้หลักฐานง่ายขึ้น

ส่วนผู้ขายต่างประเทศจะผิดมากน้อยแค่ไหนก็คงเป็นเรื่องกฎหมายภายในประเทศนั้น

  1.  เจ้าหน้าที่ศุลกากร (Customs Officer) ผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วมีหลักฐานถึงก็คงหนีไม่พ้นคดีอาญา

ตรงกันข้าม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต เช่น ขณะนำเข้าไม่มีประกาศหลักเกณฑ์การประเมินราคากำหนดตามระบบ GATT อย่างชัดเจน เลยไม่มีใครรู้

แบบนี้ก็อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

  1.  ตัวแทน Logistics หรือ Shipping หรือ Customs Broker ที่รับบริการ หากพิสูจน์ได้ว่าคนกลุ่มนี้มีส่วนปลอมแปลงราคา หรือกระทำการโดยทุจริตก็ย่อมมีความผิด

แต่หากรับเอกสารมาจากผู้นำเข้าแล้วไปยื่นโดยสุจริต แบบนี้ก็อาจเป็นอีกเรื่องเช่นกัน

  1.  ผู้ซื้อ หรือผู้ครอบครองรถใช้ในประเทศไทย กลุ่มผู้ครอบครองนี้ละที่อยู่ในกระแสวิจารณ์กันมากขณะนี้ แล้วเป็นไปตามหัวข้อข้างต้น

“ผู้ครอบครองรถหรูรู้สึกหนาว ไม่รู้จะโดนเช็คบิลอย่างไร ?”

ข้อความที่พูดในกัน pantip.com มีหลากหลาย

“เอาไปให้ DSI ตรวจซิ จะได้รู้ว่าถูกหรือผิด ถ้าผิดก็ส่งรถให้ DSI ยึดไปเลย แล้วไปฟ้องร้องจากผู้ขาย” ข้อความที่ 1

“ผู้ขายไม่รู้หายไปไหนแล้วจะไปฟ้องร้องจากใคร ?” ข้อความที่ 2

“เจ้าหน้าทีรัฐปล่อยปละละเลย ทั้งกรมศุลกากรและกรมขนส่งทางบก กล้าจับมาลงโทษรึป่าว ?” ข้อความที่ 3

ข้อความยังมีอีกมาก แต่ทุก ๆ ข้อความก็ทำให้ผู้ครอบครองรถรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ ขึ้นมา ส่วนผู้ค้ารถจากนอก รถหรู หรือรถจดประกอบไม่ต้องพูดถึง หนาวจนไม่รู้จะหนาวอย่างไร

บางรายต้องพักกิจการชั่วคราว บางรายก็หนีหายไปตามการวิจารณ์ข้างต้น

ผู้ครอบครองรถหรูจะผิดมาก หรือผิดน้อยเพียงใด จะมีโทษทางอาญาร่วมด้วยหรือไม่ เท่าที่ DSI เคยให้สัมภาษณ์คือ

การดูเจตนาในการซื้อและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิธีคิดง่าย ๆ ดังนี้

สมมติฐานที่ 1 รถหรูเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมา ไม่ว่าผู้ครอบครองจะรู้ขณะซื้อหรือไม่ก็ตาม อย่างนี้ผู้ครอบครองก็ต้องคืนรถให้เจ้าของเดิมไป ก็มันเป็นรถโจรกรรม

ส่วนความเสียหายก็ต้องไปฟ้องกับผู้ขายอีกต่อหนึ่ง

สมมติฐานที่ 2 มีหลักฐานว่าผู้ครอบครองรถหรูรู้ขณะซื้อว่า รถหรูราคาถูกเพราะหลบเลี่ยงภาษีนำเข้า อย่างนี้ก็มีเจตนาสนับสนุนการหลบเลี่ยงภาษีอากร ตรงนี้ละที่ DSI ต้องพิสูจน์ให้ได้

หากพิสูจน์ได้ อย่างนี้ผู้ครอบครองรถหรูก็ต้องมีส่วนร่วมในความผิด

สมมติฐานที่ 3 ผู้ครอบครองรถหรูซื้อในราคาตลาด หรือต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย และซื้อโดยบริสุทธิ์ใจแต่เผอิญรถหรูที่ซื้อกลายเป็นรถหลบเลี่ยงภาษี

อย่างนี้ความผิดโดยเจตนาก็ไม่มี ตรงนี้เช่นกันที่ผู้ครอบครองต้องพิสูจน์ให้เชื่อ

ส่วนจะต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่ รับผิดอย่างไร อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับการสอบ การพิจารณาของ DSI และการตัดสินของศาลยุติธรรม

ไม่ว่าสมมติฐานทั้ง 3 ข้อจะมีส่วนใกล้เคียงกับผู้ครอบครองรถหรูคนใด แต่ผู้ครอบครองรถหรูส่วนใหญ่ก็ไม่มั่นใจว่า ผู้นำเข้าได้ชำระภาษีอากรอย่างถูกต้องจริงหรือไม่

แล้วคำแนะนำใจ pantip.com ก็อาจช่วยได้

“ก็เอาไปให้ DSI ตรวจซิ จะได้รู้ว่าถูกหรือผิด” มันเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ในตัว

บางคนกลับคิดตรงกันข้าม อยู่เฉย ๆ ดีกว่า เอาไปให้ DSI ตรวจทำไม รอโดนเรียกตัวก่อนดีกว่า เผื่อจะไม่ถูกเรียก

ต่างคนต่างความคิด ไม่มีใครตอบได้ว่า ความคิด ใครถูก จนกว่าผลจะเกิดขึ้น

แล้วก็รอกันจนกล่าวจะถูกเรียก หรือไม่ถูกเรียกนั่นละ มันจึงเห็นผล

เอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ จึงเกิดขึ้นก็ตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่า “Nothing come for free” ไม่มีอะไรที่จะได้มาฟรี อย่างน้อยก็ต้องเสียรู้สึก เกิดความกลุ้มใจ

รถหรูนำเข้าราคาถูกที่ถูกต้องกฎหมายจึงไม่ใช่ของจะได้กันมาแบบง่าย ๆ หรือฟรี ๆ อย่างที่เห็น มันต้องมีเงื่อนปมที่ผู้ซื้อไม่รู้อีกมาก

ส่วนการสรุปที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร มันก็หนีไม่พ้นวิธีการครอบครองรถ เงื่อนไขมากมายที่เกิดต่างกรรม ต่างวาระ เจตนารมณ์ การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และการตัดสินของศาลยุติธรรมเป็นขั้นสุดท้าย

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

หน้าทุเรียนออก กับการส่งออกทุเรียน

เมื่อพูดถึงทุเรียน คนที่ชอบทานทุเรียนก็อาจจะเกิดอยากทานทุเรียนขึ้นมาทันที ยิ่งในช่วงนี้มองไปทางไหนก็เจอกับทุเรียนวางขายกันเกลื่อนกลาด ทำให้หลายคนที่ชื่นชอบทุเรียนมีความสุขมาก นี่คือช่วงเวลาแห่งความสุขของพวกเราแท้ๆเลยทีเดียว ทุเรียนนอกจากจะเป็นผลไม้ยอดนิยมของชาวไทยแล้ว ชาวต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีน ก็นิยมชมชอบทุเรียนเช่นกัน และนับวันความนิยมนี้ก็เพิ่มขึ้นๆ แผ่กระจายไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่เป็นโอกาสทองของเกษตรกรไทยที่จะสร้างมูลค่าผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากทุเรียนสดแล้ว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โอกาสนี้ เราจะเขียนถึงการส่งออกทุเรียนสดอย่างย่อๆ กันค่ะ เพื่อให้ FC ทุเรียนได้ภูมิใจกับการที่ทุเรียนไทยไปสู่ตลาดโลกได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือยากในทีเดียว ผลทุเรียนสดจัดเป็นสินค้าที่มีมาตรการในการส่งออก ซึ่งถูกจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรที่ 0810.60.00 โดยมีระเบียบและหลักเกณฑ์การส่งออก ดังนี้

  1. ผู้ส่งทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร จะต้องเป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ส่งทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรไว้ต่อกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด และกรมวิชาการเกษตรแจ้งบัญชีรายชื่อและหมายเลขทะเบียนผู้ส่งออกทุเรียนสดให้กรมศุลกากรทราบเพื่อประกอบการส่งออก
  2. ผู้ส่งออกจะต้องติดป้ายหรือฉลากหรือประทับข้อความ โดยระบุข้อความต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษให้ชัดเจนที่ภาชนะบรรจุ

(1) ชื่อและหมายเลขทะเบียนผู้ส่งออก

(2) ชื่อพืชและพันธุ์

(3) ชั้นและน้ำหนักของสินค้า และ

(4) ประเทศผู้ผลิต

  1. ผู้ส่งออกรายงานการส่งทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรต่อกรมวิชาการเกษตร ตามหลักเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
  2. มิให้ใช้บังคับแก่กรณีนำติดตัวออกไปเพื่อใช้เฉพาะตัว หรือการส่งออกโดยมิใช่การค้า หรือเพื่อเป็นตัวอย่างในปริมาณที่สมควร

ก่อนจากกัน สิ่งที่อยากทิ้งท้ายไว้ด้วยความปรารถนาดี สำหรับแฟนข่าวที่ชอบทานทุเรียน ก็อยากให้ทานกันแต่พอดีนะคะ ถ้าทานมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเงินในกระเป๋าของท่านได้ค่ะ อิอิ ^ ^

ที่มา: http://www.dft.go.th/th-th/DFT-Service/Data-Service-Information/ProductMeasure-Import-Export/Detail-ProductMeasure-Import-Export/ArticleId/679/679