CEO ARTICLE
“CFS Charge”
ตู้คอนเทนเนอร์เปิดปลายทางต่างประเทศ พบสินค้าล้มละเนละนาด
สินค้าส่งออกเสียหาย ขณะที่ BL ระบุคำว่า Bangkok CFS
ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ???
ในวงการ Logistics – Shipping – International Transportation ผู้ประกอบการด้านการขนส่ง การนำเข้า การส่งออก และวงการที่เกี่ยวข้อง มักต้องพบกับคำว่า CFS
แล้วคำว่า CFS ก็ดูเหมือนว่าจะมีความหมายหลายอย่าง
ใน http://groups.google.com ให้ความหมาย ดังนี้
CFS ย่อมาจากคำว่า Container Freight Station หมายถึง สถานที่จัดสินค้าใส่ หรือเอาสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์
มันเป็นความหมายทางกายภาพจับต้องได้ คำว่า “สถานที่” มีสภาพเป็นลานกว้าง ๆ เพื่อการจัดวางตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากที่อาจอยู่นอกหรือภายในท่าเทียบเรือบรรทุกสินค้าก็ได้
ความหมายทางกายภาพเป็นความหมายที่สัมผัสได้ และเห็นได้โดยชัดเจน
นอกจากความหมายทางกายภาพแล้วก็ดูเหมืนอว่า CFS ยังมีความหมายทางวิชาชีพอีกหลายความหมาย ดังนี้
- แสดงวิธีการเคลื่อนย้ายสินค้า
หากเป็นการส่งออกแบบ CFS หมายถึง การใช้รถบรรทุกธรรมดาเพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าจากผู้ส่งออกมายังสถานที่บรรจุสินค้า
จากนั้นก็นำสินค้าบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ณ สถานที่สำหรับบรรจุตามความหมายทางกายภาพ
หากเป็นการนำเข้าแบบ CFS ก็หมายถึง การใช้รถบรรทุกธรรมดาเคลื่อนย้ายสินค้าไปส่งยังผู้นำเข้าเช่นกัน
- แสดงสถานที่บรรจุสินค้า หรือเอาสินค้าออก
การนำชื่อสถานที่มาใส่นำเข้าหน้า CFS ย่อมมีความหมายว่า สินค้าบรรจุ หรือเอาออก ณ สถานที่นั้น เช่น คำว่า Bangkok CFS หรือ Osaka CFS เป็นต้น
Bangkok CFS หรือ Osaka CFS หากเป็นการส่งออก หมายถึง สินค้าถูกเคลื่อนย้ายมาบรรจุเข้าตู้คอนเทอเนอร์ ณ สถานที่บรรจุในกรุงเทพฯ หรือภายใน Osaka ไม่ใช่การบรรจุ ณ สถานที่ของผู้ส่งออก
หากเป็นการนำเข้า คำว่า Bangkok CFS หรือ Osaka CFS หมายถึง สินค้าถูกเอาออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ณ สถานที่ที่กรุงเทพฯ หรือ Osaka จากนั้นก็นำมาใส่รถบรรทุกธรรมดาเพื่อขนส่งไปยังสถานที่ของผู้นำเข้าอีกต่อหนึ่ง
- แสดงลักษณะค่าใช้จ่าย
การนำค่า CFS Charge มาใช้แสดงค่าใช้จ่าย ก็เพื่อสื่อความหมายว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าว เกิดจากกิจกรรมใด
หากเป็นการส่งออก ค่า CFS Charge หมายถึง ค่าบริการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ณ สถานที่สำหรับบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศต้นทาง
การขนส่งสินค้าจากผู้ส่งออกมายังสถานที่บรรจุสินค้ากระทำโดยรถบรรทุกสินค้าทั่วไป
หากเป็นการนำเข้า ค่า CFS Charge ก็หมายถึง ค่าบริการนำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ณ สถานที่สำหรับเคลื่อนย้ายภายในประเทศปลายทาง
จากนั้น การขนส่งสินค้าจากสถานที่ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังผู้นำเข้าก็จะกระทำโดยรถบรรทุกทั่วไปอีกต่อหนึ่ง
- แสดงความรับผิดชอบ
คำว่า CFS หากใช้กับการส่งออก หมายความว่า ผู้ส่งออกไม่มีความถนัด ไม่มีเครื่องมือ หรือไม่มีสถานที่ที่ดีในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์จึงมาใช้บริการที่ CFS
เมื่อมาใช้บริการของสถานที่ CFS ที่กำหนด ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์จึงเป็นภาระความรับผิดชอบของผู้รับการบรรจุ ในการนี้ผู้ส่งออกก็มีหลักฐานในการจ่ายค่า CFS Charge ตามข้อ 3
หากใช้กับการนำเข้าก็มีความหมายเดียวกัน ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการนำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ณ สถานที่ตู้คอนเทนเนอร์ CFS จึงเป็นภาระความรับผิดชอบของผู้เคลื่อนย้ายออกซึ่งผู้นำเข้าก็มีหลักฐานการจ่ายค่า CFS Charge ตามข้อ 3 เช่นกัน
ความหมายต่าง ๆ นานาเหล่านี้ แม้จะมองว่ามีหลายความหมายก็จริง
แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วก็จะพบว่า ทุกความหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นหมายความที่ตรงกันข้ามกับคำว่า CY (Container Yard) ทั้งสิ้น
กรณีคำถามข้างต้น สินค้าส่งออกถูกนำมาบรรจุเข้าตู้สินค้า ณ สถานีบรรจุ CFS โดยตัวแทนเรือ หรือผู้รับบรรจุสินค้าก็ตาม ทั้งหมดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคำว่า Bangkok CFS
ผู้ส่งออกย่อมมีใบเสร็จค่าบรรจุสินค้าเข้าคอนเทนเนอร์
เมื่อสินค้าพบเสียหายที่ปลายทาง ผู้รับการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์และรับเงินค่าบรรจุสินค้าจึงอยู่ในข่ายเป็นผู้รับผิดชอบลำดับแรก เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นอื่น
คนในวงการ Logistics – Shipping – International Transportation ผู้ประกอบการด้านการขนส่ง การนำเข้า การส่งออก และวงการที่เกี่ยวข้องที่มีีความเข้าใจความหมายของ คำว่า CFS อย่างนี้ จึงมักสร้างประสิทธิภาพและความสำเร็จได้โดยง่าย
ส่วนคำว่า CY จะนำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไป
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
ฮะ! มันจะดีหรอ ไอเดียโดยสารเครื่องบินแบบยืน
กลับจากงานบุญใหญ่ได้หยุดยาวกันนานๆครั้ง เลยอยากต้อนรับท่านผู้อ่านด้วยการเล่าเรื่องเบาๆกับข่าวสายการบินโลว์คอสท์ของโคลอมเบีย ผุดไอเดียอาจเปิดบริการเครื่องบินแบบให้ผู้โดยสารยืนแทน เพื่อลดปัญหาราคาที่นั่งแพง และเพิ่มอัตราผู้โดยสารต่อเที่ยวบินได้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สายการบิน วีว่า โคลอมเบีย โดยรายงานของเว็บไซต์ ไมอามี่ เฮอรัลด์ ระบุว่า สายการบินดังกล่าวเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมีความคิดที่อยากจะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้โดยสารที่ไม่ได้สนใจเรื่องของการบริการบนเครื่อง, อาหาร หรือความบันเทิงต่างๆ ด้วยการเสนอให้เอาที่นั่งออกให้หมด แล้วเหลือแต่พื้นที่โล่งสำหรับยืนอย่างเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาภาระค่าใช้จ่าย และยังสามารถรับผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แต่จะเปิดเฉพาะกับเที่ยวบินที่ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากนี้ ตามรายงานของเว็บไซต์ ไมอามี่ เฮอรัลด์ กล่าวว่า โคลอมเบียมีความก้าวหน้าในเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศในแต่ละปีเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจมากทีเดียว แต่ข่าวที่ออกไปนั้นยังไม่ผ่านการอนุมัติและเห็นชอบจากสำนักการบินพลเรือน เนื่องจากไม่มีความปลอดภัยและเสี่ยงมากเกินไป
หลังจากข่าวนี้ถูกเปิดเผยออกมา ก็มีชาวโซเชียลจำนวนมากที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร แต่อย่างไรก็ตาม ในอนาคตวงการอุตสาหกรรมการบินอาจสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และคิดค้นเทคโนโลยีเจ๋งๆที่จะทำให้ไอเดียนี้กลายเป็นจริงขึ้นมาก็ได้นะคะ และพวกเราคงต้องติดตามกันต่อไป