Logistics Corner

ฉบับที่ 473

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“CY ที่ปลายทาง”

สินค้านำเข้า ระบุในใบตราส่งสินค้าว่า CY/CY และ CFS/CY

เมื่อเปิดตู้สินค้า ณ สถานที่ของผู้นำเข้าแล้วพบสินค้าไม่ครบจำนวน หรือเสียหายใครเป็นผู้รับผิดชอบ  ???

    CY ย่อมาจากคำว่า Container Yard

    ใน https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid ให้ความหมายว่า หมายถึง ลานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้เปล่า และตู้ที่บรรจุสินค้าแล้ว ลานนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าเรือ หรือสถานีขนส่งสินค้า

    ความหมายทางกายภาพ หมายถึง สถานที่ หรือลานเก็บตู้สินค้า ไม่ใช่ลานบรรจุ

    แต่ในความหมายทางวิชาชีพ คำว่า CY ยังหมายถึง การลากตู้สินค้าเปล่าไปบรรจุสินค้า ณ โรงงานผู้ส่งออกในประเทศต้นทาง และการลากตู้สินค้าไปส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ของผู้นำเข้าในประเทศปลายทางอีกด้วย

ส่วนความหมายของคำว่า CFS จะแตกต่างออกไป

CFS ที่เคยกล่าวถึงในบทความก่อนหน้า หมายถึง สถานที่ หรือลานเพื่อบรรจุสินค้า หรือขนถ่ายสินค้า และอาจเป็นบานเก็บตู้สินค้าด้วยก็ได้

คนในวงการ Logistics – Shipping – International Transportation ผู้ประกอบการด้านการขนส่ง การนำเข้า การส่งออก และวงการที่เกี่ยวข้อง มักจะใช้วิธีสังเกตุเอกสารการขนส่งสินค้า หรือ B/L หรือ Bill of Lading ที่มีการเขียนคำว่า CY กำกับไว้กับเมืองท่า เช่น

ในกรณีนำเข้า หาก B/L เขียนคำว่า Osaka CY ก็หมายถึง ผู้ส่งออกที่ Osaka จะนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าไปบรรจุสินค้าที่โรงงานผู้ส่งออกด้วยตนเอง

เมื่อบรรจุเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ส่งออกที่ Osaka ก็จะลากตู้สินค้าที่บรรจุเรียบร้อยแล้วไปคืนให้แก่ตัวแทนขนส่ง ณ สถานที่ตกลงกัน เช่น ลานเก็บตู้สินค้า หรือในท่าเรือเพื่อเตรียมการส่งออก

ในกรณีนำเข้า หาก B/L มีคำว่า Bangkok CY ก็หมายความว่า ผู้นำเข้าในประเทศไทยจะต้องลากตู้สินค้าไปขนถ่ายสินค้าออกจากตู้ ณ สถานที่ของผู้นำเข้าเอง

เมื่อเสร็จการขนถ่ายแล้ว ผู้นำเข้ามีหน้าที่ลากตู้เปล่ามาคืนให้แก่ตัวแทนขนส่ง ณ สถานที่ตกลงกัน เช่น ลานเก็บตู้ CY เป็นต้น

ในกรณีข้างต้น หาก B/L กำหนดว่า Bangkok CY แล้วผู้นำเข้าไม่สะดวกที่จะลากตู้สินค้าไปยังโรงงานเพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตุ้ ผู้นำเข้าก็อาจขอเปลี่ยนสถานะมาเป็นการขนถ่ายหน้าตู้สินค้า หรือ ณ ลานขนถ่าย หรือ Bangkok CFS แทนก็ได้

การขนถ่ายสินค้าหน้าตู้สินค้าก็จะทำกัน ณ ลานเก็บตู้สินค้า (หากทำได้)

คนในวิชาชีพจะเรียกวิธีนี้ว่า การขนส่งหน้าตู้ หรือ Delivery Upon Unstuffing

ส่วนการเปลี่ยนสถานะจากการลากตู้สินค้า CY มาเป็นการขนส่งสินค้าหน้าตู้ CFS นั้น จะทำได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้จัดการขนส่ง หรือตัวแทนเรือ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ

1.  สถานะการเคลื่อนย้ายสินค้าถูกกำหนดให้ลากตู้สินค้ามาแล้วตั้งแต่ต้นทาง

2. ลานเก็บตู้สินค้า CY บางแห่ง ไม่มีสภาพเป็นสถานีขนถ่ายสินค้า CFS ทำให้การขนถ่ายสินค้าหน้าตู้เป็นไปไม่ได้

3.  ลานเก็บตู้สินค้า CY บางแห่ง ไม่ยินยอมให้เปลี่ยนแปลงสถานะจาก CY มาเป็น CFS หรือหากยินยอมยอม ก็อาจมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงสถานะก็ได้

ทั้งหมดนี้ คือความเป็นไปของคำว่า CY

ส่วนคำถามที่ว่า สินค้านำเข้าแบบ CY ที่ปลายทาง แต่เมื่อลากตู้สินค้ามายังสถานที่ของผู้นำเข้า แล้วพบสินค้าไม่ครบจำนวน หรือเสียหาย ใครเป็นผู้รับผิดชอบนั้น

หากพิจารณาการเคลื่อนย้ายสินค้าในประเทศไทยเป็นแบบลากตู้ ประเด็นพิจารณาจึงเริ่มที่ประเทศต้นทาง เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายเกิดในประเทศไทย ดังนี้

1.  หากใบตราส่งสินค้ามีคำว่า Osaka CY ย่อมหมายความว่า ผู้ส่งออกต้นทางเป็นผู้ลากตู้เปล่าไปบรรจุสินค้า ณ โรงงานของผู้ส่งออก

ดังนั้น ผู้ขนส่งไม่ได้รับรู้วิธีการบรรจุ จำนวนพีบห่อ และจำนวนสินค้าที่บรรจุด้วย เมื่อพบสินค้าไม่ครบจำนวน หรือเสียหาย จึงเป็นภาระของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกต้นทางจะไปพิสูจน์กันเอง

ผู้นำเข้าจึงควรแจ้งและเรียกร้องจากผู้ส่งออก หรือผู้ขายโดยเร็ว

2.  หากใบตราส่งสินค้ามีคำว่า Osaka CFS นั่นยอมหมายความว่า ผู้ส่งออกนำสินค้าใส่รถบรรทุกมายังลานบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ต้นทาง

ผู้ขนส่งสินค้าทำหน้าที่การบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ต้นทาง

ดังนั้น สินค้าขาดจำนวน หรือพบเสียหายเมื่อเปิดตู้สินค้า ณ สถานที่ของผู้นำเข้า จึงเป็นภาระความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้า เว้นแต่จะมีหลักฐาน หรือข้อพิสูจน์การขาดจำนวน หรือความเสียหายเกิดจากผู้อื่น

ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงควรแจ้งและเรียกร้องจากผู้ขนส่งก่อน

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแนวทางตามหลักการและกฎเกณฑ์เท่านั้น การพิสูจน์ผู้สร้างความเสียหายที่แท้จริงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุด

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

เขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘เกาะกง’ ประตูการค้าไทย – กัมพูชา

เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงเปรียบเหมือนประตูการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา เนื่องจากถูกหยิบยกขึ้นมาเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษตราดของฝั่งไทยเพื่อรองรับการลงทุน อีกทั้งยังเป็นส่วนช่วยเสริมศักยภาพการค้าและการลงทุนของทั้งไทยและกัมพูชาในตลาดโลก

ด้วยเหตุผลที่ว่า จ.ตราด วางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าจะเป็นเมืองสีเขียว ดังนั้นการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษฝั่งไทยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมก็สามารถขยับเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงได้ไม่ยาก

นายธิติเดช ทองภัทร์ รองประธานบริหารเกาะกงรีสอร์ทและเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง หนึ่งในธุรกิจในเครือบริษัท ลี.ยง.พัด.กรุ๊ป บอกถึงแนวคิดจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงว่า ต้องการให้เป็นแหล่งสร้างงานให้กับชาวกัมพูชาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกไปทำงานแบบผิดกฎหมายและเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ก็ทำหน้าที่เป็นตัวพัฒนาความเจริญและกระจายรายได้ของจังหวัดเกาะกง เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ปี 2549 บนพื้นที่ 2,100 ไร่ มีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนแล้วประมาณ 5-6 ราย หรือประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งยังมีพื้นที่เหลืออีกมากที่เปิดกว้างรองรับการลงทุน ทำเลที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงอยู่ในจุดศูนย์กลางที่จะเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญทั้งของไทยและกัมพูชา โดยตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพียง 330 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ 400 กิโลเมตร ห่างจากพนมเปญเพียง 297 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือสีหนุวิลล์ 233 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ปัจจุบันเส้นทางการขนส่งทางบกจากตราดเข้าไปยังเกาะกงมีความสะดวกสบายมากขึ้น จากการเปิดเส้นทางชายฝั่งทะเลไทยกัมพูชา-เวียดนาม (ถนนสาย R10) ที่เชื่อมเข้าถนนสาย 48 ในจังหวัดเกาะกง เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้แห่งนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบและสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วจากฐานรากการผลิตในกัมพูชาไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออก เชื่อมโยงการผลิตระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา-เวียดนาม รวมถึงการกระจายสินค้าจากฐานการผลิตในเวียดนาม หรือบางส่วนที่เป็นสินค้าขาเข้าจากการย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังกัมพูชา

สำหรับจุดที่ดึงดูดนักลงทุนให้สนใจเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงคือ มีแรงงานจำนวนมาก และยังมีค่าจ้างต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน หรือตกประมาณเดือนละ 7,000 บาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังได้สิทธิประโยชน์หลายด้าน เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบทั้งในการก่อสร้างและในโรงงาน ยกเว้นภาษีรายได้ 9 ปี จากนั้นเสียภาษีรายได้ 20% ที่สำคัญยังมีสำนักงานศุลกากรบริการส่งออก-นำเข้าแบบวันสต็อปเซอร์วิส ในบริเวณด้านหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง สามารถทำธุรกรรมส่งออก-นำเข้าได้โดยไม่ต้องไปผ่านพิธีการศุลกากรที่พนมเปญ รวมทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ในการส่งออกไปกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ดี สินค้าที่ผลิตในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ไม่ได้ผลิตเพื่อขายในประเทศกัมพูชา หรือว่าไทยเท่านั้น แต่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เกาะกงในวันนี้จึงไม่ใช่แค่แหล่งกาสิโน แต่เป็นชุมชนทางเศรษฐกิจใหม่บนเส้นทางระเบียงใต้เชื่อมไทยและกัมพูชาให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนและโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ปีที่ 15 ฉบับที่ 5284 วันที่ 26 กรกฎาคม 2560