CEO ARTICLE
“โลตัสจัดการ”
“อย่างนี้ น่าจะเอาพนักงานโลตัสมาจัดการดีกว่า !!!”
ใครจะไปรู้ ข้อความลักษณะประชดทางหน้าจอทีวีข้างต้นจะปรากฎขึ้นเมื่อข่าวผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานดอนเมืองต้องรอการตรวจคนเข้าเมืองล่าช้า
มันล่าช้าถึง 5 ชั่วโมง (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/767807) จนเกินจะรับได้
ในข่าวให้ข้อมูลว่า วันที่ 4 สิงหาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 22.00 น. มีเที่ยวบินล่าช้า 13 เที่ยวบิน เมื่อรวมกับเที่ยวบินปกติที่เข้ามาอีก 12 เที่ยวบิน ทำให้มีเที่ยวบินสะสม 25 เที่ยวบิน รวมแล้วมีผู้โดยสารรวม 9,000 คน
ขณะนั้น เจ้าหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่เพียง 15 นาย แม้จะเพิ่มมาอีก 5 นาย ก็ยังไม่เพีงพอจนทำให้ผู้โดยสารรอนานถึง 5 ชั่วโมง
ขอย้ำ 5 ชั่วโมง อายประเทศไหน ๆ ไปทั่วโลก
ใครไม่โดนกับตัวคงไม่รู้หรอก เที่ยวบินเข้า 22.00 น. กว่าจะได้ออกมาก็ประมาณ 02.00 – 03.00 ของอีกวันเข้าไปแล้ว
เมื่อข่าวนี้ออกไป การวิจารณ์ในทางสังคมก็เกิดขึ้นตามมา แล้วก็เกิดประโยคแสดงอาการประชดข้างต้น
ทำไมผู้ประชดจึงมองว่า พนักงานโลตัสน่าจะจัดการได้ดีกว่า !!!
คำตอบง่าย ๆ ก็คือ โลตัสเป็นธุรกิจ เป็นเอกชน มีระบบการบริหารจัดการ มีการฝึกฝนเพื่อแข่งขันบริการประชาชน มันง่าย ๆ แค่นี้เอง
ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในท่าอากาศยานดอนเมืองครั้งนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า ระบบบริหารจัดการในปัจจุบันยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือเอกชนที่ไม่มีการพัฒนา
หากจะถามว่า เครื่องบินโดยสารล่าช้าเป็นเรื่องปกติมั๊ย เคยเกิดขึ้นไหม ???
คำตอบคือ ปกติ เคยเกิดขึ้น
หากจะถามต่อว่า การล่าช้าในเวลาใกล้เคียงกันด้วยเที่ยวบินหลายเที่ยว เช่น คราวละ 5 เที่ยวบ้าง 10 หรือ 15 หรือ 20 เที่ยวบ้าง มีความเป็นไปได้หรือไม่ ???
คำตอบคือ ก็ใช่อีกโดยเฉพาะสนามบินระหว่างประเทศที่มีตารางเที่ยวบินแต่ละวันมาก ๆ
แล้วถามว่า ชั่วโมงเร่งด่วน เช่น ช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ วันเงินเดือนออก มนุษย์เงินเดือนมากมายเข้าห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าบ้าน ทุกห้างเขาวางแผนรับมืออย่างไร
คำตอบคือ เกือบทุกห้างจะมีแผนงาน มีขั้นตอนการทำงาน มีคนสั่งการ และมีคนปฏิบัติตามแผนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่อย่างนั้นก็จะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
ทั้งหมดนี้ก็หวนกลับมาที่การบริหารและการจัดการอยู่ดี
พอกล่าวคำว่า “การบริหาร” และ “การจัดการ” หลายท่านก็คิดว่า อย่างนี้นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ คณะการจัดการ หรือคนทำงานในแวดวงบริหารจัดการก็คงสบายละซิ !!!
หากเป็นเช่นนั้นจริง จุดอ่อนประเทศไทยก็คงไม่ใช่เรื่องการบริหารจัดการแล้ว
นักศึกษาด้านนี้จำนวนมาก พอถูกถามถึงความหมายของการบริหารและการจัดการ ส่วนหนึ่งตอบได้เหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่นำไปปฎิบัติ (Implementation) ไม่ได้
อย่างนี้เรียนมาก็ไม่เกิดประโยชน์
ตรงกันข้าม นักศึกษาจำนวนมากกว่า ทั้ง ๆ ที่เรียนด้านนี้มา หรือแม้แต่คนทำงานด้านนี้ก็ยังตอบและนำไปปฏิบัติไม่ได้เลย
ทั้งหมด มันมาจากระบบการศึกษาทั้งสิ้น ระบบการศึกษาที่ฝึกนักศึกษาให้ช่วงชิงคะแนนมากกว่าความเข้าใจ ช่วงชิงการท่องจำมากกว่าการนำสู่การปฏิบัติจริง
ดูง่าย ๆ หลักสูตร Logistics ที่ปัจจุบันผู้ปกครองและนักศึกษาให้ความสนใจมาก แต่น้อยคนจริง ๆ ที่เรียนเพราะรู้ความหมาย น้อยคนจริง ๆ ที่รู้ว่า จะเอาไปใช้ประโยชน์ด้านใด ส่วนใหญ่เรียนตามความฮิต ตามคำแนะนำเท่านั้น
หากจะดูความหมายของคำว่า “การบริหาร” หรือ “การจัดการ” ในตำราเรียน ใน Google หรือในทฤษฎีต่าง ๆ เอาแค่นี้ คนอ่านก็งงแล้ว
แต่จะเอาง่าย ๆ ก็แค่ การบริหารคือการประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ให้ถูกต้องแม่นยำด้วยเครื่องมือทันสมัยมากมาย เมื่อถูกต้องแล้วก็มาจัดการแก้ไข ป้องกัน วางแผน ฝึกซ้อม ควบคุม และสั่งการให้เกิดการปฏิบัติ เท่านั้นเอง
มันสำคัญก็ที่แผนงาน หรือขั้นตอนการทำงานนี่ละ เมื่อวางได้แล้ว ฝึกซ้อมได้แล้ว พอเกิดเหตุขึ้นมาปั๊บแล้วยังปล่อยให้ล่าช้าถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่มีใครประกาศความรับผิดชอบออกมา ความล่าช้าที่จะเกิดครั้งหน้าก็ยังจะเกิดอีก
แผนดี ขั้นตอนดี แต่การนำสู่การปฏิบัติ (Implementation) ไม่เข้มงวดจริงจัง
อย่างนี้ มันก็วนเข้าสู่แนวทางเดิม พูดได้ ตอบได้ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง รับคะแนนไปโข แต่สอบตกอีกจนได้
แล้วก็วนกลับเข้าที่เดิมคือ “อย่างนี้ น่าจะเอาพนักงานโลตัสมาจัดการดีกว่า !!!”
ทางออกของประเทศไทยเวลานี้ ในเรื่องแบบนี้ มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ ความรับผิดชอบต่อการนำสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่างเข้มงวดเท่านั้น
บุคคลระดับบริหารมีเป็นร้อย ทำได้อย่างนี้ ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
การท่าเรือแห่งประเทศไทย ทุ่มงบ 7.5 พันล้าน พร้อมยกระดับท่าเรือกรุงเทพฯ หวังเป็น WORLD PORT ของโลก
นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาหารือยังกระทรวงคมนาคม เพื่อขอให้กระทรวงคมนาคมเข้าไปเร่งปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการให้บริการที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. เนื่องจากในปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพฯ ให้บริการขนส่งขนถ่ายสินค้าเข้า-ออกท่าเรือกว่า 1.5 ล้าน TEU/ปี ในขณะที่ขีดความสามารถรองรับการบริการที่ท่าเรือกรุงเทพฯ เพียง 1 ล้าน TEU/ปีเท่านั้น
ดังนั้น จึงมีนโยบายว่า ให้มีการปรับลดการใช้บริการท่าเรือกรุงเทพฯ ลง โดยท่าเรือกรุงเทพฯ เน้นรับส่งขนถ่ายสินค้าในประเทศเท่านั้น ส่วนการขนส่งขนถ่ายสินค้าเข้าออกระหว่างประเทศ ให้ไปใช้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)
อย่างไรก็ตามคาดว่า ปีนี้การขนถ่ายสินค้าทางเรือทั่วประเทศ ประเทศไทยรองรับได้มากกว่า 10 ล้าน TEU/ปี แบ่งเป็น ขนส่งสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ 1.5 ล้าน TEU/ปี ท่าเรือแหลมฉบังรองรับได้ที่ 7.2-7.5 ล้าน TEU/ปี ส่วนที่เหลือกระจายไปยังท่าเรือทั่วประเทศ โดยขณะนี้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือของประเทศไทยติด 1 ใน 4 ของอาเซียน และติด 1 ใน 21 ของอันดับโลก
นอกจากนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้เตรียมงบประมาณกว่า 7,500 ล้านบาท ที่จะเข้ามาปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพฯ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งเรื่องของการปรับปรุงคลังสินค้านำเข้าและส่งออกใช้งบประมาณ 4,971 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65, การปรับปรุงอำนวยความสะดวกการนำเข้าส่งออกสินค้าแบบวันสตอป เซอร์วิส ใช้งบปรับปรุงกว่า 2,500 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 63 และการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศ (Port Community System หรือ PCS) ระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ เพื่อให้มีความสะดวกสบายรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 63
ทั้งนี้ การดำเนินการต่างๆ เพื่อการปรับปรุงท่าเรือนั้น ในปี 61 กทท. จะตั้งงบประมาณเพื่อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อกำหนดร่างเงื่อนไขประกวดราคา โดยมีเป้าหมายให้ กทท. เป็นท่าเรือ “WORLD PORT” ของโลก
ที่มา: http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=10145.0