Logistics Corner

ฉบับที่ 477

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“บัญชีเรือ NSW”

ตัดสินคดีฮั้วจีทูจี สั่งจำคุก ‘บุญทรง’ 42 ปี ‘ภูมิ’ 36 ปี

‘เสี่ยเปี๋ยง’ 48 ปี พร้อมให้สยามอินดิก้ากับอภิชาติ และนิมลร่วมชดใช้ 16,912 ล้านบาท

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม 2560 น่าจะเป็นวันที่คนไทยติดตามข่าวกันการตัดสินของศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีการขายข้าวจีทูจีมากที่สุดวันหนึ่ง

ใน https://www.thairath.co.th/content/1049814 ได้สรุปผลการตัดสินข้างต้นโดยให้เหตุผลที่ศาลไม่เชื่อว่าเป็นการขายข้าวจีทูจีที่พอจะแยกเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้ ดังนี้

  1.  การทำสัญญาซื้อขายข้าวให้แก่รัฐวิสาหกิจจีน 2 แห่ง ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางจีน (COFCO)
  2.  การทำสัญญาซื้อขายข้าวไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐบาลกลางจีน
  3.  การซื้อขายเป็นสกุลเงินบาทไม่เป็นไปตามหลักสากล
  4.  การชำระเงินด้วยการโอนเงินภายในประเทศ
  5.  การจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็คที่ถือเป็นการเปิดช่องทางให้มีการนำข้าวที่ซื้อแล้วกลับมาเวียนขายในประเทศได้

ส่วนรายละเอียดอื่นเชื่อว่า ผู้ติดตามข่าวในวันนั้นคงทราบดีกันแล้ว

ทำไมรัฐบาลต้องขายแบบจีทูจี ???

จีทูจี หรือ G2G ย่อมาจากคำว่า Government to Government หมายถึง การซื้อขายสินค้าระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือประเทศต่อประเทศ

การที่รัฐบาลต้องขายแบบจีทูจีก็ด้วยเหตุผลหลัก ๆ เพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ

ประเทศผู้ขายต้องการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีการประมูลก็เพื่อช่วยเหลือประเทศผู้ซื้อหรือป้องกันการทุจริต และประเทศผู้ขายต้องการความช่วยเหลือจากประเทศผู้ซื้อกลับคืน

แน่นอนว่า รัฐบาลแต่ละประเทศไม่ว่าจะเป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อก็ตามย่อมมีกฎ ระเบียบ และขั้นตอนภายในของตน และทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผลที่ทำให้ศาลท่านไม่เชื่อว่า การขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวครั้งประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้เป็นแบบ จีทูจีจริง

นั่นคือ การตัดสินของศาลฯ ตามพยานหลักฐานที่แสวงหาได้

ส่วนจำเลยจะอุทธรณ์อย่างไร และศาลท่านจะรับฟังเพียงใด ก็เชื่อว่า ผู้ติดตามการเมืองก็กำลังรอคอยเช่นกัน

ในด้านคนทำการค้าระหว่างประเทศต่างก็รู้ดีว่า บัญชีเรือ (Shipping Manifest) ถือเป็นเอกสารที่ใช้ยืนยันการส่งออกที่น่าเชื่อถือที่สุด

การส่งออกทุกครั้งจะมีเอกสารพื้น ๆ เพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กลุ่มที่ผู้ส่งออกต้องทำกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มที่ผู้ทำการขนส่งสินค้าต้องทำอีกกลุ่มหนึ่ง

กลุ่มที่ผู้ส่งออกต้องทำประกอบด้วย Invoice, Packing list, Certificate of Origin, ใบรับรองน้ำหนักตู้สินค้า VGM (Verified Gross Mass) และใบรับรองทางการค้าอื่น

กลุ่มที่ผู้ทำการขนส่งต้องทำประกอบด้วยใบตราส่งสินค้า B/L (Bill of Lading), บัญชีเรือ (Shipping Manifest) และใบรับรองด้านการขนส่งอื่น

หากจะว่าไปแล้ว B/L มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าบัญชีเรือยิ่งนัก

ในอดีต บัญชีเรือเป็นเอกสารปึกใหญ่ที่ตัวแทนเรือบรรทุกสินค้า (Shipping Agent) ต้องทำเพื่อแสดงรายการสินค้าทุกประเภทที่เรือจะบรรทุก และทำก่อนที่เรือจะออกเดินทางจากท่าเรือประเทศต้นทาง

ข้อมูลพื้นฐาน คือ ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออกและผู้รับสินค้าปลายทาง ประเทศและเมืองท่าปลายทาง รายการสินค้า จำนวนหีบห่อสินค้า น้ำหนัก ปริมาตร เครื่องหมายและเลขหมายสินค้า และอื่น ๆ ตามที่กำหนด

เรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศลำหนึ่งส่วนใหญ่จะบรรทุกสินค้ามากมาย รายงานสินค้าในบัญชีเรือจึงมากและหนาตามไปด้วย

ก่อนเรือจะออกเดินทางและก่อนเรือเข้าเทียบท่า ณ ท่าเรือประเทศใดก็ตาม บัญชีเรือต้องยื่นล่วงหน้าไปยังด่านศุลกากร การท่าเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน การทำบัญชีเรือด้วยกระดาษปึกใหญ่ได้เปลี่ยนไปเป็นแบบ eManifest และเข้าสู่จอหน้าต่างเดียว NSW (National Single Window) กันแล้ว

NSW คือการบรรจุข้อมูลที่หน้าจอต้นทางเพียงจอเดียว ครั้งเดียว จากนั้นก็ใช้ร่วมกันตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงปลายทาง

การจะยืนยันว่า สินค้าใดมีการส่งออกหรือนำเข้า ณ ประเทศใดจริงจึงทำกันได้ง่าย ไม่ซับซ้อนเหมือนในอดีตด้วยการตรวจสอบในบัญชีเรือแบบ NSW ที่ว่านี้

ข้อมูลตั้งแต่ต้นทางที่สมบูรณ์ แก้ไขลำบาก จึงส่งกระจายทั่วโลกได้ง่าย

ดังนั้น หากผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าต้องการจะเล่นแร่แปรธาตุให้กับสินค้า ไม่ว่าเพื่อเจตนาดีหรือร้ายอย่างไรก็ตาม นับว่ายากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน หากข้าวที่อ้างว่าส่งออกแบบจีทูจีไม่เป็นความจริงตามคำตัดสินของศาลก็นับว่ากลุ่มผู้ก่อการเข้าใจระบบการค้าระหว่างประเทศไม่ลึกซึ้งพอ เงินเกี่ยวพันเป็นแสนล้านทำไมไม่ใส่ใจบัญชีเรือ NSW ที่เป็นหลักฐานชั้นดีนี้เลย

ตรงกันข้าม หากข้าวถูกส่งออกไปยังรัฐบาลประเทศจีนตามที่กล่าวอ้างเป็นจีทูจีจริง การอุทธรณ์ก็ยังนำบัญชีเรือแบบ NSW ที่แสดงผู้รับข้าวปลายทางคือ COFCO ตัวแทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนมาแสดงได้

อย่างนี้หลักฐานที่น่ารับฟังก็ยังพอมี

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

เร่งเอฟทีเอไทย-ปากีฯ คาดสรุปปีนี้ หวังลดอุปสรรค ขยายโอกาสการค้าไทยสู่เอเชียใต้

ไทย-ปากีสถานนัดเจรจาเอฟทีเอรอบที่ 8 หาข้อสรุปรูปแบบการลดภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า หวังเร่งสรุปภายในปีนี้

การเจรจาครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. 2560 ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าที่จะเร่งหาข้อสรุปเรื่องรูปแบบการลดภาษี (Modality) รายการสินค้าที่จะเปิดตลาดระหว่างกัน และกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า รวมถึงประเด็นคงค้างเกี่ยวกับข้อบทด้านกระบวนการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และประเด็นด้านกฎหมายอื่นๆ

ทั้งนี้ การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน จะช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี และช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกและนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบจากปากีสถาน ซึ่งยังมีทรัพยากรที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก ตลอดจนช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดการค้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกกลางได้มากขึ้นด้วย

ปัจจุบันปากีสถานเป็นตลาดใหญ่ มีประชากร 200 ล้านคน มีนโยบายที่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งนโยบาย Look East Policy ที่ต้องการส่งเสริมและขยายความสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ปากีสถานยังเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย โดยในปี 2559 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 38 ของไทยในตลาดโลก โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 สิงหาคม 2560