Logistics Corner

ฉบับที่ 478

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ความถูกใจ”

“โจทย์เตรียมตัวแล่เนื้อจากอกของจำเลย แต่ห้ามนำเลือดจากตัวอันโตนิโยไปแม้แต่หยดเดียว และห้ามเกินหนึ่งปอนด์แม้แต่นิดเดียวเพราะนั่นไม่มีในสัญญา ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะถูกประหารชีวิตและถูกริบทรัพย์กึ่งหนึ่งให้กับท้องพระคลังกลาง กึ่งหนึ่งเห็นควรให้อันโตนิโย”
คำกล่าวข้างต้น เป็นของนางปอร์เซียที่ปลอมตัวเป็นเนติบัณฑิตในชื่อบัลถะสาร์

นางกล่าวกับไชล๊อกในวรรณกรรมเรื่อง เวนิสวาณิช (The Merchant of Venice แต่งขึ้นในปี 1595 – 1597 โดย William Shakspeare’s)

(http://lit4teachers.blogspot.com/2016/04/blog-post_39.html)

เนื้อหาของวรรณกรรมข้างต้นคงไม่จำเป็นต้องให้รายละเอียด เชื่อว่า ผู้ใดต้องการอ่านก็คงหาอ่านได้ไม่ยากในโลกปัจจุบัน

ไชล๊อกจำนนด้วยหลักการและเหตุผล หากยืนยันตามสัญญาที่จะตัดเนื้อออกจากร่างของอันโตนิโยได้ ไชล๊อกก็ย่อมทำให้เลือดที่ไม่ได้ระบุในสัญญาไหลออกมา และเนื้อที่ตัดออกมาก็ไม่แน่ว่าอาจเกินหรือขาดจากหนึ่งปอนด์จนเป็นเหตุให้ตนผิดสัญญาก็ได้

ไชล๊อกอ้างสัญญาก็กลัวจะทำผิดสัญญาซะเอง แต่นั่นคือวรรณกรรม นั่นคือเรื่องที่แต่งขึ้นที่อาจมีส่วนคล้ายกับโลกแห่งความจริงไม่มากก็น้อย
ในโลกแห่งความจริง

ประเทศส่วนใหญ่ที่ยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะยึดหลักการปกครองที่แบ่งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการออกจากกัน ตามแนวคิดของมงแต๊สกีเยอเป็นหลัก (https://th.wikipedia.org/wiki/มงแต๊สกีเยอ)

มงแต๊สกีเยอ (Montesquieu) เป็นนักวิพากษ์สังคมและนักคิดทางการเมือง ชาวฝรั่งเศษ เป็นผู้เสนอแนวคิดแบ่งแยกอำนาจการบริหารประเทศออกเป็น 3 ฝ่าย

ต่างคนต่างทำหน้าที่ ไม่ให้ก้าวก่ายกันซึ่งกันและกัน หรืออาจแยกไว้เพื่อการถ่วงอำนาจกัน

เมื่อใดที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีสัญญาแบบเวนิชวาณิชหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล ระหว่างองค์กร หน่วยงานของรัฐ หรือแม้จะเป็นอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย หากข้อขัดแย้งไม่สามารถตกลงกันได้

ผู้ทำหน้าที่ตัดสินความย่อมเป็นศาลยุติธรรม

การพิจารณาของศาลจะอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐาน ภายใต้หลักการและเหตุผลที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

ตรงกันข้าม คู่ความส่วนใหญ่มักยึดความถูกใจเป็นเป้าหมาย และส่วนใหญ่มองว่า ความถูกใจคือความยุติธรรม อาจมีบ้างที่ยอมรับการตัดสินแม้ไม่ถูกใจ แต่ก็มีไม่มาก

การตัดสินคดีทางการเมืองและคดีเกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็เช่นกัน จำเลยส่วนหนึ่งยอมรับคำตัดสินของศาล ขณะที่จำเลยอีกส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ เกิดการวิจารณ์ทางสังคมจนมีการนำเอาคำของมงแต๊สกีเยอและวรรณกรรมเชกสเปียร์มาเปรียบเทียบให้เห็น

มันก็คือรูปแบบการไม่ยอมรับ หรือการยึดความถูกใจตนเป็นหลักไม่ต่างกัน

ในความเป็นจริง คู่ความที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ย่อมตระหนักได้ดีว่า พฤติกรรมที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นการทุจริตหรือไม่ เป็นการช่วยเหลือพวกพร้องหรือไม่ หรือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จริงหรือไม่

ในการนำเข้า การส่งออก การขอคืนภาษีอากร และการต่อสู้อุทธรณ์ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชย์ทางภาษี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้าน International Trade and Logistics ก็ไม่ต่างกัน
ในเบื้องต้น ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรมีพื้นฐานความรู้เบื้องต้นก่อน หากไม่รู้ อย่างน้อยก็ควรมีผู้ชำนาญการที่เป็นผู้ชำนาญการจริง ๆ เคียงบ่าเคียงไหล่ก่อน

ควรเข้าใจวิธีการที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้น ส่วนใดอาจขัดต่อกฎหมาย ส่วนใดอาจไม่ชัดเจน และส่วนใดอาจผิดพลาด

จากนั้น วิธีการป้องกันเบื้องต้นได้เตรียมการอย่างไร

ในหลายกรณี ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกกลับมองว่าวิธีการทำงานที่ทำอยู่นั้นถูกต้องแล้วโดยไม่ใส่ใจความเป็นจริงและหลักกฎหมายอีกด้านหนึ่งที่ควรรู้

หากยึดมั่นเพียงวิธีการทำงานที่ถูกใจโดยไม่ใส่ใจหลักความเป็นจริงหรือหลักกฎหมาย วันหนึ่ง เมื่อความถูกใจถูกกระทบด้วยความยุติธรรม

การไม่ยอมรับหรือความไม่ยินยอมพร้อมใจจนอาจนำคำของมงแต๊สกีเยอ หรือวรรณกรรมเวนิชวาณิชขึ้นมากล่าวอ้างก็อาจมีให้เห็นได้เช่นกัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

BANANA ART IN JAPAN  สักลายเปลือกกล้วยด้วยวัฒนธรรม

สวัสดีวันสารทจีนในปีนี้ตรงกับวันที่ 5 กันยายน ซึ่งหลายท่านน่าจะกำลังไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษกันอย่างพร้อมเพรียง เทศกาลสารทจีนมีความสำคัญสำหรับชาวจีน คือ เป็นช่วงเวลาที่ลูกหลานชาวจีนจะได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยการเซ่นไหว้ อีกทั้งยังเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายขึ้นมารับส่วนกุศลผลบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ไว้ได้อีกด้วย ถ้าพูดถึงผลไม้ ที่ชาวจีนนิยมซื้อมาไหว้กันอย่างมาก ก็คือ กล้วยหอม เพราะเชื่อว่าเป็นผลไม้แห่งความมั่งมี มีความหมายมงคลว่า ทำให้ครอบครัวเจริญงอกงามมีลูกหลานมากมายไว้สืบสกุล และสีเหลืองทองของกล้วยยังหมายถึงความมั่งมี ร่ำรวยเงินทองอีกด้วย นอกจากความหมายจะเป็นสิริมงคลแล้ว การรับประทานกล้วยหอมก็มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย

วันนี้เรามีข่าวเกี่ยวกับกล้วยหอมในญี่ปุ่นมาฝากท่านผู้ประกอบการกันค่ะ เผื่อจะเป็นไอเดียจุดประกายให้ผู้ประกอบการไทยได้ต่อยอดความคิดทางธุรกิจกันต่อไป ที่ญี่ปุ่นมีการตลาดแนวใหม่ สักลายเปลือกกล้วยด้วยวัฒนธรรม ซึ่งนำเสนอโดย บริษัท UNIFRUIT จำกัด ผู้นำเข้ากล้วยหอมรายใหญ่ในญี่ปุ่น ศิลปะการสักลายเปลือกกล้วย เป็นการนำเข็มหรือวัสดุปลายแหลม มาบรรจงเขียนลวดลายลงบนเปลือกกล้วยได้ตามใจชอบ การวาดภาพที่เปลือกกล้วยนั้น ยึดหลักการเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลจากสารแทนนินที่กระจายอยู่ตามเปลือกกล้วย โดยวิธีการวาดลวดลายนั้น ต้องทำอย่างเบามือไม่ให้ทะลุจึงจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับรสชาติและความสวยงามของผลที่อยู่ด้านใน กิจกรรมทางการตลาดนี้ นอกจากมีการโปรโมทผ่านทางเฟสบุ๊คของบริษัท UNIFRUTTI จำกัด แล้ว ยังมีการทำกิจกรรมอื่นๆ อาทิเช่น ติดโปสเตอร์ที่ร้านค้าปลีกหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต และจัดกิจกรรมให้ผู้บริโภคเข้าร่วมทดลองแกะสลักได้ โดยมีการจัดให้สอดคล้องกับแต่ละช่วงของฤดูของญี่ปุ่น เช่น จัดในช่วงเทศกาลเด็กผู้หญิงของญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ กล้วยหอมที่นำเข้าของบริษัท UNIFRUTTI จำกัด ส่วนใหญ่มีนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์เป็นหลัก

สมาคมนำเข้ากล้วยแห่งญี่ปุ่น (TOKYO CHIYODA) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจผู้บริโภค 1,100 คน ใน เดือนกรกฎาคม พบว่าผลไม้ที่นิยมทานบ่อยๆ คือ กล้วย เป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องมา 13 ปีสถิติการนำเข้ากล้วยของญี่ปุ่น ในปี 2016 มีการนำเข้า960,000 ตัน

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ากล้วยหอมเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานอย่างมากในญี่ปุ่น แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคที่เป็นวัยรุ่นไม่นิยมบริโภคกล้วยหอม จึงจำเป็นต้องทำกลยุทธ์การตลาดเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภค มีการซื้อกล้วยมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของสำนักพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ระบุว่า ปัจจุบัน “กล้วยหอมทอง” กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาด “ญี่ปุ่น” มีความต้องการบริโภคกล้วยหอมออร์แกนิกจากไทยสูงมาก ซึ่งผู้ส่งออกรายใหญ่ คือ “สหกรณ์การเกษตรท่ายาง” อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกรสวนกล้วยหอมทองกว่า 350 ราย สัดส่วนการส่งออกเป็น 20%  และจำหน่ายภายในประเทศ 80% ความต้องการของทั้ง 2 ตลาดยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี2557 สหกรณ์การเกษตรท่ายาง มีรายได้ทั้งส่งออกและจำหน่ายในประเทศรวม 60 ล้านบาท โดยส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นจำนวน 500 ตัน มูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท แต่ปี 2560 นี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 250 ตัน เพราะผลผลิตไม่เพียงต่อความต้องการตลาด ส่วนการจำหน่ายในประเทศปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,500 ตัน มูลค่า 54 ล้านบาท

ประเทศไทยสามารถปลูกกล้วยได้ทั่วทุกภาคของไทย ทั้งยังเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ ความคล่องตัวของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศค่อนข้างสูง กล้วยจึงเป็นผลไม้ที่น่าสนใจ และควรมีการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้กลายเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก รวมทั้งวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ในการส่งออกกล้วยนั้น ต้องมีการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานของแต่ละประเทศที่ทำการส่งออก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้คำแนะนำในการเพาะปลูกแก่เกษตรกร และ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีเทคโนโลยีการปลูกที่เหมาะสม หรือมีการพัฒนาปรับปรุงให้ได้คุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งควรให้ความรู้เกี่ยวกับความเข้มงวดในการตรวจสอบสารพิษตกค้าง โรคพืชและแมลง ของประเทศผู้นำเข้า ตลอดจนการบรรจุแพ็กกิ้งส่งออก ก่อนที่จะทำการส่งออกอีกด้วย

ที่มา http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/194010/194010.pdf&title=194010