CEO ARTICLE
“ยุคสมองกล”
ภาพยนต์เรื่อง ‘คนเหล็ก’ ในสมัยก่อน อาโนล ชวาเซเน็กเกอร์ เล่นเป็นคนเอกของเรื่อง
ผู้สร้างพยายามสื่อถึงวิวัฒนาการที่มนุษย์สร้างคอมพิวเตอร์ สร้างเทคโนโลยี สร้างหุ่นยนต์ จนกลายเป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะที่มีสมองกลคิดเอง สั่งการเอง
แล้วในที่สุด หุ่นยนต์สมองกลก็ลุกขึ้นมาสั่งการล้างเผ่าพันธ์มนุษย์เสียเอง
คนที่ดูภาพยนต์ในเวลานั้นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ หนึ่งไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงเพราะไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่มนุษย์จะพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีวิวัฒนาการที่มีสมองจนคิดเองและสั่งการเองขึ้นมาได้
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า มนุษย์มีความอยาก มีความทะเยอทะยานไม่สิ้นสุด ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่การพัฒนาดังกล่าวเอง
แล้วคำตอบก็ค่อย ๆ มาเฉลยที่ค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเป็นต้นเหตุให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาทำงานแทนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยออกแถลงการณ์ค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 ควรเท่ากันทั่วประเทศโดยควรอยู่ 600 – 700 บาท
จากนั้นก็เกิดการวิจารย์กันในวงกว้าง (https://www.thairath.co.th/content/1065179)
ทั้งปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานสภาอุตสหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่มนายจ้างต่างก็ลุกขึ้นมาให้ข้อมูลเป็นเสียงเดียวกันว่า ผลกระทบมีมากและไม่มีความเป็นไปได้เลย
ในเมื่อผลกระทบมีมากและเป็นไปได้ยาก แต่ทำไมฝ่ายแรงงานยังเสนอขึ้นมา ?
คำตอบในเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าครองชีพที่ปัจจุบันสูงขึ้นเรื่อย ๆ สินค้าและบริการบางอย่างมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นก็ต้องปรับราคาขึ้น ขณะที่บางอย่างถูกแอบปรับขึ้นเกินต้นทุนและบางอย่างต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาจำหน่ายกลับถูกปรับสูงขึ้น
แล้วทันทีที่ข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำควรเป็น 600-700 บาท เกิดขึ้น อุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นหลักก็ถูกผลกระทบโดยตรง
เมื่อใดค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นตามที่แถลงการณ์หรือไม่ก็ตาม ผู้ประกอบการก็มีทางเลือกไม่กี่ทาง
- ขยับราคาสินค้าสูงขึ้นตามต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น การขึ้นราคาก็ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพให้แก่แรงงาน ย้อนกลับไปให้แรงงานอยู่ไม่ได้เป็นวนเวียนขอขึ้นค่าแรงอีกไม่รู้จบ
- ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้ค่าแรงที่ถูกกว่าไทย ผลก็คือ คนไทยตกงาน ค่าแรงที่สูงขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้ใช้แรงงานน้อยลงจนตกงาน
- หาเครื่องจักร หาเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงาน ผลก็คือ คนไทยตกงานเช่นกัน
- เลิกทำกิจการ
ทางเลือกวนเวียนอยู่แค่นี้ ทุกทางเลือกจะเกิดขึ้นกระจายไปยังทุก ๆ ผู้ประกอบการ ในทางเลือกที่ 3 การสร้างเทคโนโลยีใหม่นี่เองที่จะทำให้เกิดหุ่นยนต์สมองกลขึ้นมา
มนุษย์เกิดมาแล้วต่างต้องกินต้องใช้ทุกวัน สินค้าอุปโภคและบริโภคเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต นี่คือเหตุผลที่ทำไม กิจกรรม Logistics จึงมีความจำเป็นในโลกปัจจุบัน
เมื่อแรงงานมีรายได้ไม่พอค่าครองชีพ เมื่อมีความพยายามขอเพิ่มค่าแรงทุก ๆ ปี และเมื่อมีการเลือกตั้ง มีนโยบายให้ได้คะแนนเสียง
สุดท้าย ค่าแรงขั้นต่ำก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน
การพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่ต่ำลง และเพื่อทดแทนการใช้แรงงานที่มีต้นทุนสูงขึ้นจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดยุคสมองกลดังที่กล่าวข้างต้น
ไม่ว่ายุคสมองกลจะเกิดขึ้นจริง หรือการล้างเผ่าพันธ์มนุษย์โดยหุ่นยนต์สมองกลตามแบบภาพยนต์ ‘คนเหล็ก’ จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลทุกประเทศควรทำคือ
การควบคุมราคาสินค้าและบริการให้มีราคาขายสัมพันธ์กับต้นทุนอย่างเหมาะสม
รัฐบาลมีเครื่องมือมากมาย มีบุคลาการที่มีความรู้มากมาย และมีกฎหมายอำนวยความสะดวกในมือ ดังนั้น การควบคุมราคาสินค้าและบริการจึงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง
หากราคาสินค้าและบริการได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม แรงงานก็ย่อมสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข การขึ้นค่าแรงก็จะเป็นไปอย่างมีหลักการและเหตุผล
การควบคุมราคาสินค้าและบริการ จึงทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผลกระทบจากค่าแรงที่ขึ้นอย่างรุนแรง
สุดท้ายก็ทำให้ยุคสมองกลตามบทภาพยนต์มีความรอบครอบมากขึ้น การพัฒนาก็น่าจะมีความปลอดภัยมากขึ้นเช่นกัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
‘BRICS’ เน้นต้านกีดกันการค้า-หนุนเปิดเสรีลงทุน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญต่อวงการเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้น ซึ่งหลายๆท่านน่าจะติดตามข่าวกันอยู่ การประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายใหญ่ (BRICS) กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries Dialogue หรือ EMDCD) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน ที่เมืองเซี่ยเหมิน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน โดยมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นเจ้าภาพต้อนรับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ประธานาธิบดีมิเชล เทเมอร์ของบราซิล นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย และประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมาจากแอฟริกาใต้
นอกจากนี้ จีนในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ได้เชิญประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ มีเอกลักษณ์ และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ดีกับจีน จำนวน 5 ประเทศ ในฐานะแขกของประเทศเจ้าภาพอีกด้วย ได้แก่ (1) ไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสาคัญและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน (2)สหรัฐเม็กซิโก ในฐานะประเทศสมาชิกกลุ่ม 20 และตัวแทนจากภูมิภาคลาตินอเมริกา (3) สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในฐานะประเทศจากภูมิภาคตะวันออกกลาง (4) สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของจีน และ (5) สาธารณรัฐกินี ในฐานะประธานสหภาพแอฟริกา (African Union หรือ AU)
และวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกลุ่มบริคส์กันค่ะ BRICS เป็นชื่อกลุ่มประเทศเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการย้ายอำนาจของเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มาสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อันประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) โดยชื่อเรียก BRICS ไม่ได้มาจากการตั้งของประเทศสมาชิกเอง แต่เกิดการรวมตัวขึ้นภายหลังการเรียกขานนามว่า BRICS ประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มประเทศ BRICS มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยประเทศ BRICS ทั้ง 5 ประเทศ เมื่อรวมกันแล้วมีพื้นที่มากถึงร้อยละ 30 ของทั้งโลก มีจำนวนประชากรมากถึงร้อยละ43 ของโลก และยังมีผลผลิตทางการเกษตรมากถึงร้อยละ 45 ของโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ร้อยละ 21 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก
แต่มีมูลค่าการค้าสินค้าและบริการเพียงร้อยละ 17.3 และ 12.7 ของการค้าสินค้าและบริการในตลาดโลก ตามลำดับ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRICS ยังเติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพที่แท้จริง ดังนั้นในอนาคตหากกลุ่ม BRICS สามารถรวมกลุ่มกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการส่งเสริมการค้าการลงทุนทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม BRICS ที่ชัดเจน การเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ BRICS จะเป็นที่จับตามองของนานาชาติในฐานะประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูง
แนวทางการขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศโดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free trade agreement : FTA) นอกจากช่วยลดอุปสรรคทางการค้าอันเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างกันแล้ว ยังเป็นประตูสู่ความตกลงและความร่วมมือด้านอื่นๆ นอกจากนั้น การทำความตกลงการค้าเสรียังเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชน ทั้งผู้ค้า ผู้ลงทุน ตลอดจนผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงความสำคัญของคู่เจรจา FTA ด้วย เมื่อพิจารณาสถิติการค้า การลงทุนระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ BRICS พบว่าได้ขยายการค้ากันมากขึ้น แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยใน BRICS ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าการค่าที่เพิ่มขึ้นของไทยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ในกลุ่มประเทศ BRICS ไม่ได้มาจากความสามารถการรุกตลาดในกลุ่มประเทศBRICS ของไทย
ในกลุ่มประเทศ BRICS นั้น ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับ 2 ประเทศเท่านั้น คือ จีนและอินเดีย ไทยจึงควรพิจารณาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศกลุ่ม BRICS ที่เหลือ อย่างไรก็ตามในการเจรจานั้นต้องศึกษาผลกระทบจากนโยบายการค้าการลงทุนของกลุ่มประเทศ BRICS เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการเจรจาความตกลงการค้าเสรีด้วย
ในโอกาสหน้าเราจะพาไปล้วงลึกข้อมูลของแต่ละประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS กันต่อนะคะ
แหล่งข้อมูล: http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/6362, http://www.itd.or.th/th/