Logistics Corner

ฉบับที่ 480

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ซุปเปอร์ชาวบ้าน”

                หน้าฝนปี 2560 บนถนนในเขตกรุงเทพฯ ภาพคุณลุง คุณป้าเข็นรถขายสินค้าต่าง ๆ เดินฝ่าสายฝนกลับที่พักในตอนค่ำดูเหมือนจะเป็นภาพให้เห็นจนชินตา

บางวัน บางท่านก็อาจจะเห็นภาพการเข็นรถบนพื้นผิวจราจรที่เสี่ยงต่อการถูกรถเฉี่ยวชน หรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

การอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองเศรษฐกิจมักมีเหตุผลหลักเพียงข้อเดียวคือ การไม่สามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขได้ในถิ่นอยู่เดิมในต่างจังหวัดเดิมซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ

ในโลกของทุนนิยม ที่เงินเป็นใหญ่ เมื่อความเจริญบุกเข้ามาในหมู่บ้านและรุกเข้าไปกินผืนป่า ทำให้ชีวิตประจำวันถูกกระทบไปมาก

ในอดีต ชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าสามารถเดินเข้าไปในป่าเพื่อหาพืช ผลไม้ และสัตว์ป่านำกลับมาปรุงเป็นอาหาร ชีวิตไม่เดือดร้อน

ป่าจึงเป็นซุปเปอร์มาร์เกตชั้นดีของชาวบ้านที่มีอาหารให้เดินเข้าไปเลือกชอปปิ้งได้ทุกวัน

มาถึงวันนี้เป็นที่ทราบกันดีกว่า ป่าหลายแห่งถูกบุกรุกจนหมดสภาพป่า ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เคยมีอาหารให้เก็บกินทุกวันหมดสภาพตามไปด้วย

ชาวบ้านหมดทางเข้าไปชอปปิ้ง หรือชอปได้ก็น้อยจนไม่พอกิน

พืช ผลไม้ และสัตว์ป่าที่เคยนำมาเป็นอาหารในชีวิตประจำวันกลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินซื้อ  แล้วชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างไรนอกจากการหาเงินมาซื้อ

มันกระทบต่อความสุขที่เคยได้รับ เมื่อหาได้ไม่พอกิน สุดท้ายการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาหากินในเมืองเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นจนเป็นภาพคุณลุง

ภาพคุณป้าเดินฝ่าสายฝนเข็นรถขายสินค้ากลับที่พักจึงมีให้เห็นข้างต้น

ป่าจึงเป็นวิถีชุมชนที่สามารถดึงดูดชาวบ้านให้อยู่อย่างมีความสุขได้ แต่วันนี้ ภาพข่าวบริษัทในเครือของกระทิงแดงสร้างโรงงานในเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ‘ห้วยเม็ก’ จนถูกร้องเรียน

แล้วในที่สุดก็นำไปสู่การยินยอมยกเลิกโครงการ

เมื่อมีการตรวจสอบลึกลงไปก็พบความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ชาวบ้านบางส่วนเห็นด้วยกับโครงการเพราะจะมีการจ้างแรงงานชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เกิดระบบการค้า และเกิดระบบ Logistics ขึ้น แต่ก็เป็นการเกิดที่ส่งผลกระทบโดยมีการปิดบังไว้

ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็คัดค้าน แต่กลับไม่มีรายงานการคัดค้านสักรายเดียว

การตรวจสอบยังพบอีกว่า ป่า ‘ห้วยเม็ก’ เป็นป่าสมบูรณ์ แต่มีการสร้างคันกั้นน้ำในป่าจนน้ำไม่สามารถระบายออกมากลายสภาพเป็นแอ่งน้ำที่ต้นไม้ยืนต้นเริ่มล้มตาย

รายงานข่าวยังเชื่อว่าหากไม่มีข้าราชการร่วมด้วยช่วยกัน การบุกรุกป่าขนาดนี้ทำไม่ได้แน่ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีป่า และทำลายซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านให้หมดไป

พอข่าวออกมาใหม่ ๆ กระทิงแดงก็ประกาศยอมถอย ยอมทิ้งสิ่งปลูกสร้างและเงินที่ลงทุนแม้จะสูญเสียเงินขนาดไหนก็ไม่หนักเกินไปสำหรับกระทิงแดงนอกจากต้องรักษาภาพลักษณ์ไว้

แต่ชาวบ้านซิแย่กว่า เพราะต้องสูญเสียซุปเปอร์มาร์เก็ตไป ซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านถูกทำลายไม่ว่าโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แล้วจะต้องรออีกสักกี่ปีกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านจะกลับคืนมา

รัฐบาลมีหน้าที่แก้ไขปัญหา และป้องกันมิให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก แต่ทุกรัฐบาลต้องเผชิญปัญหาสังคมและเศรษฐกิจรอบด้าน

เมื่อเจอปัญหาหนึ่งก็แก้ปัญหาหนึ่ง หากไม่แก้ปัญหาหนึ่งให้เสร็จสิ้น ทุก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลต่อปัญหาอื่นให้ยาวเป็นลูกโซ่จนแก้ไม่ไหวไปเรื่อย ๆ

วันนี้ รัฐบาลจึงเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องเอาจริงเอาจังในการรักษาผืนป่าให้เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านให้อยู่อย่างยั่งยืนซึ่งสามารถแก้ไขปัญาสังคมและเศรษฐกิจส่วนหนึ่งไปในตัว

รัฐบาลต้องส่งเสริมวิถีชาวบ้านให้อยู่ร่วมกันกับป่าโดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นผู้กำกับดูแล ขณะที่เป็นข่าวก็มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้มีกำลังไม่เพียงพอ ส่วนคนจบปริญญาตรีทั่วประเทศที่ว่างงานกลับมีมากมาย

ทุก ๆ ปัญหามีทางออก แล้วซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านก็เป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (Brazil ตอนที่ 1)

เมื่ออาทิตย์ก่อนได้พูดถึง BRICS ไว้ วันนี้ก็เลยมีข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิกในกลุ่มมาฝากกันค่ะ

โดยเริ่มจากตัว B – Brazil กันก่อนเลย ประเทศบราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ (อันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพื้นที่ประมาณ 8,511,965 ตารางกิโลเมตร) แต่ประเทศบราซิลนั้น มีข้อจำกัดทางด้านระบบคมนาคมขนส่งที่ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีนโยบายพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศอย่างต่อเนื่อง การขนส่งสินค้าในบราซิลส่วนใหญ่จะเป็นทางถนนและทางราง โดยมีสัดส่วน ในปี 2010 แบ่งเป็นทางถนน 58% ทางราง 25% ทางน้ำ (ทางทะเลและเส้นทางน้ำบนบก) 13% และ ทางอากาศ 14% โดยระบบคมนาคมขนส่งของบราซิลขยายครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่มีคุณภาพในระดับปานกลางถึงต่ำก่อให้เกิดการสูญเสีย (ทางการเงิน) แก่ภาคเอกชนและประชาชนโดยทั่วไป

รัฐบาลกลางจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยได้กำหนดโครงการขนาดใหญ่ขึ้น 2 โครงการ คือ (1) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (PAC) ในปี 2007 ซึ่งภาครัฐสนับสนุนเงินทุน และ (2) โครงการลงทุนพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าในปี 2012 โดยเปิดให้เอกชนได้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย แผนการจัดการการขนส่งสินค้าระยะยาวของบราซิลมุ่งเน้นวางเครือข่ายการคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยครบวงจรและมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง ลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2020 คิดเป็นมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.5 ล้านล้านบาท) เป้าหมายคือขยายทางหลวงระยะทาง 7,500 กิโลเมตร สร้างทางรถไฟยาว 10,000 กิโลเมตร ปรับปรุงท่าเรือเดิม (ทางทะเลและเส้นทางน้ำบนบก) พร้อมสร้างท่าเรือใหม่ และพัฒนาสนามบินจำนวน 270 แห่งทั่วประเทศ

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาคือ ระบบการจัดการการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านความปลอดภัยในการขนส่ง เนื่องจากเกิดเหตุปล้นชิงทรัพย์และลักทรัพย์ที่มีอยู่สูงมาก จึงทำให้มีตัวเลือกในการขนส่งน้อยและต้นทุนในการประกันสินค้ามีมูลค่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ในบางครั้งบริษัทจำเป็นต้องแบ่งการลำเลียงสินค้าออกเป็นชุดย่อยเพื่อลดความเสี่ยงในระหว่างขนส่งนี้

รอบนี้นำข้อมูลมาฝากกันเท่านี้ก่อน

​น​ะคะ คราวหน้าจะพาไปเจาะลึกระบบคมนาคมขนส่งต่างๆ ของบราซิลกันต่อค่ะ

ที่มา: www.itd.or.th