CEO ARTICLE
“เงินใต้โต๊ะ”
วันที่ 26 ตุลาคม 2560 วันแห่งน้ำตาของคนไทยอีก 1 วัน
หากจะนับประชาชนในประเทศไทย คงมีหลายสิบล้านคนที่เข้าร่วมพิธีส่งเสด็จสู่สวรรค์คาลัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในครั้งนี้
แต่หากนับประชาชนที่เข้าร่วมในต่างประเทศแล้ว เชื่อว่าคงมีอีกมาก
คนเกือบทั้งหมดต่างต้องอดทนรอคิวหลายชั่วโมง บางแห่งต้องตากแดด ตากฝน บางคนรอข้ามคืนและข้ามวัน ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
“ลำบากแค่นี้ยังไม่ถึงเศษเสี้ยวของพระองค์ท่าน ในหลวงรัชกาลที่ 9”
แล้วทุกคนก็รอด้วยรอยยิ้มอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนรักในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่จะมีประชาชนคนไทยสักกี่คนที่จะน้อมนำคำสั่งสอนของพระองค์ท่านในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนมาเป็นหลักปฏิบัติในการดำรงชีวิต
3 ห่วงประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน
2 เงื่อนประกอบด้วย เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม
ใครรักพ่อจริงก็ควรทำให้ได้อย่างที่พ่อสอน
การที่คนไทยรักในหลวง แต่น้อมนำคำสั่งสอนของท่านมาเป็นหลักปฏิบัติได้น้อยนั้น หนึ่งในหลายสาเหตุก็น่าจะเกิดจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบเอาจริงเอาจังน้อยเกินไป
ในอดีต ไม่มีใครเชื่อว่า ลูกเทพจะเข้ามาอยู่ในกระแสอย่างล้นหลาม
เวลานั้น ภาพคนดูแลตุ๊กตาอย่างดียิ่งกว่าพ่อแม่ตนเองและอุ้มออกเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากอย่างน่าใจหาย
การวิจารย์ในสังคมมีทั้งคนเห็นชอบและต่อต้าน จากนั้นการตลาดก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือตั๋วเครื่องบิน ที่พัก คูปองอาหาร และการปลุกเสกเพื่อสนองความต้องการ
จนกระทั่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. และบริษัทขนส่งจำกัด หรือ บขส. ออกมาประกาศให้ตุ๊กตาลูกเทพเป็นสัมภาระ แล้วรีสอร์ทและโรงแรมก็ประกาศห้ามนำตุ๊กตาลูกเทพเข้าพื้นที่
สุดท้าย สำนักพุทธศาสนาก็ประกาศออกตรวจวัดที่รับปลุกเสก จนทำให้คนอุ้มตุ๊กตาออกเที่ยวขาดความมั่นใจทันทีบางรายถึงกับนำไปทิ้งที่วัด
แล้วยอดขายตุ๊กตาก็ตกลงพร้อม ๆ กับราคาในท้องตลาดที่ลดลงตามหลักเศรษฐศาสตร์ เพียงเท่านี้ เรื่องราวของลูกเทพก็ค่อย ๆ เบาลงและหายไปในที่สุด
มาถึงปัจจุบัน กรมศาสนาและพระผู้ใหญ่เริ่มเข้ามาจัดระเบียบวัด มีการห้ามวางจำหน่ายวัตถุมงคลในเขตอุโบสถ และข้อห้ามอื่น ๆ จนทำให้ศาสนาเริ่มดีขึ้น
ทั้งหมดนี้คือ การที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบเข้ามาเอาจริงเอาจังนั่นเอง
แล้วลองดูปัญหาเงินใต้โต๊ะในงานที่เกี่ยวข้องกับตัวแทนออกของ (Customs Broker) ดูบ้าง
วันนี้ ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินใต้โต๊ะมีจริงหรือไม่ แต่หากสมมติว่าเงินใต้โต๊ะมีจริง มันก็ขัดกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชัด ๆ ทั้งในเรื่องความพอประมาณ ความมีเหตุผล และคุณธรรม
ในอดีต เคยมีการพิสูจน์ เคยมีการจับได้ แล้วก็เงียบหายไป แต่ภายใต้สมมติฐานว่ามีจริง เงินใต้โต๊ะก็น่าจะพัวพันอยู่กับคน 3 กลุ่มเท่านั้น
ผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสินค้า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และตัวแทนออกของ
หากเป็นเรื่องจริงแล้ว 3 กลุ่มนี้สามารถประสานผลประโยชน์กันลงตัว เชื่อว่า เงินใต้โต๊ะก็ไม่มีใครปราบได้ ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน
แล้วหากเป็นเรื่องจริง เงินใต้โต๊ะนี่ล่ะที่จะทำให้คำว่า “ชิปปิ้ง” กับ “ตัวแทนออกของ” เป็นอาชีพที่ต่างกันราวกับฟ้าและดิน
“ชิปปิ้ง” (Shipping) เป็นงานสากล จะทำงานในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ตรงไปตรงมา เลี้ยวลดกันยากลำบาก
“ตัวแทนออกของ” (Customs Broker) เป็นงานท้องถิ่น จะทำงานในกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับพิธีการศุลกากรเป็นหลัก ตรงไปตรงมาก็มี เลี้ยวลดก็มี
งานตัวแทนออกของจึงมีโอกาสสัมผัสกับเงินใต้โต๊ะมากกว่างานชิปปิ้ง
ทั้งชิปปิ้งและตัวแทนออกของต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของงาน Logistics แต่ทำไมคนทำอาชีพ “ตัวแทนออกของ” จึงมักเรียกตัวเองว่า “ชิปปิ้ง” ทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แล้วทำไม เงินใต้โต๊ะที่ได้แต่สมมติกัน แต่ในความจริงจังกลับทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลง
หากจะเปรียบเทียบกับลูกเทพ หรือการจัดระเบียบกิจกรรมทางศาสนาข้างต้น วันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาเอาจริงเอาจังจนคลี่คลายได้อย่างเป็นระเบียบ
ปัญหาเงินใต้โต๊ะก็เช่นกัน มีผู้เสนอมากมาย มีระเบียบออกมามากมาย แต่สุดท้ายปัญหาก็ยังวนเวียนไม่รู้จบซึ่งก็น่าจะเป็นการขาดการเอาจริงเอาจังจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเช่นกัน
เงินใต้โต๊ะ วันหนึ่งก็ต้องหมดไป
มันเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ออกมาเอาจริงจังกันซะแต่วันนี้
รักพ่อก็น่าจะทำอย่างที่พ่อสอนให้ได้ทั้งจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบและตัวแทนออกของ
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (Russia ตอนที่ 1)
ภาพรวมด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) หรือประเทศรัสเซีย ตั้งอยู่ทั้งในทวีปเอเชียตอนเหนือและทวีปยุโรป มีเทือกเขาอูราล (Ural mountains) เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทั้งสองทวีป พื้นที่ 2 ใน 3 ของรัสเซียอยู่ในทวีปเอเชีย แต่พื้นที่เศรษฐกิจ เช่น มอสโกว์ และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อยู่ในฝั่งยุโรป รัสเซียมีขนาดพื้นที่ 17.08 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามขนาดพื้นที่ โดยมีระยะทางจากด้านตะวันออกจรดด้านตะวันตก 9,000 กิโลเมตร และจากด้านเหนือจรดใต้มีระยะทาง 4,000 กิโลเมตร มีพื้นที่ติดกับมหาสมุทรอาร์กติกและมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ประเทศรัสเซียมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีจำนวนประชากรถึง 145 ล้านคนและมีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า high-income mixed economy โดยรายได้หลักของประเทศกว่าร้อยละ 60 มาจากภาคพลังงาน เนื่องจากประเทศรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก
ในด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยภาพรวมประเทศรัสเซียนั้นยังขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากยังคงมีความล่าช้าในการปฏิรูปสาธารณูปโภคพื้นฐาน และกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของการค้า/การลงทุน อุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยว และทางรัฐบาลเองก็ยังคงมีนโยบายทางเศรษฐกิจหลักของประเทศ ก็คือการส่งเสริมการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะกระตุ้นด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ การคมนาคมของประเทศรัสเซียนั้นสามารถเรียกได้ว่าเป็นโครงข่ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแห่งหนึ่งอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ระบบคมนาคมในเมืองหลัก เช่น มอสโกว์ และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเฉพาะระบบสาธารณะอย่างรถไฟใต้ดินนั้นถือว่าดีมาก มีโครงข่ายขนาดใหญ่และมีผู้ใช้บริการมาก แม้การจราจรทางถนนนั้นจะค่อนข้างคับคั่งและติดขัด อุตสาหกรรมการขนส่งเติบโตอย่างมากจากการเติบโตของกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งส่วนใหญ่คือการขนส่งก๊าซและน้ำมันผ่านท่อส่ง ซึ่งมากกว่า 50% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด รองลงมาคือ ทางราง (42%) ส่วนทางอากาศ น้ำ และบก รวมกันไม่ถึง 5%
ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th