CEO ARTICLE
“เก่ากับใหม่”
วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 จะเป็นวันที่ชัดเจนว่า พ.ร.บ. ศุลกากรที่เคยใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2469 เรื่อย ๆ ต่อเนื่องกันมาหลายปีส่วนหนึ่งรวมแล้ว 24 ฉบับ จะถูกยกเลิกไป
เนื้อหาสาระมากมายทั้งหมดจะถูกปรับปรุงรวบรวมไว้ใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 เพียงฉบับเดียว และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2560
แน่นอนว่า ตัวแทนออกของ (Customs Broker) ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และเจ้าหน้าที่ศุลกากรคงต้องปรับตัวตามไปด้วย
91 ปีที่ผ่านมา พ.ร.บ. ศุลกากรเริ่มใช้ฉบับแรกในปี พ.ศ.2469 จากนั้นก็มีการออก พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ๆ มาเพิ่มเติม แก้ไข และปรับปรุงอีกหลายฉบับ
ตลอดระยะเวลา 91 ปี กลับกลายเป็นว่า พ.ร.บ. ศุลกากรมีมากเหลือเกิน หากรวมประกาศ คำสั่ง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว เวลาจะนำมาบังคับใช้ก็ต้องอ้างอิงอย่างซับซ้อนไปมาจนกลายเป็นความยุ่งยาก
ครั้งนี้จึงเป็นการปรับปรุงขนานใหญ่ทั้งขบวนที่เชื่อว่าน่าจะสะดวกต่อการใช้และอ้างอิง
ใน พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469 เมื่อเกิดความผิดฐานสำแดงเท็จ ภาษีอากรขาด หรือการฉ้อภาษีอากร ส่วนใหญ่จะอ้างอิงมาตรา 27 และ 99 เป็นหลัก
โทษที่มีก็ทั้งปรับและจำคุกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปรับเกือบทั้งนั้น
แต่ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 หมวด 9 ได้จำแนกความผิดให้มากขึ้น บทลงโทษก็มากขึ้น ในมาตรา 202 ถึง 257 ได้รวบรวมบทลงโทษทั้งปรับและจำเหมือนกัน แต่ระดับโทษจะสูงขึ้นในระดับ 100,000 หรือ 500,000 บาท และจำคุก 5 ปี หรือ 10 ปี ต่างกรรมต่างวาระ แล้วแต่ฐานความผิด
ตัวอย่างเช่น มาตรา 202 ระบุว่า
“ผู้ใดยื่น จัดให้ หรือยอมให้ผู้อื่นยื่นใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูลซึ่งเกี่ยวกับการเสียอากรหรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ อันอาจก่อให้เกิดความสําคัญผิดในรายการใด ๆ ที่ได้แสดงไว้ในใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูลดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท” เป็นต้น
การปรับปรุงครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ตัวแทนออกของพึงต้องให้ข้อมูล ความรู้ แก่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกอย่างมาก เนื่องจากโทษที่เกี่ยวข้องมากเหลือเกิน
พ.ร.บ. ศุลกากรที่เด่น ๆ และถูกยกเลิกไปในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นฉบับปี พ.ศ.2482 ที่เป็นเสนห์ก็คงหนีไม่พ้นมาตรา 19 ทวิ
มาตรา 19 ทวิ ว่าด้วยของที่มีการนำเข้ามาเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดเพื่อส่งของนั้นออกไปนอกราชอาณาจักรและขอคืนอากรที่ชำระขณะนำเข้า
ความมีเสน่ห์ดำรงอยู่ถึง 78 ปี ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างรู้จักกันดี บางท่านก็เรียกสลับกันเป็น ทวิ 19 ก็มี
เรียกถูก เรียกผิด ไม่มีการว่ากัน แต่ทุกท่านรู้ เข้าใจเนื้อหา และได้ใช้ประโยชน์ด้วยการนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตเป็นสินค้าส่งออกและขอคืนอากรขาเข้ากันทั้งนั้น
ในเมื่อมาตรา 19 ทวิ เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ใน พรบ. ศุลกากร 2560 จึงยังมีบัญญัติไว้ เนื้อหายังเหมือนเดิมทุกประการ แต่กำหนดอยู่ในมาตรา 29 แทน
มาตรา 19 ทวิ จึงเสมือนเหล้าเก่าบรรจุในขวดใหม่เท่านั้น ขณะที่เนื้อหาอื่นก็อาจเป็นเหล้าใหม่เข้ามาบรรจุในขวดใหม่ให้ดูเข้มข้นขึ้น
กฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ เนื้อหาถูกปรับปรุง เลขที่มาตราถูกเปลี่ยนไป หลายเรื่องหลายราวเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่จริง ๆ และอีกหลายเรื่องราวก็เป็นเหล้าใหม่ในขวดใหม่ ทั้งหมดจึงดูคล้ายเหล้าและขวดที่มีทั้งเก่าและใหม่ผสมกัน
เก่าและใหม่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
วันนี้ ไม่มีใครฟันธงว่า กฎหมายที่ถูกปรับปรุงครั้งนี้จะยังมีเสน่ห์ให้หลงเหลือเพียงใด หรือจะเป็นภาระหนักต่อตัวแทนออกของ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และเจ้าพนักงานศุลกากรมากน้อยเพียงใด
แต่สิ่งที่พอจะเห็นชัดเจนคือ หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ศึกษา ไม่ทำความเข้าใจ
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 ในครั้งนี้ก็อาจเป็นเหล้าใหม่ในขวดใหม่ที่สร้างภาระและความปวดเษียรเวียนเกล้าก็ได้
การนิ่งดูดายของใหม่ และจดจำแต่เพียงของเก่าจึงเป็นความเสี่ยง ไม่ว่าตัวแทนออกของ (Customs Broker) ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้เกี่ยวข้องจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ
การตื่นตัวในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (Russia ตอนที่ 2)
การคมนาคมขนส่งทางบกในรัสเซีย
ระบบขนส่งทางถนนของประเทศรัสเซียนั้นครอบคลุมประมาณ 933,000 กิโลเมตร โดยที่ได้รับการปรับปรุงแล้วประมาณ 755,000 กิโลเมตรเท่านั้น อีกทั้งสภาพถนนในพื้นที่บางแห่งยังไม่ดีนัก ถนนและการขนส่งทางบกร้อยละ 85 ของถนนอยู่ในรัสเซียตะวันตก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในแถบนั้น โครงสร้างพื้นฐานทางถนนค่อนข้างด้อยพัฒนา เครือข่ายการขนส่งทางถนนนั้นไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน กล่าวคือสนามบิน 8 ใน 12สนามบินหลักไม่มีการเชื่อมโยงโดยรถไฟ ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุด 16 แห่งของประเทศไม่มีทางออกโดยตรงที่สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายถนนทางหลวงได้และถนน 34 เส้นที่อยู่ในเครือข่ายของถนนยุโรปและเอเชีย มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น ที่เป็นถนนหลวงหลายเลน
การขนส่งภายในประเทศกว่าร้อยละ 40 ใช้การขนส่งทางราง เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าได้จำนวนมากต่อครั้ง และมีเส้นทางเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลได้ดีกว่าการขนส่งโดยรถยนต์ จึงทำให้มีการใช้ระบบรางหรือรถไฟมากกว่า และสินค้าหลักที่ขนส่งทางรถไฟคือ วัสดุก่อสร้าง (19%) น้ามัน (18%)สินแร่ (12%)
เส้นทางการเดินรถไฟสายสำคัญดังนี้
- รถไฟสายTrans – Siberian Railway
เป็นเส้นทางรถไฟสายหลักของประเทศที่เชื่อมระหว่าง Moscow ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ไปยังเมือง Vladivostok ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางตะวันออกของประเทศ รวมระยะทาง 9,288 กิโลเมตร โดยใช้เวลาในการขนส่งรวม 7 วัน ทั้งนี้ จาก Moscow มีทางรถไฟเชื่อมต่อไปยังSt.Petersburg ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ และทวีปยุโรปได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าจากรัสเซียต่อไปยังยุโรปต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟ เนื่องจากรางรถไฟของรัสเซียกว้างกว่ารางรถไฟของประเทศในยุโรป
- รถไฟสายTrans – Mongolian Railway
เป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่าง Moscow ไปยังเมือง Manzhouli บริเวณชายแดนสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังเมือง Harbin (มณฑลเฮย์หลงเจียงของสาธารณรัฐประชาชนจีน) และต่อไปยังกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นเส้นทางที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถเชื่อมจากรัสเซีย ไปยังคาซักสถาน และจีนภาคตะวันตก ซึ่งจีนมีแผนสำคัญระบุในแผนพัฒนาประเทศคือการพัฒนาฝั่งตะวันตกของประเทศให้เชื่อมสู่ทะเล ซึ่งในอนาคตอันใกล้จีนได้เตรียมการเชื่อมต่อจากจีน ภาคตะวันตก ผ่านลาว เข้าไทย และออกสู่อ่าวไทยได้ต่อไป ดังนั้น “ทางรถไฟสายนี้จึงสามารถเชื่อมต่อถึงไทยได้”
- รถไฟสายTrans – Manchurian Railway
เป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่าง Moscow ไปยังมองโกเลียและเชื่อมต่อไปยังกรุงปักกิ่ง
ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th