LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 488

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ตัวแทนออกของ”

อาชีพ ‘ตัวแทนออกของ’ ทำกันยากมั้ย ???

หากคำถามนี้ ถามกันในยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือย้อนหลังกลับไป คำตอบก็น่าจะไม่ยากเท่าไรนัก บางคนก็อาจตอบว่า ‘ง่าย’ ด้วยซ้ำไป

ทำไมหรือ ???

เวลานั้น ใครพอเข้าใจพิกัดอัตราศุลกากร ผู้นั้นก็พอจะเขียนใบขนสินค้าขาเข้าและขาออกได้ หากมีคนมาว่าจ้าง ผู้นั้นก็พอจะเริ่มอาชีพเป็นตัวแทนออกของ (Customs Broker) ได้แล้ว

ประเด็นแรกคือ ก็ต้องมีคนมาว่าจ้างนั่นล่ะ

ยุคนั้น ใบขนสินค้าจะเป็นรูปแบบฟอร์มด้านขวาง ยาวมาก ยาวประมาณ 50-60 ซ.ม. ฉบับหนึ่งน่าจะมี 3-4 หน้าซึ่งต้องใส่กระดาษไข (Carbon) ด้วย

สมัยนั้นใบขนสินค้าใช้เขียนได้ เวลาเขียนก็ต้องกดหนัก ๆ ให้ติดทุกหน้า หากจะพิมพ์ ก็ต้องพับใบขนสินค้าด้านขวาเพื่อพิมพ์ด้านซ้ายก่อน เพราะตัวลูกกลิ้ง (Roller) ของเครื่องพิมพ์ดีดสั้นเกินกว่าจะรองรับความยาวของใบขนสินค้าขนาด 50-60 ซ.ม. ได้

พิมพ์ด้านซ้ายเสร็จก็หันมาพิมพ์ด้านขวาต่อเหมือนทำงาน 2 ขยัก

ใบขนสินค้าที่เขียนหรือพิมพ์เสร็จ ก็นำไปผ่านพิธีการบนกรมศุลกากร หรือตามด่านศุลกากรต่าง ๆ โดยการเดินทีละโต๊ะ บางคนก็เรียกว่า ‘เดินตั๋ว’

การเดินตั๋วก็ได้เจอกับเจ้าหน้าที่ ตรงไหนผิด ตรงไหนไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่ศุลกากรและตัวแทนออกของในยุคนั้นก็จะมีน้ำใจต่อกันมาก การแนะนำ การชี้แนะ และการแก้ไขก็เกิดขึ้นตลอด

ตรงไหนจะแก้ไขก็ใช้มือเขียนแก้ลงไป แล้วผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกก็ลงนามรับรองตรงนั้น

ใบขนสินค้าที่ได้รับการอนุมัติแล้ว จะเรียกว่า ‘ตีหัวตั๋ว’ ซึ่งหมายถึง การประทับตราลงบนหัวใบขนสินค้าเพื่อสั่งการให้ตรวจแบบไหน เช่น เปิดตรวจ ส่งตัวอย่างกองวิเคราะห์ก่อนปล่อย ฯลฯ

จากนั้นก็เข้าสู่พิธีการชำระภาษีอากร ตรวจปล่อยสำหรับสินค้าขาเข้า หรือตรวจบรรจุเข้าตู้สินค้าสำหรับสินค้าขาออก หรืออื่น ๆ ตามคำสั่งที่ถูกตีบนหัวตั๋ว

ตัวแทนออกของที่ได้น้ำใจ ได้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร ตรงไหนไม่รู้ ตรงไหนไม่เข้าใจ ก็จะรู้ ก็จะเข้าใจ ในที่สุด ความชำนาญก็จะเกิดขึ้นแบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

นี่ล่ะที่เรียกว่า ‘ง่าย’

อยู่ ๆ หลังปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยก็เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เกิดเงินบาทลอยตัว เกิดการกู้เงินจาก IMF เพื่อพยุงสถานะของประเทศ เกิดข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น

สุดท้ายก็เกิดวิวัฒนาการทางศุลกากร (Customs Modernization) ขึ้นมา

ระบบศุลกากรได้รับการวิวัฒนาการเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันโลกเข้าสู่การค้าเสรีมากขึ้น

คนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจการค้าในประเทศไทยมาก การหลบเลี่ยงภาษีอากรจากอาชญากรทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นมาก การแข่งขัน ความรวดเร็ว และระบบงานศุลกากรก็ยิ่งวิวัฒนาการเป็นเงาตามตัว

วิวัฒนาการจากทุกฝ่ายมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวเหมือนกันคือ ‘ประสิทธิภาพ’

คนประกอบการธุรกิจทุกกลุ่มต้องการประสิทธิภาพ ‘ความรวดเร็ว’ กรมศุลกากรต้องการประสิทธิภาพ ‘การจัดเก็บภาษีอากรและการป้องกันการหลบเลี่ยง’ ขณะที่ตัวแทนออกของต้องการประสิทธิภาพ ‘การบริการ’ เพื่อตอบสนองความต้องการ

รวมความแล้ว ประสิทธิภาพที่ทุกกลุ่มต้องการคือ ความสำเร็จในงานโดยใช้ทรัพยากรด้านเวลา บุคลากร เงิน และวัสดุสิ้นเปลืองให้น้อยที่สุด

นี่คือประสิทธิภาพที่ทุกฝ่ายต้องการ

ประสิทธิภาพที่ทำให้เกิดการใช้อิเล็คโทรนิคแทนที่คน การเดินตั๋วทีละโต๊ะจึงหมดไป โอกาศที่จะพบหน้าระหว่างตัวแทนออกของกับเจ้าพนักงานศุลกากรในขั้นตอนพิธีการก็หมดไปด้วย ผลก็คือ การแนะนำและการแก้ไขด้วยมือทำไม่ได้อีกต่อไป

น้ำใจที่ตัวแทนออกของและศุลกากรเคยมีให้ต่อกันก็พาลเหือดหายไปด้วย

ทุกครั้งที่มีความผิดไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ การสำแดงพิกัด การสำแดงภาษีอากร หรืออื่น ๆ ไม่ช้าก็เร็ว ระบบอิเล็คโทรนิคก็จะตรวจพบ

ใบขนสินค้าที่ส่งกันไปมาในอากาศทางอิเล็คโทรนิค การแก้ไขก็ต้องแก้ในอากาศได้เช่นกัน

มันไม่ง่ายเหมือนในอดีต มันต้องมีคำร้อง มันต้องมีการอนุมัติให้แก้ไข มันต้องมีการเข้าไปในระบบ แล้วมันต้องใช้เวลาที่เนิ่นนานมากขึ้น

วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นก็เพื่อประสิทธิภาพ แต่ประสิทธิภาพที่แท้จริงต้องประกอบด้วยความถูกต้องเท่านั้น ข้อผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นย่อมทำให้ประสิทธิภาพหดหายตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การส่งข้อมูลที่ผิดพลาดในทางกฎหมายถือว่า เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

การลงโทษผู้นำเข้า ผู้ส่งออกในฐานะที่เป็นตัวการ และตัวแทนออกของ (Customs Broker) ในฐานะที่เป็นตัวแทนก็จะตามมา

สุดท้าย พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 เมื่อมีโทษทั้งจำและปรับที่หนักขึ้น ก็จะมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 นี้แล้ว

วันนี้ คำตอบจึงกลายเป็นว่า ใครก็ตามที่จะมาทำอาชีพ ‘ตัวแทนออกของ’ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากต้องต่อสู้กับบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรข้ามชาติที่เป็นยักษ์ใหญ่เพื่อให้มีคนว่าจ้างแล้ว ตัวแทนออกของยังต้องมี ‘ประสิทธิภาพ’ ด้วยตนเองเป็นประเด็นสุดท้ายอีกด้วย

ต้องรู้จริง เข้าใจจริง และทำได้จริง

อย่างน้อย พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 เมื่อมีผลใช้แล้วก็ต้องรู้ว่า มีเรื่องอะไรที่ถูกกำหนดไว้ และมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

ปล.       พรบ. ศุลกากร 2560 แบ่งเป็นหมวด เป็นส่วน ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

ส่วนคำนิยาม กำหนดไว้ในมาตรา 1 – 5

หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 6 – 12

หมวด 2 การจัดเก็บอากร

ส่วนที่ 1 การเสียอากร มาตรา 13 – 18

ส่วนที่ 2 การประเมินอากร มาตรา 19 – 24

ส่วนที่ 3 การคืนอากร มาตรา 25 – 31

ส่วนที่ 4 การวินิจฉัยอากรและการอุทธรณ์การประเมินอากร มาตรา 32 – 49

หมวด 3 การนำเข้าและการส่งออก มาตรา 50 – 63

ส่วนที่ 1 การนำของเข้าและการส่งของออกทางทะเล มาตรา 64 – 85

ส่วนที่ 2 การนำของเข้าและการส่งของออกทางบก มาตรา 86 91

ส่วนที่ 3 การนำของเข้าและการส่งของออกทางอากาศ มาตรา 92 -98

ส่วนที่ 4 ตัวแทน มาตรา 99 – 101

หมวด 4 การผ่านแดน การถ่ายลำ และของตกค้าง

ส่วนที่ 1 การผ่านแดนและการถ่ายลำ มาตรา 102 – 106

ส่วนที่ 2 ของตกค้าง มาตรา 107 – 110

หมวด 5 คลังสินค้าทัณฑ์บน โรงพักสินค้า ที่มั่นคง และท่าเรือรับอนุญาต

ส่วนที่ 1 การจัดตั้ง มาตรา 111 – 115

ส่วนที่ 2 การดำเนินการ มาตรา 116 – 131

ส่วนที่ 3 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต มาตรา 132 – 135

หมวด 6 เขตปลอดอากร

ส่วนที่ 1 การจัดตั้งเขตปลอดอากร มาตรา 136 – 145

ส่วนที่ 2 การขออนุญาตประกอบกิจการเขตปลอดอากร มาตรา 146 – 150

ส่วนที่ 3 สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากร มาตรา 151 – 156

หมวด 7 พนักงานศุลกากร มาตรา 157 – 174

หมวด 8 อำนาจทางศุลกากรในพื้นที่เฉพาะ

ส่วนที่ 1 เขตควบคุมศุลกากร มาตรา 175 – 177

ส่วนที่ 2 พื้นที่ควบคุมร่วมกัน มาตรา 178 – 183

ส่วนที่ 3 การค้าชายฝั่ง มาตรา 184 – 187

ส่วนที่ 4 เขตต่อเนื่อง มาตรา 188 – 191

ส่วนที่ 5 พื้นที่พัฒนาร่วม มาตรา 192 – 201

หมวด 9 บทกำหนดโทษ มาตรา 202 – 257

บทเฉพาะกาล มาตรา  258 – 262

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (Russia ตอนที่ 3)​

การคมนาคมขนส่งทางน้ำ

​ของรัสเซีย​

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การขนส่งทางท่าเรือมีการเติบโตมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าออก โดยที่ร้อยละ 83 ของปริมาณน้ำหนักของสินค้าเป็นการส่งออก แต่ในด้านของมูลค่านั้น ส่วนแบ่งของการนำเข้ามีมากกว่า เนื่องจากการส่งออกของรัสเซียส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ แต่การนำเข้าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า เช่น เครื่องจักร และสินค้าที่ต้องใส่ในตู้สินค้า โดยที่ร้อยละ 90 ของการค้าต่างประเทศในระดับโลกจะผ่านทางท่าเรือ แต่การค้าต่างประเทศของรัสเซียนั้นผ่านทางท่าเรือเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจากร้อยละ 45 ของการค้าต่างประเทศของรัสเซียเป็นการส่งออกน้ำมันและก๊าซ ซึ่งผ่านทางระบบท่อเป็นส่วนใหญ่ ในปี 2007 การขนส่งผ่านท่าเรือตะวันตกเฉียงเหนือ Murmansk และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก(46%) ท่าเรือทิศใต้ (36.6%) และตะวันออกไกล (17.3%) ซึ่งท่าเรือตะวันออกไกลมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จากการส่งออกและนำเข้าจากจีนและประเทศในเอเชีย รัสเซียมีทางออกสู่ทะเลดำ​ ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของประเทศ และทางออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันออกของประเทศ โดยมีเมืองท่าและท่าเรือที่สำคัญ ดังนี้

  1. เมืองSt. Petersburg

ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณชายฝั่งทะเลบอลติก โดยส่วนใหญ่จะขนส่งสินค้าไปยังทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป

  1. เมืองNovorossiysk

ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศแถบทะเลดำ เป็นเมืองท่าที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของรัสเซีย โดยสามารถขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทธัญพืช

  1. เมืองVladivostok

ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นเมืองท่าที่มีความทันสมัย มีคลังสินค้าที่ได้มาตรฐานและสามารถขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือไปยังสถานีรถไฟ เพื่อส่งสินค้าต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมองโกเลีย เป็นหลัก

  1. เมืองNakhodka

ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ เป็นเมืองท่าที่มีความทันสมัยและมีบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย และประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย

ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th