LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 490

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“สวิส-นอร์เวย์”

อะไรจะเกิดขึ้น หากประเทศหนึ่งไม่มีกำแพงภาษีอากร ???

ในอดีต ประเทศส่วนใหญ่จะตั้งกำแพงภาษีอากรสกัดสินค้าจากประเทศอื่นเพื่อมิให้สินค้าจากประเทศอื่นไหลทะลักเข้ามาสู่ประเทศของตนมากจนเกินไป

เมื่อใดที่สินค้าจากประเทศอื่นไหลทะลักเข้ามาง่าย โอกาสที่ประเทศนั้นจะประสบปัญหาอุตสาหกรรมการผลิตของตนถดถอยจนถึงปิดตาย ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาค่าเงินท้องถิ่นของตนอ่อนตัว การเสียเปรียบดุลการค้า

บางกรณีปัญหาก็อาจลุกลามจนเป็นปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ยากต่อการแก้ไข

ภาษีอากรที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจึงเป็นกำแพงปกป้องตนเองชั้นดี บางท่านก็เรียกว่า อุปสรรคทางการค้าด้านภาษีอากร (Tariff Barrier)

ในอดีตเช่นกัน ประเทศหนึ่งตั้งกำแพงภาษีอากรเพื่อปกป้องตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำการผ่อนปรนมาตรการภาษีอากรให้กับบางประเทศไปในตัว

การผ่อนปรนก็เพื่อช่วยเหลือบางประเทศให้มีโอกาสส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศของตน ทั้งเพื่อมนุษยธรรม ทั้งเพื่อต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน และอื่น ๆ ตามแต่ละประเทศจะตกลงกัน

การช่วยเหลือก็โดยการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีอากรให้กับสินค้านำเข้าตามที่ได้ตกลงกัน

หากมองในภาพรวม ภาษีอากรจึงเป็นทั้งอาวุธป้องกันประเทศ และเป็นทั้งความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่หยิบยื่นให้แก่กัน

วิธีการช่วยเหลือก็โดยการทำความตกลงระหว่างประเทศก่อน จากนั้นประเทศผู้ขายสินค้าโดยหน่วยงานของรัฐก็ต้องตรวจสอบสินค้าว่า มีการผลิตภายในประเทศของตนหรือไม่ มีสัดส่วนวัตถุดิบภายในประเทศเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นภาระของเอกชนในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องเป็นผู้แสดงตนพร้อมหลักฐานประกอบ

หากการตรวจสอบแล้วคำตอบคือใช่ หน่วยงานของรัฐก็จะเป็นผู้ออกใบรับรองเมืองกำเนิด (Certificate of Origin) มอบให้ผู้ส่งออกเพื่อนำไปมอบให้ผู้ซื้อสินค้าในประเทศปลายทางนำไปยื่นขอลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีอากรขาเข้าในประเทศผู้ซื้อ

ใบรับรองเมืองกำเนิดมีหลายประเภทตามข้อตกลงของแต่ละประเทศ หรือแต่ละกลุ่ม

เมื่อตกลงกันแล้วก็จะตั้งชื่อใบรับรองเมืองกำเนิดให้มีชื่อเรียกที่สอดคล้องกับข้อตกลง เช่น ใบรับรองเมืองกำเนิดประเภท Form D เป็นข้อตกลงเพื่อส่งเสริมให้ประเทศในกลุ่มอาเชียนค้าขายกันเองภายในกลุ่มแทนการค้าขายกันนอกกลุ่มจนอาจเสียดุลการค้า

ประเภท Form E เป็นข้อตกลงของกลุ่มประเทศอาเชียนกับจีน

ประเภท Form A เป็นความช่วยเหลือจากประเทศที่ถือว่าพัฒนาแล้วได้แก่ สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น นอรเวย์ สวิตเซอร์แลนด์บัลแกเรีย โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเขค สาธารณรัฐสโลวัค และสหพันธรัฐรัสเซียไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาซึ่งไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

การยื่นขอออกใบรับรองเมืองกำเนิดต่อหน่วยงานของรัฐแต่ละประเทศ ในอดีตถือเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่เมื่อโลกก้าวเข้าสู่เขตการค้าเสรี (Free Trade Area) มากขึ้น อุปสรรคการค้าด้านภาษีอากร (Tariff Barrier) ก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายลง

ในที่สุด รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มผ่อนคลายเรื่องการยื่นขอใบรับรองเมืองกำเนิดมากขึ้น และสุดท้ายก็เปิดโอกาสให้เอกชนผู้ส่งออกเป็นผู้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง(self-certificate) ได้

ประเทศไทยโดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกประกาศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ณ วันที่ 21 กันยายน 2560 สำหรับการส่งออกไปยังประเทศสมาพันธรัฐสวิสและราชอาณาจักรนอร์เวย์

เงื่อนไขบางส่วนมีดังนี้

“(2) มีประวัติการได้รับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form A) หรือใบรับรองการตรวจคุณสมบัติทางด้านถิ่นกำเนิดของสินค้าโดยถูกต้อง ตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของสมาพันธรัฐ สวิสและราชอาณาจักรนอร์เวย์ หรือมีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล หรือผู้รับมอบอำนาจซึ่งผ่านการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของสมาพันธรัฐสวิส และราชอาณาจักรนอร์เวย์ จากกรมการค้าต่างประเทศ หรือหน่วยงานที่กรมการค้าต่างประเทศมอบหมาย”

“ข้อ 6 ให้ผู้ส่งออกที่สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าระบุข้อความดังต่อไปนี้ ในเอกสารทางการค้า”

“The exporter ………….. (Number of Registered Exporter No. ………) of the product(s) covered by this document declares that, except where otherwise clearly indicated, these products are of ………. preferential origin according to rules of origin of the Generalized system of Preferences of Switzerland/Norway and that the origin met is ……………. ”

วันนี้ คำถามที่ว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากประเทศหนึ่งไม่มีกำแพงภาษีอากร ???

คำตอบของวันนี้จึงไม่น่าจะซีเรียสมากนัก ทั้งนี้เพราะโลกก้าวเข้าสู่พื้นที่การค้าเสรีมากขึ้น การปกป้องประเทศตนเองด้วยมาตรการภาษีอากร (Tariff Barrier) ก็ค่อย ๆ ลดบทบาทลงไป

ตรงกันข้าม มาตรปกป้องตนเองที่ไม่ใช่มาตรการภาษีอากร (None Tariff Barrier) กำลังจะเข้ามาแทนที่ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันการก่อการร้าย การควบคุมสินค้าเพื่อความปลอดภัยทางร่างกาย มาตรฐานอุตสาหกรรม และอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมาอีกมาก

ข้อมูลข่าวสารในวันนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ (International Trader) และกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (International Logistics Provider) อย่างยิ่ง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (India ตอนที่ 1)​​

ภาพรวมด้านโครงสร้างพื้นฐานของอินเดีย (Infrastructure)

ประเทศอินเดียมีพื้นที่ 3.28 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกมีประชากรประมาณ 1.21 พันล้านคน ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีอาณาเขตด้านทิศเหนือติดกับจีน เนปาล และภูฏาน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับปากีสถาน ทิศตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับพม่า และทิศตะวันออกติดกับบังกลาเทศ และ มีเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและจีน

แต่ประเทศอินเดียนั้นยังคงขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศอินเดีย ซึ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตและกระจายสินค้าสูง รัฐบาลได้เล็งเห็นและมีการให้ความสำคัญ ในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ จึงได้มีนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอินเดียในปัจจุบันและในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากและประสบความสาเร็จในด้านนี้พอสมควร แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถสร้างได้เพียงพอต่อการรองรับพลวัตรทางเศรษฐกิจของประเทศ และยังตามหลังอีกหลาย ๆ ประเทศในด้านนี้ ทั้งนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่ 12 (ปี 2012-2017) รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานไว้ในสัดส่วนร้อยละ 9 ของ GDP โดยกำหนดวงเงินเพื่อการลงทุนไว้ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากแผนพัฒนาฯ ฉบับก่อนหน้านี้

ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอดีต รัฐบาลอินเดียได้เป็นผู้ดำเนินการเองเกือบทั้งหมด ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้า เนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณ แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้ปรับนโยบายและกลยุทธเพื่อให้มีช่องทางในการเพิ่มการจัดหาทุนและดำเนินการได้คล่องตัวยิ่งขึ้น อาทิ การใช้ระบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในแบบ Public Private Partnerships – PPPs และการดำเนินงานโดยการตั้งบริษัท Indian Infrastructure Finance Limited เพื่อเป็นกองทุนในการดำเนินการในด้านนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งตั้ง Viability Gap Funding-VGF ซึ่งเป็นกองทุนที่รัฐบาลใช้ในการสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการประเภท PPPs ที่ไม่คุ้มต่อการลงทุนในเชิงพาณิชย์ โดยรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดลงทุนรวมของโครงการ ตลอดจนได้ตั้งหน่วยงาน Infrastructure Debt Fund-IDF เพื่อเป็นกลไกในการระดมทุนระยะยาวต้นทุนต่ำให้แก่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนผู้รับเหมาท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากหลายแหล่งยิ่งขึ้น อาทิ ตราสารหนี้บริษัทประกันภัยsovereign/pensionfunds ทั้งจากในอินเดียและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังใช้เงินทุนจากองค์การทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ ADB,World Bank ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยขณะนี้ได้ใช้ทุนจาก World Bank ดำ​เนินการใน 73 โครงการ วงเงินประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th