LOGISTICS CORNER

ฉบับที่ 492

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“เกณฑ์ค่าปรับ”

‘ธนาคารโลกการันตี เมืองไทยพ้นขีดความยากจน’

‘กำลังจะก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่ง’

หัวข้อข่าวข้างต้นมาจากคอลัมภ์สับราง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2560 โดยรายงานเกี่ยวกับธนาคารโลกให้ข่าว ดังนี้

‘แนวโน้มการเติบโตแบบมีส่วนร่วมของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกในระยะยาว ซึ่งสะท้อนได้ว่าไทยอยู่ในระดับที่พ้นความยากจนมาแล้ว

กำลังก้าวสู่ความมั่งคั่งเหมือนประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ ไทยมีประชาชนที่ยังไม่พ้นเส้นความยากจนอยู่จำนวน 7 ล้าน คนลดลงจาก 4 – 5 ปีก่อนที่มี 10 ล้านคน แต่หากรวมคนที่พ้นเส้นความยากจนมาไม่มาก และคนที่พ้นเส้นความยากจนแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นชนชั้นกลางที่อยู่ราว 30 ล้านคน กลุ่มนี้จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องดูแลให้มีโอกาสสร้างรายได้อย่างเท่าเทียม หรือมากกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ’

‘ไทยพ้นขีดความยากจน’ คำนี้ฟังแล้วน่่าตื่นเต้น

ข่าวนี้มีหลายคนเชื่อ และหลายคนไม่เชื่อในเวลาเดียวกัน แต่หากมองถึงความเป็นไปได้ อะไรล่ะที่ทำให้ประเทศไทยพ้นขีดความยากจน ?

หากมองย้อนไปในอดีต หลังเงินบาทลอยตัวในปี 2540 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) รายงานว่า หนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นฟองสบู่ลอยล่องขึ้นไปแล้วแตกลงมาจนเศรษฐกิจพังพินาศคือ การทุจริต

จากนั้น ประเทศไทยก็ประสบกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองขึ้น ๆ ลง ๆ ที่พัวพันกันจนแยกไม่ออก กระทั่งปี 2557 ก็เกิดรัฐบาลปัจจุบันที่เข้ามาบริหารจากการรัฐประหาร

รัฐบาลพยายามปราบปรามการทุจริตและพยายามบังคับใช้กฎหมาย หลายท่านจึงมองว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังทำให้สังคมมีความสงบสุขมากขึ้น

สังคมที่สงบสุขก็จะตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ดีขึ้น

การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน ทำให้นักธุรกิจที่มีนโยบายสุจริตได้มาอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาค และทำธุรกิจบนพื้นฐานของความเสมอภาค

ธุรกิจที่มากขึ้น การลงทุนที่มากขึ้น เศรษฐกิจก็ย่อมดีขึ้น

ตรงกันข้าม นักธุรกิจที่มีใจทุจริตจะไม่ชอบการบังคับใช้กฎหมาย แต่จะชอบการหลีกเลี่ยงกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้เปรียบด้วยการจ่ายเงินทุจริต

ผลที่ตามมาคือการผูกขาด ปราศจากการแข่งขัน แล้วเศรษฐกิจก็โตแบบกระจุกตัว

แนวคิดนี้กระมังที่อาจเป็นเหตุผลของคนที่เชื่อว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อป้องกันการทุจริตคือสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจค่อย ๆ ดีขึ้นจนไทยพ้นขีดความยากจนก็ได้

ไม่มีใครตอบได้ชัด ๆ ว่า หน่วยราชการและกรมศุลกากรเชื่อในแนวคิดนี้หรือไม่ ???

ภาพที่เห็นในวันนี้ กฎหมายศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้ว ในหมวดของการกำหนดโทษก็เข้มข้นมากขึ้นจากกฎหมายฉบับก่อน

การหลีกเลี่ยงอากรในอดีต กำหนดโทษค่าปรับไม่เกิน 4 เท่าของอากรที่ขาดบวกราคาของ หรือริบของ ขณะที่กฎหมายศุลกากรเป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจศุลกากรในการระงับคดีโดยการเปรียบเทียบปรับโดยกฎหมายมิให้นำประเด็นเจตนาหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ขึ้นมาพิจารณา

แต่ค่าปรับก็มี 1,000 บาท หรือค่าปรับ 10% ของอากรที่ขาดให้เห็นกันเรื่อยมา

แล้ววันนี้ กรมศุลกากรก็ประกาศเกณฑ์การปรับเมื่ออากรขาดเฉพาะเรื่องหลีกเลี่ยงอากรให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

กรณีอากรขาดไม่เกิน 50,000 บาท ให้ปรับ 0.5 เท่า ของอากรที่ขาด

กรณีอากรขาดไม่เกิน 100,000 บาท ให้ปรับ 1 เท่าของอากรที่ขาด

กรณีอากรขาดเกิน 100,000 บาท ให้ปรับ 2 เท่าของอากรที่ขาด

เกณฑ์ค่าปรับที่กำหนดนี้ ไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังหรือหรือไม่ เป็นการทำให้ธุรกิจมาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคเพื่อป้องกันการทุจริตหรือไม่ และจะมีผลต่อไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่งตามรายงานของธนาคารโลกหรือไม่ ???

แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ การประกาศเกณฑ์ค่าปรับนี้ จะทำให้การพิจารณากำหนดโทษที่มีค่าปรับเพียง 1,000 บาท หรือค่าปรับ 10% ของอากรที่ขาดหมดไป

แล้วแทนที่ด้วยเกณฑ์ค่าปรับที่สูงขึ้น

นี่คือความชัดเจนที่ผู้ประกอบการนำเข้า การส่งออก ผู้ที่อยู่ในแวดวงตัวแทนออกของ และผู้ให้บริการ Logistics กลุ่มต่าง ๆ ควรทราบเพื่อการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ส่วนเกณฑ์ค่าปรับที่สูงขึ้นจะส่งผลให้การระมัดระวังมากขึ้น การทุจริตลดลง และการก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่งชัดเจนขึ้นหรือไม่ ???

คำตอบคงเป็นเรื่องยาวที่ต้องดูกันต่อไป

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (India ตอนที่ 3​)​

 

การขนส่งทางรางในประเทศอินเดีย

การรถไฟของอินเดียได้รับการพัฒนาตั้งแต่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ นับว่าการรถไฟมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงอินเดียทั้งประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญต่อการเดินทางของบุคคลทั่วไปและการขนส่งสินค้า เครือข่ายรถไฟของอินเดียมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีระยะทาง64,000 กิโลเมตรและมีสถานีรถไฟถึง 8,000 สถานี การขนส่งสินค้าในอินเดียดำเนินการทางรถไฟประมาณร้อยละ 40 และคิดเป็นร้อยละ 70 ของรายได้ของสาขาการขนส่ง โดยในปี 2011 มีการขนส่งสินค้าทางรถไฟประมาณ 944 ล้านตัน ซึ่งเป็นการขนส่งถ่านหินมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 45 นอกนั้นเป็นสินค้าหนัก อาทิ ซีเมนต์และเหล็ก และมีการขนส่งผู้โดยสารประมาณ 7,773 ล้านคน ทั้งนี้ การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากประหยัดและสะดวก

ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงความสามารถในสาขานี้อย่างมากรวมทั้งได้นาระบบ High Speed Corridors และ Mass Rapid Transit System มาใช้ในกรุงเดลี กัลกัตตา มุมไบ และเจนไน ซึ่งเป็นการยกระดับการคมนาคมระบบรางของอินเดียและสะท้อนความทันสมัยของประเทศด้วย ทั้งนี้ใน 10 ปีข้างหน้าการลงทุนของภาคเอกชนในสาขานี้ ผ่านรูปแบบ PPP คาดว่าจะมีประมาณ 304,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและตาม Vision 2020 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าให้เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 50 และ เพิ่มการขนส่งผู้โดยสารเป็น 15,180 ล้านคนต่อปี โดยตั้งงบเพื่อการพัฒนาในสาขานี้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นจานวน 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ​

​​            ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th​​