CEO ARTICLE
“B/L ปลอม”
เป็นไปได้หรือไม่ที่ B/L จะถูกปลอม ???
ในวงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (International Transportation) ข่าวการปลอม B/L เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ทั้งนี้เพราะ B/L เป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ขายสินค้า ผู้ซื้อสินค้า ธนาคารที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชำระเงิน และส่วนราชการ
การตรวจสอบ B/L จึงเกิดขึ้นตลอดเวลาจนทำให้ผู้ที่คิดจะปลอม B/L ต้องคิดให้ดีก่อน เพราะสามารถถูกจับได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่วายที่มีข่าวการปลอม B/L เกิดขึ้น
B/L มีชื่อเต็มว่า Bills of Lading
ภาษาไทยมีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า ‘ใบตราส่งสินค้า’ B/L ถือเป็นเอกสารสำคัญมากที่สุดในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
B/L เป็นเอกสารที่ยืนยันได้ว่า สินค้าได้ผ่านพิธีการศุลกากร ได้บรรจุเข้าตู้สินค้า ได้เข้าในเขตท่าเรือ และได้นำขึ้นเรือบรรทุกสินค้าเรียบร้อยแล้ว
ยิ่งหาก B/L ปรากฎคำว่า On Board ลงไป หรือมีคำ หรือสัญญลักษณ์ที่สื่อความหมายเดียวกัน ก็หมายความว่า เรือสินค้าลำที่บรรทุกได้ออกเดินทางแล้ว
การส่งออกถือว่า ‘สมบูรณ์’
ในเมื่อ B/L มีความสำคัญที่สุด B/L จึงมีหลายประเภทแต่ผู้ที่ทำ B/L ออกมาได้ก็มีหลัก ๆ เพียง 3 กลุ่มเท่านั้น ไม่ใช่ใคร ๆ ก็สามารถทำ B/L ออกมาได้
กลุ่มที่ 1 คือ เจ้าของเรือบรรทุกสินค้าหรือตัวแทนที่เจ้าของเรือมอบหมายให้ออก B/L (Ship Owner or Shipping Agent)
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผู้รับจัดการขนส่งของสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Thai International Freight Forwarders Association – TIFFA)
กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่ไม่เป็นสมาชิกสมาคม TIFFA ส่วนใหญ่จะเป็น B/L ของต่างประเทศที่มอบหมายให้ Freight Forwarder ที่มีสำนักงานในประเทศไทยเป็นผู้ออกให้
กลุ่มที่ 1 มีเรือเป็นของตัวเอง หรือเป็นผู้ที่เจ้าของเรือที่รับบรรทุกสินค้ามอบหมายโดยตรง ภาระความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ขนส่งจึงชัดเจน
ขณะที่กลุ่ม 2 และ 3 แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเจ้าของเรือโดยตรง แต่ในแง่ภาระและความรับผิดชอบต่อสินค้าที่รับมาจัดการขนส่งก็มีกฎหมายภายในและระหว่างประเทศรองรับชัดเจนเช่นกัน
ในกรณีที่สินค้ามีการซื้อขายระหว่างประเทศโดยชำระเงินผ่าน L/C (Letter of Credit) เมื่อผู้ขายนำสินค้าส่งขึ้นเรือและออกเดินทางแล้ว ผู้ขายก็เพียงนำ B/L ต้นฉบับพร้อมเอกสารอื่นที่ L/C กำหนดไปขอรับเงินจากธนาคาร
หากเป็น L/C at sight ที่หมายถึงธนาคารต้องจ่ายเงินให้ผู้ขายทันทีที่เห็นเอกสาร แต่ในทางปฏิบัติ ธนาคารก็ต้องตรวจสอบเอกสารทั้งหมดให้ถูกต้องเพื่อยืนยันการส่งออกสินค้า และการปฏิบัติตามเงื่อนไขให้ครบถ้วนก่อน การตรวจสอบ B/L จึงเกิดขึ้นโดยปริยาย
ส่วนกรณีที่การซื้อขายไม่ได้ผ่าน L/C เมื่อผู้ขายส่งออกสินค้าและส่ง B/L ต้นฉบับพร้อมเอกสารประกอบอื่นมาให้ผู้ซื้อต่างประเทศ
ผู้ซื้อก็ต้องตรวจสอบ B/L ก่อนการชำระเงินอยู่ดี
ทั้งหมดนี้ก็สื่อว่า B/L เป็นเอกสารที่แสดงภาระและความรับผิดชอบ การตรวจสอบจึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องทุกครั้ง
ดังนั้น เมื่อไรที่มีการปลอม B/L ขึ้น แล้วได้ประโยชน์จากการปลอม นั่นย่อมหมายความว่า กระบวนการตรวจสอบบกพร่อง หรือเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ตรวจสอบเท่านั้น
ผู้ทำ B/L ปลอมอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อหลอกผู้ซื้อสินค้าต่างประเทศให้โอนเงิน หรือหลอกธนาคารให้ชำระเงินค่าสินค้าตาม L/C หรือหลอกผู้เกี่ยวข้องว่า สินค้าได้ส่งออกไปเรียบร้อยแล้ว
การหลอกลวงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ แต่กระบวนการตรวจสอบก็จะเป็นการพิสูจน์เช่นกัน
หาก B/L เป็นของเจ้าของเรือโดยตรงหรือผู้ที่เจ้าของเรือมอบหมาย การตรวจสอบก็ง่ายไปด้วย หาก B/L เป็นของสมาชิกสมาคม TIFFA การตรวจสอบก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร
แต่หากเป็น B/L ต่างประเทศที่ออกโดยตัวแทนในประเทศไทยและไม่ได้เป็นสมาชิก TIFFA การนำข้อมูลที่ระบุใน B/L เช่นชื่อเรือ หมายเลขตู้ container มาตรวจสอบเบื้องต้นก็พอได้ข้อมูล
สุดท้าย การตรวจสอบการผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อตรวจสอบการส่งออกจริงหรือไม่ ก็เป็นด่านที่แน่นอนที่สุดและสามารถตรวจสอบได้ไม่ยากเย็นในระบบการขนส่งสินค้า และวิวัฒนาการทางศุลกากรในปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า B/L อาจทำปลอมขึ้นได้ แต่กระบวนการตรวจสอบจะทำให้การปลอมถูกเปิดเผยขึ้นได้เช่นกัน
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (India ตอนที่ 4)
การขนส่งทางเรือในประเทศอินเดีย
การขนส่งทางเรือ (ท่าเรือ) นับว่ามีความสำคัญต่อการค้าต่างประเทศของอินเดียสูงสุด โดยการค้าต่างประเทศของอินเดียกว่าร้อยละ 70 ดำเนินการผ่านทางทะเล ซึ่งอินเดียมีชายฝั่งทะเลยาว 7,517 กิโลเมตร มีท่าเรือขนาดใหญ่ 13 แห่งและท่าเรือขนาดต่าง ๆ อีกประมาณ 200 แห่ง ซึ่งรวมกันสามารถจัดการสินค้าได้ประมาณ 1,000 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันท่าเรืออินเดียทั้งหมดได้จัดการสินค้าประมาณ 844.9 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศของอินเดีย ขณะนี้รัฐบาลอินเดียได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือในทุกด้านให้มีความทันสมัยและเพียงพอ โดยเน้นให้มีการลงทุนแบบ PPP และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในสัดส่วนร้อยละ 100 โดยให้สิทธิพิเศษในลักษณะเดียวกันกับการลงทุนสร้างถนน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของการจัดการสินค้าที่ท่าเรือของอินเดียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.7 ไปจนถึงปี 2013/2014 และคาดว่าความสามารถในการจัดการสินค้าที่ท่าเรือของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,500 ล้านตัน ภายในปี 2015 โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้ตั้งเป้าการลงทุนในด้านนี้ไว้ประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่าเรือหลายแห่งมีความคับคั่งมากและได้มีการจัดการสินค้าจนเกินกำลังแล้ว
ท่าเรือในประเทศอินเดียแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มท่าเรือหลัก (Major Ports) กับกลุ่มท่าเรือรอง (Non-Major Ports) ซึ่งเกณฑ์การแบ่งกลุ่มท่าเรือจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่บริหารท่าเรือไม่ใช่ขนาดของท่าเรือ โดยท่าเรือหลักจะขึ้นอยู่กับกระทรวงการขนส่งทางทะเล (Ministry of Shipping) ส่วนท่าเรือรองจะเป็น ท่าเรือที่บริหารโดยบริษัทหรือหน่วยงานที่ได้รับสัมปทานจากคณะกรรมการพาณิชย์นาวีของรัฐ (State Maritime Board) หรือรัฐบาลของแต่ละรัฐ ทั้งนี้ ท่าเรือหลักซึ่งเป็นท่าเรือของรัฐบาลจะถูกกำกับดูแลโดย หน่วยงานกำหนดอัตราค่าระวางเรือสำหรับท่าเรือหลัก (Tariff Authority for Major Ports: TAMP) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าระวางเรือและอัตราค่าเช่าทรัพย์สินของท่าเรือหลัก ในขณะที่ท่าเรือรองจะมีอิสระและความคล่องตัวในการกำหนดอัตราค่าระวางเรือได้อย่างเสรี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ท่าเรือรองมีความได้เปรียบและดึงดูดให้บริษัทสนใจมาใช้บริการขนส่งสินค้ามากกว่าท่าเรือหลักท่าเรือหลักของอินเดียมีจำนวนทั้งสิ้น 13 แห่ง ได้แก่
1) Jawaharlal Nehru Port Trust (JNPT)
2) Kandla
3) Mumbai Port
4) Mormugao
5) New Mangalore Port Trust (NMPT)
6) Cochin
7) Tuticorin
8) Ennore
9) Chennai
10) Vizag
11) Paradip
12) Haldia
13) Kolkalta
ส่วนท่าเรือรอง (Non-Major Ports) ของอินเดีย : ก้าวหน้าด้วยการบริหารโดยภาคเอกชนท่าเรือรองของอินเดียส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี คือ อยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับเขตอุตสาหกรรมสำคัญของอินเดีย ได้แก่ รัฐ Gujarat, รัฐ Maharashtra, รัฐ Tamil Nadu, รัฐ Andhra Pradesh, รัฐ Haryana และรัฐ Punjab ทั้งนี้ ภาคการผลิตของอินเดียมีสัดส่วนร้อยละ 15-16 ของ GDP การที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ท่าเรือรองเหล่านี้เป็นที่รองรับการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม
ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th