CEO ARTICLE
“ต้องมากกว่า”
“เจ้านายคะ ทำไมคนอื่นทำงานพร้อมกับดิฉันแต่ได้เงินเดือนมากกว่าคะ ?”
คำพูดลักษณะดังกล่าวนำมาจากคลิปที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เนื้อหาในคลิปเป็นเรื่องที่พนักงานหญิงผู้หนึ่งทวงถามเจ้านายด้วยประโยคข้างต้น
จากนั้น เนื้อหาในคลิปก็เป็นการอธิบายของเจ้านายโดยการแสดงเปรียบเทียบ เจ้านายใช้วิธีมอบหมายงานติดต่อลูกค้าต่างประเทศให้แก่พนักงานหญิงผู้นั้น
โจทย์ที่ให้คือ ‘ลูกค้าจะเข้ามาดูสินค้าเมื่อไหร่ ?’
พนักงานหญิงรีบไปติดต่อ ผลการติดต่อได้คำตอบเพียงวันที่จะมาดูสินค้าตามคำถามที่ได้รับเท่านั้น ไม่มีข้อมูลการเดินทางอื่น ๆ
พนักงานหญิงถือว่าทำได้ตามคำสั่งแต่ไม่สมบูรณ์ในโลกธุรกิจ เพราะขาดไหวพริบเรื่องอื่น
เจ้านายได้แต่ยิ้ม จากนั้นก็เชิญพนักงานหญิงคนที่ 2 ที่ถูกพาดพิงว่าเงินเดือนสูงกว่ามามอบงานเดียวกันให้ด้วยคำถามเดียวกัน
ปรากฎว่า พนักงานที่ 2 กลับติดต่อแล้วได้ข้อมูลกลับมาอย่างครบถ้วนในคราเดียว คือ นอกจากลูกค้าจะมาดูสินค้าเมื่อไร ลูกค้าจะมาอย่างไร จะพักที่ไหน จะมากี่คน จะต้องจองโรงแรมให้หรือไม่ และจะต้องไปรับที่สนามบินหรือไม่
ในมุมมองของพนักงานหญิงคนที่ 1 มองเพียงว่า ตนเองทำตามคำสั่งครบแล้ว เจ้านายสั่งไม่ละเอียดเอง แต่มุมมองของคนทำธุรกิจกลับไม่ใช่ ข้อมูลกลับ ‘ต้องมากกว่า’
ลักษณะงานบ่งบอกในตัว ลูกค้าจะมาดูสินค้า ลูกค้าต้องการการเอาใส่ใจงทุกเรื่องแม้จะดูว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
พนักงานหญิงคนที่ 1 อาจคิดว่าตนเองทำงานได้ประสิทธิภาพแล้วโดยไม่มองว่า เพื่อนร่วมงานทำได้ประสิทธิภาพมากกว่า
ประสิทธิภาพจึงเป็นมุมมองของคน 2 คน และเป็นข้อแตกต่างระหว่างพนักงาน 2 ท่านนี้
ในปัจจุบัน คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ กลายเป็นดรรชนีชี้วัด (KPI) ผลงานของคนทำงาน แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ยินคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ แล้วเข้าใจความหมายของมันอย่างแท้จริง
‘ประสิทธิภาพ’ นอกจากจะหมายถึงการทำได้จนสำเร็จตามคำสั่ง หรืองานที่ได้รับมอบแล้ว คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ ยังหมายถึงการใช้ทรัพยากรเพื่อความสำเร็จน้อยลงไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการใช้คน เวลา ต้นทุน เครื่องมือ วัสดุสิ้นเปลือง และทรัพยากรอื่น
อย่างในกรณีนี้ หากเจ้านายต้องสั่งการด้วยคำพูดมากกว่าเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่จะมาดูสินค้า หรือพนักงานคนที่ 1 ต้องใช้เวลาถามหลายครั้งกว่าจะได้ข้อมูลครบ อย่างนี้ก็เป็นการใช้เวลา คำพูด และทรัพยากรอื่น ๆ มาก ด้วยหลักเกณฑ์นี้จึงไม่ได้ประสิทธิภาพแต่อย่างใด
พนักงานหลายคนเรียกร้องเงินเดือนสูงขึ้น ด้วการนำระยะเวลา (Period) ทำงานของตนไปเปรียบเทียบผู้อื่น บางคนอ้างความสำเร็จของงานที่ทำได้โดยไม่ใส่ว่า งานที่สำเร็จได้ประสิทธิภาพตามความหมายที่แท้จริงหรือไม่
นั่นคือประสิทธิภาพในความหมายทั่วไป
ในระบบงาน Logistics ก็ต้องการประสิทธิภาพไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า ประสิทธิภาพของ Logistics ยัง ‘ต้องมากกว่า’ ความหมายทั่วไป
Logistics เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการรวบรวบ การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการกระจายสินค้าตั้งแต่ต้นทางแหล่งผลิต เข้าสู่กระบวนการผลิต กระทั่งถึงมือปลายทางของการบริโภค
ประสิทธิภาพ Logistics จึงต้องมากกว่าประสิทธิภาพทั่วไปโดยการเพิ่มขึ้นอีก 4 ส่วน ด้วยกันคือ
- Right Time เวลาเป้าหมายในกระบวนการ Logistics นั้น เป็นเวลาที่ถูกต้อง เหมาะสมต่อกันเก็บเกี่ยว ต่อการผลิต ต่อการเก็บรักษา หรือต่อการบริโภคที่สอดคล้องกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคอีกด้วย บางกรณีกระบวนการ Logistics ที่เร็วกว่าอาจกลายเป็นข้อเสียก็ได้
- Right Goods สินค้าที่อยู่ในกระบวนการ Logistics นั้น เป็นสินค้าที่ถูกต้องสอดคล้องกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค
- Right Quantity สินค้าที่อยู่ในกระบวนการ Logistics นั้น มีจำนวนถูกต้องสอดคล้องกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค
- Right Place สินค้าที่อยู่ในกระบวนการ Logistics นั้น เป็นสินค้าที่ได้รับ ถูกเก็บรักษา และถูกส่งมอบในสถานที่ถูกต้องสอดคล้องกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค
สิ่งที่กว้างใหญ่กว่า หรือสิ่งที่กระทบต่อความเป็นอยู่ทั่วโลก หากจะนำคำว่าประสิทธิภาพมาใช้ ประสิทธิภาพนั้นก็ต้องมีความหมายที่ ‘มากกว่า’ ทั่วไป
คนทั่วโลกนับพันล้านคนต้องใช้สินค้าอุปโภคบริโภคทุกวัน อย่างนี้ประสิทธิภาพ Logistics จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการด้านการผลิต การซื้อ การขาย และผู้ให้บริการ Logistics ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นและสากลจึงต้องใช้ความหมายที่ใหญ่กว่า ที่มากกว่า และตรงกัน
ทั้งนี้เพราะกระบวนการ Logistics ครอบคุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของบริโภคนั่นเอง
ผู้ให้บริการ Logistics ที่ได้มาตรฐานสากล (International Standard) ส่วนใหญ่จึงสร้างระบบการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะด้วย Application ใหม่ ๆ การอบรมบุคลากร และรูปแบบเพื่อตอบสนองต่อประสิทธิภาพ Logistics ที่ ‘ต้องมากกว่า’ ดังกล่าว
เมื่อใดที่ลักษณะงานและความหมายเป็นที่เข้าใจตรงกัน เมื่อนั้นการทุ่มเทเพื่อตอบโจทย์ก็จะเกิดขึ้นตรงกัน เกิดประสิทธิภาพ และได้ประโยชน์ตามความหมายที่แท้จริง
มิฉะนั้นแล้ว คนในโลกธุรกิจก็คงมองไม่ต่างจากความคิดของพนักงานหญิงคนที่ 1 ที่มองลักษณะงานในมุมแคบ ๆ ของตนที่ไม่มากกว่าความสำคัญที่แท้จริง
นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมคำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ ของคนผู้หนึ่งจึงแตกต่างจากคนอีกผู้หนึ่ง ไม่ตอบสนองต่อความเจริญก้าวหน้าของตน และไม่เกิดประโยชน์ต่อองค์กรแต่อย่างใด
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ปล. ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง กระบวนการ วิธีการ หรือการกระทำใด ๆ ที่นำไปสู่ผลสำเร็จโดยใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อันได้แก่ ทรัพยากรทางธรรมชาติ แรงงาน เงินทุน และวิธีการดำเนินการหรือประกอบการที่มีคุณภาพสูงสุดในการดำเนินการได้อย่างเต็มศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการใด ๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับทรัพยากร ณ ขณะนั้นด้วยว่า มีคุณภาพและปริมาณเพียงใด หากมีคุณภาพมาก การจะใช้อย่างเต็มศักยภาพได้นั้นจะต้องใช้ในปริมาณน้อย จึงจะเรียกว่า มีประสิทธิภาพ ต่างกันกับทรัพยากรที่มีปริมาณมาก แต่คุณภาพต่ำที่จะต้องเลือกวิธีการดึงศักยภาพของทรัพยากรออกมาให้ได้มากที่สุด จึงจะเรียกว่า มีประสิทธิภาพ
(https://th.wikipedia.org/wiki/ประสิทธิภาพ)
The Logistics
มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (แอฟริกาใต้ ตอนที่ 3)
การขนส่งทางรางของแอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้มีเครือข่ายรถไฟที่กว้างใหญ่มาก โดยมีระยะทางยาวเป็นอันดับที่ 14 ของโลก และมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายในภูมิภาคซาฮาราด้วย
(กลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา) โครงสร้างพื้นฐานทางระบบรางของแอฟริกาใต้นั้นมีการเชื่อมต่อกับท่าเรือประมาณร้อยละ 80 โดยที่รัฐบาลนั้นได้ให้ความสำคัญในระบบรางจึงได้มีการปรับปรุงเครือข่ายรางของประเทศเป็นระยะทาง 20,247 กิโลเมตร โดยมีความมุ่งหวังว่าจะเพิ่มปริมาณการขนส่งและขยายส่วนแบ่งการตลาดของตู้คอนเทนเนอร์ เครือข่ายระบบรางรถไฟนั้นอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมDepartment of Public Enterprises โดยผ่านบริษัท Transnet (TransnetSOC.Ltd) ซึ่ง Transnet Freight Rail เป็นเส้นทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดและการขนส่งสินค้าที่มากที่สุดของแอฟริกาใต้โดยมีเครือข่ายเส้นทางรถไฟเป็นระยะทาง 21,000 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลำเลียง 1,500 กิโลเมตร และอีกมากกว่า 8,200 กิโลเมตร เป็นเส้นทางรถไฟที่ใช้ระบบไฟฟ้า ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟประมาณ 2.2 ล้านคนในทุก ๆ วันในแอฟริกาใต้ โดยที่เป็นการใช้บริการของระบบรถไฟใต้ดินที่เมืองเคปทาวน์ เดอร์แบนโจฮันเนสเบิร์กและพริทอเรีย ส่วนมากจะเป็นประชาชนที่มีรายได้ต่ำของแอฟริกาใต้
ส่วนนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารที่มีฐานะดีส่วนมากจะเดินทางโดยใช้บริการรถไฟสายสีน้ำเงิน (Blue Train) ซึ่งเป็นรถไฟสายที่มีความหรูหราที่โด่งดังมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการขนส่งระหว่างเมืองหลักของประเทศ มีเส้นทางระหว่างเมืองเคปทาวน์กับกรุงพริทอเรีย ด้วยระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตร รถไฟสายนี้ได้รับความนิยมอย่างมากและเป็นที่ที่สามารถดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวได้อย่างมากของแอฟริกาใต้อีกด้วย ส่วนเส้นทางการขนส่งของสาย Shosholoza Meyl นั้น จะเป็นเส้นทางระหว่างเมืองหลักของประเทศ รถไฟ Gautrain เป็นรถไฟความเร็วสูงแอฟริกาเท่านั้น เปิดใช้บริการก่อนพิธีเปิด World Cupin 2010 โดยบริการจากเมืองโจฮันเนสเบิร์ก กรุงพริทอเรีย และท่าอากาศยาน OR Tambo International Airport โดยมีเส้นทางของถนนและรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อโดยรอบ มีจำนวนผู้ใช้บริการประมาณ 40,000 คนต่อวัน รถไฟ Gautrain นั้นสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งจากเมืองโจฮันเนสเบิร์ไปกรุงพริทอเรียใช้เวลาไม่เกิน 40 นาทีเท่านั้น
ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th