CEO ARTICLE
“แล้วไทยล่ะ”
‘รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ลงโทษเกาหลีเหนือ ก่อนร่วมพิธีเปิดโอลิมปิก’
ข่าวข้างต้นเกิดขึ้นก่อนพิธีเปิดกีฬาระดับโลก โอลิมปิกฤดูหนาว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ไม่กี่วัน ข่าวรายงานว่า ทันทีที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางถึงเกาหลีใต้ ร่วมประชุมเสร็จ ก็ออกคำแถลงข้างต้นทันที
ในคำแถลงสรุปว่า
‘สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้จะยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่รับมือเกาหลีเหนือและจะใช้แรงกดดันขั้นสูงสุดต่อรัฐบาลกรุงเปียงยางให้ยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และทดสองขีปนาวุธ’
การประชุมเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ขณะที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามใช้นโยบายกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ผ่านการเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก และการรวมชาติที่อาจจะมีขึ้นในวันใดวันหนึ่ง (https://www.voathai.com/a/us-north-korea-olympics/4245277.html)
คำแถลงของรองประธานาธิบดีสหรัฐจึงดูขัด ๆ กับนโยบายเกาหลีใต้ในที
การเมืองก็อย่างนี้ ความขัดแย้งก่อให้เกิดความแตกแยก เมื่อมีการเมืองภายในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ประเทศก็แตกออกเป็น 2 ส่วนได้ง่าย ๆ
เยอรมันนี เวียตนาม และอีกหลายประเทศก็เป็นแบบนี้ และเป็นตัวอย่างให้เห็น
การแตกออกเป็น 2 ประเทศย่อมมีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์ไม่ว่าการได้ครองอำนาจ การได้ขายอาวุธสงคราม หรือแม้แต่การได้คอมมิชชั่นจากการซื้ออาวุธสงคราม ในทำนองเดียวกัน การรวมกันเป็นประเทศเดียวก็มีอีกกลุ่มได้ผลประโยชน์
ไม่ว่าจะรวมหรือแยกประเทศ ย่อมมีกลุ่มหนึ่งได้ กลุ่มหนึ่งเสียตลอดเวลา
แม้ความแตกแยกจะให้ผลประโยชน์สู่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ความแตกแยกทุกครั้งมักส่งผลกระทบต่อระบบการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ การลงทุน ระบบ Logistics และระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่า
ดังนั้น ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น Logistics การลงทุน หรืออื่น ๆ ย่อมให้การสนับสนุนการรวมประเทศมากกว่า
แก้วที่แตกแล้วยากจะประสาน การแตกเป็น 2 ประเทศก็คล้าย ๆ กับแก้วที่แตกแล้ว แต่คนไม่ใช่แก้ว ความแตกแยกที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมักค่อย ๆ คลายตัวทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจที่บีดรัด
ดังนั้น ความแตกแยกจึงต้องใช้เวลาที่ถึงจุดหนึ่ง ความขัดแย้งย่อมค่อย ๆ คลายตัว ความเป็นเชื้อชาติเดียวกันย่อมทำให้การร่วมชาติค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่าง
หลายประเทศข้างต้นก็เป็นแบบนี้จนรวมประเทศได้สำเร็จ
ตรงกันข้าม เมื่อใดการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความแตกแยกก็มักกระจายมากขึ้น การเมืองเป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ หากเป็นเพียงการเมืองภายในประเทศไม่มีอำนาจภายนอกจากต่างประเทศเข้าวุ่นวาย ความแตกแยกก็อาจค่อย ๆ ทุเลาลงง่ายกว่า
แต่หากมีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาร่วม หากมีประเทศที่ 3 ได้ผลประโยชน์จากความแตกแยกนั้นอย่างเช่นกรณีเกาหลีเหลือ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ ที่เห็นอยู่ในเวลานี้
การรวมประเทศก็อาจเนิ่นนานออกไป หรืออาจเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
แล้วประเทศไทยวันนี้ล่ะ
10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดความแตกแยกมาก ยุคสมัยหนึ่งประชาชนแตกแยกกันอย่างหนักถึงขั้นทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน และนำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ออกมาพูดจากัน
‘แบ่งประเทศเป็น 2 ไปเลย’
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ ความแตกแยกค่อย ๆ ทุเลาลง แม้คนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นจะยังอยู่ มันยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนผ่านสู่อีกรุ่นหนึ่ง แต่คำพูดขอแบ่งประเทศก็จางลง
มีรอยยิ้มให้เห็นบ้างแม้จะดูจริงใจในบางครั้ง และฝืนยิ้มในบางครั้ง
ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ดีมาก เป็นความหวังมาก แต่ในที่สุดก็สร้างความเสียหายมากเป็นเงาตามตัว ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เคยมีรัฐบาลที่ดีน้อย เป็นความหวังน้อย และสร้างความเสียหายน้อย เช่นกัน
ถามคนไทยดู คำตอบก็น่าจะคล้ายกันคือ อยากได้รัฐบาลที่ดีมาก เป็นความหวังมาก และสร้างความเสียหายน้อยกันทั้งนั้น
วันนี้ยังไม่มีใครตอบได้อย่างมีหลักเกณฑ์ชัด ๆ ว่า รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมีดีมาก หรือน้อยเพียงใด และสร้างความเสียหายมาก หรือน้อยเพียงใด
แล้วอยู่ ๆ ข่าวการเลื่อนเลือกตั้งก็กลายเป็นกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก็ดังกระหึ่มขึ้น กระบวนการต่าง ๆ ค่อย ๆ ก่อตัวจนเห็นทีท่าความขัดแย้งอาจกลับเข้ามาใหม่
ความแตกแยกกำลังก่อตัวขึ้น แล้วเสียงขอแบ่งประเทศเป็น 2 ก็ค่อย ๆ แว่วขึ้นมาอีกทั้ง ๆ ที่รู้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ความแตกแยกสร้างความเสียหายไม่รู้จบ เมื่อมีผู้ได้ผลประโยชน์จากความแตกแยกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ 3 หรือมือที่ 3 ความแตกแยกก็อาจนำมาซึ่งสิ่งไม่คาดฝันได้
ใครถนัดการเลือกตั้งแล้วได้อำนาจมา คนผู้นั้นก็จะทุ่มเททุกอย่างให้มีการเลือกตั้ง ใครที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารแล้วประชาชนยอมรับก็จะไม่ปล่อยให้มีการเลือกตั้งเร็วนัก
ต่างฝ่ายต่างก็บอกว่า การได้อำนาจตามแบบที่ตนถนัดนั้นดีต่อประเทศไทยโดยไม่บอกว่าดีต่อพวกพร้องของตน
ทั้งหมดนี้คือ การเมืองและการได้มาซึ่งอำนาจทั้งสิ้นและเป็นต้นทางของความขัดแย้ง
ประชาชนเป็นเพียงทางผ่าน เป็นเพียงเครื่องมือให้ได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น อนาคตของไทยในวันนี้จึงขึ้นอยู่กับประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นทางผ่านให้กับผู้ใด
สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ความแตกแยกในอดีตจนถึงการแยกประเทศแล้วก็อยากกลับมารวมประเทศ แต่ก็มีประเทศที่ 3 คอยให้ความเห็นอยู่ข้าง ๆ โดยไม่มีใครรู้ว่า ผลประโยชน์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องแต่ก็ทำให้เกาหลีอาจไม่ดูไม่คล้ายเกาหลีขึ้นมาก็ได้
แล้วไทยล่ะ ???
ประชาชนไทยมองไม่เห็นอะไรที่เป็นบทเรียนจากเกาหลีเลยหรือ ???
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
มาทำความรู้จักระบบขนส่งพื้นฐานของ BRICS กันเถอะ (แอฟริกาใต้ ตอนที่ 5)
การขนส่งทางอากาศของแอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้มีท่าอากาศยาน 10 ท่าอากาศยานที่สามารถรองรับได้มากกว่าร้อยละ 98 ของท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ ในแต่ละปีมีผู้โดยสารเดินทางจำนวน 10 ล้านคน ในช่วงของ World Cup ในปี 2010 นั้น แอฟริกาใต้ได้ลงทุนเงินจำนวน 20 ล้านแรนด์ ในการปรับปรุงสนามบินโดยที่เน้นไปที่ท่าอากศยานนานาชาติ OR Tambo ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ท่าอากศยานนานาชาติ Cape Town และท่าอากศยานนานาชาติแห่งใหม่ ที่ชื่อ KingShaka ที่อยู่ชานเมืองของเดอร์บัน
นอกจากนี้ยังมีสนามบินภายในประเทศอีก 7 สนามบินซึ่งตั้งอยู่ที่ Port Elizabeth, East London, George, Kimberley, Upington และ Pilanesberg Airports Company of South Africa (Acsa) อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการท่าอากาศยานของประเทศ
และการปรับปรุงการดำเนินงานของท่าอากศยานให้เกิดประสิทธิภาพ และยังรวมไปถึงท่าอากศยานอื่นอีกด้วย อาทิ ท่าอากาศยาน Lanseria (Midrand), Gateway (Polokwane), Nelspruit และ Kruger (Mpumalanga)
ในปี 2012 สายการบินแอฟริกาใต้ (South African Airways (SAA)) ได้รับการโหวตว่าเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในทวีปแอฟริกาเป็นปีที่ 10 โดยองค์กรวิจัยการบินทั่วโลก (Skytrax) ของสหราชอาณาจักร สายการบินแอฟริกาใต้ (SAA) เป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาโดยมีสายการบินที่เชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ระหว่างทวีปได้มากกว่า 28 เมือง 1,365 จุดหมายปลายทาง ใน 193 ประเทศ และจำนวนเที่ยวบิน 21,500 เที่ยวบินในแต่ละวัน
ที่มา: International Institute for Trade and Development (ITD) www.itd.or.th