CEO ARTICLE
“รถหนีภาษี”
1-2 ปีที่ผ่านมา รถหรู หรือ Super Car ตกเป็นจำเลยของสังคมเมื่อถูกตรวจพบการหลบเลี่ยงภาษีอากรขณะนำเข้า แล้วคำถามคาใจประชาชนทั่วไปก็เกิดขึ้น
เขาหลบเลี่ยงภาษีอากรกันอย่างไร ???
จากข้อมูลที่กรมสอบสืบสวนและสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้แถลงออกมาคือ ในการหลบเลี่ยงภาษีอากรที่ผ่านมา ผู้นำเข้าใช้วิธีการแจ้งราคานำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เมื่อคำนวณเป็นค่าภาษีอากรแล้วจึงต่ำมากตามไปด้วย
หากพิจารณาในหลักการแล้ว มันไม่น่าจะทำได้ง่าย ๆ
กฎหมายศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 16 กำหนดระเบียบวิธีการใช้ราคาเพื่อการประเมินภาษีอากรไว้ชัดเจน มิใช่ผู้นำเข้าจะสำแดงราคาอะไรอย่างไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ก็ได้
การสำแดงราคานำเข้าต้องผ่านการประเมินตามระบบก่อนการคำนวณค่าภาษีอากร
ขณะที่รถยนต์หรู 4 ล้อ ถูกจัดเข้าพิกัด 8703.22.11 แถมยังมีอัตราภาษีอากรที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ คือ
กรณีเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 cc อัตราอากร 80% ภาษีสรรพสามิต 40% ภาษีมหาดไทย 10% ของภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% รวม ๆ รวมแล้วประมาณ 243.94% ของราคาประเมิน
กรณีเครื่องยนต์เกิน 3,000 cc อัตราอากร 80% ภาษีสรรพสามิต 50% ภาษีมหาดไทย 10% ของภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% รวม ๆ รวมแล้วประมาณ 328% ของราคาประเมิน
อัตราภาษีอากรมีหลายรายการ รวม ๆ แล้วก็มาก คุ้มค่าเสี่ยง มันจึงเป็นเหตุจูงใจให้แจ้งราคาต่ำเพื่อใช้ในการประเมินภาษีอากร แต่ที่น่าสงสัยคือ
ทำไมการสำแสดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงจึงผ่านขั้นตอนการประเมินออกมาได้ ???
นี่คือต้นเหตุของการหนีภาษีรถยนต์หรู
เมื่อการแสดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงคือต้นเหตุของการหนีภาษี กรมศุลกากรจึงเอาจริงขึ้นมาด้วยการกำหนดวิธีการประเมินราคาให้ชัดเจน
ตอนตรวจสอบก็พบว่า รถยนต์หรู 4 ยี่ห้อมีการสำแดงราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริง
รถยนต์หรู 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ลัมโบร์กีนี ปอร์เช่ เฟอร์รารี มาเซราติ ในแถลงการกล่าวว่า รถยนต์หรูบางคันสำแดงราคาต่ำเพียง 58% ของราคาจริงเท่านั้น
กรมศุลกากรจึงออกบันทึกด่วน (ตีตราลับมาก) ที่ กค 0521 (ส)/ร 2640 ถึงด่านศุลกากรทั่วประเทศ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินราคารถยนต์ใหม่ สำหรับรถยนต์หรู 4 ยี่ห้อข้างต้น
ไม่ว่าผู้นำเข้าจะสำแดงราคาอะไรก็ตาม การประเมินภาษีอากรต้องใช้ฐานราคาที่สืบค้นจากเว็บไซต์ www.automoto.it เท่านั้น
ราคาจากเว็บไซต์น่าจะเป็นราคาขายปลีกภายในประเทศต้นทาง และเป็นราคาที่ผู้ผลิตในประเทศต้นทางรับรอง เมื่อเป็นราคาขายปลีก กรมศุลกากรจึงกำหนดให้หักส่วนต่าง ๆ ที่เป็นของประเทศต้นทางออกไป เช่นกำไร logistics cost ค่าใช้จ่ายดำเนินการ และอื่น ๆ
อัตราที่ให้หักออกจากราคาในเว็บไซต์ของแต่ละประเทศมีดังนี้
- เฟอร์รารี (Ferrari) นำเข้าจากประเทศหลังอังกฤษ ให้หัก 32.01%
- มาเซราติ (Maserati) นำเข้าจากประเทศอิตาลี ให้หัก 53.52%
- ลัมโบร์กีนี (Lamborghini) นำเข้าจากประเทศอิตาลี ให้หัก 27.67%
- ปอร์เช่ (Porsche) นำเข้าจากอังกฤษ ให้หัก 53.52%
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำเข้ารถยนต์หรูทั้ง 4 ยี่ห้อ ยังต้องนำหลักฐานใบขนสินค้าขาออกจากประเทศต้นทาง และใบเสร็จค่าประกันภัยรถยนต์มาแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรเพื่อประกอบการพิจารณาอีกด้วย
ดังนั้น ผู้ที่จะนำเข้ารถยนต์หรู หรือผู้ที่ซื้อรถยนต์หรูภายในประเทศ 4 ยี่ห้อดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อพิจารณาราคาขายปลีกต้นทาง อัตราร้อยละที่กรมศุลกากรกำหนดให้หักออกไปได้
ราคาที่ได้น่าจะใกล้เคียงราคาประเมินที่สุดแล้ว
จากนั้นก็ลองคำนวณค่าภาษีอากรตามอัตราข้างต้น ผู้นำเข้าก็น่าจะมองออกว่า ภาระค่าภาษีอากรที่ต้องแบกรับมีเท่าไร คุ้มค่าต่อการนำเข้ามาหรือไม่
ขณะเดียวกัน ผู้ที่กำลังจะซื้อรถหรูภายในประเทศก็จะมองออกว่า รถยนต์ที่ตนเองกำลังจะตัดสินใจซื้อนั้น เมื่อนำค่าภาษีอากรที่ประเมินได้มาหักออก รถยนต์ดังกล่าวน่าจะเป็นรถยนต์นำเข้าแบบหนีภาษีที่อาจนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลังหรือไม่
ส่วนผู้ที่ซื้อไว้ใช้แล้ว หากจะลองเข้าไปดูแล้วคำนวณตามแนวทางนี้ก็น่าจะมองออกว่า รถหรูที่ตนครอบครองอยู่เป็นรถหรูหนีภาษีนำเข้าหรือไม่
หากไม่ใช่ก็สบายใจไป แต่หากใช่ก็จะทราบเพื่อหาทางแก้ไข
แม้กรมศุลกากรจะมีกฏหมาย และจะกำหนดระเบียบวิธีการปฏิบัติให้รัดกุมอย่างไร เชื่อว่า ขบวนการนำเข้ารถยนต์หรูแบบหนีภาษีก็ไม่น่าจะหมดไปง่าย ๆ เพราะเดิมพันมันสูง
ขณะที่กรมศุลกากรที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บและป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีอากร ก็คงต้องออกมาตรการใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ
ผู้นำเข้าและผู้ซื้อรถหรูภายในประเทศจึงควรเข้าใจหลักการ แนวคิด และวิธีการทำงานเพื่อป้องกันความผิดและข้อกล่าวหาการครอบครองรถหนีภาษีที่อาจสร้างความเดือดร้อนได้
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
The Logistics
“NAVA” นาวา มาพาเรือ ไปสู่ยุคดิจิตอลแห่งอนาคต
Thailand 4.0 เป็นคำคุ้นหูที่ทุกคนคงจะได้ยินอยู่บ่อยๆ หัวใจของยุค 4.0 ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่ ก็คือ การทำน้อย ได้มาก นั่นคือการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ไม่ว่าจะแวดวงไหนๆ จึงเร่งพัฒนา และให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มาเป็นพลังผลักดันให้ธุรกิจเข้มแข็งและเติบโตขึ้น วงการเรือก็เช่นเดียวกัน เป็นโอกาสดีที่วันนี้จะพาไปรู้จักกับ “NAVA” แพลตฟอร์มใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งเปิดตัวโดยบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) นาวา คือ บริการสื่อสารทางทะเล มุ่งเชื่อมต่อการสื่อสารให้เรือที่ออกไปปฏิบัติการ สามารถติดต่อกับชายฝั่งได้ โดยสามารถเชื่อมต่อทุกคน ทุกที่ ให้สื่อสารกันได้แม้อยู่ในท้องทะเล โดยเป็นการใช้ระบบบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ มีขีดความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง ด้วยเทคโนโลยี Fiber-To-The-Ship พร้อมพัฒนาให้เรือขนส่งสินค้า หรือเรือขนส่งผู้โดยสารธรรมดาๆ กลายเป็นเรือดิจิตอลยุคอนาคต ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมการเดินเรือให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ นาวา ยังเป็นบริการที่มีจุดเด่นทั้งในด้านความปลอดภัย เครือข่ายที่มีความยืดหยุ่น และมีทีมงานที่พร้อมดูแลและให้การสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน และมีโซลูชั่นส์ที่ช่วยสนับสนุนและตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ารายต่างๆ ได้แก่ บริการ Nava Ship Manager โซลูชั่นส์ที่จะช่วยบริหารจัดการระบบการทำงานของเรือ เช่น การเฝ้าระวังการทำงานของเครื่องยนต์ การให้คำแนะนำการใช้เชื้อเพลิง แผนการซ่อมบำรุงต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น บริการ Nava Connect เป็นระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สำหรับเชื่อมต่อการสื่อสารผ่านดาวเทียมระหว่างเรือและชายฝั่ง เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ประจำการอยู่บนเรือ และการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวของลูกเรือและผู้โดยสาร และบริการ Nava Media เป็นระบบความบันเทิงและการฝึกอบรมบนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม เพื่อให้ผู้ใช้งานบนเรือสามารถรับชมสาระความบันเทิงและฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ทางไกลบนเรือได้
ในช่วงแรกของการเปิดตัวบริการนี้ ไทยคมฯ มีแผนที่จะนำเสนอบริการ Nava ในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นก่อน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายต่างๆ เพื่อขยายการให้บริการดังกล่าวต่อไป
ที่มา: http://www.marinerthai.net/forum/index.php?topic=11306.0