Logistics Corner

ฉบับที่ 505

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“2469 – 2561”

จากปี พ.ศ. 2469 ถึง 2560 หากคำนวณแล้วก็เป็นเวลา 91 ปี

เวลา 91 ปีที่ผ่านมา พรบ. ศุลกากรเก่าหลาย ๆ ฉบับได้รับการแก้ไข ปรับปรุง ตัดทอน และเพิ่มเติมใหม่เหลือเป็นฉบับเดียวเรียกว่า พรบ. ศุลกากร 2560

อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก แล้วปีนี้ 2561 กรมศุลกากรกลับออกประกาศช๊อกนักเดินทางชาวไทยในเรื่องการนำของใช้ส่วนตัวออกไปนอกราชอาณาจักร และการนำของที่ไปซื้อจากต่างประเทศติดตัวเข้ามา

ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเก่าตามอำนาจ พรบ. เก่า แต่เอามาทำประกาศใหม่เพื่อใช้อำนาจตาม พรบ. ใหม่ ให้ถูกต้องโดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ แล้วอาการซ๊อคก็เกิดขึ้น

ทำไมหรือ ???

เวลาผ่านมา 92 ปีแล้ว บริบททางสังคมเปลี่ยนไปมาก ค่าเงินก็เปลี่ยนไปมาก 92 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวแกงทั่วไปขึ้นจากจานละไม่กี่สตางค์มาเป็นจานละ 40 บาท โดยประมาณ

วันนี้ กรมศุลกากรยังประกาศให้ของใช้ส่วนตัวที่นักเดินทางไปซื้อจากต่างประเทศแล้วนำติดตัวเข้ามาให้ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้ามีมูลค่าอยู่ที่ไม่เกิน 20,000 บาท อยู่ดี

วันนี้ ไม่รู้ว่า เสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา เครื่องสำอางค์ หรืออื่น ๆ ที่นักเดินทางไปซื้อติดตัวมาแต่ละชิ้นมีราคาสูงขี้นไปถึงเท่าไรแล้ว

แล้วลองเปรียบเทียบดูค่าปรับทั่ว ๆ ไปเวลาทำผิดทางศุลกากรดูบ้าง พรบ. เดิมกำหนดค่าปรับราว 50,000 บาท แต่ พรบ. ใหม่ ขึ้นเป็น 500,000 บาท

เวลาทำผิด ค่าปรับเพิ่มขึ้นสิบเท่า แถมยังออกเป็นกฎหมาย

ลองเหลียวดู ประกาศล่าสุดของกรมศุลกากรที่ 60/2561 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ช๊อกนักเดินทางไทย มีเนื้อหาพอสรุปอย่างไรบ้าง

    1. ของส่วนตนนำติดตัวเข้ามา มูลค่าเกิน 20,000 บาท โดยไม่ใช่ของต้องห้ามต้องกำกัดต้องยื่นชำระภาษีอากร และภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ด่านนำเข้า

ของต้องห้ามคือ ของที่ห้ามนำเข้าเด็ดขาด เช่น สื่อลามกอนาจาร ส่วนของต้องกำกัดก็คือ ของที่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า เช่น วิทยุสื่อสาร เป็นต้น

หากของมีมูลค่าไม่เกิน 200,000 บาท หรือหากมีมูลค่าเกิน 200,000 บาท แต่มีเพียงชิ้นเดียวก็ให้ชำระภาษีอากรแบบใบขนปากระวาง

ใบขนปากระวางคือ ใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบแสดงการคำนวณภาษีอากรแบบย่อเพื่อขอชำระภาษีอากรตรงช่องแดงขณะเดินทางเข้ามาได้เลย เป็นการอำนวยความสะดวก

ทั้งหมดนี้คือ การพิจารณาที่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านนำเข้า

ยิ่งไปกว่านั้น ประกาศยังยินยอมให้ชำระด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตก็ได้โดยนักเดินทางต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมธนาคาร

    1. ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่า ของติดตัวที่กำลังนำเข้ามานั้นต้องชำระอากรขาเข้าหรือไม่ คำสั่งได้กำหนดให้นักเดินทางเข้าทางช่องแดงเพื่อให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ
    1. บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเหมือนเดิมคือ บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือยาสูบไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดไม่เกิน 250 กรัม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 1 ลิตร
    1. ในกรณีนำของมีมูลค่าเดินทางออกไปต่างประเทศ เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจถูกเรียกเก็บอากรขาเข้าเมื่อกลับเข้ามา ให้ปฏิบัติดังนี้

ให้รายงานต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ห้องทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออกซึ่งนักเดินทางจะได้รับเอกสารไว้แสดงขณะนำกลับเข้ามา ภายใต้เงื่อนไข ดังนี้

(1)  เป็นของเก่าใช้แล้วและมีจำนวนพอสมควรแก่การเดินทาง

(2)  มีเครื่องหมาย เลขหมาย (Serial Number) หรือหลักฐานอื่นที่สามารถตรวจสอบได้

(3)  มีภาพถ่ายของของที่นำมาแจ้งจำนวน 2 ชุด

(4)  พนักงานศุลกากรอาจทำเครื่องหมายเลขหมายไว้เป็นหลักฐาน

ทั้งหมดของความวุ่นวายก็มีเนื้อหาข้างต้น แต่หากจะให้สรุปสั้น ๆ ที่อยู่ในกระแสวิจารย์ก็มีเพียง 2 ประเด็นเท่านั้นคือ

มูลค่าของนำของติดตัวเข้ามาเพียง 20,000 บาท เท่าเดิมซึ่งน้อยเกินไป และ

ตอนนำของมีค่าเดินทางออกไปต่างประเทศ ควรลงทะเบียนก่อน

ตั้งแต่เหตุการณ์ 9-11 เป็นต้นมา การเดินทางระหว่างประเทศมีขั้นตอนมากขึ้น ความไม่เข้าใจก็ยิ่งทำให้ยิ่งวุ่นวายโดยเฉพาะประเทศที่ทำอะไรสบาย ๆ อย่างไทยแลนด์

ปัจจุบัน นักเดินทางไทยต้องเผื่อเวลามากขึ้น บางท่านต้องเหนื่อยต่อการวิ่งไล่ขึ้นเครื่อง บางท่านก็ตกเครื่องจนกลายเป็นเรื่องชินตา

มาวันนี้ กรมศุลกากรยังเอาระเบียบเดิมมาประกาศตอกย้ำเข้าไปอีก การเดินทางแต่ละครั้งก็วุ่นวายแล้ว เวลาก็ต้องเผื่อให้มากแล้ว ประกาศจึงทำให้นักเดินทางยิ่งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมากยิ่งขึ้นเมื่อต้องไปลงทะเบียนต่อศุลกากรก่อนการเดินทางออกไป

บริบททางสังคมเปลี่ยนไปมาก ค่าของเงินก็ตกไปมาก

อย่างนี้จะให้คนไม่เข้าใจระบบราชการเข้าใจเป็นอื่นได้อย่างไร นอกจากจะเข้าใจว่า พ.ศ. 2561 ในเรื่องของติดตัวนักเดินทาง กรมศุลกากรคงใช้แนวทางใน พ.ศ. 2469 มาใช้อยู่ดี

92 ปี ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็ย่อมทำให้นักเดินทางชาวไทยช๊อกเป็นธรรมดา

หากกรมศุลกากรมีเจตนาต้องการปราบพวกขนของหนีภาษี อย่างนี้ก็น่าจะผิดเป้าหมายเพราะกลุ่มที่เดือดร้อนหรือกลุ่มที่เป็นนักเดินทางจริง ๆ ส่วนกลุ่มไหนขนของหนีภาษีบ้าง เชื่อว่าชาวบ้านนักช๊อปของหนีภาษีถูก ๆ เขารู้กันหมด หากจะปราบพวกนี้ก็ง่าย ๆ แค่มุ่งไปที่กลุ่มนั้น

มันน่าจะได้เป้าหมายมากกว่า มันมีวิธีการมากมายให้ไล่จับแต่ไม่ใช่วิธีนี้

มันดีกว่ามาตอกย้ำประกาศเดิม ๆ ว่า อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ขณะนำเข้า แล้วผลก็เป็นอย่างที่เห็น

สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเรื่องวังวนเดิม ๆ อยู่ดี

คนเป็นชาวบ้านแท้ ๆ ที่ไม่ใช่เศรษฐี นาน ๆ จะได้เดินทางสักที ไปซื้อนาฬิกาหรู ๆ หรือเครื่องมือทำมาหากินไม่กี่หมื่นบาทมาใช้ก็ต้องมานั่งเสี่ยงต่อการเป็นจำเลยไปซะอีก

หากกรมศุลกากรจะพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส ก็น่าจะประกาศออกมาใหม่ กำหนดใหม่ให้นักเดินทางนำของติดต่อเข้ามาให้มีมูลค่าไม่เกิน 200,000 บาท โดยไม่ต้องเสียภาษี

ให้เพิ่มอีก 10 เท่าเหมือนค่าปรับไปเลย

หากขัดต่อกฎหมายข้อใดก็เสนอแก้ไขกฎหมายข้อนั้น

นักเดินทางที่บริสุทธิ์ใจก็จะได้ใช้ความบริสุทธิ์นี้ซื้อของจำเป็นเข้ามา ไม่ต้องไปไล่ซื้อจากผู้ค้าหนีภาษี

หากทำแบบนี้ได้ โลกทั้งใบก็น่าจะย่อเล็กลงเป็น FTA (Free Trade Area) มากขึ้น ส่วนคนขายของหนีภาษีก็คงจะลดน้อยลงไปเนื่องจากนักเดินทางได้สิทธิ์มากขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อจากพวกหนีภาษีให้วุ่นวาย

พ.ศ. 2561 ควรจะมีอะไร ๆ ที่แตกต่างไปจาก พ.ศ.2469 ที่ดีและชัดเจนกว่านี้

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

กวางโจววางแผนครั้งใหญ่ ที่จะสร้างสนามบินแห่งที่สอง

ในช่วงวันหยุดตรุษจีนที่ผ่านมา

​ กวางตุ้งได้มีการประกาศแผนพัฒนาสนามบินนานาชาติแห่งที่สองในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ที่มีแผนแล้วเสร็จในปี 2578

​สนามบินจะตั้งอยู่ในเขต Zengcheng ที่มีชื่อเรียก

​ว่​า Zhengguo International Airport และหลังจากนั้นจะ

มีการก่อสร้างเมืองขึ้นโดยรอบ​

ซึ่งการ​ก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สองในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการบินและการขนส่งที่สำคัญในจีนทางตอนใต้

คณะกรรมาธิการการวางแผนเมืองและทรัพยากรของกวางโจวได้เผยแพร่แผนดังกล่าวในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการแล้ว โดยถ้าหากกวางโจวก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งที่สองแล้วเสร็จภายในปี 2578 สนามบินแห่งนี้จะสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร 120 ล้านถึง 140 ล้านคนต่อปี

ปัจจุบันสนามบิน Guangzhou Baiyun International เป็นหนึ่งในสามของสนามบินที่คึกคักที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ รองลงมาจากปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ในปี 2563 คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 80 ล้านคนต่อปี จาก 65 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2560 และสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้มากกว่า 2.5 ล้านเมตริกตัน ในปัจจุบันสนามบิน Guangzhou Baiyun International มีเส้นทางการบินระหว่างประเทศและภายในภูมิภาคนี้ประมาณ 150 แห่งและเที่ยวบินมากกว่า 1,000 เที่ยวที่เชื่อมโยงกับกวางโจวกว่า 210 แห่งในต่างประเทศ​

กวางโจวเป็นเมืองการค้าที่สำคัญและเป็นเมืองท่าทางการค้าของจีนมานานหลายศตวรรษ ที่เป็นที่รู้จักกันในนามว่า ประตูสู่ทางตอนใต้ของจีนและยังเป็นศูนย์กลางทางการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง มีเส้นทางรถไฟ ทางหลวงที่เชื่อมโยงกันกับเมืองต่างๆ ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียงที่เจริญรุ่งเรืองและส่วนต่างๆ ของประเทศจีน เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้ดียิ่งขึ้น ภายในปี 2578 กวางโจวจะสร้างท่าเรือที่จะสามารถรองรับการขนส่งสินค้ามากกว่า 750 ล้านเมตริกตัน และรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้มากกว่า 36 ล้าน TEUs และสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้ารางเบาประมาณ 2,000 กิโลเมตร ซึ่งยาวเป็น 5 เท่าของโครงข่ายในปัจจุบัน อีกทั้งระหว่างปี 2560 – 2566 มีแผนจะสร้างทางรถไฟใต้ดินใหม่ 10 แห่ง รวมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 258.1 กิโลเมตรอีกด้วย

​ที่มา:​ http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/220525/220525.pdf&title=220525