SNP NEWS

ฉบับที่ 509

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

ชาวจีนคลั่งไคล้ ‘บุพเพสันนิวาส ยอดทวิต ‘ออเจ้า’ พุ่งอันดับ 1

ความดังของละครข้างต้นได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ๆ ที่ดีงามให้แก่สังคมไทยในเวลานี้ ความดังทะลุถึงต่างประเทศตามหัวข้อข่าวข้างต้น (http://www.thaipost.net/main/detail/6067)

ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ละครและภาพยนต์จากต่างประเทศไม่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี หรือจากฮอลีวูดเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาก ผู้นำรัฐบาลต่างวิตกกังวลว่า เมื่อรับเอาวัฒนธรรมชาติอื่นเข้ามามาก ๆ ไทยก็อาจเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมชาติอื่นก็ได้

อะไรจะเกิดขึ้น หากคนไทยแต่งกลายกายด้วยชุดเกาหลี ญี่ปุ่น หรือตามภาพยนต์ฮอลีวูด กินอาหาร แสดงออกทางคำพูด และกริยาแบบต่างชาติกันหมด

แน่นอนว่า วัฒนธรรมไทยจะค่อย ๆ หายไปโดยมีวัฒนธรรมชาติอื่นเข้ามาแทนที่

นี่คือการเป็นเมืองขึ้นด้านวัฒนธรรม

ในเวลานั้น ผู้นำรัฐบาลอยากเอาคืนบ้าง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร หรือทำแต่ไม่เข้าเป้าก็ไม่มีใครตอบได้ ของอย่างนี้ไม่ใช่นึกจะทำก็ทำได้ นึกจะให้ต่างชาติติดวัฒนธรรมของไทยก็ติดได้

บางประเทศพยายามทำการตลาด สร้างกระแส ปลุกรูปแบบต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็ขายไม่ออก ต่างชาติไม่รับ

แล้วอยู่ ๆ วันนี้ ละครบุพเพสันนิวาสก็โด่งดังไม่เพียงในบ้านเราเท่านั้น รายงานข่าวแจ้งว่าดังไกลถึงฮ่องกงและจีนที่มีสัญญาสั่งซื้อไปฉาย

ข่าวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ก็แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ทูตจีนในประเทศไทยหลายคนร่วมใจแต่งชุดไทยสมัยพระนารายณ์เข้าร่วมงานสงกรานต์

ในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรมก็เลยเร่งรณรงค์ให้คนไทยแต่งกายย้อนยุคเล่นน้ำกันไปเลย

แบบนี้จึงเรียกว่า กระแสออเจ้าจุดวัฒนธรรมไทยให้กลับขึ้นมา

หากละครหรือภาพยนต์ไทยดังไกลไปฉายในต่างประเทศได้จริง อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

ประการแรก เงินตราต่างประเทศก็ไหลเข้ามา มันก็เหมือนกับการส่งออกนั่นล่ะ เพียงแต่ว่าของที่ส่งออกไม่ใช่สินค้าแต่เป็นละครหรือภาพยนต์

เงินนอกไหลเข้าก็ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ถ่วงดุลให้กับเงินไทยที่ไหลออกจากการนำเข้า จากการซื้อสินค้า การศึกษาและท่องเที่ยวในต่างประเทศ

ประการที่ 2 เงินบาทแข็งค่าก็ทำให้สินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ เช่น ยารักษาโรคราคาไม่แพงขึ้น คุณภาพชีวิตคนไทยก็ดีขึ้น

ประการที่ 3 สถานที่ท่องเที่ยวของไทยก็มีคนอยากเข้าชมมากขึ้น คนไทยเที่ยวไทยเงินก็ไม่ไหลออก คนต่างชาติมาเที่ยวไทยก็ได้เงินไหลเข้าสร้างค่าเงินบาท สร้างรายได้เข้าไปอีก

ประการที่ 4 สินค้าที่เกี่ยวข้องกับละครไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าก็ขายได้ดีขึ้น อุตสาหรรมสิ่งทอเติบโตขึ้น คนวงการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก การขนส่ง และ Logistics ก็มีงานทำมากขึ้น รายได้ของคนก็ดีขึ้น

ประการที่ 5 วัฒนธรรมไทยเผยแพร่ต่างประเทศมากขึ้น เป็นการส่งออกวัฒนธรรมที่ในอดีตไทยเคยแต่เป็นผู้รับ หากกระแสโลกจุดติดจริง ๆ วันนี้ก็จะกลายเป็นการย้อนรอย ไทยกำลังจะเอาคืนเอาชาติอื่นมาเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมบ้าง

ประโยชน์มากมายเหล่านี้ ไม่ใช่เอกชนรายเดียว หรือละครออเจ้าเรื่องเดียวจะทำได้ มันต้องมีเจ้าภาพใหญ่เข้ามาบริหารจัดการซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัฐบาล

ในเมื่อกระแสออกเจ้าจุดติด มันก็เหมือนน้ำขึ้นแล้ว มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรีบตัก

แต่จะให้รัฐบาลทำอย่างไรได้ รัฐบาลไม่ใช่เอกชนที่จะมาสร้างละครแนวนี้ หรือจะเอาเงินไปให้คนสร้างละครออเจ้า มันดูไม่ยุติธรรมกับผู้สร้างละครรายอื่นเข้าไปอีก

สิ่งเดียวที่รัฐบาลทำได้ดีที่สุดในเวลานี้คือ การสร้างกฎหมายส่งเสริม หรืออุดหนุนผู้สร้างละครที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและสามารถขายต่างประเทศได้

พอลองค้นหากฎหมายเกี่ยวกับละคร หรือภาพยนต์ดูก็พบ พรบ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์  พ.ศ. 2551 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประกอบกิจการภาพยนต์ วีดีทัศน์ และการลงโทษเท่านั้น

พรบ. ที่ว่านี้มุ่งไปทางควบคุมมากกว่าการส่งเสริม

ขณะเดียวกันก็ยังมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อีก ชื่อกองทุนก็สื่ออยู่แล้วว่า ไม่ได้มุ่งไปที่การเผยแพร่วัฒนธรรมยังต่างประเทศที่ให้ประโยชน์มากมายข้างต้น

อย่างนี้แล้วจะให้มีผู้สร้างเพิ่มเป็นหลาย ๆ รายได้อย่างไร และผู้สร้างจะมีแรงกำลังใจได้อย่างไร สุดท้าย พอกระแสออเจ้าอ่อนลง ผู้สร้างก็จะอ่อนแรงตามแล้วหายสาปสูญไป

ดังนั้น รัฐบาลก็น่าจะฉวยโอกาสนี้แก้ไขกฎหมายเดิมโดยใส่หมวดส่งเสริมวัฒนธรรมไทยแบบ B.O.I. ให้ประโยชน์ทางภาษีอากรชัด ๆ โดยกฎหมายไปเลย

สิ่งที่แนะนำให้นำมาส่งเสริม อาธิ เช่น

1. ละครหรือภาพยนต์ใดที่ได้สัญญาฉายในต่างประเทศตั้งแต่ 3 ประเทศขึ้นไป ให้ถือว่าอยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตาม           พรบ. นี้

2. ด้านอุปกรณ์นำเข้า เช่น ระหว่างการถ่ายทำ หากจำเป็นต้องนำอุปกรณ์เข้ามา หรือหากมีการนำอุปกรณ์เข้ามาจากต่างประเทศ                         เพื่อสร้างโรงถ่ายขึ้นมาเพื่อถ่ายทำละครหรือภายนต์เรื่องนี้ ก็ได้ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าแต่หากถ่ายทำเสร็จแล้วและภาย                             หลังได้รับสัญญาไปฉายตั้งแต่ 3 ประเทศขึ้นไปก็ให้คืนอากรขาเข้าที่ได้ชำระขณะนำเข้าทั้งหมด เป็นต้น

3. ด้านภาษีเงินได้ เช่น ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวกับละครหรือภาพยนต์เรื่องนั้นทั้งหมด

4.  ด้านช่างเทคนิคชาวต่างชาติ ก็ให้สิทธิเข้ามาทำงานเพื่อสร้างภาพยนต์เรื่องนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ

5.  ด้านชดเชยภาษี ให้ถือว่าสัญญาขายไปต่างประเทศเป็นการส่งออกและให้ได้รับเงินชดเชยภาษี หรือได้รับบัตรภาษีตาม พรบ.                        ชดเชยภาษีสินค้าส่งออก พ.ศ. 2524 เหมือนการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

6.  อื่น ๆ ที่รัฐบาลเห็นว่าควรให้เป็นการส่งเสริม
ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอที่พอสรุปได้ว่า

รัฐบาลควรส่งเสริมเอกชนให้สร้างละครหรือภาพยนต์ที่เป็นการส่งออกวัฒนธรรมไทยโดยการออกเป็นกฎหมายให้ได้สิทธิประโยชน์คล้าย ๆ กับการส่งเสริมการลงทุน หรือ B.O.I.

มันน่าจะทำให้เอกชนมีกำลังใจมากขึ้น

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

The Logistics

ท่าอากาศยานฝูโจวได้รับอนุมัติให้เป็นด่านนำเข้าเนื้อสัตว์ของจีน

เมื่อเร็วๆนี้ท่าอากาศยานฝูโจว (Fuzhou Changle International Airport)ได้รับอนุมัติจากสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคสินค้านำเข้าและส่งออกแห่งประเทศจีน

​ ​(General Administration of Quality Supervision, Inspection and Quarantine of the People’s Republic of China: AQSIQ) ให้นำเข้าเนื้อสัตว์

(ก่อนหน้านี้ท่าอากาศยานฝูโจวได้รับอนุมัติให้นำเข้าผลไม้สด เมล็ดพันธุ์และต้นกล้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสำหรับรับประทาน อาการทะเลแช่เย็นและแช่แข็งเท่านั้น​)

ปัจจุบันท่าอากาศยานในจีนได้รับอนุมัติให้นำเข้าเนื้อสัตว์ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานฝูโจว (มณฑลฝูเจี้ยน) ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจิ้งโจว (มณฑลเหอหนาน) กวางโจว (มณฑลกวางตุ้ง) และท่าอากาศยานเสิ่นหยาง (มณฑลเหลียวหนิง)

เจ้าหน้าที่ของท่าอากาศฝูโจว เปิดเผยว่า คุณภาพชีวิตของชาวฝูเจี้ยนได้ดีขึ้นโดยลำดับ ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของมณฑลฝูเจี้ยนได้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะเนื้อสัตว์นำเข้าประเภทแช่เย็นและแช่แข็งคุณภาพไฮเอนด์ ประกอบกับเมื่อปลายปี 2558 ท่าอากาศยานฝูโจวได้เปิดเส้นทางบิน “ฝูโจว-ซิดนีย์” ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งในมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลใกล้เคียงพิจารณาดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อสัตว์จากออสเตรเลีย ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องขออนุมัติให้ท่าอากาศยานฝูโจวเป็นท่านำเข้าเนื้อสัตว์อีกแห่งหนึ่งในจีน

ก่อนหน้านี้ การนำเข้าเนื้อสัตว์ของมณฑลฝูเจี้ยนต้องนำเข้าผ่านด่านอื่นนอกมณฑลฝูเจี้ยน ทำให้ต้นทุนการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเนื้อสัตว์มีคุณภาพด้อยลงด้วย เนื่องจากใช้ระยะเวลานานในการขนส่งเนื้อสัตว์ถึงมือผู้บริโภคในมณฑลฝูเจี้ยน

​ ​ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมาณ 10 ราย ได้ลงนามในข้อตกลงใช้บริการโกดังแช่เย็นและแช่แข็งสินค้ากับท่าอากาศยานฝูโจวแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเข้าเนื้อสัตว์

​นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ชาวจีนมีกำลังซื้อสูงขึ้นทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย กล่าวคือ เน้นความหลากหลายคุณภาพและยี่ห้อของสินค้ามากขึ้น สำหรับการบริโภคเนื้อสัตว์ในจีนพบว่า กลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่มีรายได้สูง นิยมบริโภคเนื้อสัตว์นำเข้า

​ อย่างไรก็ตาม ทางการจีนเข้มงวดการนำเข้าเนื้อสัตว์มาก ดังนั้นเนื้อสัตว์จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ตลาดจีนต้องได้รับอนุมัติจาก AQSIQ เท่านั้น

​ ​

http://pub.fsciq.cn/approval/SitePages/Home.aspx ซึ่งเป็นเว็บไซต์แสดงถึงสถานะการอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งอนุมัติโดย AQSIQ )

ปัจจุบันพบว่า จีนอนุมัติให้นำเข้าเนื้อสัตว์จากบางประเทศ เช่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย บราซิล เบลารุส โปแลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก เยอรมนี ฝรั่งเศส คอสตาริกา ไทย เป็นต้น

​ ​สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 จีนได้อนุมัติการนำเข้าเนื้อไก่แช่เข็งของไทยที่ผลิตหลังวันที่ 7 มีนาคม 2561 (จีนยังไม่อนุมัติให้นำเข้าเนื้อสัตว์อื่นจากไทย) ทั้งนี้ คุณภาพ/คุณสมบัติของเนื้อไก่แช่แข็ง รายชื่อผู้ผลิตไก่แช่แข็งในไทย และรายชื่อด่านของจีนที่สามารถนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็งดังกล่าวได้ต้องเป็นไปตามที่ AQSIQ กำหนดไว้เท่านั้น จึงถือว่าเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งของผู้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งของไทยในการเข้าสู่ตลาดจีน ทั้งนี้ ผู้ส่งออกเนื้อไก่แช่แข็งไปยังจีน ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของทางการจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ที่มา:​

http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/225115/225115.pdf&title=225115