SNP NEWS

ฉบับที่ 515

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

“ มหาเธร์ ”

“มหาเธร์ รีเทรินนายกมาเลเซีย”

มหาเธร์ หรือมหาธีร์ ตามแต่สำเนียงคนไทยจะเรียก มหาเธร์มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘มาฮาดีร์ บิน โมฮามัด’ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ในอดีตของมาเลเซีย แต่วันนี้ได้กลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้งในวัย 92 ปี ชัยชนะด้วยที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 122 : 79

กลยุทธ์ที่ใช้จนชนะเลือกตั้งคือ ‘การใช้ศัตรูเป็นมิตร’

หมายถึง การร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านที่เคยสู้กันในอดีตให้มาต่อสู้กับพรรครัฐบาลของตนที่ครองเสียงข้างมากจนชนะนายนาจิบ ราซัค ผู้เป็น “ศิษย์การเมือง” ด้วยที่นั่งดังกล่าว

หากจะว่าไปมันก็คล้าย ๆ การมุ่งสู่เป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงวิธีการนั่นเอง

มหาเธร์เคยเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 – 2546 ยาวนานถึง 22 ปี และทำให้มาเลเซียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงจนเป็นที่กล่าวขวัญของทุกประเทศ

ดังนั้นคนในแวดวงการเมืองไทยย่อมรู้จักดี มหาเธร์วางมือทางเมืองขณะมีอายุ 76 ปี

ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ความเจริญก้าวหน้าของมาเลเซียส่วนหนึ่งนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าตามไปด้วย แต่มันเป็นส่วนน้อย

ขอย้ำว่า ‘ส่วนน้อย’

ตรงกันข้าม ความเจริญก้าวหน้าของมาเลเซียส่วนใหญ่มักทำให้ประเทศไทยด้อยลง ขอย้ำว่าไทย ‘ด้อยลง’

ข้อเท็จจริงคือ มาเลเซียมีพรมแดนติดกับภาคใต้ของไทย สภาพจึงเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน หากไทยส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลักดัน พัฒนาทุก ๆ ด้านเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมแล้วอยู่ ๆ มาเลเซียส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้าง

อะไรจะเกิดขึ้น ???

ในอดีตมาเลเซียภายใต้การนำของมหาเธร์ก็ทำสำเร็จ นักท่องเที่ยวจึงถูกแบ่งไปมาเลเซียมากขึ้น แล้วก็มาไทยน้อยลง ไทยย่อมสูญเสียให้มาเลเซีย

ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็อีกหนึ่ง คนร้ายหนีเข้ามาเลเซียทีไรไม่

ค่อยจะถูกจับได้ นอกจากจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศกันจริง ๆ

ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งมาก ไทยก็ยิ่งสูญเสียมาก

ตรงกันข้ามกับมาเลเซีย หาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบ มาเลเซียก็ไม่ได้อะไรดีขึ้นเลย อย่างเก่งก็เสมอตัวหรืออาจสูญเสียเศรษฐกิจด้านนั้นให้ไทย แต่หากรุนแรงมากขึ้น มาเลเซียนอกจากไม่เสียหายอะไรแล้วยังกลับเป็นฝ่ายได้ทางอ้อมแม้ไม่ตั้งใจ

สถานการณ์ต่าง ๆ นานาที่ส่งผลตรงข้ามเหล่านี้ แม้ไทยกับมาเลเซียจะอยู่ใกล้กัน แต่ผลประโยชน์ของชาติเกือบจะอยู่คนละด้าน คนละขั้วอย่างสิ้นเชิง บริบททางสังคมของ 2 ประเทศนี้จึงต่างกันคนละขั้วไปด้วย

เว้นแต่เรื่องที่ร่วมมือกันแล้วได้ผลประโยชน์ร่วมกันอย่างชัดเจ

แล้วจู่ ๆ มหาเธร์ผู้เก่งกล้าสามารถในอดีตได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในความเป็นประเทศของไทย ผลที่ได้จะดีหรือร้ายกันแน่ ???

ภายหลังการชนะเลือกตั้งของมหาเธร์ นักการเมืองของไทยที่ปัจจุบันถูกแบ่งให้เป็นฝ่าย เป็นซีก จนเป็นหลายฝ่าย หลายซีกส่วนหนึ่งก็ฉวยเอาชัยชนะของมหาเธร์มาเป็นปัจจัยชี้นำทันที

หัวข้อข่าวและประเด็นที่เอามาเป็นปัจจัยก็เช่น

‘มาเลเซียได้นายกคนใหม่วัย 92 แบบนี้คนอายุ 80 ปีของไทยก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้’

‘ประชาชนชาวมาเลเซียได้แสดงพลังขับไล่ผู้นำทุจริตแล้ว ประชาชนชาวไทยก็จะแสดงพลังขับไล่เผด็จการในการเลือกตั้งครั้งหน้าบ้าง’

‘เสียงประชาชนมาเลเซียสามารถได้เปลี่ยนผู้นำแล้ว ประเทศไทยก็จะถูกเสียงประชาชนเปลี่ยนผู้นำบ้าง’

‘ประชาชนมาเลเซียได้แสดงมติต่อต้านการทุจริต ประเทศไทยก็จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

หัวข้อข่าวและประเด็นยังมีอีกมากและเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องตามหลักการทั้งสิ้น หากจะถามว่านักการเมืองไทยหรือผู้กล่าวรู้หรือไม่ว่า

บริบททางสังคมของไทยต่างจากมาเลเซียมาก ??

คำตอบคือ รู้

แล้วรู้ด้วยว่า กลยุทธ์ที่มหาเธร์ใช้คือ ‘การใช้ศัตรูเป็นมิตร’ เพียงเพื่อชนะการเลือกตั้งให้ได้เท่านั้น แม้มันไม่ผิดอะไรเลย แต่มันก็ขัดต่อวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี

การแสดงความชื่นชมยินดีต่อมหาเธร์เป็นสิ่งที่ดีที่สุภาพชนควรทำ

แต่การนำมหาเธร์มาเปรียบเทียบกับประเทศไทยให้ดูด้อยลงในสภาพบริบททางสังคมที่ต่างกันกลับเป็นการทำร้ายประเทศไทยมากกว่า

ทั้งที่รู้ว่าประชาชนไทยถูกแบ่งฝ่าย แบ่งค่าย แบ่งขั้ว และอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมานาน สิ่งที่ตามมาจึงกลายเป็น ความสับสนของประชาชนไทยที่ยังขาดความเข้าใจอีกมาก

ทั้งหมดนี้ จึงสอดคล้องกับคำกล่าวของครุสเชฟและเรเกน นักการเมืองคนดังในอดีตของโซเวียตและสหรัฐ ท่านกล่าวไว้ว่า

“นักการเมืองเหมือนกันหมดไม่ว่าที่ไหน พวกเขาสามารถให้สัญญาที่จะสร้างสะพานได้แม้ในสถานที่ไม่มีแน่น้ำ” (ครุสเชฟ อดีตประธานาธิบดี สหภาพโซเวียต)

Politicians are the same all over. They promise to build a bridge even where there is no river.

“การเมืองน่าจะเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดอันดับสอง ผมมาได้รับรู้ว่า มันมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับอาชีพอันดับแรก” (เรแกน อดีตประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา)

Politics is supposed to be the second-oldest profession. I have come to realize that it bears a very close resemblance to the first.

ประโยคข้างต้นถืออมตะทางการเมือง นำมาจากหนังสือการเมืองท้องถิ่นหน้า 12 เขียนโดย รศ. ดร. ปธาน สุวรรณมงคล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชซึ่งได้อธิบายว่า

Quoted

“คำกล่าวเช่นนี้ของเรแกน สะท้อนถึงแก่นแท้ของนักการเมืองจำนวนมากในวงการเมืองของประเทศทั้งหลาย แม้แต่ในประเทศที่การเมืองระบอบประชาธิปไตยพัฒนาไปอย่างมากแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาก็ตามที่นักการเมืองสามารถทำ หรือแลกกับอะไรก็ได้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพร้องซึ่งก็ไม่ต่างไปจากอาชีพแรกของโลกที่มักกล่าวกันว่าคือ โสเภณี

หากพิจารณาความหมายที่นักการเมืองได้กล่าวมาข้างต้นก็เข้าใจได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่น่าตรงไปตรงมา หรือยึดถือความซื่อสัตย์ คุณธรรม จริยธรรมอะไรมากนัก หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็กล่าวได้ว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “การแสวงหาอำนาจและการใช้อำนาจ” เพื่อผลประโยชน์ของตนเองนั่นเอง

Unquoted

มหาเธร์ชนะการเลือกตั้งเป็นเรื่อง ‘น่ายินดีต่อผู้ชนะ’ นี่คือหลักการ แต่การเมืองเป็นเรื่อง ‘การแสวงหาอำนาจและการใช้อำนาจ’ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ นี่ก็คือหลักการเช่นกัน

ดังนั้น การนำชัยชนะของมหาเธร์มาเป็นประเด็นโดยไม่ใส่ใจความด้อยค่าหรือผลเสียที่ไทยอาจจะได้รับก็เป็นการแสวงหาอำนาจอีกทางหนึ่ง

หากพิจารณาคำอธิบายคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีเรแกนที่เขียนข้างต้น ก็จะเข้าใจตามข้อเขียนว่า

“นักการเมืองสามารถทำ หรือแลกกับอะไรก็ได้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือพวกพร้องซึ่งก็ไม่ต่างไปจากอาชีพแรกของโลกที่มักกล่าวกันว่าคือ โสเภณี”

นี่ก็คือหลักการอีกข้อหนึ่งของการเมืองแบบไทย ๆ ที่ประชาชนคนไทยควรเข้าใจ

เว้นแต่การใช้อำนาจนั้น จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริงอย่างที่มหาเธร์กำลังจะทำ

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

Hutchison Ports Thailand เปิดตัวท่าเทียบเรือ ชุด D โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ทันสมัยที่สุดในไทย
บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย เปิดตัวโครงการท่าเทียบเรือ ชุด D ในท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าการลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท (600 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยท่าเทียบเรือชุดใหม่นี้จะเป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือ ชุด D ถือเป็นส่วนสำคัญภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ท่าเทียบเรือชุด D จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมท่าเรือในระดับสากล เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือ ชุด D จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างมหาศาลถึงราว 3.5 ล้านทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ชุด D จะประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึงสามคัน ปฏิบัติงานผ่านเทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกล โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานในช่วงแรกนี้ได้ในช่วงกลางปี 2018

Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงความคืบหน้าของท่าเทียบเรือชุด D ว่า “เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุนในท่าเทียบเรือชุด D นี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งล่าสุดของเราที่จะกระตุ้นศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเอื้อต่อความเจริญเติบโตของกิจการค้าของประเทศ”

ท่าเทียบเรือชุด D ใหม่นี้จะสามารถรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความคล่องตัวและทางเลือกให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการยกระดับของประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ในคราวเดียวกัน

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ท่าเทียบเรือชุด D ใหม่นี้ จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร มีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า (super post panamax quay cranes) จำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้า (electric rubber tyred gantry cranes) อีกจำนวน 43 คัน ที่ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล ซึ่งส่งผลดีหลายประการ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ยกระดับสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานควบคุมปั้นจั่น เพิ่มศักยภาพความปลอดภัยด้านอุตสาหกรรม สร้างภาพแวดล้อมที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Mr. Ashworth ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “Hutchison Ports มีเครือข่ายท่าเทียบเรืออยู่ถึง 52 แห่ง ใน 26 ประเทศทั่วโลก เราสามารถดึงเอาความรู้ความชำนาญที่มีมาปรับใช้กับแหลมฉบังได้ เช่นเดียวกับการนำเอาหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดในโลก เทคโนโลยีชั้นนำในระดับสากล ตลอดจนความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เรามีกับผู้ประกอบการขนส่งระดับแถวหน้าของโลกมาใช้กับที่นี่ได้ และด้วยความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เรามั่นใจว่าเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน”​

ที่มา: http://thai.logistics-manager.com/2018/05/08/hpt-%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%94-d/