CEO ARTICLE

ปานปรีย์

Published on May 7, 2024


Follow Us :

    

การลาออกของ ดร. ปานปรีย์ส่งสัญญาณอะไร ?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนระดับรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งอันทรงเกียรติ
ดร. ปานปรีย์ พหิทธานุกร ลาออก หลาย ๆ รัฐบาลก่อนหน้าก็เคยมีรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. คนระดับบริหาร และข้าราชการประจำลาออก คัดค้าน หรือแสดงจุดยืนที่ถูกต้องมาแล้วหลายครั้ง
ทุกคนต่างมีเหตุผลต่าง ๆ นานา และทุก ๆ การแสดงจุดยืนก็ถูกสื่อขุดคุ้ยเหตุผลมาตีแผ่
กรณี ดร. ปานปรีย์ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ไม่ต่างกัน ข่าวหลายสำนักชี้ว่าเพราะไม่ต้องการทำตามคำสั่งอันมิชอบของผู้ที่อยู่เหนือรัฐบาล ไม่ต้องการสร้างผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่ต้องการเป็นเครื่องมือในการทำผิดกฎหมาย
ข่าวก็คือข่าว ไม่มีใครยืนยัน และไม่มีใครปฏิเสธแม้แต่ตัวผู้นำรัฐบาล
แต่กลับทำให้ภาพของ ดร. ปานปรีย์ ดูดี ได้รับการสรรเสริญจากฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลทันที มีการขุดคุ้ยประวัติ การแสดงผลงานที่ผ่านมา และแสดงความเป็นนักวิชาการที่สูงพอ
ก่อนหน้านั้น ภาพของ ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาแสดงจุดยืน ให้ข้อมูลความเสียหาย และคัดค้านการแจกเงิน 10,000 บาท โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลใช้หาเสียงขณะเลือกตั้งจนถูกคนที่อยากได้เงินต่อต้าน แต่ก็มีคนสนับสนุนมาก
คนระดับผู้นำองค์กรต่าง ๆ หรือคนมีตำแหน่งสูงของรัฐออกมาแสดงจุดยืน กล้าชน กล้าให้ข้อมูลด้านตรงข้ามกับรัฐบาล กล้าลาออก ไม่หลงตำแหน่ง ไม่กลัวการถูกปลด ทำให้ด้านหนึ่งเห็นภาพของความเป็นนักวิชาการที่สูง และภาพของความเป็นมืออาชีพที่ยึดความถูกต้องมากขึ้น
ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เห็นภาพคนที่ยึดตำแหน่ง ไม่มีความเป็นนักวิชาการ ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่มองความถูกต้องจะนิ่งเฉย หรือทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเพื่อรักษาตำแหน่งของตนไว้
พฤติกรรม 2 ด้านต่างกัน และจุดยืนก็ต่างกันกำลังส่งสัญญาณอะไรต่อสังคมไทย ?

ระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วย 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
ทั้ง 3 อำนาจคือ 3 เสาหลักที่ต้องคานกัน ต้องส่งเสริมซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความถูกต้องและความสงบสุขให้แก่ประชาชน ทั้ง 3 อำนาจจึงต้องเท่าเทียมกัน และไม่ก้าวก่ายกัน
ตุลาการต้องผ่านการเรียนรู้อย่างลึกเพื่อให้มีอุดมการณ์ และให้มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่
ตุลาการใช้อำนาจรักษาความยุติธรรม ขณะที่นักการเมืองใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย และอำนาจบริหารในการสั่งการข้าราชการเพื่อสร้างความสงบสุขต่อประชาชน
แต่นักการเมืองได้อำนาจจากการเลือกตั้ง ไม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ไม่มีระบบตรวจสอบอุดมการณ์ ความซื่อสัตย์ และจริยธรรมในเชิงลึกก่อนที่จะส่งให้ประชาชนเลือก
ประชาชนที่ขาดความรู้ ขาดความเข้าใจจะเลือกนักการเมืองด้วยความสำคัญผิดได้ง่าย
หลายสิบปีที่ผานมาจึงมีข่าวตลอดเวลาว่า เมื่อนักการเมืองส่วนหนึ่งผ่านการเลือกตั้งก็เข้ามาใช้อำนาจควบคุมฝ่ายนิติบัญญััติ และฝ่ายอำนาจบริหารเพื่อสร้างผลประโยชน์ทับซ้อน
ข่าวที่เห็นคือ นักการเมืองตัวใหญ่ควบคุมนักการเมืองตัวเล็ก ตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ให้สั่งการข้าราชการประจำ และสั่งการ ส.ส. ให้ออกกฎหมายโดยอ้างประชาชน แต่มีเจตนาแอบแฝง
ยิ่งไปกว่านั้น นักการเมืองตัวใหญ่ที่ต้องการกินรวบยังเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ให้การเมืองมีอำนาจเหนือกว่าจนขัดต่อหลักการ 3 เสาหลักอย่างที่เป็นข่าวเรื่อยมา
หลายคดีความมีการตัดสินไปแล้ว แต่การเมืองก็เข้ามาพลิกการลงโทษให้เบาลง
ภาพของ ดร. ปานปรีย์ ดร. เศรษฐพุฒิ ข้าราชการประจำ หรือนักการเมืองที่ร่วมกันแสดงจุดยืนเรื่อยมาจึงเป็นการแสดงความเป็นนักวิชาการ และความเป็นมืออาชีพที่ยึดความถูกต้องเพื่อส่งสัญญาณตื่นรู้ และสัญญาณความถูกต้องให้ประชาชนได้เห็น
หลังจากนี้ก็อยู่ที่ประชาชนจะได้รับสัญญาณหรือไม่ และจะตื่นรู้อย่างไร ?
หากประชาชนไม่ได้สัญญาณตื่นรู้ ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ร่วมแสดงจุดยืนใด ๆ ก็ถือเป็นการยอมรับและส่งเสริมนักการเมืองตัวใหญ่ให้กินรวบต่อไป หรือหากประชาชนตื่นรู้ และเห็น แต่จะรอสั่งสอนในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะทำให้ประชาชนที่ไม่ตื่นรู้ ไม่เห็นยังหลงสำคัญผิดในการเลือกตั้งต่อไป
สัญญาณตื่นรู้ส่งออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า การลาออกของ ดร. ปานปรีย์ คือครั้งล่าสุด
ประชาชนที่ได้รับสัญญาณนี้จึงควรร่วมกันแสดงอาการตื่นรู้ และทำให้ประชาชนที่ยังไม่ตื่นรู้ได้สัมผัสสัญญาณ ได้ร่วมกันกระจายออกไปซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ หรือหลายปี
ทั้งหมดนี้เพื่อรักษา 3 อำนาจให้ดำรงอยู่เท่าเทียมกันโดย 3 อำนาจนี้จะร่วมกันปลดปล่อยประเทศไทยให้พ้นจากการกินรวบด้วยมือประชาชนแทนการรอความหวังจากอำนาจนอกระบบ.

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
for Home and Health,
please visit https://www.inno-home.com

อ่านบทความอื่นที่เขียนโดย ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร ได้ที่ http://snp.co.th/e-journal/

Date Published : May 7, 2024

Dr. Sitthichai  Chawaranggoon
Dr. Sitthichai ChawaranggoonChief Executive Officer (CEO) - SNP GROUP

Logistics

เปิดแผนพลิกโฉม ‘ท่าเรือคลองเตย’ ปั้นสมาร์ทคอมมูนิตี้ รับเรือสำราญ

เปิดแผนแม่บทพัฒนา “ท่าเรือคลองเตย” 2,353 ไร่ ยกระดับสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร พร้อมปั้น “Smart Community” ส่งเสริมการท่องเที่ยว ขึ้นแท่นฮับเรือสำราญ ควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งประชาชนชาวกรุงเทพในภาพรวม ตลอดจนมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง จึงมีแนวคิดในการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยระบุว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างรอหนังสือคำสั่งการย้ายท่าเรือออกจากคลองเตยอย่างเป็นทางการ เพราะเบื้องต้นทราบว่าเป็นแนวคิดของทางนายกรัฐมนตรี ที่ได้หารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะให้ย้ายท่าเรือออกไปทั้งหมด ดังนั้นกระทรวงฯ จึงขอพิจารณาหนังสือคำสั่งที่จะส่งมาอย่างเป็นทางการก่อน เพื่อตีความและนำนโยบายไปปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กทท.มีแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือกรุงเทพในพื้นที่ย่านคลองเตย ซึ่งเป็นแผนที่ศึกษาตั้งแต่ปี 2562 โดยจะมีการพัฒนาที่ดินรวม 2,353 ไร่ เป้าหมายพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (Mixed Use) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Smart Community” สร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในพื้นที่คลองเตยในลักษณะที่อยู่อาศัยแนวสูง พร้อมยกระดับพื้นที่รอบท่าเรือให้เป็นศูนย์กลางการเดินทาง มีสิ่งอำนวยความสะดวก

“ปัจจุบันยืนยันว่ายังไม่มีคำสั่ง หรือหนังสือคำสั่งมายังกระทรวงฯ ที่ชัดเจนว่านายกฯ มีนโยบายให้กระทรวงฯ ดำเนินการอย่างไร แต่เชื่อว่าคงไม่มีการย้ายท่าเรือออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด น่าจะเป็นการย้ายเฉพาะส่วนของเรือขนส่งสินค้า แต่คงไว้ในส่วนของบริการเรือโดยสารท่องเที่ยว รองรับเทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญขนาดใหญ่มากกว่า”

สำหรับแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เดิมก็มีการระบุถึงแผนพัฒนาท่าเรือเพื่อรองรับการโดยสารและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อรองรับบริการด้านการท่องเที่ยว พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนโดยรอบ ดังนั้นเชื่อว่าคงไม่ได้มีการย้ายท่าเรือออกจากพื้นที่นี้ทั้งหมด แต่น่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด นำพื้นที่บางส่วนย้ายออกไปเพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้คนกรุงเทพฯ มากขึ้น

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1125292

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.