CEO ARTICLE
“ดอกเบี้ยสหรัฐ”
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการตั้งแต่ต้นปี 61 ว่า เศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ถึง 3.8% โตขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ 3.7% แล้วตามมาด้วยหัวข้อข่าวข้างต้น
คนที่อยู่ฝ่ายเชียร์รัฐบาลเห็นข่าวนี้ก็ช่วยกันกระจายมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคนที่อยู่ฝ่ายไม่ชอบรัฐบาลก็จะไม่เชื่อแล้วพยายามให้ข้อมูลด้านตรงข้าม
การค้าการขายไม่ดี แม่ค้าพ่อค้าขายสินค้าไม่ค่อยออก คนจนก็ยิ่งจนมากขึ้น คนตกงานยังมากอยู่ ต่าง ๆ นานาเหล่านี้ทำให้ข้อมูลขัดแย้งกัน
เมื่อใดที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หากข้อมูลไม่ถูกบิดเบือน ผู้ใช้ข้อมูลก็มักเลือกข้อมูลไม่ครบด้าน หรือกล่าวง่าย ๆ การเมืองมักใช้ข้อมูลเฉพาะด้านที่ตนเองได้ประโยชน์เท่านั้น
ฝ่ายตรงข้ามเสียหายอย่างไร ไม่สน !!!
จริง ๆ การพิจารณาเศรษฐกิจจะเติบโตแค่ไหนก็มีวิธีการดูเป็นสากล
เมื่อยึดปริมาณเป็นการวัดการเติบโต การดูก็ต้องดูกันที่ปริมาณซึ่งประกอบด้วยปริมาณการบริโภคของประชาชน การลงทุน การใช้จ่ายของรัฐบาล การส่งออก การนำเข้า การท่องเที่ยว
แล้วก็เป็นที่มาของสูตร GDP = C + I + G (X – M)
การท่องเที่ยวภายในประเทศถือเป็นการส่งออกแบบหนึ่ง ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพราะทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้า ดังนั้น การท่องเที่ยวในต่างประเทศของไทยที่อยู่ตรงข้ามจึงถือเป็นการนำเข้าอีกแบบหนึ่ง
การประเมินก็น่าจะประเมินกันด้วยข้อมูลข้างต้น ไม่ว่า IMF ประเมิน หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนประเมินก็คงหนีไม่พ้นสูตรข้างต้น
แต่เอาเข้าจริง ๆ เศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน การส่งออก การนำเข้า การท่องเที่ยว จนมาถึงการใช้จ่ายของรัฐอีก เช่น ภาวะเศรษฐกิจของโลก ของประเทศต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อไทย อัตราดอกเบี้ย และอื่น ๆ อีกมาก
เมื่อใดที่ปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยน มันก็ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณต่าง ๆ และสุดท้ายก็ส่งผลต่อ GDP ดังนั้น การที่หน่วยงานหนึ่ง เช่น IMF หรือหอการค้า ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้แล้ว หากจะดูของจริงก็ต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง
ไทยรัฐฉบับวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2561 หน้า 5 คอลัมป์ หมายเหตุประเทศไทย ได้ลงหัวข้อข่าวที่น่าสนใจที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
‘ดอกเบี้ยโลกเข้าสู่ขาขึ้นแล้ว เตรียมรับวิกฤติรอบใหม่’
เนื้อหาข่าวให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2008 สหรัฐประสบวิกฤติการเงิน หรือที่เรียกว่า ‘วิกฤติแฮมเบอร์เกอร’ ซึ่งเอาชื่อมาล้อเลียนกับ ‘วิกฤติต้มยำกุ้งของไทย’ ในปี 1997 จนมีการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ต่างกัน
วิกฤติของไทยไทยผ่านมาแล้วราว 21 ปี แต่ของสหรัฐเพิ่งเป็นปีที่ 10
ข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วันพุธที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐมีมติเอกฉันท์ ‘ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% ไปอยู่ที่ 1.75 – 2.0% และส่งสัญญาณว่าครึ่งปีหลังนี้จะปรับขึ้นอีก 4 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยตอนสิ้นปี 2561 ไปอยู่ที่ 2.25 – 2.50% สูงกว่าดอกเบี้ยของไทยถึง 0.75 – 1.0%
อัตราดอกเบี้ยนอกประเทศไทยสูงกว่า เงินลงทุนย่อมไหลออกไปหาที่ได้ประโยชน์มากกว่า ข่าวนี้มาตอกย้ำด้วยข้อมูลที่ว่า 5 เดือนแรกของไทย เงินทุนไหลออกไปแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท จนทำให้ตลาดทุนของไทยในช่วงที่ผ่านมาผันผวนและอยู่ในอาการไม่น่าไว้วางใจ
ยิ่งครึ่งปีหลังของ 2561 ดอกเบี้ยสหรัฐยิ่งดีขึ้น
หากประเทศต่าง ๆ จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินทุนให้คงอยู่ในประเทศของตนบ้าง สงครามดอกเบี้ย สงครามแย่งชิงเงินทุนจะเกิดขึ้นซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่ว่า ปี 2562 ยุโรปจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ
ในข่าวกล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐสืบเนื่องมาจาก ‘มาตราการลดภาษี’ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงและเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้
นโยบายส่งผลให้ธุรกิจเอกชนฟื้นตัวด้วยภาษีนิติบุคคลที่ลดลงจากร้อยละ 35 เหลือ 21 และยังเปิดโอกาสให้บริษัทที่เก็บกำไรไว้ต่างประเทศนำเงินกำไรกลับเข้าประเทศ โดยเสียภาษีครั้งเดียวในอัตราร้อยละ 15.52 อย่างไม่ซับซ้อน
ไม่มีใครตอบได้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง 2561 ของสหรัฐครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยมากน้อยเพียงใด รัฐบาลและเอกชนของไทยจะมีประสบการณ์ มาตั้งรับได้มากน้อยเพียงใด
แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มเห็นได้ชัดคือ เงินทุนไหลออกที่ชัดเจนแล้ว และตัวเลข GDP ที่ต้องติดตามว่าจะมีการความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ???
อย่างน้อย ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ และ Logistics ก็ต้องมองออกแล้วว่า ค่าเงินบาทของไทยน่าจะเริ่มผันผวนไปในทางที่อ่อนตัวบ้างแล้ว
ไม่ว่าคนติดตามข่าวจะชอบรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม การติดตามข่าวทางเศรษฐกิจในเวลานี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
นี่คือส่วนหนึ่งที่เป็นผลจากดอกเบี้ยสหรัฐในปี 2561
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
Logistics
คอนเทนเนอร์อัจฉริยะ
การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันเติบโตขึ้นอย่างมาก ผู้คนซื้อขายและขนส่งสินค้าข้ามประเทศอย่างต่อเนื่อง ระบบการบริการขนส่งสินค้าและเทคโนโลยีจึงเข้ามามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ยาและอาหาร ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียคุณภาพระหว่างขนส่งได้ง่าย จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าร้อยละ 40 ของวัคซีน คุณภาพมักลดลงระหว่างการขนส่ง เนื่องจากอุณหภูมิที่เก็บสินค้าไม่คงที่ เช่นเดียวกับสินค้าอาหารสด ที่อุณหภูมิในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้ามีอิทธิพลต่อคุณภาพอาหารอย่างยิ่ง
บริษัทสัญชาติสวิส Smart Container Group หนึ่งในผู้นำด้านตู้คอนเทนเนอร์เทคโนโลยีขั้นสูง ได้นำเสนอการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าสองกลุ่มดังกล่าว ด้วยการออกแบบพัฒนาเทคโนโลยีแบบใหม่ ควบคู่กับระบบ IoT Sensors เพื่อควบคุมและตรวจจับอุณหภูมิและความชื้นภายในตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างขนส่งสินค้ายาและอาหาร ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของบริษัทฯ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างการเคลื่อนย้ายเพียงร้อยละ 0.1 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วไปของบริษัทอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 8.5
ปัจจุบัน บริษัท Smart Container Group แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ SkyCell ซึ่งดูแลทางด้านการพัฒนาตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้ายาและสินค้าทางการแพทย์ ส่วนกลุ่มที่สองคือ FoodGuardians ดูแลทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีตู้ขนส่งสินค้าอาหารสดหรือสินค้าอาหารที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พยายามพัฒนาระบบขนส่งแบบครบวงจรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เรียกว่า LOGI CHAIN ซึ่งจะนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้ในการพัฒนาระบบการจัดการและบริการการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดค่าใช้จ่าย และปลอดภัยต่อการชำระเงินระหว่างผู้ส่งและผู้รับสินค้า รวมถึงมีระบบการเก็บข้อมูลและระบบแทรคกิ้งเพื่อตรวจสอบสถานะในการขนส่ง
ปัจจุบัน บริษัท Smart Container Group มีตู้คอนเทนเนอร์อัจฉริยะให้บริการมากกว่า 1,200 ตู้ โดยได้ทำงานร่วมกับบริษัทขนส่งทางอากาศ เช่น Emirates และ Cargolux เป็นต้น รวมถึงได้ให้บริการขนส่งแก่บริษัทยามากกว่า 20 แห่งอีกด้วย
ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญอันดับต้นๆของโลก ซึ่งสินค้าเหล่านี้ มักพบปัญหาเน่าเสียหรือคุณภาพสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่ง โดยเฉพาะของสด เมื่อต้องขนส่งระยะไกลหรือข้ามประเทศ เทคโนโลยีการขนส่งสินค้าที่จะสามารถกักเก็บคุณภาพของอาหารไว้ได้มากที่สุดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การใช้บริการขนส่งสินค้าอาหารของบริษัทต่างชาติ ซึ่งถือว่ามีเทคโนโลยีการรักษาคุณภาพอาหารขั้นสูง ย่อมมีราคาสูงตามไปด้วย ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยหรือนักประดิษฐ์ไทยสามารถคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีการขนสิ่งสินค้าอาหาร ที่สามารถรักษาอุณหภูมิและคุณภาพสินค้าของอาหารไว้ได้ จะยิ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองระหว่างบริษัทผู้ส่งออกอาหารสดและบริษัทผู้ให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
ที่มา: http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/235335/235335.pdf&title=235335