CEO ARTICLE
หลายเที่ยวเรือ
สินค้าโครงการเดียวกัน แต่นำเข้าหลายเที่ยวเรือ
แต่ละเที่ยวเรือมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในพิกัดและอัตราภาษีต่างกัน
ทำอย่างไรให้สามารถผ่านพิธีการในพิกัดและอัตราภาษีเดียวกัน ???
กรณีดังกล่าวข้างต้น หากผู้นำเข้าต้องสำแดงใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรในแต่ละเที่ยวด้วยพิกัดและอัตราภาษีที่แตกต่างกันย่อมสร้างความวุ่นวายประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง หากเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในหลาย ๆ เที่ยวเรือที่ต้องสำแดงพิกัดแยกออกไปแต่มีอัตราภาษีที่สูงกว่าของที่ครบชุดสมบูรณ์ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้นำเข้า
ด้วยเหตุนี้ กรมศุลกากรจึงได้กำหนดวิธีปฏิบัติไว้ชัดเจนในประมวลระเบียบปฏิบัติ พ.ศ. 2560 ข้อ 3 01 01 25 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ของที่นำเข้ามาแต่ละเที่ยวเรือมานั้นสามารถสำแดงพิกัดและอัตราภาษีเดียวกันขณะนำเข้า
ระเบียบดังกล่าวให้เรียกพิธีการนี้ว่า “ใบขนสินค้าขาเข้าหลายเที่ยวเรือ” ภายใต้เงื่อนไขหลักเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ
“ของที่จะได้รับอนุญาตให้จัดทำพิธีการใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือ ต้องเป็นของที่นำมาเพื่อประกอบเป็นของครบชุดสมบูรณ์เท่านั้น”
เงื่อนไขหลักเพียงข้อเดียว แต่การตีความของกรมศุลกากรกับเจ้าของสินค้าต่างกันอย่างสิ้นเชิง เจ้าของสินค้าไม่ว่าจะนำอะไรเข้ามา และไม่ว่าจะนำเข้ามากี่เที่ยวเรือก็ตาม ก็มักตีความว่าของทั้งหมดเมื่อประกอบกันแล้วจะครบสมบูรณ์เท่านั้น
ไม่มีขาด ไม่มีเกิน
แต่การตีความของกรมศุลกากรอาจไม่ใช่
ระเบียบการนำเข้าหลายเที่ยวเรือและการตีความนี้ ตัวแทนออกของที่มีความรู้ หรือมีประสบการณ์หลายปีต่างทราบดี
ตรงกันข้าม ผู้นำเข้าส่วนใหญ่อาจไม่ทราบจนบางครั้งก็เกิดข้อถกเถียงระหว่างผู้นำเข้าในฐานะ “ผู้ว่าจ้าง” และตัวแทนในฐานะ “ผู้รับจ้าง” ในประเด็นการให้คำแนะนำก็มี
เงื่อนไขหลักเพียงข้อเดียวทำให้เกิดระเบียบปลีกย่อยตามมาอีกมาก ดังนั้น มิใช่ว่าอยู่ ๆ เมื่อมีของนำเข้าแล้วจะขอทำพิธีการศุลกากรหลายเรือได้ทันทีที่เรือเทียบท่า
ข้อที่ 1 ผู้นำของเข้าที่ประสงค์ขอทำใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือต้องยื่นเรื่องขออนุญาตจัดทำใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือก่อนเรือลำแรกจะเทียบท่าเพื่อให้พนักงานศุลกากรพิจารณา ตรวจสอบรายละเอียด และสั่งการก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาอนุญาต ข้อมูลในการพิจารณา เช่น มูลค่ารวม จำนวนเที่ยวเรือ ประเทศต้นทาง และอื่น ๆ ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาประมาณ 30 วัน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของโครงการ
ข้อ 2 หากได้รับการอนุญาต ผู้นำเข้าจะถูกสั่งให้วางประกันให้คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่กรมศุลกากรอาจได้รับจากการยินยอมให้แสดงอัตราภาษีต่ำในพิธีการของแต่ละเที่ยวเรือ
ความเสี่ยงก็เช่น ผู้นำเข้านำของเข้ามาแต่ละเที่ยวเรือด้วยอัตราภาษีที่ต่ำ แต่ไม่ใช่ของที่อยู่ในโครงการ หรือไม่ครบชุดสมบูรณ์แล้วนำไปขาย หรือนำไปเพื่อกิจการอื่น เป็นต้น
ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงมักถูกกำหนดให้วางเงิน ธนาคารค้ำประกัน หรือหลักทรัพย์ให้คุ้มกับความเสี่ยงตามที่กรมศุลกากรจะกำหนดก่อน
ข้อ 3 ต้องมีหลักฐานการสั่งซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมดภายใต้โครงการเดียวกัน
ข้อ 4 ต้องมีแผนโครงการ (Project planning) หรือพิมพ์เขียว (Blue print) โครงการที่แสดงการติดตั้ง และความสัมพันธ์ของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำเข้าแต่ละเที่ยวเรือให้มีความสัมพันธ์กันแบบครบชุดสมบูรณ์
ข้อ 5 ต้องมีแผนภูมิแสดงขั้นตอนการผลิต (Production flow chart)
ข้อ 6 เอกสารประกอบอื่นเช่น รูปภาพ แคทตาล๊อก (Catalog) เป็นต้น
ข้อ 7 การนำเข้าตั้งแต่เที่ยวที่ 2 ขึ้นไป ต้องนำเอกสารการนำเข้ามาลงทะเบียนที่ด่านนำเข้าครั้งแรก หรือด่านอนุมัติก่อน
ข้อ 8 การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น เช่น ตามความตกลงการค้าเสรี FTA ก็ต้องยื่นเอกสารที่กำหนดตั้งแต่ก่อนนำเข้าครั้งแรก
ข้อ 9 ทุกเที่ยวเรือที่นำเข้า ใบขนสินค้าต้องระบุ “ของนำเข้ารายการนี้เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้ารวมกับส่วนต่าง ๆ ที่นำเข้าตามใบขนสินค้าเที่ยวเรืออื่น ๆ จะเป็นของครบชุดสมบูรณ์ตามคำขออนุญาตทำใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือ เลขที่ ….. (รหัสท่า/ลำดับที่/วัน เดือน ปี) …”
ข้อ 10 เมื่อการนำเข้าครบถ้วนทุกชุด ต้องทำเรื่องปิดโครงการโดยการรับเจ้าหน้าที่ไปตรวจเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์แล้วที่โรงงาน
หากผลการตรวจพบความสัมพันธ์ที่เป็นของครบชุดสมบูรณ์ การสั่งการเพื่อคืนเงินประกันก็จะเกิดขึ้นซึ่งหมายถึงผู้นำเข้าจะได้รับเงินประกันคืน
กรมศุลกากรตรวจสอบความเป็นครบชุดสมบูรณ์ตามหลักกฎหมาย ที่มักต่างจากเจ้าของสินค้า ดังนั้น หากการตรวจพบส่วนใดไม่มีความสัมพันธ์ หรือไม่ใช่ของครบชุดสมบูรณ์ทั้งโครงการ การสั่งการให้ชำระภาษีอากรและการทำพิธีการศุลกากรแก้ไขให้ถูกต้องก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน
ด้วยระเบียบที่มีข้อปลีกย่อยมากมายเหล่านี้ ทำให้การสื่อสารตั้งแต่ก่อนการสั่งซื้อระหว่างผู้นำเข้าและตัวแทนออกของกลายเป็นส่วนสำคัญ
มันเป็นเรื่องของการเตรียมเอกสารและเตรียมข้อมูลให้ถูกต้อง
หากผู้นำเข้าไม่รู้ แต่เลือกใช้ตัวแทนออกของที่มีประสบการณ์รายเดียว มีการให้ข้อมูลครบถ้วนทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อเพื่อการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ เคียงบ่าเคียงไหล่ แบบนี้เชื่อว่า การให้คำแนะนำเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการทำใบขนสินค้าหลายเที่ยวเรือ และเรื่องอื่นจะเกิดขึ้นง่าย
ตรงกันข้ามปัญหามักเกิดจากกรณีผู้นำเข้าที่ไม่รู้ แต่ต้องการตัวแทนออกของให้เสนอราคาค่าบริการแต่ละชุดงานก่อน อาจเพื่อการประเมินราคา หรือเพื่อการแข่งขันกับผู้ให้บริการอื่นก็ได้
ด้วยความไม่รู้ ผู้นำเข้าก็ย่อมให้ข้อมูลและเอกสารที่พอแก่การเสนอราคา เช่น Invoice, Packing List, B/L และเอกสารประกอบอื่นเท่านั้น แต่ข้อมูลและเอกสารที่ได้รับย่อมไม่เพียงพอต่อการให้คำแนะนำและเสนอราคาแบบใบขนหลายเที่ยวเรือ หรือคำแนะนำอื่น
ยิ่งผู้นำเข้ามีพฤติกรรมที่ให้ตัวแทนออกของเสนอราคาเฉพาะงานก่อนหลายปี พฤติกรรมที่ผ่านมาก็ยิ่งเป็นการรับรองให้เสนอราคาพิธีการนำเข้าเป็นแบบปกติทั่วไปเท่านั้น
เมื่อราคาเป็นที่ตอบรับก็ถือเสมือนว่า สัญญาว่าจ้างการทำพิธีการปกติตามที่เสนอไปนั้นมีความสมบูรณ์ ยิ่งผู้นำเข้าไม่มีการทำสัญญาการว่าจ้างให้ครอบคลุมการให้คำแนะนำด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้ผู้นำเข้าขาดโอกาสได้รับคำแนะนำไปด้วย
คำแนะนำและราคาที่เสนอก็ย่อมไม่ได้ครอบคลุมการทำใบขนหลายเที่ยวเรือที่ซับซ้อนกว่ากันมาก
ในกรณีผู้นำเข้าใช้ตัวแทนออกของหลายรายเพื่อประโยชน์จากการแข่งขันราคา นั่นย่อมหมายความว่า ผู้นำเข้าต้องมีความรู้และต้องการเพียงการแข่งขันด้านราคา
ดังนั้น ในกรณีการใช้ตัวแทนหลายราย ผู้นำเข้าจึงต้องมีความรู้ มีความเข้าใจด้านพิธีการศุลกากรรูปแบบต่าง ๆ พอสมควร
แบบนี้ ผู้นำเข้าก็จะมีควาามสามารถในการสื่อสาร การประสานงาน ได้ประโยชน์จากการแข่งขัน และได้ประสิทธิภาพการทำงานควบคู่กัน
ด้วยเหตุนี้ การสื่อสารระหว่างผู้นำเข้าในฐานะผู้จ้าง และตัวแทนในฐานะผู้รับจ้างจึงเป็นเรื่องสำคัญสุด
การทำใบขนหลายเที่ยวเรือเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารมาก และเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการล่วงหน้าในระยะเวลาที่นานพอสมควร
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์ของผู้นำเข้าเอง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
LOGISTICS
จีนขึ้นภาษีนำเข้าข้าว 50%
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลจีนได้ปรับอัตราภาษีศุลกากรปี 61 โดยได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ จากอัตรา 5% เป็น 50% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.61 ส่งผลให้ภาษีนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์รวม 5 รายการ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 50% ด้วย ซึ่งได้แก่ ข้าวเปลือกสำหรับทำพันธุ์ของข้าวอื่นๆ, ข้าวเปลือกอื่นๆของข้าวอื่นๆ, ข้าวกล้องของข้าวอื่นๆ, ข้าวที่ผ่านหรือไม่ผ่านกระบวนการขัดสีและขัดมัน สำหรับสินค้าจากไทยที่จะได้รับผลกระทบ โดยต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจาก 5% เป็น 50% ได้แก่ ข้าวกล้องของข้าวอื่นๆ, ข้าวที่ผ่านหรือไม่ผ่านการขัดสีและขัดมันที่เป็นข้าวอื่นๆ และแป้งข้าวเจ้าอื่นๆ ซึ่งในปี 60 จีนนำเข้าจากไทย รวมถึงเวียดนาม เมียนมา สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งในส่วนของไทยเป็นการส่งออกโดยภาคเอกชน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่จีนปรับอัตราภาษีดังกล่าว เป็นการปรับให้สอดคล้องกับองค์กรศุลกากรโลก (ดับบลิวซีโอ) ที่จะต้องปรับทุกๆ 5 ปี เพราะอาจมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์บางรายการที่อยู่ภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีน ต้องปรับขึ้นตาม โดยกรมฯได้หารือกับกรมศุลกากรของไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค ขณะเดียวกัน กรมฯอยู่ระหว่างพิจารณาว่า การปรับขึ้นภาษีข้าวภายใต้เอฟทีเออาเซียน-จีน ขัดกับพันธกรณีที่จีนตกลงไว้ในความตกลงหรือไม่ “ตอนนี้ต้องดูพันธกรณีที่จีนตกลงในเอฟทีเออาเซียน-จีนก่อนว่าผูกพันภาษีข้าวและผลิตภัณฑ์ไว้อย่างไร จะทยอยลดจนเหลือภาษีสุดท้ายที่เท่าไร เพราะข้าวและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูงที่จีนยังคงภาษีอัตราสูงเพื่อไม่ให้กระทบเกษตรกรในประเทศ แต่ถ้าการขึ้นภาษีครั้งนี้ขัดกับพันธกรณีของจีน เราต้องขอหารือเรื่องนี้”
ด้านนายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการส่งออกข้าวของไทยตามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับรัฐบาลจีน เพราะสินค้าที่ขึ้นภาษีส่วนใหญ่ไทยไม่ได้ส่งออก อีกทั้ง บริษัท คอฟโก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในการซื้อขายข้าวของรัฐบาลจีน จะมีโควตานำเข้าให้ไทยอยู่แล้ว และเสียภาษีนำเข้าเพียง 1% ส่วนรายการที่จีนปรับขึ้นภาษี ไทยมีการส่งออกไปจีนน้อยมาก เช่น แป้งข้าวเจ้าอื่นๆ หรือข้าวกล้องของข้าวอื่นๆ เป็นต้น