CEO ARTICLE
ม. 19 VS 19 ทวิ
ก่อนปี พ.ศ. 2560 ผู้ประกอบการที่นำวัตถุดิบเข้าผลิต หรือนำสินค้าเข้ามาบรรจุใหม่ หรือนำเข้ามาผ่านประเทศไทยเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศที่ 3 ต้องเคยสงสัยความแตกต่างของมาตรา 19 และ 19 ทวิ แห่ง พรบ. ศุลกากร 2482 ไม่มากก็น้อย
ความสงสัยเหล่านี้อาจทำให้การเลือกใช้ กระโดดข้ามไปมา หรือสลับการใช้สิทธิประโยชน์ระหว่าง 2 มาตรานี้ผิดพลาดไปด้วย
พอผ่านปี 2560 ความสงสัยของผู้ประกอบการก็อาจลดน้อยลงด้วยเหตุผล 4 ประการคือ
- ผู้ขายต่างประเทศได้พัฒนาตนเองเข้าสู่ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Area)กับไทยมากขึ้นสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จึงได้รับการยกเว้นอากร การนำเข้าจึงอยู่ข่ายปลอดภาษีไปด้วย
- ประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลง FTA เต็มรูปแบบ ส่วนหนึ่งก็ค่อย ๆ ลดภาษีอากรสำหรับสินค้านำเข้าให้เหลือน้อยลง บางรายการเหลือร้อยละ 0 ไปเลยก็มี
- ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ เช่น A.T.A Carnet, B.O.I., คลังสินค้า ทัณบนฑ์(Bonded warehouse)หลายประเภท, หรือ เขตปลอดอากร (Free Zone) เพื่อช่วยเหลือให้สินค้านำเข้าเพื่อการส่งออกได้รับการยกเว้นภาษีอากรขณะนำเข้ามากขึ้น
- ประเทศไทยได้ บัญญัติกฎหมายศุลกากรฉบับปี 2560 ขึ้นมาใหม่ ยกเลิกกฎหมายเก่าหลายสิบฉบับโดยการนำมาปรับถ้อยคำและปรับเนื้อหาให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน
กฎหมายใหม่ทำให้มาตรา 19 ปรับเปลี่ยนเป็นมาตรา 28 และมาตรา 19 ทวิ ปรับเปลี่ยนเป็นมาตรา 29 แห่ง พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 แทนที่
แม้จะมีเหตุผล 4 ประการข้างต้น แต่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งก็ยังคงต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าจากต่างประเทศที่ยังอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีอากรอยู่ดี
บางรายก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ B.O.I หรือไม่สะดวกใช้ประโยชน์คลังสินค้าทัณฑ์บนที่มีรายจ่ายการจัดเก็บสูงกว่าปกติ เป็นต้น
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงยังมีผู้ประกอบการหลายรายที่ยังคงต้องใช้สิทธิประโยชน์จากกฎหมายมาตรา 19 และ 19 ทวิ หรือมาตรา 28 และ 29 แห่ง พรบ. ศุลกากร 2560 อยู่ดี
เมื่อยังต้องใช้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการบางท่านก็อาจไม่เข้าใจข้อแตกต่าง เมื่อมีเหตุให้ต้องกระโดดข้ามระหว่าง 2 มาตรานี้ก็อาจผิดพลาดจนทำให้เสียสิทธิ์การยกเว้นภาษีอากรไปก็มี
ข้อแตกต่างระหว่างมาตรา 28 และ 29 เพื่อการนำเข้าและส่งกลับออกไปให้ได้รับการยกเว้นภาษีอากรมีดังนี้
- ด้านการแจ้งล่วงหน้า มาตรา 28 ไม่ต้องแจ้งความประสงค์ล่วงหน้า สามารถนำเข้าได้ทันที และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อขอชำระภาษีอากรได้ตามปกติ
แต่หากต้องการใช้สิทธิ์ตามมาตรา 29 เพื่อนำเข้ามาผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุเป็นสินค้าสำเร็จรูป ผู้ประกอบการต้องแจ้งความประสงค์ในหลักการโดยหนังสือที่กำหนดล่วงหน้า
หากเป็นการนำวัตถุดิบชนิดนี้เข้ามาครั้งแรก ต้องยื่นหลักการล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน และต้องได้รับการอนุมัติก่อนการนำเข้า ส่วนการนำเข้าครั้งต่อ ๆ ไปก็ยังคงต้องแจ้งขณะนำเข้า
ดังนั้น หากสินค้านำเข้ามาเพื่อผลิตภายใต้มาตรา 29 แล้วจะยกเลิกกระโดดข้ามไปส่งออกโดยไม่มีการผลิตก็ยังสามารถทำได้ตามมาตรา 28
ตรงกันข้าม หากนำเข้าเพื่อส่งออกในภายหลังตามมาตรา 28 แต่จะกระโดดกลับมาผลิตตามสิทธิ์มาตรา 29 จะไม่สามารถทำได้ดังกล่าวข้างต้นเว้นแต่จะส่งออกไปประเทศข้างเคืองในสภาพเดิมตามมาตรา 28 เพื่อขอคืนอากร และนำกลับเข้ามาใหม่เพื่อผลิตตามสิทธิ์ของมาตรา 29 เท่านั้น
- ด้านการเปลี่ยนแปลงรูปสินค้า มาตรา 28 ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะสินค้า ไม่มีการใช้ประโยชน์ ต้องเป็นการนำเข้ามาเพื่อการส่งกลับออกไปเท่านั้น
ส่วนมาตรา 29 สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะได้โดยผ่านกระบวนการผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุใหม่ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงต้องยื่นสูตรการผลิตก่อนการส่งออก ขณะที่การใช้สิทธิ์ตามมาตรา 28 ซึ่งไม่มีการผลิตจึงไม่ต้องยื่นสูตรการผลิต
- ด้านการชำระค่าภาษีอากร มาตรา 28 ต้องชำระด้วยเงินสดเท่านั้น ส่วนมาตรา 29 สามารถชำระด้วยเงินสด ธนาคารค้ำประกัน หรือการประกันลอยตามที่ได้อนุมัติในหลักการ
- ด้านระยะเวลาส่งกลับออกไป มาตรา 28 ต้องส่งกลับออกไปภายใน 1 ปีนับแต่วันยานพาหนะเทียบท่าโดยต้องแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าก่อนการส่งออกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบสินค้าเพื่อยืนยันการเป็นชนิดเดียวกับที่นำเข้า
ส่วนมาตรา 29 ต้องใช้ในการผลิตหรือส่งกลับออกไปภายใน 1 ปี เช่นกัน แต่หากมีเหตุสุดวินัยก็สามารถขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 6 เดือน
- ด้านการขอคืนภาษีอากร มาตรา 28 ที่ชำระด้วยเงินสดก็จะได้รับคืนด้วยเช็คธนาคาร หรือโอนเข้าบัญชีที่กำหนด
เงินที่ได้รับคืนตามปริมาณที่ส่งออกยกเว้นไม่เกิน 1,000 บาทที่หักไว้เป็นค่าธรรมเนียมโดยผู้ประกอบการต้องยื่นขอคืนภายใน 6 เดือน
ส่วนมาตรา 29 หากมีการชำระภาษีอากรขาเข้าด้วยวิธีใดก็จะได้คืนด้วยวิธีการนั้นตามปริมาณที่ส่งออกโดยคำนวณผ่านสูตรการผลิต ยกเว้นส่วนสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการผลิตที่แสดงไว้ชัดเจนในสูตรการผลิต หรือส่วนสูญเสียที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้คืนในสูตรการผลิต
ผู้ประกอบการต้องยื่นขอคืนภายใน 6 เดือนเช่นกัน แต่สามารถขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 6 เดือน
ทั้งมาตรา 28 และ 29 หรือมาตรา 19 และ 19 ทวิ ในอดีตนั้น ยังมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการปัจจุบัน ความเข้าใจในเนื้อหาและทราบข้อแตกต่างจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลือก กระโดดข้ามไปมา หรือสลับการใช้เพื่อได้รับประโยชน์ตามนัยแห่งกฎหมายอย่างแท้จริง
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ปล. พรบ. ศุลกากร 2560 มาตรา 28 และ 29 เนื้อหาเต็ม ดังนี้
มาตรา ๒๘ ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว หากส่งของนั้นกลับออกไป นอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของนั้นเก้าในสิบส่วนหรือส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทของจํานวนที่ได้เรียกเก็บไว้ โดยคคำนวณตามใบขนสินค้าขาออกแต่ละฉบับ แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นของรายเดียวกันกับที่นําเข้ามาในราชอาณาจักร
(๒) ต้องไม่นําของนั้นไปใช้ประโยชน์ในระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่การใช้ประโยชน์ เพื่อส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และมิได้เปลี่ยนแปลงสภาพหรือลักษณะแห่งของนั้น
(๓) ได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของนั้น เข้ามาในราชอาณาจักร และ
(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของกลับออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
มาตรา ๒๙ ผู้นําของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว เพื่อใช้สําหรับผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใด หากส่งของที่ได้จากการดําเนินการดังกล่าวออกไป นอกราชอาณาจักร หรือส่งไปเป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือหรืออากาศยานที่เดินทางออกไป นอกราชอาณาจักร ให้มีสิทธิขอคืนอากรขาเข้าสําหรับของที่นําเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ หน้า ๓๕ เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๕๓ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐
(๑) ต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดด้วยของที่นําเข้ามา ในราชอาณาจักร
(๒) ต้องพิสูจน์ได้ว่าของที่นําไปใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการ ด้วยวิธีอื่นใดนั้นมีปริมาณไม่เกินที่อธิบดีประกาศกําหนด
(๓) ได้ส่งของที่ได้จากการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดนั้นออกไป นอกราชอาณาจักรภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่นําของที่ใช้ในการผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือ ดําเนินการด้วยวิธีอื่นใดเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยทําให้ไม่อาจส่งของดังกล่าวออกไปภายในกําหนดหนึ่งปี ให้อธิบดีขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องไม่เกินหกเดือน และ
(๔) ต้องขอคืนอากรภายในกําหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่อธิบดีจะขยายระยะเวลาให้แต่ต้องไม่เกินหกเดือน การขอคืนอากร การพิสูจน์ของ การส่งของออกไป และการคืนอากร ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
หมายเหตุ ในมาตรา 29 ยังมีส่วนประกอบอื่นอีกเล็กน้อยที่ปรากฎเป็นมาตรา 30 และ 31 ซึ่งท่านผู้ประกอบการที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.customs.co.th
LOGISTICS
สภาผู้ส่งออก เผยการส่งออกเดือนสิงหาคม เติบโต 6.7%
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม ปี 2018 ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดอาเซี