SNP NEWS

ฉบับที่ 539

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

นำเข้าแบบ DDP

“ผมไปมีครอบครัวและอยู่ต่างประเทศเกือบ 20 ปี จะย้ายกลับประเทศไทย มีเฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้สน เครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ส่วนตัวมากมาย ติดต่อตัวแทนขนส่งที่ต้นทาง เขาแจ้งว่าของใช้ส่วนตัวที่จะรับขนส่งมาให้ ทางเขาให้บริการแบบ Door to Door เท่านั้น ผมควรทำอย่างไรดีครับ ?”
ผู้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยโทรศัพท์ทางไกลมาปรึกษา
“ก็ดีซิครับ การขนส่งแบบ Door to Door ทำให้ท่านสบาย ไม่ต้องวุ่นวายอะไรเลย” เสียงตอบเป็นกลาง ๆ จากประเทศไทย
“มันสบายในตอนต้น แต่น่าจะวุ่นวายตอนท้ายนะซิครับ เขาแจ้งว่า เฟอร์นิเจอร์ไม้สนต้องทำการอบโรคพืช (Fumigation) ก่อนบรรจุเข้าตู้สินค้า ของหลายอย่างต้องมีใบอนุญาตนำเข้า (Import license) พอของมาถึงก็ต้องยื่นขอ หากใบอนุญาตไม่ผ่านก็ถูกยึด ของใดต้องชำระภาษีอากรก็ต้องชำระทั้งที่ของทั้งหมดเป็นของใช้ส่วนตัวและบ้านเรือนที่ใช้มานานแล้ว (Used personal effects and household goods)” เสียงต้นทางบ่นอย่างท้อใจ
“ก็ถูกต้องอีกครับ แต่ของใดที่ต้องมีใบอนุญาตก็ควรยื่นขอล่วงหน้า ของใดที่ต้องชำระภาษีก็ควรตรวจสอบและทราบก่อนล่วงหน้าเช่นกัน” เสียงตอบจากประเทศไทย
“ผมก็ว่าควรทำล่วงหน้า แต่ผู้รับจัดการขนส่งต้นทางแจ้งว่า เขาไม่มีบริการล่วงหน้า เมื่อของมาถึงประเทศไทยก็ให้ว่ากันไปตามกฎหมายไทย แบบนี้มันก็วุ่นวายตอนท้ายชัด ๆ อย่างนี้ผมควรทำอย่างไรดีครับ ?” เสียงต้นทางสรุปข้อมูลและขอคำปรึกษา
การขนส่งสินค้ามายังประเทศไทยแบบ Door to Door คือขนจากมือผู้ส่งต้นทางมายังมือผู้รับปลายทางที่อยู่ในประเทศไทยถือเป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้นำเข้าของไทย
เงื่อนไขการส่งมอบสินค้าระหว่างประเทศ (Incoterms) ก่อนปี 2010 แบ่งการส่งมอบนี้ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. รวมภาษีอากรในประเทศไทย หรือ DDP (Delivery Duty Paid) และ
2. ไม่รวมภาษีอากร หรือ DDU (Delivery Duty Unpaid)
การส่งมอบแบบรวมหรือไม่รวมภาษีอากร 2 ประเภท หรือ DDP หรือ DDU นี้ เดา ๆ ว่าน่าจะเกิดปัญหาทางปฏิบัติจนเป็นข้อถกเถียง
แนวคิดง่าย ๆ เงื่อนไข DDU ที่ไม่รวมภาษีอากร หมายถึงผู้นำเข้าต้องชำระภาษีเอง และต้องชำระแบบถูกมัดมือชกตามใบเสร็จ หรือใบขนสินค้าฯ ที่ได้รับแจ้ง ไม่มีโอกาสชี้แจงต่อศุลกากรเพราะผู้จัดการขนส่งต้นทางได้มอบให้ตัวแทนในประเทศไทยไปจัดการพิธีการศุลกากร
เมื่อจัดการค่าภาษีอากรอย่างไร ผู้นำเข้าก็ต้องชำระไปตามนั้น
อีกแนวคิดหนึ่ง โลกเข้าสู่ยุคการค้าเสรี FTA (Free Trade Area) มากขึ้นเรื่อย ๆ ภาษีอากรสำหรับสินค้านำเข้าจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่
ตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติ เงื่อนไขการส่งมอบจะมีการทบทวนทุก ๆ 10 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การแก้ไขในปี 2010 สภาหอการค้านานาชาติ หรือ ICC (International Chamber of Commerce) ในฐานะผู้รับผิดชอบจึงตัดสินใจยกเลิกเงื่อนไข DDU และให้ใช้เพียงเงื่อนไข DDP
ผลก็คือ การส่งมอบสินค้าระหว่างประเทศแบบ Door to Door ราคาค่าบริการที่ชำระกันต้นทางต้องรวมภาษีอากรเข้าไปด้วย
ดังนั้น การที่ผู้รับจัดการขนส่งต้นทางผลักภาระค่าภาษีอากรและการตรวจสอบไปยังผู้นำเข้าของไทยจึงดูขัด ๆ กับข้อตกลง Inco-Term (Incoterms) ของ ICC ปี 2010 ที่ใช้ในปัจจุบัน
นี่เป็นข้อสังเกตุประการที่ 1
ข้อสังเกตุประการที่ 2 เมื่อผู้รับขนส่งต่างประเทศส่งสินค้าแบบ DDP เข้ามาในประเทศไทย เขาไม่ได้เข้ามาทำพิธีการศุลกากรและการขนส่งภายในประเทศไทยเอง เขาต้องมอบให้ตัวแทนในประเทศไทยดำเนินการแทน
ไม่ว่าจะโดยการจ้างเป็นงาน ๆ (Job / project) หรือโดยจัดตั้งสำนักงานของตนเอง
แต่ไม่ว่าจะโดยวิธีการอะไร ผลก็คือต่างชาติรับงาน รับเงินค่าบริการ รับเงินค่าบริหารจัดการ ส่วนงานที่ต้องทำในประเทศไทยก็ต้องจ้างให้คนไทยทำ
จากนั้นต่างชาติก็จ่ายค่าจ้างให้คนไทย
วิธีการแบบนี้ทำให้กำไรที่เกิดขึ้นตกอยู่ใน(กับตัวแทน)ต่างประเทศ ดังนั้น การซื้อขายสินค้าด้วย เงื่อนไข DDP ค่าสินค้าที่ผู้นำเข้าของไทยต้องชำระก็จะรวมค่าพิธีการศุลกากร ค่าภาษีอากร และอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเข้าไปด้วย
ผู้ซื้อสินค้าของไทยเป็นผู้จ่าย แต่การทำงานเกิดขึ้นในประเทศไทย
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัวและบ้านเรือน หรือการซื้อสินค้านำเข้า สุดท้ายผู้นำเข้าของไทยก็ต้องเป็นผู้จ่ายค่าทำงาน ค่าบริหารจัดการของต่างชาติ และจ่ายกำไรทั้งที่การทำงานเกิดขึ้นในประเทศไทย
ผลดีของการส่งมอบแบบ Door to Door ณ วันนี้คือ DDP (Delivery Duty Paid) คือความสะดวกสบายที่ผู้นำเข้าของไทยจะได้รับ
แต่ความสะดวกสบายมีต้นทุน และต้นทุนที่ว่านี้ ผู้นำเข้าของไทยต้องจ่าย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ หลักการ และแนวคิดของการนำเข้าแบบ DDP ที่ผู้นำเข้าเป็นทั้งผู้จ่ายและเป็นผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกได้ด้วยตนเอง

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

เปิดประตูการค้าไทยสู่เมืองมะริด

เมืองมะริด (Myeik) เป็นเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจหลักของมณฑลตะนาวศรี (Tanintharyi) ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 เมือง ได้แก่ เมืองทวายที่เป็นเมืองหลวง เมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองเศรษฐกิจ และเกาะสองซึ่งเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของประเทศ สำหรับเมืองมะริดจะประกอบด้วย 2 เมืองย่อย คือ เมืองมูด่องที่ติดกับด่านสิงขรของจ.ประจวบคีรีขันธ์ และเมืองปะเล่าที่อยู่ขึ้นไปทางเหนือติดกับจังหวัดทวาย นอกจากนี้เกาะในเมืองมะริดยังมีรวมกันกว่า 800 เกาะ โดยเมืองมะริดมีประชากรประมาณ 4 แสนคน นับเป็นอีกเมืองที่มีศักยภาพที่เป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาในปัจจุบัน
เมืองมะริดเป็นอีกหนึ่งเมืองท่าที่มีความสำคัญกับประเทศเมียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เมืองนี้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการเดินทางไปยังเมืองมะริดสามารถเดินทางทั้งโดยเครื่องบิน รถยนต์ และทางเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำตะนาวศรี

ด้านเศรษฐกิจของเมืองมะริดนั้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้เป็นแหล่งประมงที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและประเทศ สามารถจัดส่งสัตว์น้ำทะเล อาทิ กุ้งมังกร กั้ง และปลาทะเลต่างๆ ไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆของประเทศ รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลแล้ว ผลผลิตทางการเกษตรก็มีความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกัน โดยมะริดเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญ นอกจากนี้ยังรวมถึงผลไม้เขตร้อนโดยมีแตงโมเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของเมืองมะริด โดยเฉพาะเป็นแหล่งเพาะปลูกหมากและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่สำคัญของประเทศ ทำให้มะริดมีอุตสาหกรรมแปรรูปลูกหมากแห้งและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยผู้ชายก็จะออกเรือหาปลาหรือว่าทำงานอยู่แถวท่าเรือ ในขณะที่ผู้หญิงก็จะมาทำงานอยู่ตามโรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์หรือหมากแห้ง

จะเห็นได้ว่ามะริดเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บวกกับทำเลที่ตั้ง ส่งผลให้เมืองมะริดเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการประมงของประเทศ จึงส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมการต่อเรืออีกด้วย จากความเป็นเมืองท่าชายฝั่งที่มีมาหลาบร้อยปี ทำให้ผู้คนที่นี่สั่งสมความรู้ในการต่อเรือที่สำคัญที่สุดของประเทศเมียนมา และผู้คนที่นี่ก็มีฝีมือและมีความสามารถ เรียกได้ว่าถ้าต้องการต่อเรือต้องมาที่นี่เท่านั้น โดยอู่ต่อเรือบางส่วนเกิดจากการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจชาวไทยและเมียนมา ด้วยการยอมรับในฝีมือในการต่อเรือของที่นี่ซึ่งมีคุณภาพบวกกับค่าแรงถูก ทำให้ได้รับความไว้วางใจทั้งจากลูกค้าในประเทศเมียนมาเอง และประเทศไทย

ที่มะริดยังมีโอกาสในเรื่องของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับวัดวาอาราม เจดีย์รูปทรงต่างๆ ที่ยังคงรูปแบบเดิมไว้ รวมถึงสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของเมืองที่มีมานานนับร้อยปี ยังรวมถึงหมู่บ้านชาวประมงที่สร้างขึ้นแบบยกพื้นขึ้นเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ นอกจากนี้มะริดยังขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทางทะเล นั่นคือ กลุ่มเกาะมะริด ที่ทางตอนเหนือของกลุ่มเกาะมะริดยังคงเป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่มีการเข้าถึง ส่วนหมู่เกาะทางตอนใต้ก็มีนักท่องเที่ยวหนาตาในช่วง 20 ปี

ที่ผ่านมา เมืองมะริดมีการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่การดำเนินชีวิตของคนที่นี่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเฉกเช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ แม้จะมีการค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีการค้าแบบดั้งเดิมที่คงอยู่ เพราะคนที่นี่ยังคุ้นเคยกับการค้าแบบดั้งเดิม
ที่มา : http://www.ditp.go.th/ditp_pdf.php?filename=contents_attach/331675/331675.pdf&title=331675