SNP NEWS

ฉบับที่ 542

Follow Us :     เพิ่มเพื่อน  

CEO ARTICLE

EXW ดีกว่า


“สินค้านำเข้าแบบ DDP แต่ถูกกักอยู่ที่ศุลกากรไทยเพราะต้องมีใบอนุญาตนำเข้าโดยไม่รู้มาก่อนจนไม่สามารถผ่านพิธีการออกมาได้ สินค้าอาจถูกยึดของ ทำอย่างไรดีครับ ?”

คำถามลักษณะข้างต้นผู้นำเข้าบางท่านอาจเคยได้ยิน ขณะที่บางท่านก็อาจประสบกับตัวเองมาก่อน

สินค้านำเข้าที่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าแต่ไม่รู้มาก่อน

สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาและสร้างความเสียหาย

บทความ 2-3 ฉบับก่อนหน้านี้ได้ให้ข้อมูลที่พอสรุปสั้น ๆ ได้ว่า การนำเข้าด้วยราคาสินค้าแบบ DDP ในปัจจุบันก็คือ Door to Door ในอดีต

บทความก่อนหน้าได้เปรียบเทียบราคาสินค้าแบบ DDP vs EXW

บางท่านอ่านบทความแล้วก็กล่าวว่า ไม่ว่าจะสั่งซื้อสินค้านำเข้าด้วยราคาแบบ DDP หรือ EXW สุดท้ายผู้นำเข้าก็ต้องจ่ายทั้งหมดจึงอยากให้ฟันธงว่า ราคาแบบไหนดีกว่ากัน ???

ขอสรุปอีกครั้งว่า DDP (Door to Door ในอดีต) คือ ราคาสินค้านำเข้าที่ผู้ขายได้รวมค่าใช้จ่ายในประเทศผู้ขาย ค่าระวางขนส่งระหว่างทาง ค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายในประเทศไทยกระทั่งสินค้าส่งถึงมือผู้นำเข้า

DDP จึงให้ความสะดวกสบายแก่ผู้นำเข้ามากที่สุด ผู้นำเข้าเป็นผู้จ่ายความสะดวกสบายนี้ที่ถูกรวมเข้าไปกับค่าสินค้าแล้ว ส่วนงานทั้งหมดในประเทศไทยก็เป็นคนไทยทำแต่ในลักษณะรับช่วงงานต่อ (Sub Contract) หรือถูกว่าจ้างโดยผู้รับจัดการขนส่งชาวต่างชาติ

แม้ราคาสินค้าจะรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนถึงมือผู้นำเข้า แต่พอสินค้าติดปัญหาไม่สามารถผ่านพิธีการศุลกากรที่ประเทศไทยได้อย่างคำถามข้างต้น

ถามว่า ใครควรรับผิดชอบ ???

หากถามผู้ขายต่างประเทศ ผู้ขายก็ว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนแล้ว

หากถามผู้รับจัดการขนส่งต้นทาง คำตอบก็เดาไม่ถูกว่าจะออกมารูปใดทั้งนี้เพราะตัวแทนผู้รับทำงานในประเทศไทยไม่รู้เรื่องมากนักตั้งแต่ต้น

ผู้รับจัดการขนส่งต่างชาติรายใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงบางรายเมื่อเจอปัญหาที่ไม่สามารถผ่านพิธีการศุลกากรได้ก็ถึงกับประกาศว่า นโยบายของตนรับผ่านพิธีการศุลกากรเฉพาะงานที่ถูกต้อง หรืองานที่มีใบอนุญาตนำเข้าเท่านั้น

กรณีคาบเกี่ยวกับความถูกผิดก็จะแนะนำผู้นำเข้าให้ไปติดต่อผู้รับงานภายนอก หรือ Out Source ให้ผู้นำเข้าไปติดต่อกันเอง

ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าใครควรรับผิดชอบอย่างไร หรือใครจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม สุดท้ายผู้นำเข้าก็ต้องรับกรรมที่จ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้าอย่างที่อยากได้

นี่คือผลพวงของราคานำเข้าแบบ DDP ในปัจจุบันซึ่งผู้รับงานอยู่ต่างประเทศมักมองภาพพิธีการศุลกากรและระเบียบต่าง ๆ ของไทยในมุมของเขา และไม่มีความรู้ว่าสินค้าใดเป็นของต้องห้ามต้องกำกัดหรือไม่

คำว่า “ของต้องห้าม (Prohibited articles)” หมายถึง ของที่ห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด

ส่วน “ของต้องกำกัด (Restricted articles)” หมายถึง ของที่ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้าและใบอนุญาตนำเข้าหากได้รับการอนุมัติภายหลังสินค้าเทียบท่าก็จะมีความผิดทางศุลกากรที่มีค่าปรับ

ผลสรุปในเรื่องนี้จึงยังคงเป็นเครื่องยืนยันว่า DDP ให้ความสะดวกสบายดี แต่ค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงที่อาจจะมีในบางครั้ง ผู้นำเข้าก็อาจต้องรับภาระอย่างไม่รู้ตัว

ส่วนกรณีสั่งซื้อสินค้าแบบ EXW นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้ามีสิทธิ์ได้เลือกเครื่องบิน หรือเรือบรรทุกสินค้าระหว่างประเทศ เลือกท่าเรือนำเข้า มีโอกาสได้ปรึกษาวิธีการนำเข้า และมีโอกาสทราบว่าของที่จะนำเข้านั้นเป็นของต้องห้ามต้องกำกัดหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำเข้ายังมีโอกาสต่อรองราคา Logistics Cost ทั้งต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทางในประเทศไทยก่อนตัดสินใจว่าจ้าง

ปัจจุบันผู้รับจัดการขนส่งสินค้าชาวไทย (Freight Forwarder or Logistics Provider) มีความสามารถระดับ Inter มากขึ้นทำให้ผู้นำเข้ามีโอกาสพิจารณาเลือกผู้ให้บริการมากยิ่งขึ้น

เพียงแค่นี้การนำเข้าด้วยราคา EXW ก็ดีกว่าการนำเข้าด้วยราคา DDP ที่ผู้นำเข้าถูกมัดมือชกมากกว่าทั้งที่เป็นผู้ชำระค่าบริการ Logistics Cost ทั้งหมด

หากไม่นับความสะดวกสบายแล้ว ข้อมูลนี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า การนำเข้าแบบ EXW ย่อมจะสร้างโอกาสที่ดีหลายด้านให้แก่ผู้นำเข้าอย่างแน่นอน

ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร

LOGISTICS

กทท. แจงผลการดำเนินงานประจำปีงบ 2018 ตู้สินค้าผ่านท่ารวม 9.513 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 3.7%

 
ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ประจำปีงบประมาณ 2018 (ตุลาคม 2017 – กันยายน 2018) โดยเปรียบเทียบกับปีก่อน สรุปดังนี้

ทกท. เรือเทียบท่า 3,243 เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.413 เปอร์เซ็นต์ สินค้าผ่านท่า 22.077 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.891 เปอร์เซ็นต์ ตู้สินค้าผ่านท่า 1.497 ล้านทีอียู ลดลง 0.032 เปอร์เซ็นต์ ทลฉ. เรือเทียบท่า 11,610 เที่ยว ลดลง 1.818 เปอร์เซ็นต์ สินค้าผ่านท่า 86.490 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.100 เปอร์เซ็นต์ ตู้สินค้าผ่านท่า 8.016 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 4.410 เปอร์เซ็นต์ ทชส. เรือเทียบท่า 3,614 เที่ยว เพิ่มขึ้น 24.321 เปอร์เซ็นต์ สินค้าผ่านท่า 254,724 ตัน เพิ่มขึ้น 28.528 เปอร์เซ็นต์ ทชข. เรือเทียบท่า 1,083 เที่ยว เพิ่มขึ้น 60.207 เปอร์เซ็นต์ สินค้าผ่านท่า 71,468 ตัน ลดลง 8.895 เปอร์เซ็นต์ ทรน. เรือเทียบท่า 288 เที่ยว เพิ่มขึ้น19.008 เปอร์เซ็นต์ สินค้าผ่านท่า 89,919 ตัน เพิ่มขึ้น 34.991 เปอร์เซ็นต์

โดยเศรษฐกิจโลกครึ่งปีแรกของปี 2018 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในทุกภูมิภาค เกิดจากภาวะการค้าโลกที่ดีต่อเนื่องการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และการส่งออกในภูมิภาคต่างๆ ถือเป็นแรงสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะเติบโตต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาดูในช่วงครึ่งปีหลังที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำราคาน้ำมันที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นความคืบหน้าการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐอเมริกา เสถียรภาพทางการเมืองในเขตยูโรโซน การเริ่มชะลอตัวและภาวะหนี้ในระบบเศรษฐกิจของจีน รวมถึงความขัดแย้งในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2018 ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น การบริโภค รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้การส่งออกขยายตัวมากขึ้น สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของ กทท. (ทกท. และ ทลฉ.) ที่เติบโตสูงขึ้นทั้งปริมาณสินค้าผ่านท่าและตู้สินค้าโดยในปีงบประมาณ 2018 กทท. มีตู้สินค้าผ่านท่าทั้งสิ้น 9.513 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.685 และปริมาณสินค้าผ่านท่า 108.567 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.656 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามการคาดการณ์ของ IMF อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารกลางสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งปัจจัยต่างๆ ภายนอกประเทศเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมที่จะมีอัตราการเติบโตที่ลดลง