CEO ARTICLE
นโยบายแห่งรัฐ
‘สงครามการค้าสหรัฐ-จีน’ ระอุ !
ตลอดปีที่ผ่านมา ข่าวสหรัฐกับจีนทำสงครามการค้าตอบโต้กันปรากฎหน้าสื่อจนเป็นที่ตกใจในวงกว้างกระทั่งถึงช่วงปลายปีค่อยซาลงโดยไม่มีใครรู้ว่าจะระเบิดขึ้นอีกเมื่อไร ???
ยกตัวอย่าง ประชาชาติออนไลน์ลงหัวข้อข่าวข้างต้นภายหลังทรัมป์ลงนามรีดภาษีนำเข้าจากจีนกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าถึง 1,300 รายการ รวมถึงเหล็กและอะลูมีเนียม (https://www.prachachat.net/world-news/news-134320)
ข่าวแจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศตอบโต้ทันทีด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าราว 128 รายการ มูลค่าราว 3,000 ล้านดอลล่าร์
นี่คือตัวอย่างการตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีระหว่าง 2 ประเทศที่มีท่าทีร้อนระอุ ทั้งที่โลกเข้าสู่ยุค FTA ไปนานแล้ว
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ของไทยก็ประกาศว่า ปี 2561 นี้ จีนกำลังทะยอยลดภาษีนำเข้าลงไปเรื่อย ๆ ตามกรอบข้อตกลง FTA อาเชี่ยน-จีน
การลดภาษีทำให้สินค้าไทยส่งออกสู่จีนมากขึ้น และลดโอกาสการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ไทยให้น้อยลง (http://www.thansettakij.com/content/245092)
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2561 ที่ผ่านมา
ใครจะไปรู้ว่า วันนี้ภาษีกำลังจะกลายเป็นอาวุธแทนระเบิด ภาพที่ว่านี้แม้จะไม่ชัดเจน แต่คนทั่วโลกก็พอจะมองออก
กำแพงภาษีเป็นเรื่องนโยบายของแต่ละประเทศที่จะนำออกใช้
ประเทศใด ไม่ว่าจะกำหนดนโยบายแห่งรัฐอย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นก็มักได้ผลกระทบไม่มากก็น้อย บ้างได้รับโดยตรง บ้างได้รับโดยอ้อม บ้างได้รับทางบวก และบ้างก็ได้รับทางลบ
ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาแค่ประเทศไทย ปี 2561 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ตลาดทุนวิเคราะห์ว่า หุ้นที่อยู่ในแดนลบส่วนหนึ่งเกิดจากความหวาดกลัวต่อท่าทีสหรัฐที่แสดงออกต่อจีน
นี่คือนโยบายระหว่างประเทศที่ส่งผลลบต่อไทย
เวลานี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่ไหนล้วนกระทบไปทั่วโลก ทั้ง ๆ ที่นโยบายแห่งรัฐหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2561 ก็ยังไม่ได้เข้าสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยซ้ำไป
ผลกระทบเหล่านี้ มักลุกลามไปสู่ระบบการค้า การลงทุน การขนส่ง และ Logistics
คนทำธุรกิจการค้าย่อมไม่มีทางเลือกอื่นใด เมื่อรัฐใดประกาศนโยบายออกมา อาการตื่นตัว ติดตามข้อมูล ประเมินสถานการก็ย่อมเกิดตามมาไม่มากก็น้อย
นี่ผลของนโยบายแห่งรัฐ หรือนโยบายสาธารณะ
บางประเทศที่ผู้นำขาดธรรมภิบาล มีธุรกิจทับซ้อน หากต้องการซื้อหุ้นตัวหนึ่งในราคาถูกก็เพียงให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแสร้งให้สัมภาษณ์อะไรสักเรื่องที่ตีความว่า อาจเป็นนโยบายแห่งรัฐแต่ส่งผลลบต่อหุ้นตัวนั้น
เพียงเท่านี้ เพียงเท่านี้จริง ๆ ผลกระทบจะส่งผลต่อหุ้นตัวที่ต้องการทันที
หุ้นเริ่มถูกขายเพื่อลดความเสี่ยง เมื่อหุ้นถูกขายโดยกลุ่มแรก กลุ่มต่อ ๆ มาก็ต้องขายตามเพื่อลดความเสี่ยง เมื่อการขายมากขึ้น ราคาก็จะค่อย ๆ ปรับลงตามหลักเศรษฐศาสตร์
กว่าจะรู้ข้อมูลที่แท้จริง กว่าจะเข้าใจว่าไม่ใช่นโยบายแห่งรัฐ
มันก็กินเวลาไปหลายชั่วโมง หรือหลายวัน แต่ส่งผลให้ราคาหุ้นตัวนั้นร่วงลงและถูกบุคคลที่ต้องการช้อนซื้อในราคาถูกไปเรียบร้อยแล้ว
จีนลดภาษีมีหลักการ มีเหตุผล และบางเรื่องก็เป็นไปตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรี ขณะที่สหรัฐประกาศขึ้นภาษีจีนก็เป็นไปตามนโยบายที่ทรัมป์หาเสียงในตอนต้นและเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติ
ไม่มีใครรู้ว่า มาตรการของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อประชาชนสหรัฐเองและประเทศอื่นในปี 2562 นี้จะมากขึ้นไปอีกหรือไม่ และจะส่งผลในทางลบหรือในทางบวกแค่ไหน ???
ไม่มีใครรู้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐในปีนี้อาจดีขึ้นจนทรัมป์ยกเลิกมาตรการที่ใช้ตอบโต้เมื่อไหร่ ???
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่อาจเกิดหรืออาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ในปี 2562 นี้
นโยบายแห่งรัฐ บางครั้งก็เรียก นโยบายสาธารณะ ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งในทางการเมือง
เมื่อเป็นเรื่องการเมือง ส่วนใหญ่จึงมักมีนักการเมืองเป็นผู้กำหนด
ในเมื่อเป็นเรื่องการเมือง แต่นโยบายแห่งรัฐเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบ และเป็นเรื่องที่นักธุรกิจทั้งในและระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการขนส่ง และ Logistics ต้องเฝ้าติดตามเพื่อให้ได้ประโยชน์ (Benefit) และหลีกเลี่ยงโทษ (Cost) ที่อาจเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน นโยบายแห่งรัฐบางเรื่องก็อาจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้จริง บางเรื่องก็อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน บางเรื่องอาจกำหนดแล้วยกเลิกในเวลาอันรวดเร็ว หรือบางเรื่องอาจเป็นเรื่องบทสัมภาษณ์ ข่าวลือ หรือไม่จริงเลยก็มี
ประเทศไทยเวลานี้กำลังจะมีการเลือกตั้ง และกำลังจะมีการปรับปรุงนโยบายแห่งรัฐมากขึ้น เช่น การเพิ่มมาตราการการปราบปรามการทุจริตในวงราชการ
สหรัฐและจีนอาจเปลี่ยนท่าทีดีต่อกันในวันหนึ่ง นโยบายแห่งรัฐของ 2 ประเทศอาจเปลี่ยนตาม แต่สำหรับประเทศไทยต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แต่การต่อต้านการทุจริตคงไม่เงียบหายไปแน่
เครื่องยนต์ถูกจุดติดมาหลายปี ประชาชนเฝ้าติดตามคงไม่ยอมแน่
ใครจะไปคาดคิดว่า การโกงเงินคนจน คนชรา ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่ทำกันมาเป็นสิบ ๆ ปีโดยไม่มีใครรู้ แล้วอยู่ ๆ วันหนึ่งก็มาตายจากนักเรียนฝึกงานกลุ่มหนึ่ง
วันนี้ ผู้ประกอบการที่พึ่งพาการทุจริตในวงราชการไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การขาย การนำเข้า หรือการส่งออกจึงน่าจะสังเกตให้ออก
การโผล่ผลุดขึ้นมาแต่ละเรื่องส่วนใหญ่มาจากเหตุไม่คาดฝันทั้งสิ้น
ไม่ว่านโยบายแห่งรัฐในปี 2562 จะคงเดิมอย่างแกร่งกร้าว จะอ่อนลง หรือจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการ Logistics ทั่วไป
ดังนั้น การปรับปรุงวิธีการบริหารองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารยุคใหม่ต้องเร่งดำเนินการ
การปล่อยให้การบริหารเป็นแบบเก่าที่ได้ประโยชน์จากการทุจริตในวงราชการโดยไม่มองนโยบายแห่งรัฐจึงกลายเป็นสิ่งอันตรายที่ควรหลีกเลี่ยงในปี 2562
ดร. สิทธิชัย ชวรางกูร
ปล. นโยบายแห่งรัฐ หรือนโยบายสาธารณะ (Public Policy) คือ แนวทางการปฏิบัติ รวมถึงกิจกรรมที่ทางรัฐบาลเลือกที่จะกระทำ หรือไม่กระทำโดยมุ่งเน้นเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและต่อสังคมเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลผลิดที่มาจากระบบการเมืองโดยนโยบายสาธารณะจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
(www.เกร็ดความรู้.net/นโยบายสาธารณะ)